เนื้อหาสาระข่าว: สำนักที่ปรึกษาธุรกิจด้านการบริหารความเสี่ยงชื่อ Control Risks ได้หยิบปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลร้ายแรงต่อผู้ประกอบการธุรกิจทั่วโลกได้ โดยสรุปแล้ว มีสหรัฐฯ เป็นผู้เล่นหลักในความเสี่ยงเหล่านี้ แต่ด้วยบทความทั้งหมดที่ครอบคลุมทุกความเสี่ยงดังกล่าวมาจากบทความใหญ่ๆ 5 ปัจจัยเสี่ยงหลัก จึงขอสรุปมาเฉพาะสาระที่สำคัญๆ และน่าสนใจ โดยในปี 2025 ความเสี่ยงที่ภาคธุรกิจจะต้องเผชิญนั้น ได้รับแรงผลักดันจากภาวะสุญญากาศและการแบ่งขั้วอำนาจ ความขัดแย้งและความรุนแรง ตลอดจนพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เป็นเหมือนดาบสองคม โดยปัจจัยเสี่ยง 5 ประเด็นดังต่อไปนี้คือความเสี่ยงที่ภาคธุรกิจจะต้องเตรียมการเพื่อรับมือกับสถานการณ์อันอาจจะเกิดขึ้นในปี 2025 นี้

1.      สหรัฐฯ ที่ขาดความแน่นอน (Uncertain States of America)

ในปี 2025 บทบาทของสหรัฐฯ บนเวทีโลกจะเปลี่ยนแปลงไปและมีความไม่แน่นอนยิ่งขึ้น โดยการเข้ามาของรัฐบาลทรัมป์มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบทั้งด้านนโยบายภายในและต่างประเทศ ทรัมป์มุ่งเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกเพื่อตอบโต้คู่แข่งทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้พันธมิตรต้องปรับตัวต่อความไม่แน่นอนในข้อผูกพันด้านความมั่นคงและการค้าซึ่งจะต้องคอยเป็นฝ่ายตั้งรับการรุกของสหรัฐฯ โดยอาจมีการถอนกองกำลังทหารสหรัฐฯ ที่ประจำการในต่างประเทศ รวมถึงการถอนตัวหรือจำกัดบทบาทของสหรัฐฯ ในองค์การและสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่สำคัญๆ ต่างๆ ตลอดจนการตั้งเงื่อนไขต่อพันธมิตรและประเทศคู่ค้า การโดดเดี่ยวตนเองออกจากสังคมโลก ก่อกระแส “อเมริกาต้องมาก่อน” ในระบบราชการสหรัฐฯ ในขณะที่อำนาจเหนือโลกของสหรัฐฯ ลดลง คู่แข่งทางภูมิรัฐศาสตร์มีอำนาจทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อิทธิพลของสหรัฐฯ ในหลายด้านเริ่มเสื่อมถอยลง นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมด้านการลงทุนในสหรัฐฯ ก็จะซับซ้อนยิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงในกฎระเบียบของรัฐบาลกลางและระดับท้องถิ่นทำให้เกิดข้อจำกัดต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มความเสี่ยงในการปฏิบัติตามกฎระเบียบทางการค้า การลดการกำกับดูแลและการลดภาษีธุรกิจภายใต้นโยบายทรัมป์อาจช่วยดึงดูดการลงทุน แต่การแบ่งขั้วทางการเมืองระหว่างรัฐสีน้ำเงินและรัฐสีแดงจะยิ่งทวีความซับซ้อนด้านกฎระเบียบ และความไม่แน่นอนในด้านการค้าระหว่างประเทศและระบบห่วงโซ่อุปทาน ธุรกิจจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและท้าทายในสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อน

2.      ภูมิรัฐศาสตร์ที่ท้าทายเส้นขีดจำกัด (Red Line Geopolitics)

