จากข้อมูลของสมาคมของเล่นประเทศญี่ปุ่น (The Japan Toy Association) พบว่าตลาดแคปซูลทอยในปี 2566 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 5 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 64,000 ล้านเยน (ประมาณ 14,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในระยะเวลา 10 ปี นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ของสมาคมแคปซูลทอยประเทศญี่ปุ่น (Japan Capsule Toy Association) โดยคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดอาจสูงถึง 115,000 ล้านเยน (ประมาณ 26,000 ล้านบาท)
มูลค่าตลาดที่สูงขึ้นเป็นเพราะร้านแคปซูลทอยที่มีตู้จำหน่ายหลายร้อยตู้ทำให้สามารถดึงดูดลูกค้าผู้หญิง โดยในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ร้านค้าภายในศูนย์การค้าได้มีการปิดบริการอย่างต่อเนื่อง แคปซูลทอยจึงเป็นที่นิยมในฐานะผู้เช่ารายใหม่ เนื่องจากมีต้นทุนในการเปิดร้านต่ำและไม่จำเป็นต้องมีพนักงานประจำร้าน
ในปี 2562 บริษัทของเล่น HAPPINET ได้เริ่มขยายร้านแคปซูลทอยซึ่งมีชื่อว่า “Gachacoco” โดยช่วงแรกได้ติดตั้งตู้ขายแคปซูลทอยอัตโนมัติ 200-500 เครื่อง และความนิยมได้ขยายไปยังลูกค้ากลุ่มต่างๆ ซึ่งเดิมทีการตกแต่งภายในร้านต้องการเน้นกลุ่มลูกค้าผู้ชาย แต่เมื่อมีการปรับปรุงร้านใหม่ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าผู้หญิง เช่น เพิ่มความกว้างของทางเดินเพื่อให้สามารถนำรถเข็นเด็กเข้าออกได้อย่างสะดวก ฯลฯ ทำให้ปัจจุบันสัดส่วนลูกค้าผู้หญิงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60
สถานที่ติดตั้งแคปซูลทอยได้ขยายออกไปนอกเหนือจากศูนย์การค้า เช่น สถานีรถไฟและสนามบิน นอกจากนี้ยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะตัวละครจากอนิเมะเป็นที่นิยมมาก
ปัจจัยที่มีส่วนในการขยายตัวของตลาดแคปซูลทอย คือ จำนวนสินค้าที่มีความหลากหลาย ซึ่งทาง HAPPINET ได้มีการติดต่อกับผู้ผลิตประมาณ 20 รายและลงสินค้าประเภทใหม่มากกว่า 200 รายการสินค้าต่อเดือน โดยผู้ผลิตแคปซูลทอยรายใหญ่ ได้แก่ Bandai และ Takara Tomy Arts และมีบริษัทอื่นๆอีกหลายสิบบริษัท โดยใน 1 เดือน บริษัท Bandai ผลิตสินค้าในชื่อแบรนด์ “Gashapon” ประมาณ 120 รายการ และบริษัท Takara Tomy Arts ผลิตสินค้าในชื่อแบรนด์ “Gacha” ประมาณ 40 รายการ สมาชิกทีมออกแบบจะดูแลตั้งแต่การเสนอแนวคิดไปจนถึงการพัฒนาและการผลิต ซึ่งใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือน และผู้ดูแลหนึ่งคนจะพัฒนาสินค้าใหม่ 2-4 รายการสินค้าต่อเดือน
บริษัท THERMOS ผู้ผลิตกระติกน้ำสุญญากาศ ได้เปิดร้าน Pop up Store ฉลองครบรอบ 120 ปี โดยนำตู้จำหน่ายแคปซูลทอยสินค้าบริษัท เช่น กระติกน้ำและกระทะมาตั้งเรียงไว้ มีบริษัทจำนวนมากใช้แคปซูลทอยในการส่งเสริมการจำหน่ายในลักษณะนี้ เนื่องจากมีความสะดวกเพราะตู้แคปซูลทอยไม่ต้องใช้ไฟและสามารถติดตั้งได้ตั้งแต่หนึ่งเครื่องเป็นต้นไป จึงทำให้เป็นที่นิยม ปัจจุบันมีสินค้าที่ผลิตร่วมกันกับบริษัทต่างๆ (Collaboration) คิดเป็นร้อยละ 10 ของอัตราส่วนในตลาด นอกจากนี้ บริษัท Bandai ได้เปิดช่องทางสำหรับบริษัทที่ต้องการทำสินค้าร่วมกันในเดือนเมษายน 2567 และได้รับการติดต่อสอบถามจากบริษัทต่างๆแล้วกว่าสิบบริษัท
บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
ตลาดแคปซูลทอยเป็นตลาดที่มีมูลค่าเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีร้านค้าที่วางเครื่องจำหน่ายแคปซูลทอยอย่างแพร่หลายไม่จำกัดเฉพาะร้านขายของเล่น สินค้าแคปซูลทอยเป็นที่ดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคในวงกว้างไม่จำกัดเฉพาะเด็กเล็ก นอกจากนี้ ยังเป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับสินค้าไทยในรูปแบบแคปซูลทอยในประเทศญี่ปุ่น มีสินค้าเช่น แคปซูลทอยที่ร่วมผลิตกับร้านอาหารไทยในประเทศญี่ปุ่น หรือแคปซูลทอยคาแรคเตอร์ชื่อดังของไทยอย่างน้องมะม่วงที่มีความร่วมมือในการผลิต (collaboration) กับบริษัทหรือคาแรคเตอร์ญี่ปุ่น สินค้าแคปซูลทอยนับว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการช่วยส่งเสริมและประชาสัมพันธ์สินค้าไทย ทำให้เกิดการรับรู้สินค้าไทยในกลุ่มผู้บริโภคญี่ปุ่น อีกทั้ง ยังทำให้คนญี่ปุ่นได้รู้จักประเทศไทยในมุมต่างๆ
นอกจากด้านการประชาสัมพันธ์สินค้าไทยแล้ว บริษัทไทยอาจมีโอกาสเป็นผู้ผลิตแคปซูลทอย ซึ่งปัจจุบัน ฐานการผลิตส่วนใหญ่อยู่ที่ประเทศจีน และเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นๆ อุตสาหกรรมแคปซูลทอยมีการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมเช่นกัน เช่น ความพยายามเปลี่ยนตัวแคปซูลจากพลาสติกเป็นวัตถุดิบที่สามารถย่อยสลายได้ เป็นต้น
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
แปลและเรียบเรียงจาก
หนังสือพิมพ์ Nikkei MJ ฉบับวันที่ 28 ตุลาคม 2567

 

thThai