จีนเป็นตลาดรังนกที่ใหญ่ที่สุด ครองสัดส่วนการบริโภครังนกร้อยละ 80 ของการบริโภคทั่วโลก และเป็นประเทศที่นำเข้ารังนกมากที่สุด โดยจีนจัดเป็นแหล่งแปรรูปและบริโภคขนาดใหญ่ของโลก จากข้อมูล Qichacha พบว่า จีนมีบริษัทธุรกิจรังนกรวมทั้งสิ้น 11,000 บริษัท ส่งผลให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมรังนกของจีนมีความรุนแรงขึ้น โรงงานแปรรูปส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่มณฑลฝูเจี้ยน กวางตุ้งและกวางสี อย่างไรก็ดี โรงงานเหล่านี้ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบรังนกจากต่างประเทศ โดยปริมาณนำเข้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจากข้อมูลปี 2567 พบว่า รังนกเป็นสินค้าในหมวดของอาหารเพื่อสุขภาพที่มียอดจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม T-mall สูงที่สุด โดยมียอดจำหน่ายอยู่ที่ 4,580 ล้านหยว
1.การบริโภครังนก
กลุ่มผู้บริโภครังนกหลักของจีนเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุตั้งแต่ 20 – 40 ปี ซึ่งในจำนวนเหล่านี้ ร้อยละ 72 เลือกซื้อสินค้าในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ นอกจากนี้ ยังนิยมบริโภคในกลุ่มเพศหญิงที่เตรียมตั้งครรภ์หรือกำลังตั้งครรภ์ ทั้งนี้ ปัจจัยในการบริโภครังนกของผู้บริโภคชาวจีน ร้อยละ 53.10 บริโภคเพื่อบำรุงครรภ์ ร้อยละ 28.80 เลือกซื้อเพื่อมอบให้เป็นของขวัญแก่ญาติสนิทหรือเพื่อนฝูง และร้อยละ 24.90 บริโภคเพื่อบำรุงสุขภาพในช่วงหลังจากการตั้งครรภ์
- ความต้องการในอุตสาหกรรมรังนกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
– ผู้บริโภคชาวจีนต้องการสินค้ารังนกที่มีสรรพคุณที่หลากหลาย
ผู้บริโภคชาวจีนให้ความสนใจกับเรื่องสุขภาพและการบำรุงร่างกายกันมากขึ้น ต้องการเลือกซื้อสินค้าอาหารที่มีประโยชน์และโภชนาการที่ดีต่อร่างกาย มีความต้องการรับประทานรังนกที่มีสรรพคุณในการบำรุงเลือด ป้องกันโรคที่เกี่ยวกับความดันสูง บำรุงตับ และการส่งเสริมการนอนหลับ ดังนั้นแบรนด์ รังนกควรพัฒนาสินค้าและสรรพคุณของตัวสินค้าให้มีการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
– ผู้บริโภคชาวจีนต้องการสินค้ารังนกพร้อมดื่มมากขึ้น
เนื่องจากปัจจุบันไลฟ์สไตล์ของคนสมัยใหม่มีความรวดเร็วและเร่งรีบ ทำให้มีความต้องการสินค้ารังนกพร้อมดื่มที่มีความสะดวก รวดเร็วและตอบโจทย์การบริโภคเพื่อสุขภาพในทุกที่ทุกเวลาได้ นอกจากนี้ การพัฒนาสินค้ารังนกพร้อมดื่มสามารถควบคู่กับการใส่วัตถุดิบอื่น ๆ ที่มีสรรพคุณในการบำรุงสุขภาพได้อีกด้วย
– ผู้บริโภคชาวจีนต้องการสินค้ารังนกที่มีบรรจุภัณฑ์สวยงาม
ชาวจีนมีวัฒนธรรมการมอบของขวัญในช่วงเทศกาลหรือในโอกาสต่าง ๆ เช่น ตรุษจีน ขึ้นบ้านใหม่ การเยี่ยมเยียนญาติและเพื่อนในโอกาสต่าง ๆ ทำให้ผู้บริโภคชาวจีนมีความต้องการสินค้ารังนกที่มีบรรจุภัณฑ์สวยงาม น่าสนใจ ทันสมัยและมีคุณค่าทางจิตใจที่สามารถสร้างความประทับใจให้แก่ผู้รับได้
– ผู้บริโภคชาวจีนต้องการสินค้ารังนกที่มีแคลอรี่ต่ำ
เมื่อผู้บริโภคชาวจีนมีแนวคิดเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร
ที่เปลี่ยนไป ทำให้หันมาใส่ใจสุขภาพ และหลีกเลี่ยงการบริโภคที่
ทำให้เกิดโรคอ้วน อีกทั้งผู้บริโภคเพศหญิงมักให้ความสำคัญกับ