ในปี 2025 เส้นสีแดงหรือขีดจำกัดทางภูมิรัฐศาสตร์จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจทั่วโลกได้ ภาคธุรกิจควรจับตาความตึงเครียดใน 3 ภูมิภาคที่มีอยู่ในขณะนี้ โดยในตะวันออกกลาง อิสราเอลและอิหร่าน (รวมถึงพันธมิตรของอิหร่าน) ขัดแย้งรุนแรงขึ้นทุกทีจนอาจนำไปสู่การใช้อาวุธนิวเคลียร์หรือการยับยั้งโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งจะสร้างความผันผวนอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจพลังงานและเสถียรภาพของโลก สำหรับยุโรป สงครามในยูเครนทำให้มีการข้ามเส้นสีแดงบ่อยครั้งจนอาจชะล่าใจ แล้วมีการข้ามเส้นถึงขั้นที่ทำให้ต้องมีการตอบโต้ที่รุนแรงขึ้นในที่สุดได้ โดยหากมีการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ก็จะส่งผลต่อความปลอดภัยของภาคธุรกิจในภูมิภาคอย่างแน่นอน ส่วนในเอเชีย แม้จะมีความเสี่ยงต่ำ แต่ความตึงเครียดที่บ่อยครั้งขึ้นในช่องแคบไต้หวัน พรมแดนเกาหลี และทะเลจีนใต้ และเข้าใกล้เส้นแดงที่มองไม่เห็นทำให้ยากที่จะคาดเดา แม้ว่าทุกฝ่ายต่างมีเจตนาที่จะคงระดับความก้าวร้าวให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมจนเลี่ยงความขัดแย้งรุนแรงได้ แต่การปะทะย่อย ๆ อาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจด้วยการคว่ำบาตร การจำกัดการค้าและการลงทุนนอกจากนี้ เส้นแดงที่ไม่ใช่ทางการทหาร เช่น การคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกต่อบริษัทจีนที่สนับสนุนรัสเซีย อาจกระตุ้นให้จีนตอบโต้ทางเศรษฐกิจต่อบริษัทตะวันตก ซึ่งอาจเร่งให้เกิดการแยกตัวทางเศรษฐกิจระหว่างมหาอำนาจ ในสหรัฐฯ สภาคองเกรสที่แตกแยกยังคงเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพการเงินโลก ดังนั้น บริษัทต่าง ๆ จึงต้องเฝ้าระวังเส้นแดงทางภูมิรัฐศาสตร์เหล่านี้และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน โดยการปรับแผนจัดการความเสี่ยงและวางแผนรับมือวิกฤตให้มีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้น

3.      สงครามการค้าระดับโลก

ในปี 2025 ความเสี่ยงของสงครามการค้าระดับโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมีพลังขับเคลื่อนจาก 3 ปัจจัยหลักได้แก่

นโยบายเศรษฐกิจของจีน ความแข็งแกร่งในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก แม้จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มการบริโภคและการลงทุน การสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น แต่ความต้องการในประเทศอ่อนลง ทำให้ราคาสินค้าลดลงและต้องส่งออกมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งพยายามสร้างอุตสาหกรรมของตนเอง ขณะที่จีนเตรียมพร้อมรับมือความตึงเครียดทางการค้ากับสหรัฐฯ อาจใช้นโยบายที่รุนแรงขึ้น เช่น ควบคุมการส่งออก ภาษีและการคว่ำบาตร ซึ่งมีแนวโน้มขยายผลกระทบไปยังประเทศที่สามและบริษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะยุโรป

นโยบายการค้าของสหรัฐฯ ในปี 2025 จะมุ่งเน้นการปกป้องผลประโยชน์ในประเทศ ด้วยการใช้ “เศรษฐศาสตร์เชิงรัฐศาสตร์” เพื่อดึงดูดการลงทุน สร้างงาน และรักษาอุตสาหกรรมสำคัญ นโยบายการค้าเทคโนโลยีของสหรัฐฯ จะเข้มงวดขึ้น โดยมุ่งเป้าการควบคุมการส่งออก การนำเข้า และการลงทุน โดยเฉพาะในภาคเทคโนโลยีเชิงยุทธศาสตร์ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ การเพิ่มภาษีศุลกากรอาจถูกตอบโต้จากประเทศคู่ค้าซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและระดับโลก

นโยบายอุตสาหกรรมระดับโลก นานาประเทศต่างเพิ่มบทบาทของภาครัฐแทรกแซงเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น โดยมุ่งสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานเชิงกลยุทธ์และอุตสาหกรรมที่สำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ ตั้งแต่เทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงบริการด้านระบบดิจิทัล โดยมุ่งรักษาความมั่นคงของชาติท่ามกลางการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์

