ท่าทีของอิตาลีต่อชัยชนะการเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 47

หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน คว้าชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 47 ไปด้วยคะแนนเสียง 279 เสียง โดยมีผู้นำหลายประเทศทั่วโลกต่างออกมาแสดงความยินดีกับชัยชนะดังกล่าว รวมถึงอิตาลีมีผู้นำประเทศและนักการเมืองต่างออกมาร่วมแสดงความยินดีกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ เช่นกัน โดยนายแซร์โจ มัตตาเรลลา ประธานาธิบดีของอิตาลี ระบุและเน้นย้ำว่า อิตาลีและสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่รวมกันเป็นหนึ่ง ด้วยสายสัมพันธ์แห่งมิตรภาพและความร่วมมือที่แยกจากกันไม่ได้ การแบ่งปันคุณค่าทางประชาธิปไตย และการยึดมั่นร่วมกันตามกฎเกณฑ์และระเบียบระหว่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความขัดแย้งและความไม่มั่นคง กรุงโรมยืนยันความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะทำงานร่วมกับกรุงวอชิงตัน ดีซี ในระดับทวิภาคีและในเวทีพหุภาคีทั้งหมด ตลอดจนภายในกรอบความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป เพื่อให้เกิดแนวทางที่มีประสิทธิภาพสำหรับแก้ไขวิกฤตการณ์ร้ายแรงในปัจจุบัน
ท่าทีของอิตาลีต่อชัยชนะการเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 47
ขณะที่นางสาวจอร์จา เมโลนี นายกรัฐมนตรีของอิตาลี กล่าวถึงความเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกรุงโรม และกรุงวอชิงตัน ดีซี ว่าอิตาลีและสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศพี่น้องที่มีความเชื่อมโยงกันด้วยพันธมิตรที่แนบแน่น มีค่านิยมร่วมกัน และมีมิตรภาพทางประวัติศาสตร์ ซึ่งนางสาวเมโลนี ยังแสดงความเชื่อมั่นว่าอิตาลีและสหรัฐอเมริกาจะกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับนายอันโตนิโอ ตาจานี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ ระบุว่า การที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้นำของสหรัฐอเมริกาจะสร้างเสถียรภาพให้กับประเทศ และอิตาลีเองจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพกับฝ่ายบริหารชุดใหม่อย่างแน่นอน รวมถึงนายมัตเตโอ ซัลวีนี หัวหน้าพรรค Lega Nord และรองประธานคณะรัฐมนตรีของอิตาลี ระบุว่า ตนเองวางใจว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะสามารถยุติสงครามที่ยังคงเดินหน้าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งสร้างความเสียหายที่ร้ายแรง เพื่อฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย และความสงบสุขระหว่างรัสเซียและยูเครน และระหว่างอิสราเอล ปาเลสไตน์ และอิหร่าน ซึ่งหากประธานธิบดีทรัมป์สามารถยุติความขัดแย้งดังกล่าวได้ ก็ถือว่าคุ้มค่ากับการได้รับการเลือกตั้ง และสมควรได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ
จากรายงานข่าวของ Il sole 24 ore หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจอันดับหนึ่งของอิตาลี ถึงชัยชนะการเลือกตั้งของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้ตลาดหุ้น Wall Street พอใจมากกว่าชัยชนะของนางกมลา แฮร์ริส ผู้นำพรรคเดโมแครต เนื่องมาจากนโยบายในการลดภาษีนิติบุคคล (ซึ่งทรัมป์จะคงไว้เมื่อหมดอายุในปี 2570) และการยกเลิกกฎระเบียบที่ส่งผลดีต่อตลาดหุ้น Wall Street ดัชนี S&P และ Nasdaq ก็พุ่งสูงขึ้น และบริษัทที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด คือบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม อย่างไรก็ตาม ด้วยชัยชนะการเลือกตั้งของทรัมป์ความไม่แน่นอนก็จะมีมากขึ้นสำหรับตลาดหุ้นยุโรป โดยในวันพุธที่ 6 พฤศจิกายน 2567 สัญญาณแรกที่มาจากผลสำรวจของสหรัฐอเมริกา พบว่าตลาดหุ้นยุโรปอ่อนตัวลงทันทีในช่วงก่อนเปิดตลาด จากนั้นเมื่อตลาดหุ้นเปิดทำการ หลังจากการเพิ่มขึ้นในช่วงแรก แต่ในระหว่างวันตลาดหุ้นกลับร่วงลง พร้อมทั้งได้ระบุปัจจัยความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อสหภาพยุโรปกับนโยบายบริหารเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่มุ่งเน้นการปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา (America First) ที่สำคัญ 3 ข้อ ได้แก่
1. ความเสี่ยงต่อการเรียกเก็บภาษีศุลกากรและความตึงเครียดทางการค้าทั่วโลกที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากยุโรปถือเป็นทวีปที่มีการส่งออกมากที่สุด โดยเฉพาะเยอรมนี และอิตาลี ถือเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและต่อตลาดหุ้นทั่วโลกด้วย
2. ความเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อ เนื่องจากนโยบายการบริหารเศรษฐกิจของทรัมป์มีผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกา (มากจนหลายฝ่ายเชื่อว่า Federal Reserve Bank จะต้องชะลอการลดอัตราดอกเบี้ย) และยัง
