หลังจากเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2567 ดีไซน์เนอร์ไทยเพิ่งคว้ารางวัลชนะเลิศจาก Taiwan Fashion Design Award 2024 ในช่วง Taipei Fashion Week เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2567 ล่าสุด ในงาน Taiwan Creative Content Fest 2024 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าสำหรับธุรกิจดิจิทัล คอนเทนต์ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-8 พฤศจิกายน 2567 มีคอนเทนต์ของไทย สามารถคว้า 2 รางวัลใหญ่จากการ Pitching ในงานฯ ด้วย
Taiwan Creative Content Fest จัดโดย Taiwan Creative Content Agency (TAICCA) ซึ่งเป็นหน่วยงานส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ของไต้หวัน โดยในงานมีการประกวดโครงการ/ Story ที่ต้องการถ่ายทำเป็นภาพยนตร์และต้องการหาเงินลงทุน ซึ่งมีโครงการที่สมัครเข้าร่วมการ Pitching มากกว่า 600 โครงการ จาก 50 ประเทศทั่วโลก และมีคูหาจัดแสดงมากกว่า 100 คูหา โดยโซนจัดแสดงแบ่งเป็น 4 โซน ได้แก่ Copyright Transaction, Production Resources, Visual Technologies และ Industry Showcase รวมทั้งมี Buyer กว่า 300 คนจาก 30 ประเทศทั่วโลก เดินทางมาร่วมเจรจาธุรกิจพร้อมนี้ ภายในงานฯ ยังมีการเปิดตัว “กองทุนสร้างสรรค์ดิจิทัล” มูลค่า 33,000 หมื่นล้านบาทของไต้หวัน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนโครงการภาพยนตร์และสื่อคุณภาพของไต้หวัน โดยช่วยเหลือในด้านการพัฒนา IP บทภาพยนตร์ การผลิตภาพยนตร์ และการจำหน่ายสู่ตลาดต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรม Cultural Content ของไต้หวัน พร้อมทั้งมีการประกาศสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานสิงคโปร์และเกาหลีใต้ ในการขยายตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการพัฒนาคอนเทนต์สร้างสรรค์ร่วมกันด้วย
สำหรับผลงานของไทยที่ผ่านการคัดเลือกได้มีโอกาสมาร่วมการ Pitching มีจำนวน 3 โครงการ คือ เรื่องปีชงของธงไชย (Bangkok Enigma) ของบริษัท Wakeup Rabbit ในประเภท Feature Films เรื่อง Teewa ของบริษัท Chardo Animation Co., Ltd. และเรื่อง Worldbot ของบริษัท Wishberry ในประเภท Animation Features and Series โดยปีชงของธงไชยสามารถคว้ารางวัล Genesis Wave Film Creative Award และ Teewa สามารถคว้ารางวัล ADATA – Future Innovation Award ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ จะได้รับเงินรางวัลรายละ 330,000 บาทด้วย สำหรับในส่วนของรางวัลชนะเลิศ TAICCA X CNC AWARD ผู้ที่ได้รับรางวัลคือเรื่อง Clouded Leopard ของ Mangowork Studio Co., Ltd. จากไต้หวัน ซึ่งได้รับเงินรางวัล 30,000 เหรียญสหรัฐฯ และรางวัล TAICCA AWARD: Best Story เป็นของเรื่อง Rest in Pieces โดย Balena Islet Publishing Inc. ของไต้หวัน ที่จะได้รับเงินรางวัล 10,000 เหรียญสหรัฐฯ ด้วย ส่วนรางวัล Special Jury Award เป็นของผลงานเรื่อง The Alleyway ที่เป็นโครงการร่วมระหว่างเกาหลีใต้ กาตาร์ และเดนมาร์ก ซึ่งได้รับเงินรางวัล 10,000 เหรียญสหรัฐฯ เช่นกัน นอกจากนี้ ภายในงานมีการจัดสัมมนาโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงในสาขาที่เกี่ยวข้องจากทั่วโลกมาบรรยาย รวมถึงวิทยากรจากไทย คือ มรว. เฉลิมชาตรี ยุคล ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ด้านภาพยนตร์ และคุณบรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยชื่อดังจากค่าย GDH 559 โดยคุณบรรจงฯ ยังได้รับเชิญให้เป็นกรรมการตัดสินในรอบสุดท้ายของการ Pitching ด้วย
ทั้งนี้ TAICCA ได้จัดกิจกรรม Business Matching ภายในงานให้กับผลงานทั้งหมดที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาร่วมการ Pitching เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างความร่วมมือกับผู้สร้าง/นักลงทุน อันจะเป็นการต่อยอดผลงานเหล่านี้ในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ข้อมูลจาก: China Times / Economic Daily News / TVBS (November 5-11, 2024)
ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.
แม้คนไทยโดยทั่วไปจะไม่สามารถสื่อสารภาษาจีนได้ แต่ในไทยมีคนเชื้อสายจีนอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้วัฒนธรรมและความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลมาจากีนกลายเป็นสิ่งที่เชื่อมคอนเทนต์ของไทย โดยเฉพาะในส่วนที่มีความเกี่ยวโยงกับวัฒนธรรมจีนให้เป็นที่เข้าใจและได้รับการยอมรับจากตลาดไต้หวันได้ง่าย ในขณะเดียวกันหน่วยงานไต้หวันก็มีนโยบายส่งเสริมโครงการที่เป็นความร่วมมือร่วมระหว่างผู้ประกอบการไต้หวันและต่างชาติให้เกิดการ Co-Production ทำให้ไต้หวันเป็นอีกหนึ่งแหล่งทุนที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย ซึ่งมีความโดดเด่นในด้านการสร้างสรรค์คอนเทนต์ ที่ต้องการแสวงหาเงินทุนและโอกาสจากต่างประเทศ โดยการส่งผลงานเข้าร่วมการ Pitching ในงาน Taiwan Creative Content Fest เป็นช่องทางที่มีศักยภาพสำหรับผู้ประกอบการไทย ซึ่งจะเปิดรับสมัครโครงการที่จะเข้าร่วมการ Pitching ในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี นอกจากนี้ ไต้หวันยังมีโครงการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างนักลงทุนและผู้สร้างภาพยนตร์จากทั้งไต้หวันและต่างประเทศที่น่าสนใจอีกหนึ่งช่องทาง คือ The Golden Horse Film Project Promotion ซึ่งเปิดรับสมัครในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี ที่รับเฉพาะโครงการที่จะผลิตภาพยนตร์พูดภาษาจีน ซึ่งหากไทยสามารถพัฒนาตนเองให้สามารถมีโครงการร่วมมือกับไต้หวันในการผลิตภาพยนตร์ได้ โอกาสที่จะมีผลงานภาพยนตร์ไทยที่พูดภาษาจีนเข้าประกวดใน The Golden Horse Film Festival ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ซึ่งนอกจากจะช่วยขยายโอกาสในการเข้าสู่ตลาดที่ใช้ภาษาจีนแล้ว ยังถือเป็นการสนับสนุนนโยบาย Soft Power ของไทยที่มีศักยภาพอีกด้วย