ราคาข้าวที่เพิ่มสูงขึ้นผลักดันอัตราเงินเฟ้อฟิลิปปินส์ในเดือนตุลาคม

 

          อัตราเงินเฟ้อฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 จากระดับต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี ที่ร้อยละ 1.9 ในเดือนกันยายน เนื่องจากราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้นหลังจากเกิดภัยพิบัติพายุโซนร้อนกำลังแรงคริสตินและไต้ฝุ่นซูเปอร์ลีออนล่าสุด

      สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (PSA) เผยอัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคมส่งผลให้ค่าเฉลี่ยในช่วง 10เดือนอยู่ ที่ร้อยละ 3.3 อย่างไรก็ตามยังคงอยู่ในช่วงเป้าหมายของรัฐบาล ที่ร้อยละ 2 ถึง 4 จากรายงานของ PSA แสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อด้านอาหารเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 3.0 ในเดือนตุลาคม โดยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 1.4 ในเดือนกันยายน เนื่องด้วยสาเหตุหลักมาจากราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9.6 จากร้อยละ 5.7 ในเดือนก่อนหน้า)

         นาย Arsenio M. Balisacan เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งชาติฟิลิปปินส์ (NEDA) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงพายุไต้ฝุ่นคริสติน ก่อให้เกิดความท้าทายต่อการจัดหาด้านอาหารและการขนส่ง ในขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่รวมอาหารและพลังงานบางประเภทยังคงอยู่ที่ร้อยละ 2.4

          หน่วยงานบริหารบรรยากาศ ธรณีฟิสิกส์และดาราศาสตร์ของฟิลิปปินส์ (PAGASA) ระบุว่าปรากฏการณ์ลานีญาจะคงอยู่ต่อไปจนถึงไตรมาสแรกของปี 2568 โดยคาดว่าจะมีพายุโซนร้อนจำนวน 2 ถึง 8 ลูก ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศจนถึงเดือนเมษายน 2568

          นาย Michael Ricafort หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ จาก Rizal Commercial Banking Corp. ให้ความเห็นว่า ปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นคาดว่าจะช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและอาหารหลังจากที่ปรากฏการณ์เอลนีโญสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน 2567 อย่างไรก็ตาม ความเสียหายจากพายุใหญ่ น้ำท่วม หรือพายุไต้ฝุ่นอาจทำให้เกิดความเสียหายทางการเกษตรได้ นาย Michael Ricafort เสริมว่าเหตุดังกล่าวอาจผลักดันราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้นชั่วคราวเนื่องจากการหยุดชะงักของผลผลิตและอุปทานจนกว่าห่วงโซ่อุปทานจะมีเสถียรภาพในทางกลับกันหากภาคการเกษตรไม่ถูกกระทบจากปรากฏการณ์ลานีญาอัตราเงินเฟ้ออาจยังคงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2 ตลอดช่วงปีที่เหลือของ 2567 ถึงต้นปี 2568 ซึ่งการคงอัตราเงินเฟ้อที่ระดับนี้จะสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (U.S. Federal Reserve)

          ธนาคารกลางแห่งฟิลิปปินส์ (BSP) ได้กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนว่าจะมีความกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากการที่อาจมีการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าและการขึ้นค่างานขั้นต่ำในภูมิภาคนอกเขตมะนิลา ดังนั้น คณะกรรมการการเงิน (Monetary Board) จะยังคงใช้นโยบายที่ผ่อนคลายเพื่อให้มั่นใจในเสถียรของราคา ซึ่งจะเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนรวมถึงการจ้างงาน ในขณะเดียวกัน เลขาธิการ NEDA ได้ยืนยันว่ารัฐบาลกำลังดำเนินการอย่างแข็งขันเพื่อให้มั่นใจว่าอาหารมีเพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงราคาสินค้าที่จำเป็นนั้นจะมีเสถียรภาพเพื่อให้เกิดราคาที่เข้าถึงได้สำหรับชาวฟิลิปปินส์ ด้วยการสนับสนุนและการปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานอาหาร ในขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อของประเทศสำหรับครัวเรือนที่ยากจน (Inflation rate for the poor households) ยังคงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.4 จากร้อยละ 2.5 ในเดือนกันยายน
โดยเลขาธิการ NEDA คาดการณ์ว่าอัตราความยากจนจะลดลงเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างมากและความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานที่ยังคงอยู่ในเดือนกันยายน ที่มา: หนังสือพิมพ์ Manila Bulletin

บทวิเคราะห์และข้อคิดเห็น

    • สถานการณ์เงินเฟ้อในฟิลิปปินส์ยังคงเป็นประเด็นที่น่าจับตามอง โดยในเดือนตุลาคม 2567 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.9 ในเดือนกันยายน โดยมีปัจจัยหลักมาจากราคาข้าวที่เพิ่มสูงขึ้นจากผลกระทบของพายุโซนร้อนและไต้ฝุ่น ความท้าทายด้านการจัดหาและโลจิสติกส์ของอาหารทำให้ราคาข้าวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่ที่ร้อยละ 2.4 และภาครัฐคาดการณ์ว่าจะยังคงอยู่ในช่วงเป้าหมายร้อยละ 2 ถึง 4 แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงจากปัจจัยทางภูมิอากาศที่จะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรในระยะสั้นดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับราคาสินค้าขึ้นในที่สุด
      และอาจส่งผลให้ผู้นำเข้าอาจชะลอการสั่งซื้อสินค้าได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรวางแผนการจัดซื้อวัตถุดิบอย่างสม่ำเสมอและประสานงานกับซัพพลายเออร์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งปรับกลยุทธ์การทำตลาดและจำหน่ายอย่างเหมาะสม
      โดยอาจพิจารณาปรับขนาดสินค้าให้เล็กลง หรือลดปริมาณลง เพื่อให้ยังสามารถจำหน่ายได้ในราคาเดิม เนื่องจากราคายังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์

—————————–

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา

พฤศจิกายน 2567

thThai