ศักยภาพด้านโลจิสติกส์ของตุรกี กับการเป็นศูนย์กลางการขนส่งของโลก

เมื่อเร็วๆ นี้ สํานักงานการลงทุนแห่งตุรกี ได้ร่วมมือกับ Cushman & Wakefield | TR International จัดทำและเผยแพร่รายงานเรื่อง “Logistics Market Outlook Turkey 2024” เพื่อนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภาคโลจิสติกส์ของตุรกี โดยมีวัตถุประสงค์ให้กลุ่มเป้าหมายได้แก่นักลงทุนชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจากยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลาง ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับความจริงจังและการลงทุนเป็นจำนวนมากของตุรกีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์ของประเทศ พร้อมทั้งได้กล่าวถึงข้อมูลเกี่ยวกับที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของตุรกีที่มีความได้เปรียบในด้านยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ ข้อมูลผู้ประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการลงทุน สภาวะและความต้องการของตลาด เส้นทางการค้าสำคัญ และแนวโน้มการค้าระดับโลก และสิทธิประโยชน์ต่างๆ

 

เนื้อหาในรายงานดังกล่าวได้มีการวิเคราะห์ถึงการเปลี่ยนแปลงเส้นทางการค้าโลกอันเนื่องมาจากความขัดแย้งรอบทะเลแดงและวิกฤตห่วงโซ่อุปทานที่เกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ให้ต้นทุนค่าขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นสูงมากกว่าเท่าตัวด้วยความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและเส้นทางการขนส่งที่ยืดยาวมากขึ้น แนวคิดที่เรียกว่า “near shore” ซึ่งหมายถึงการย้ายฐานการผลิตไปอยู่ใกล้กับตลาด จึงเป็นแนวทางที่สมเหตุสมผลสำหรับนักลงทุนที่ต้องการแสวงหาห่วงโซ่อุปทานที่ประหยัดมากขึ้น ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเน้นย้ำว่าาตุรกีเป็นหนึ่งในประเทศที่เหมาะสมที่สุดที่จะเป็นเป็นศูนย์กลางการผลิตตามแนวคิดนี้

 

ตุรกีเป็นประเทศที่บริษัทข้ามชาติจำนวนมากมองเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญ ด้วยความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ทำให้ตุรกีกลายเป็นศูนย์กลางการผลิต การส่งออก และการบริหารจัดการสินค้า โดยจัดอยู่ในอันดับที่สามที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจากบริษัทข้ามชาติจากยุโรป นอกจากนี้ ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และความมั่นคงด้านพลังงาน ตุรกีสามารถสร้างข้อได้เปรียบด้านต้นทุนและประสิทธิภาพได้เป็นอย่างดี

 

จากข้อมูล “Agility Emerging Markets Logistics Index” ซึ่งเป็นการจัดอันดับขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์ของประเทศต่างๆ ในปี 2023 ตุรกีถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 11 จาก 50 ประเทศ โดยมีจุดแข็งในเรื่องของ “โอกาสในประเทศและระหว่างประเทศ พื้นฐานทางธุรกิจ และการเตรียมการด้านดิจิทัล” โดยมีส่วนแบ่งตลาดในด้านการส่งออกโลจิสติกส์ของโลกมากถึงร้อยละ 2.5 คิดเป็นมูลค่ากว่าแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ “ตุรกีมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางระดับโลกสําหรับการขนส่งและโลจิสติกส์ ทั้งด้วยทําเลที่ตั้งเชิงกลยุทธ์ กําลังการผลิตโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจ ฐานอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการส่งออก ประชากรและกลุ่มแรงงานขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ตุรกียังมีความแข็งแกร่งในด้านตลาดการค้าปลีก รวมทั้งการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดอีคอมเมิร์ซซึ่งมีมูลค่ามากถึง 89.42 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดการณ์ว่าจะโตถึง 136.89 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2027”

 

การเติบโตอย่างรวดเร็วของอีคอมเมิร์ซ ถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเพิ่มการลงทุนด้านศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้าในระดับภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะเดียวกันบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่หลายรายเล็งที่จะย้ายฐานการผลิตเข้ามาที่ตุรกี อาทิ บริษัทยานยนต์สัญชาติจีนอย่าง Skywell ประกาศว่าจะลงทุนในตุรกีด้วยมูลค่าการ

 

ลงทุนกว่า 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วน SAIC Motor และ DFSK Motor ก็ได้แถลงเกี่ยวกับการวางแผนการลงทุนใหม่ในตุรกีในอนาคตอันใกล้นี้ด้วยเช่นกัน Amazon ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซ ได้เล็งเห็นช่องทางให้บริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นแก่ตลาดในประเทศและภูมิภาคโดยการเปิดศูนย์โลจิสติกส์แห่งแรกในตุรกีที่เมืองอิสตันบูล ในขณะที่ Fedex Express ได้มีการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่กว่า 23,000 ตารางเมตร ที่จะครอบคลุมการขนส่งในสามทวีปขึ้นในพื้นที่ของสนามบินอิสตันบูล

 

