ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ Xiamen Evening News (厦门晚报 Xiamen WanBao) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ต้นทุนการปลูกและแปรรูปของลำไยในประเทศจีนเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาลำไยในตลาดซบเซา พื้นที่ปลูกลำไยในประเทศลดลง และมีปริมาณผลผลิตลดน้อยลงเช่นกัน ส่งผลให้ลำไยแห้งในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ ปัจจุบัน ลำไยอบแห้งที่เมืองเซี่ยเหมินนำเข้าส่วนใหญ่ มาจากประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร และมีผลผลิตลำไยตลอดทั้งปี
ลำไยจากภาคเหนือของไทยมีรสชาติหวาน หอม ผลใหญ่ เมล็ดเล็ก จึงเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน โดยส่วนใหญ่จะบริโภคโดยตรงหรือเป็นส่วนประกอบในอาหารแปรรูป เช่น อาหารกระป๋อง ฯลฯ
ในช่วงเก้าเดือนแรกของปีนี้ เมืองเซี่ยเหมินได้นำเข้าผลไม้รวมทั้งสิ้น 101,500 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,470 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 61.39% YoY และมูลค่าการนำเข้าได้เกินยอดรวมของปีที่แล้วทั้งปีแล้ว
ในจำนวนนี้ กลุ่มธุรกิจเอกชนเป็นกำลังหลักในการนำเข้าผลไม้ รวมทั้งสิ้น 90,700 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,246 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 43.58% YoY
ที่มา : https://mp.weixin.qq.com/s/T88AqRzfDJ978a1Tq_VwCw
ข้อมูลจากศุลกากรเซี่ยเหมิน ระบุว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ผลไม้ที่มีปริมาณการนำเข้าสูงสุดในเมืองเซี่ยเหมิน 3 อันดับแรก ได้แก่ ลำไย (รวมถึงลำไยแห้ง/เนื้อและลำไยสด) ทุเรียนสด และมะพร้าวแห้ง โดยมีปริมาณนำเข้าอยู่ที่ 27,000 ตัน 19,800 ตัน และ 12,300 ตัน ตามลำดับ รวมกันคิดเป็น 58.25% ของปริมาณการนำเข้าผลไม้ทั้งหมดในช่วงเดียวกัน ในจำนวนนี้ ทุเรียนสด มีมูลค่าการนำเข้าสูงถึง 563 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นถึง 1,197.44% YoY เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และมีมูลค่านำเข้าสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า
ในปี 2024 นี้เมืองเซี่ยเหมินเอง ยังมีการนำเข้าผลไม้หลากหลายมากขึ้น โดยมีการเพิ่มรายการนำเข้าใหม่ เช่น ลิ้นจี่สด ถั่วแมคคาเดเมีย(ยังไม่กะเทาะเปลือก) และ ชมพู่สด โดยข้อมูลสถิติระหว่างปี 2021 ถึง 2023 ระบุว่า ลำไย ยังคงเป็นผลไม้ที่มีปริมาณการนำเข้าสูงสุดในเมืองเซียเหมินอย่างต่อเนื่อง
ที่มา : https://mp.weixin.qq.com/s/T88AqRzfDJ978a1Tq_VwCw
ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย สามประเทศหลักในการนำเข้าผลไม้ของเมืองเซี่ยเหมิน
ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ Xiamen Evening News ระบุว่า ประเทศไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย เป็นสามประเทศหลักที่เมืองเซี่ยเหมินนำเข้าผลไม้ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เซี่ยเหมินนำเข้าผลไม้จากประเทศไทย 40,300 ตัน จากเวียดนาม 25,800 ตัน และจากอินโดนีเซีย 12,900 ตัน ซึ่งการนำเข้าจากเวียดนามภายใน9เดือนแรกของปี 2024 มีปริมาณการนำเข้ารวมสูงกว่าทั้งปีของปี 2023 ที่ 19,600 ตัน
นอกจากนี้ ในปี 2024 นี้ เมืองเซี่ยเหมินยังเริ่มมีการนำเข้าผลไม้กับอีก 3 ประเทศใหม่ ได้แก่ สปป.ลาว สาธารณรัฐมาลี และฝรั่งเศส โดยมีปริมาณรวม 784.82 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวม 5.68 ล้านหยวน
จากสถิติในปี 2021 และ 2023 เมืองเซี่ยเหมินนำเข้าผลไม้จากประเทศไทยมากที่สุด โดยมีปริมาณนำเข้ารวมอยู่ที่ 47,700 ตัน และ 70,100 ตัน ตามลำดับ ขณะที่ในปี 2022 จีนนำเข้าผลไม้จากเวียดนามมากที่สุด โดยมีปริมาณนำเข้าอยู่ที่ 94,800 ตัน
ข้อมูลจาก Global Trade Atlas เดือนมกราคม-กันยายน 2024 จีนมีการนำเข้าผลไม้จากไทย (HS Code : 08) คิดเป็นอันดับ 2 ของการนำเข้ารวมทั้งหมด คิดเป็นสัดส่วน 14.68% ของการนำเข้าผลไม้จากทั่วโลก โดยมีมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 5,286.24 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 14.46% YoY