รวมถึงในยุโรปด้วย ซึ่งมีเหตุผลสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ 1) เหตุผลที่เกี่ยวข้องกับการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า/บริการ 2) เหตุผลของการแข็งค่าของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับเงินสกุลยูโร เนื่องจากนโยบายการคลังของทรัมป์จะมีผลกระทบในการเพิ่มการขาดดุลและหนี้สิน และในทางกลับกันก็จะส่งผลกระทบต่อการรักษาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ UBS Group (Union Bank of Switzerland) ได้คาดการณ์ว่า เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ จะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในอนาคต แต่ตลาดส่วนใหญ่กลับคิดตรงกันข้าม ซึ่งความเป็นจริงแล้วการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ยุโรปจะต้องจ่ายค่าน้ำมันและวัตถุดิบมากขึ้น
3. ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับยูเครน เนื่องจากทรัมป์ยังคงมีความไม่แน่นอนกับสถานการณ์ความขัดแย้งของยูเครน ซึ่งความไม่แน่นอนดังกล่าวนั้นอาจส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นของยุโรป
ความคิดเห็นของ สคต. ณ เมืองมิลาน
1. จากผลการชนะเลือกตั้งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงอิตาลีอย่างแน่นอน เนื่องจากนโยบายทางเศรษฐกิจของทรัมป์ ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ การเพิ่มกำแพงภาษีนำเข้า และการปรับเปลี่ยนข้อตกลงทางการค้าเพื่อประโยชน์ต่อสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้น โดยสหรัฐอเมริกาถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับที่ 2 ของอิตาลี (อันดับ 1 เยอรมนี) โดยมีสัดส่วนทางตลาดมากกว่า 10% ของสัดส่วนการส่งออกทั้งหมดของอิตาลี ดังนั้น นโยบายในการเพิ่มกำแพงภาษีที่สูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของอิตาลี ซึ่งอาจส่งผลให้ปี 2568 การส่งออกสินค้าของอิตาลีไปยังสหรัฐอเมริกาอาจมีมูลค่าและปริมาณลดลง ในขณะที่ ปี 2568 การส่งออกสินค้าไทยมายังอิตาลีอาจได้รับผลกระทบจากการแข่งขันของประเทศคู่แข่งอย่างจีนเพิ่มขึ้น เนื่องจากจีนถือเป็นประเทศแรก ๆ ที่สหรัฐอเมริกาจะพิจารณาเพิ่มการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลให้จีนต้องพิจารณาขยายการส่งออกสินค้าไปยังตลาดส่งออกที่สำคัญเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอิตาลี เยอรมนี หรือฝรั่งเศสก็ตาม
2. ในช่วงปี 2560-2563 ซึ่งเป็นช่วงการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ สมัยแรก การส่งออกของอิตาลีไปยังสหรัฐอเมริกา ยังคงขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องทุกปี ยกเว้นในปี 2563 ที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่การส่งออกอิตาลีไปยังสหรัฐอเมริกา หดตัว 4.77% (ปี 2560 ขยายตัว 12.44% ปี 2561 ขยายตัว 9.43% ปี 2562 ขยายตัว 1.87%) โดยในขณะนั้น ทรัมป์ได้พยายามให้เกิดการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา-อียู โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร ซึ่งถือเป็นสินค้าอ่อนไหวของอียู แต่ก็ไม่มีการเจรจาอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นในสมัยนั้น เนื่องจากทรัมป์มีความเชื่อมั่นต่อการเจรจาในระดับทวิภาคีมากกว่า
3. อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของอิตาลีในปัจจุบัน ที่คาดว่าจะชะลอตัวลง และมีแนวโน้มที่อัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้งในปี 2568 (1.8%) รวมถึงการส่งออกของอิตาลีปี 2567 (ม.ค.-ส.ค.) หดตัว 5.37% โดยเฉพาะในตลาดส่งออก 5 อันดับแรก เยอรมนี หดตัว 14.53% สหรัฐอเมริกา หดตัว 0.76% ฝรั่งเศส หดตัว 10.50% สเปน หดตัว 5.90% และสวิตเซอร์แลนด์ หดตัว 5.13% ดังนั้น คาดว่าในปี 2568 สถานการณ์ด้านการค้าระหว่างประเทศของอิตาลี อาจจะไม่สดใสมากนัก ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่ชะลอตัวลงเช่นกัน และความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์โลก รวมถึงการดำเนินนโยบายและมาตรการทางการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งอาจทำให้การส่งออกของไทยมายังอิตาลีในปี 2568 ชะลอตัวลงเช่นกัน (ปี 2567 ม.ค -ก.ย. ไทยส่งออกมายังอิตาลี มูลค่า 1,622.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 0.40%)
——————————————————————-
ที่มา: 1. https://www.ilsole24ore.com/art/trump-fa-volare-wall-street-rischi-maggiori-listini-ue-AGHti5w
2. https://www.ilsole24ore.com/art/salvini-io-trump-centrodestra-pensieri-diversi-conte-vittoria-netta-ora-fermare-guerre-AGsF9Ex
3.เครดิตรูปภาพประกอบข่าว FB Page Voice of America,Foto di Swapnil Bhagwat su Unsplash และ Foto di Maximilian Stoll su Unsplash