กฎระเบียบที่เข้มงวดเกินไปของยุโรปส่งผลเสียต่อตัวเอง

แผนของบริษัท Volkswagen Group (VW) ที่ต้องการจะ (1) ปิดโรงงานถึง 3 แห่ง ในเยอรมนี (2) ลดจำนวนพนักงานหลายพันตำแหน่ง และ (3) ลดค่าจ้าง เหล่านี้ได้สร้างความตกตะลึงให้กับเยอรมนีเป็นอย่างมาก โดยต่อมาสภาแรงงานได้ออกมาขู่จะนัดหยุดงาน ซึ่งนาย Olaf Scholz นายกรัฐมนตรีออกมากล่าวว่า ปัญหานี้เป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารของบริษัทต้องเร่งออกมาแสดงความรับผิดชอบ และป้องกันไม่ให้ “เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาดของฝ่ายบริหารของบริษัทฯ จนส่งผลเสียต่อพนักงาน” วิกฤตของ Volkswagen ไม่เพียงสะท้อนฉากทัศน์ทางเศรษฐกิจของเยอรมนีในขณะนี้ จากเดิมที่เคยเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรม แต่ทำให้เห็นว่า ปัญหาที่สำคัญของเยอรมนีและยุโรปคือความล่าช้าในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีในระดับโลกเมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา สำหรับนาย Olivier Coste ผู้ประกอบการด้านธุรกิจเทคโนโลยีสัญชาติฝรั่งเศสกล่าวถึงกรณีของ Volkswagen ว่า เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า ต้นทุนการปรับโครงสร้าง (Restructuring Costs) ที่สูง อาจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาด้านนวัตกรรมได้ โดยนาย Coste ที่ก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารอาวุโสของ Alcatel, Siemens, Microsoft และอื่น ๆ ได้อธิบายว่า “เยอรมนีได้รับผลกระทบอย่างมากจากปัญหานี้ เนื่องจากมีต้นทุนของความล้มเหลวสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในสหภาพยุโรป (EU) นอกจากนี้ อุตสาหกรรมของเยอรมนียังมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีเป็นพิเศษ” โดยนาย Coste ประมาณการว่า ต้นทุนการปรับโครงสร้าง ที่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อย่างเช่น (1) เงินชดเชยจากการปลดพนักงาน (2) การสูญเสียรายได้จากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และ (3) การฝึกอบรมพนักงานใหม่ในเยอรมนี นั้น สูงกว่าในประเทศสหรัฐฯ ถึง 10 เท่า

 

โดยสิ่งที่เรียกว่า “แผนปฏิบัติการ Draghi” ที่นาย Mario Draghi อดีตประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้เปิดเผยจุดอ่อนในการแข่งขันของยุโรปได้แสดงให้เห็นว่า นาย Coste ไม่ได้เป็นเพียงคนเดียวที่มีความเห็นข้างต้น ซึ่งนาย Draghi ได้วิเคราะห์ไว้ใน “แผนปฏิบัติการ Draghi” ว่า “บริษัทใน EU กำลังดิ้นรนต่อสู้กับปัญหาต้นทุนการปรับโครงสร้างที่สูงขึ้น เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างสหรัฐฯ จึงทำให้พวกเขาอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในธุรกิจที่มีนวัตกรรมขั้นสูงซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มการแข่งขันแบบ ผู้ชนะ – รับทั้งหมด (Winner takes it all)” ข้อเสียที่กล่าวมาข้างต้นนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อบริษัทขนาดใหญ่อย่าง VW หรือ SAP เท่านั้น พวกเขาสามารถปรับตัวได้ช้ากว่าคู่แข่งในอเมริกาเนื่องจากต้องเผชิญกับกฎระเบียบต่าง ๆ ใน EU จำนวนมาก ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น นาย Draghi กล่าวถึงปัญหาดังกล่าวว่า ได้กลายเป็น “ความทุกข์ทรมานอย่างช้า ๆ ของยุโรป” ปัญหาต้นทุนการปรับโครงสร้างที่สูงเหมือนหลุมพรางที่ยับยั้งไม่ให้ธุรกิจที่เป็นตัวกลางระหว่างแหล่งเงินทุน (VC – Venture Capital) สามารถลงทุนในสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีในยุโรปได้ง่าย องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD – Organisation for Economic Co-operation and Development) กล่าวย้อนกลับไปในปี 2015 ว่า “กฎหมายคุ้มครองการจ้างงานที่เข้มงวดของ EU เกี่ยวข้องกับความสามารถในการแข่งขันของบริษัทด้านนวัตกรรมทั้งในเรื่อง (1) การดึงดูดทรัพยากร และวัสดุเสริมที่บริษัทจำเป็นที่จะต้องนำไปใช้ลดลง และ (2) การนำแนวคิดใหม่ ๆ ไปพัฒนาใช้เชิงพาณิชย์ได้ยาก” โดย OECD ยังเตือนต่อว่า ภาระที่เกิดขึ้นจากผลกระทบนี้กระจายตัวอยู่อย่างไม่สมดุล โดยส่งผลกระทบกับบริษัทคนรุ่นใหม่ที่เป็นบริษัทที่มีแนวโน้มที่จะกล้าทดลองใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ต่างไปจากเดิมมากเป็นพิเศษ จากประสบการณ์ของเขาแสดงให้เห็นว่า โดยปกติแล้ว 4 ใน 5 ของบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีสามารถล้มเหลวได้ ต้นทุนที่เกี่ยวข้องจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการคำนวณของ VC นาย Coste สรุปว่า อัตราผลตอบแทนภายใน (IRR – Internal Rate of Return) สำหรับกองทุน VC ในยุโรปโดยเฉลี่ยอาจต่ำกว่าในสหรัฐอเมริกาถึง 4% เนื่องจากปัญหาต้นทุนการปรับโครงสร้าง (restructuring costs) ที่อาจเกิดขึ้นสูง ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ การลงทุนกับกองทุน VC ในอเมริกาสูงกว่ากับกองทุน VC สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักรรวมกันประมาณ 3 เท่าตัว