โดยมีการนำเข้าหลักผ่านมณฑลกว่างตง (26.97%) ยูนนาน (18.46%) เจ้อเจียง (13.43%) กว่างซี (8.08%) และเซี่ยงไฮ้ (5.14%) มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 1,425.45 975.64 710 426.93 และ271.70 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ โดยมณฑลฝูเจี้ยนนำเข้าผลไม้จากไทยอยู่ในอันดับที่ 11 โดยมีสัดส่วนการนำเข้าอยู่ที่ 1.94% ของการนำเข้า มีมูลค่าอยู่ที่ 102.45ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.07% YoY
การขนส่งผลไม้ทางเรือยังคงเป็นรูปแบบการขนส่งที่ครองสัดส่วนมากที่สุด
ปัจจุบัน การนำเข้าผลไม้มายังเมืองเซี่ยเหมินใช้วิธีการขนส่ง 3 รูปแบบ ได้แก่ ทางน้ำ ทางถนน และทางอากาศ โดยการขนส่งทางน้ำมีสัดส่วนมากที่สุด โดยข้อมูลระบุว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2024 เมืองเซี่ยเหมินนำเข้าผลไม้ทางน้ำจำนวน 82,500 ตัน คิดเป็น 81.3% ของปริมาณผลไม้นำเข้าทั้งหมดในช่วงเดียวกัน ขณะที่ การนำเข้าผลไม้ทางถนนและทางอากาศมีปริมาณ 18,900 ตัน และ 39.84 ตัน ตามลำดับ
สถิติระหว่างปี 2021 ถึง 2023 แสดงให้เห็นว่า การนำเข้าผลไม้ทางน้ำมีสัดส่วนมากกว่า 90% ในทุกปี โดยในปี 2021, 2022 และ 2023 สัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 98.51% (114,900 ตัน) 99.66% (211,300 ตัน) และ 98.59% (130,900 ตัน) ตามลำดับ
ที่มา : https://mp.weixin.qq.com/s/T88AqRzfDJ978a1Tq_VwCw
ข้อมูลจากกรมศุลกากรเมืองเซี่ยเหมิน ปัจจุบันท่าเรือในเมืองเซี่ยเหมินมีเส้นทางการขนส่งทะเลกว่า 180 เส้นทาง พร้อมทั้งมีมาตรการขนส่งที่เอื้อประโยชน์ต่อกันหลากหลายรูปแบบ ทำให้การขนส่งทางน้ำมีประสิทธิภาพด้านเวลาและราคาที่คุ้มค่ามากกว่า เนื่องจากหากนำเข้าผลไม้ผ่านการขนส่งทางถนนต้องผ่านหลายประเทศและใช้เวลานานในการเดินทาง แต่การขนส่งทางน้ำสามารถขนส่งจากประเทศผู้ส่งออกหรือจากท่าเรือโดยตรงมายังจีนได้โดยตรง ซึ่งช่วยลดทั้ง ต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่ง
เมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งทางอากาศ การขนส่งทางน้ำมีข้อดีด้านปริมาณการขนส่งที่มากกว่าราคาถูกกว่า เหมาะสำหรับการขนส่งผลไม้จำนวนมากที่สามารถเก็บรักษาได้นาน อีกทั้งยังทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงผลไม้ที่มีราคาสมเหตุสมผลและรสชาติสดใหม่ได้มากขึ้น
ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน: ลำไยถือเป็นผลไม้ส่งออกศักยภาพของไทยเนื่องรสชาติหวาน ผลใหญ่ เม็ดเล็กทำให้เป็นที่ชื่นชอบในจีน ในหมวดสินค้าผลไม้ เซี่ยเหมินมีการนำเข้าลำไย (ทั้งแห้ง และสด) ปริมาณสูงเป็นอันดับที่1 ติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดี ปริมาณการนำเข้ามีแนวโน้มที่ลดลงเนื่องจากความต้องการบริโภคชะลอตัวลงเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ตึงตัวมากขึ้น ประกอบกับสินค้าในตลาดมีผู้เล่นให้เลือกมากขึ้น ทั้งนี้ มีข้อสังเกตที่ว่า ในปี 2024 ช่วง 9 เดือนแรก เซี่ยเหมิน มีการนำเข้าทุเรียนสดมากเป็นอันดับ 2 รองจากลำไย ชี้ให้เห็นว่าตลาดเซี่ยเหมินเปิดโอกาสและให้การตอบรับผลไม้ที่หลากหลายจากตลาดคู่ค้าในอาเซียนมากขึ้น ถือเป็นแนวโน้มและโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาด สิ่งสำคัญผู้ประกอบการไทยต้องรักษาคุณภาพและมาตรฐานการผลิตเพื่อรักษาความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคจีน นอกจากนี้ ควรเตรียมพร้อมเพื่อการขยายตัวเข้าสู่ตลาดพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อเตรียมพร้อมปรับตัวและการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของจีน นอกจากนี้การเลือกคู่ค้าเป็นสิ่งสำคัญ ควรมีประวัติที่ดี มีประสบการณ์และความน่าเชื่อถือที่มีการดำเนินการตามกฎระเบียบนำเข้าของประเทศคู่ค้าปลายทางอย่างเคร่งครัด ตลอดจนเรื่องทางเทคนิคไม่เว้นแม้กระทั่งการสำแดงราคาต่ำเกินราคากลางของศุลกากรจีน ซึ่งถือเป็นความผิดทางกฎหมายอย่างรุนแรง
https://mp.weixin.qq.com/s/T88AqRzfDJ978a1Tq_VwCw
https://epaper.xmrb.com/xmwb/pc/col/202411/12/node_A03.html
Global Trade Atlas
เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
22 พฤศจิกายน 2567