ภาคธุรกิจควรเตรียมปรับให้ระบบห่วงโซ่อุปทานมีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้น วิเคราะห์ความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลต่อแหล่งวัตถุดิบและลูกค้า และควรติดตามนโยบายสาธารณะอย่างใกล้ชิดรวมถึงพิจารณาโอกาสในการมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อจะไม่พลาดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งด้านภาษี เงินอุดหนุน หรือข้อยกเว้นในมาตรการควบคุมต่างๆ อีกทั้งยังต้องพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและไม่คาดฝัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทั้งการดำเนินงานและกลยุทธ์ระยะยาว

4.      การเมืองที่ใช้ความรุนแรงมากขึ้น

ในปี 2025 ความรุนแรงทางการเมืองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยได้รับแรงกระตุ้นจากปัจจัยสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ การแข่งขันเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่บั่นทอนความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้าย การแบ่งขั้วทางการเมืองที่ทำให้การใช้ความรุนแรงกลายเป็นเรื่องปกติ การปลุกระดมความคิดรุนแรงผ่านข้อมูลบิดเบือนในโลกออนไลน์ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น โดรนราคาถูกและอาวุธที่ผลิตได้ง่ายๆ ด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ รวมไปถึงระบบสื่อสารที่เข้ารหัสปกปิดแหล่งที่มาและปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้สร้างเรื่องหลอกลวงได้ ก็ช่วยส่งเสริมให้ก่อความรุนแรงได้ง่ายๆ ภัยคุกคามเหล่านี้มีหลายรูปแบบ อาทิ การกลับมารวมตัวกันใหม่ของกลุ่มหัวรุนแรงอิสลามที่ได้รับแรงกระตุ้นจากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง การโจมตีที่สนับสนุนโดยรัฐซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความเข้มข้นของการเมืองแบบเผด็จการ การฟื้นตัวของกลุ่มการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมขวาจัดที่ใช้ความไม่พอใจทางสังคมและเศรษฐกิจเป็นเชื้อไฟ และความรุนแรงโดยคนทั่วๆ ไป ที่ได้รับอิทธิพลจากการปั่นหัว ยั่วยุล่อหลอกผ่านสื่อออนไลน์ที่ขยายตัวมากขึ้น ซึ่งความรุนแรงทางการเมืองส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจโดยรวม ทั้งอาจทำลายเสถียรภาพทางการเมือง เปิดช่องให้มีการก่ออาชญากรรมอย่างเป็นระบบ สังคมแตกแยกและทำลายบรรยากาศการลงทุน และหากภาครัฐบาลก่อความรุนแรงทางการเมืองกับประเทศคู่แข่งจนอาจขยายไปสู่ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่กว้างขึ้น จึงต้องพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างกะทันหันซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อกฎระเบียบและชื่อเสียงขององค์กรได้

5.      ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของระบบดิจิทัล

ในปี 2025 ความเสี่ยงจากบริการระบบดิจิทัลแบบรวมศูนย์ต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการดำเนินกิจการหลักๆ รายวันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรทั่วโลก การรวมบริการและเทคโนโลยีสำคัญไว้ในมือผู้ให้บริการรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ทำให้ความเสี่ยงเชิงระบบและภัยคุกคามทางไซเบอร์ส่งผลได้รุนแรงขึ้น ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนความเสี่ยงนี้คือ 1) การโจมตีทางไซเบอร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐที่ละทิ้งบรรทัดฐานเดิม ๆ ในการโจมตีผ่านระบบดิจิทัล 2) โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่เปราะบางซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของภัยคุกคาม และ 3) การตอบสนองของรัฐบาลที่ยังไม่มีประสิทธิภาพในการควบคุมความเสี่ยงเชิงระบบนี้อย่างเพียงพอ