การลดน้ำหนัก ทำให้มีความต้องการสินค้ารังนกที่มีแคลอรี่ต่ำ
น้ำตาลน้อย รับประทานเป็นอาหารเสริมแบบเบา ๆ เช่น โจ๊กผสมรังนก
และรังนกตุ๋น เป็นต้น
- กลยุทธ์แนะนำสำหรับการส่งออกรังนกไทยไปจีน
– พัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมการผลิตสินค้ารังนกไทย
สร้างสรรค์สินค้าให้มีความหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการ
ของกลุ่มผู้บริโภคชาวจีน เช่น การพัฒนาสินค้ารังนกผสมสมุนไพรจีน
เช่น เก๋ากี้ พุทรา โสมหรือปลิงทะเล เพื่อให้สอดคล้องกับ
ความต้องการเฉพาะของผู้บริโภค
– นอกจากจะรักษาคุณภาพของสินค้าแล้ว ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามและใช้งานได้จริง และควรมีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เข้ากับเทศกาล/โอกาสต่างๆ
– ขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้ารังนก ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันทางการตลาดที่รุนแรงของสินค้ารังนก แบรนด์รังนกควรเสริมความแข็งแกร่งในด้านการจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ ควบคู่กับการจำหน่ายสินค้าทางออฟไลน์ และประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านสื่อออนไลน์ ร่วมมือกับ KOL ในการทำ Content ประชาสัมพันธ์สินค้า หรือการทำ Live Streaming โดยมุ่งเน้นหัวข้อการบริโภคเพื่อสุขภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใส่ใจสุขภาพของชาวจีนในปัจจุบัน
– พัฒนาสินค้าให้มีความทันสมัยและดึงดูดความสนใจของคนรุ่นใหม่ได้ เช่น การพัฒนารังนกขนาดพกพา รังนกพร้อมดื่มที่มีความสะดวกในการรับประทานมากยิ่งขึ้น
- ข้อกำหนดในการนำเข้ารังนกจากต่างประเทศของจีน
ปัจจุบันประเทศที่สามารถส่งออกสินค้ารังนกมายังจีนได้มีทั้งหมด 4 ประเทศ ได้แก่ 1) มาเลเซีย (รังนกขน Raw-Unclean Edible Birdnest และรังนกสำหรับรับประทาน) 2) ไทย (รังนกสำหรับรับประทาน) 3) อินโดนีเซีย (รังนกสำหรับรับประทาน) และ 4) เวียดนาม (รังนกสำหรับรับประทาน)
ความคิดเห็น สคต.
ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายตลาดรังนกสู่จีน ควรให้ความสำคัญกับการรับรองคุณภาพของสินค้า และควรเสริมสร้างการประชาสัมพันธ์แบรนด์ผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อเพิ่มการรับรู้แบรนด์รังนกไทย นอกจากนี้ ควรมีการพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวจีน เปิดตัวสินค้าขนมหวานของไทยที่ทำมาจากรังนก เพื่อสร้างจุดขาย/จุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ให้แก่สินค้า ในขณะเดียวกัน ควรพิจารณาร่วมมือกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและผู้นำเข้าในท้องถิ่น ในการดำเนินกลยุทธ์การส่งเสริมการขายในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ของจีน
*****************************************
แหล่งที่มา: https://www.sohu.com/a/796223042_212076
https://static.nfapp.southcn.com/content/202303/20/c7473603.html
https://max.book118.com/html/2024/0717/8133044050006112.shtmhttps://m.sohu.com/coo/sg/766023052_120394111http://jckspj.customs.gov.cn/spj/xxfw39/jkspjwscqyzcmd/4650504/index.html
สคต.คุนหมิง