 

แล้ว EU จะต้องทำอย่างไร ไม่น่าเป็นไปได้ และไม่เป็นความต้องการของ EU ที่จะยอมเสียสละรูปแบบทางสังคมของตน และเปลี่ยนไปใช้วัฒนธรรมแบบ “จ้างแล้วไล่ออก” ง่าย ๆ เหมือนในสหรัฐฯ ความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างนั้นสร้างความพึงพอใจในการทำงาน และสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนให้ผลิตภาพในการทำงานสูงขึ้นได้ ในทางกลับกัน ยุโรปไม่สามารถเพิกเฉยต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกฎระเบียบที่มีอยู่จนทำให้ EU ล้าหลังด้านการแข่งขันระดับโลก และเป็นอันตรายต่อรูปแบบทางสังคมในระยะยาวได้ นาย Coste ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีชาวฝรั่งเศส รายนี้แนะนำว่า การป้องกันการเลิกจ้างควรมีความแตกต่างกันขึ้นตามอัตราเงินเดือนค่าจ้าง และความสามารถด้านการศึกษาของลูกจ้าง ผู้ที่มีรายได้สูง และได้รับการศึกษาอบรมเป็นอย่างดีมักจะหางานใหม่ได้เร็วกว่าผู้ที่มีการศึกษาต่ำ เขาเรียกสิ่งนี้ว่า “Flexicurity หรือความยืดหยุ่นในความมั่นคง (Flexicurity คือการผสมคำระหว่าง flexibility และ security)” ซึ่งข้อเสนอนี้ฟังดูสมเหตุสมผลดี แต่ก็มีข้อเสียอยู่บ้าง แม้ว่า การคุ้มครองที่แตกต่างกันนั้นจะขึ้นอยู่กับระดับของเงินเดือนก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอยู่แล้ว แต่การแยกความแตกต่างในการป้องกันการไล่ออกขึ้นตามการศึกษาระดับทวิศึกษา (ปวช. และ ปวส.) กลับก่อให้เกิดมากกว่าคำถามทางกฎหมายว่า เราจะต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านลบของแรงจูงใจที่จะเกิดขึ้นกับการเรียนด้านดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตามในปัจจุบันสิ่งที่สำคัญก็คือ ชาวยุโรปต้องพร้อมวิเคราะห์ข้อเสียของตนด้านการแข่งขันระดับนานาชาติโดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ และหารืออย่างเปิดเผยถึงการปรับเปลี่ยนที่จำเป็นเพื่อรักษาความมั่งคั่งของพวกเขาไว้

 

จาก Handelsblatt 22 พฤศจิกายน 2567

thThai