ผลกระทบที่ตามมาคือองค์กรจะต้องเผชิญกับการหยุดชะงักของระบบดิจิทัลในระดับโลก ความสามารถในการปรับตัวและสร้างความยืดหยุ่นจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยให้องค์กรสามารถจัดการผลกระทบได้ ต่างจากองค์กรที่ขาดความพร้อมและจะประสบกับการหยุดชะงักในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

บทวิเคราะห์/ข้อเสนอแนะ: ดังเช่นที่เกริ่นไว้แล้วเบื้องต้นว่า บทความทั้ง 5 ชิ้นนี้เป็นความเสี่ยงต่อผู้ประกอบการทั่วโลก แต่พลังขับเคลื่อนความเสี่ยงทั้งหมดดูเหมือนจะมีต้นทางจากสหรัฐฯ แทบทั้งสิ้น ซึ่งท่านผู้ประกอบการที่สนใจและฝากธุรกิจของตนไว้กับตลาดสหรัฐฯ คงจะเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะกระจายออกไปจากตลาดสหรัฐฯ นี้ และแม้ท่านผู้ประกอบการที่ไม่เกี่ยวข้องกับตลาดสหรัฐฯ เลยก็ใช่ว่าจะรอดพ้นจากความเสี่ยงเหล่านี้ได้เสมอไป การรับรู้และเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงต่างๆ ก็จะสามารถชะลอ ทุเลาและอาจป้องกันความเสียหายอันมีเหตุมาจากความเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันทันทีได้ไม่มากก็น้อย จึงควรจับตาความเป็นไปของโลกเหล่านี้ไว้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ และควรมีแผนสองไว้รองรับกับสถานการณ์ต่างๆ ไว้ล่วงหน้าในแต่ละกรณี

ในกรณีแรกนั้น ยกตัวอย่างเช่นแผนที่จะเก็บภาษีศุลกากรแบบปูพรมกับสินค้านำเข้าจากแหล่งผลิตทั่วโลกถึงร้อยละ 10-20 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้นและลดการพึ่งพาต่างประเทศลง และเน้นเก็บจากจีนเพิ่มอีกร้อยละ 60 ด้วย ถ้าเป็นเช่นนั้น ทุกประเทศก็ถูกกระทบเสมอกันและคงไม่ได้ทำให้สมรภูมิการแข่งขันกันส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ เปลี่ยนโฉมหน้าไปมากนัก และแม้จะได้ผลจริง แต่ก็ไม่อาจมีผลแบบชั่วข้ามคืน ด้วยต้นทุนค่าแรง ค่าขนส่ง ฯลฯ ของสหรัฐฯ อาจต้องปรับกระบวนการกันอยู่พักใหญ่ๆ แม้จะทำสงครามการค้ากับจีนมาตั้งแต่สมัยแรกของประธานาธิบดีทรัมป์ ทุกวันนี้ ก็ยังเห็นสินค้าจากจีนน้อยลงมาบ้าง แต่ก็ไม่ได้หายไปเลยจนถึงขั้นที่จะเรียกได้ว่า สหรัฐฯ จะอยู่ได้โดยไม่มีสินค้าจากจีนในเร็ววันนี้ได้

ในบรรดาแหล่งสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าในปีนี้นับถึงปัจจุบันนี้ ไทยเรารั้งอยู่ในลำดับที่ 13 ซึ่งก็ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ อยู่ไม่น้อย หากทรัมป์ยังคงใช้แผนเดิมหลังขึ้นภาษีศุลกากรแล้ว ก็เชื่อว่าคงจะไปเจรจากับคู่ค้า 12 รายแรก ก่อนไทยเรา ซึ่งจะทำให้เรามีเวลาเตรียมการได้มากขึ้นและการยกเครื่องระบบราชการเพื่อให้เข้มงวดในกฎระเบียบต่างๆ ในสหรัฐฯ ก็ยังบอกยากว่าจะส่งผลดีกับผู้ผลิตในสหรัฐฯ จริงหรือไม่ โดยเฉพาะรายที่ลงทุนลงแรงทำให้เป็นไปตามกฎอันเข้มข้นไปแล้วอาจได้รับผลกระทบแรงกว่าใครๆ ก็เป็นได้ กฎระเบียบที่จะอ่อนลงก็น่าจะเป็นกฎระเบียบในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การปล่อยสารเรือนกระจกซึ่งมีแนวโน้มจะไม่ถูกโรคกับประธานาธิบดีทรัมป์มาแต่ไหนแต่ไร อาจแผ่ประโยชน์มาถึงผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้ลงทุนลงแรงปรับปรุงกิจการที่อยู่ภายนอกสหรัฐฯ ด้วยก็เป็นไปได้