เมื่อพิจารณาค่าเช่าพื้นที่สำหรับภาคโลจิสติกส์ โดยคิดตามตารางเมตรแบ่งเป็นรายภูมิภาคนั้น อิสตันบูลยังคงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสําหรับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ด้วยทําเลที่ตั้งเชิงกลยุทธ์และความจริงที่ว่าผลตอบแทนค่าเช่าค่อนข้างสูง โดยพื้นที่ North Marmara ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ราคาอยู่ที่ 110-285 ลีร่าตุรกี สำหรับ East Marmara ราคาอยู่ที่ 155-310 ลีร่าตุรกี และ 115-155 ลีร่าตุรกีสำหรับพื้นที่ Sakarya-Düzce หากเป็นที่กรุง Ankara นั้น อยู่ระหว่าง 110-200 ลีร่าตุรกี และ 100-200 ลีร่าตุรกีลีราในภูมิภาค Izmir-Manisa

 

การลงทุนด้านเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติในตุรกีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ความต้องการพื้นที่จัดเก็บสินค้าที่มีคุณภาพและชาญฉลาด ระบบโลจิสติกส์ที่จัดการด้วยปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์และการจัดการพลังงานที่ยั่งยืนนั้น เป็นอีกหนึ่งในแนวโน้มที่โดดเด่นของตุรกี ในขณะที่การใช้โดรนและยานยนต์อัตโนมัติเพื่อตอบสนองความคาดหวังในการจัดส่งที่รวดเร็วนั้นถูกมองว่าเป็นหนึ่งในการพัฒนาที่สําคัญ และตอบโจทย์ในเรื่องความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยคาดหวังว่าบริษัทต่างๆ ทั่วโลกจะให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ตามข้อตกลงสีเขียวของสหภาพยุโรปซึ่งตุรกีเองได้นำมาเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาประเทศอันดับที่ 12 ของแผนพัฒนาสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลนั้น เป็นการมอบโอกาสที่สําคัญสําหรับนักลงทุนต่างชาติที่กําลังมองหาตลาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ

 

ถึงแม้อาจมองได้ว่ารายงานฉบับดังกล่าว จะเป็นอีกหนึ่งในความพยายามประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศของรัฐบาลตุรกี แต่ข้อมูลในตัวรายงานเองก็ถือว่ามีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

 

ตุรกีถือเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบด้านโลจิสติกส์อย่างมากในภูมิภาคนี้ โดยมีพรมแดนที่เชื่อมต่อทั้งเอเชียและยุโรป และยังใกล้กับแอฟริกาอย่างมาก จึงไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจมากนักที่ตุรกีจะกลายเป็นจุดสนใจในด้านการเป็นศูนย์กลางกระจายและขนส่งสินค้าต่างๆ โดยในปัจจุบันตุรกีกลายเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของการกระจายสินค้าในภูมิภาคนี้ในทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นทางเรือที่เป็นทั้งเส้นทางเดินเรือและมีท่าเรือสำคัญอยู่หลายแห่ง ทางอากาศโดยท่าอากาศยานอิสตันบูลในปัจจุบันได้กลายเป็นศูนย์กลางของการเดินทางและการขนส่งสินค้าทางอากาศที่สำคัญไม่แพ้เมืองหลักอื่นๆ อย่างแฟรงก์เฟิร์ต หรือดูไบ รวมไปถึงทางบกที่มีการพัฒนาโครงข่ายถนนและระบบรางต่างๆ และนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาต่อยอดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ นอกจากจุดแข็งทางกายภาพดังกล่าวข้างต้นแล้ว ตุรกียังเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์และความตกลงทางการค้ากับประเทศและกลุ่มประเทศต่างๆ อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเป็นสมาชิกของกลุ่ม NATO การมีความตกลงด้านภาษีกับกลุ่ม EU ไปพร้อมๆ กับการมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับรัสเซีย การเป็นสมาชิกหรือเข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือในหมู่ประเทศมุสลิมเกือบทุกรายการ รวมทั้งยังคงมีท่าทีว่าจะสามารถบริหารจัดการความสัมพันธ์กับฝ่ายต่างๆ ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งและสงครามทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ในแนวทางที่ค่อนข้างจะเป็นกลาง ไม่ว่าจะเป็นกรณีรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงดำเนินอยู่ กรณีอิสราเอล-ปาเลสไตน์ (และคู่ขัดแย้งในตะวันออกกลางอื่นๆ) ที่ยังขยายวงกว้างและคาดเดาไม่ได้ ปัญหาการก่อการร้ายและการขนส่งสินค้าผ่านทะเลแดงและคลองสุเอซที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าในภูมิภาค ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น

 

สำหรับปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนควรจะต้องระมัดระวังคือ ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศตุรกีเองที่ยังคงอยู่ในช่วงชะลอตัวเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาหลายปี อัตราแลกเปลี่ยนเงินลีร่าตุรกีที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง และนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลตุรกีที่แม้ว่าในขณะนี้จะดูเหมือนจะเป็นไปในแนวทางที่สมเหตุสมผลมากขึ้น แต่ก็ดูเหมือนว่าเป็นการใช้มาตรการที่ค่อนข้างรุนแรงและมีความเสี่ยงสูง และยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก

 

ที่มา: https://www.trthaber.com/haber/ekonomi/turkiye-tasimacilik-ve-lojistik-icin-kuresel-bir-merkez-olma-potansiyeli-tasiyor-867285.html

 

thThai