ความเสี่ยงที่โลกจะต้องเผชิญในปี 2025

ความเสี่ยงที่โลกจะต้องเผชิญในปี 2025

ในเบื้องต้นทางกรมฯ เราได้เริ่มจับตากันแล้วและเชื่อว่าจะมีการวางแผนรับมือกับฉากทัศน์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้าก่อนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที จึงขอแนะนำให้คอยติดตามข่าวสารจากกรมฯ อย่างกระชั้นชิดขึ้นโดยเฉพาะในช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านของรัฐบาลสหรัฐฯ นี้ ความเคลื่อนไหวต่างๆ ในตลาดที่สำคัญๆ ก็จะมี สคต. ในสหรัฐฯ ทั้ง 4 แห่งคอยจับตา รายงานและให้คำแนะนำอยู่เสมอชั้นหนึ่ง และการเตรียมการ ศึกษาเบื้องลึกและการร่วมกันกำหนดแผนรับมือกับภาครัฐในวงกว้างก็จะช่วยกำหนดแนวทางในการป้องกันความเสี่ยงอยู่อีกชั้นหนึ่งด้วย

หลายท่านอาจมองว่าความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ไกลตัวจนละเลยเสียได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ไกลตัวทุกๆ ท่านอย่างที่คิด อาทิ สงครามในตะวันออกกลางที่ส่งผลให้การขนส่งทางเรือวิกฤติขึ้น อาจส่งผลร้ายทั้งในเรื่องการกำหนดราคาต้นทาง/ปลายทาง และความล่าช้าของการส่งสินค้าที่ชาวนาในไทยเป็นต้นทางในการผลิต ผลกระทบมากน้อยก็แตกต่างลดหลั่นกันไป แต่ผลกระทบก็กระจายไปทั่วถึงแทบทุกฝ่ายได้

ประเด็นสุดท้ายที่พูดถึงการกระจุกตัวของบริการแบบดิจิทัลนี่น่าสนใจมาก เพราะทุกวันนี้ดูเหมือนทุกผู้คนทุกกิจการต่างพากันไว้ใจฝากข้อมูลสำคัญๆ ไว้บนเคลาด์ของผู้ให้บริการระดับโลกกันมากขึ้น และหลายๆ ท่านอาจเลิกซื้อซอฟต์แวร์สำหรับสำนักงานที่ใช้ทำงานแล้วหันไปใช้ระบบออนไลน์กันบ้างแล้ว ซึ่งก็เชื่อว่าสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายลงไปได้มากทีเดียว แต่คำเตือนจากบทความนี้ก็น่าจะช่วยชี้ให้ระมัดระวัง เตรียมการให้พร้อมสำหรับวันที่การเชื่อมต่อไปถึงข้อมูลสำคัญๆ และโปรแกรมออนไลน์เหล่านั้นสะดุดไว้ด้วย เพื่อที่จะไม่กระทบกับการปฏิบัติงานประจำวันของกิจการของท่านด้วย

สุดท้ายนี้ อยากจะย้ำอีกทีว่าการประเมินความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของกิจการได้ไว้ล่วงหน้านั้น อาจช่วยให้เลี่ยงความเสี่ยงเหล่านั้นได้ และยังช่วยให้ได้รับรู้ถึงจุดเปราะบางในกิจการของตนซึ่งอาจแก้ไขในทันทีได้ แต่ก็พึงจะต้องมีแผนรองรับหากจะต้องเผชิญกับสถานการณ์เหล่านั้นขึ้นมาจริงๆ แบบไม่อาจหลีกเลี่ยงไว้ด้วย จะได้ตั้งตัวรับมือได้อย่างทันท่วงที

*********************************************************

ที่มา: ControlRisks
เรื่อง: “Top Risks”
โดย: Claudine Fry
สคต. ไมอามี /วันที่ 11 พฤศจิกายน 2567
thThai