แนวโน้มตลาดเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์จากงาน MEDICA 2024 ประเทศเยอรมนี

งานแสดงสินค้า MEDICA 2024 เป็นงานแสดงสินค้าเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ และการดูแลสุขภาพที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของโลก จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 14 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์การแสดงสินค้า Messe Düsseldorf ประเทศเยอรมนี ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 54 มีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้ากว่า 5,000 บริษัท จาก 72 ประเทศ และผู้เข้าชมงานกว่า 80,000 ราย จาก 165 ประเทศ โดยมีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมจัดแสดงและเจรจาการค้าภายใต้คูหาประเทศไทยทั้งสิ้น 18 บริษัท

แนวโน้มตลาดเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์จากงาน MEDICA 2024 ประเทศเยอรมนี
Messe Düsseldorf / ctillmann

ภาพรวมตลาดเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในเยอรมนีปี 2567/2568

เยอรมนีเป็นหนึ่งในตลาดเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ในที่ใหญ่ และก้าวหน้าที่สุดในโลก และเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ในยุโรป ข้อมูลจากสํานักงานสถิติแห่งสหพันธสาธารณรัฐเยอรมนี พบว่ายอดขายในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการแพทย์ของเยอรมนีในช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคม 2567 สูงกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 1.6 ในขณะเดียวกันต้นทุนการผลิตก็เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 3 และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 สมาคมอุตสาหกรรมด้านทัศนศาสตร์ โฟโตนิกส์ การวิเคราะห์ และเทคโนโลยีการแพทย์แห่งประเทศเยอรมนี (SPECTARIS) คาดว่าในปี 2567 อุตสาหกรรมเทคโนโลยีการแพทย์ของเยอรมนีจะมีผลประกอบการรวมประมาณ 41 พันล้านยูโร โดยมีมูลค่าการส่งออกมากกว่าร้อยละ 65 และมีการจ้างงานประมาณ 165,000 คน อย่างไรก็ตาม บริษัทให้คำปรึกษาทางธุรกิจชั้นนำ Frost & Sullivan คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ทั่วโลกตั้งแต่ปี 2567 ถึง ปี 2571 จะยังคงมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยร้อยละ 6.4 – 7.0 ต่อปี

 

นาย Marcus Kuhlmann หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีการแพทย์ของสมาคมอุตสาหกรรม SPECTARIS เยอรมนี กล่าวในงานแถลงข่าวงานแสดงสินค้า MEDICA 2024 ว่า “ยอดขายในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องร้อยละ 5 ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของบริษัทเทคโนโลยีทางการแพทย์ในเยอรมนีหลายแห่งยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันเนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น”

 

นอกจากนี้ ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของโรงพยาบาลในเยอรมนีหลายแห่งก่อให้เกิดความท้าทายในอุตสาหกรรมฯ ทำให้การลงทุนในเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยกําลังถูกชะลอตัว นอกจากนี้ ความไม่มั่นคงของรัฐบาลและการเลือกตั้งใหม่ของเยอรมนีในที่จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ก็เพิ่มความไม่แน่นอนในการวางแผนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กฎระเบียบอุปกรณ์การแพทย์ของยุโรปที่เข้มงวดทําให้เกิดต้นทุนสูงขึ้น เช่น การพิจารณาร่างนโยบายข้อจํากัดการใช้สารเคมีพลาสติก PFAS (Per- and polyfluoroalkyl) ในวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อลดปัญหาผลกระทบด้านสุขภาพและป้องกันสารตกค้างที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม อาจทำให้อุปกรณ์ทางการแพทย์จำนวนมากที่ไม่สามารถหาวัสดุทดแทนได้หายไปจากตลาด โดยอุตสาหกรรมทางการแพทย์ที่มี PFAS เป็นส่วนประกอบ อาทิ วัสดุเทียมต่างๆ ที่ฝังในร่างกาย อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น สายสวน ท่อ และถุงเลือด เข็มฉีดยา เสื้อคลุมและผ้าคลุมสำหรับการผ่าตัด เป็นต้น

 

จากตัวเลขมูลค่าการส่งออกของสํานักงานสถิติแห่งสหพันธสาธารณรัฐเยอรมนีในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มูลค่าการส่งออกเทคโนโลยีทางการแพทย์ของเยอรมนีไปยังประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกที่สําคัญที่สุดสําหรับสินค้าเทคโนโลยีทางการแพทย์ของเยอรมนี และมีการเติบโตเล็กน้อย ในทางกลับกันการส่งออกไปยังประเทศจีนลดลงร้อยละ 15 ผู้ประกอบการเยอรมันหลายบริษัทในอุตสาหกรรมฯ กำลังกังวลถึงผลกระทบของผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อทิศทางของนโยบายการค้าในระหว่างสองประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน

 

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมด้านทัศนศาสตร์ โฟโตนิกส์ การวิเคราะห์ และเทคโนโลยีการแพทย์แห่งประเทศเยอรมนี (SPECTARIS) ระบุว่า บริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ในเยอรมนียังคงอยู่ในสถานการณ์ที่ดี จากความสามารถด้านการคิดค้นนวัตกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือการแพทย์ชั้นสูง ทั้งระบบการแพทย์ดิจิตอลและหุ่นยนต์ โดยบริษัทในเยอรมนีได้ยื่นคําร้องขอจดสิทธิบัตรต่อสํานักงานสิทธิบัตรยุโรป (European Patent Office) ในปี 2566 จำนวน 1,380 รายการ เป็นอันดับที่ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา (6,089 รายการ) และนําหน้าประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (1,010 รายการ)

 

แนวโน้มสินค้าตลาดเครื่องมือการแพทย์ที่สำคัญจากงานแสดงสินค้า MEDICA 2024

“Lab 4.0” เป็นหัวข้อสำคัญที่ถูกพูดถึงในงาน MEDICA 2024 ซึ่งจะเน้นการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ในการแก้ปัญหาการคลาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ช่วยในการวินิจฉัยและรักษาโรคที่มีความซับซ้อน ดังนี้

1. นวัตกรรมด้านสุขภาพดิจิทัล (Digital Health)

    • เทคโนโลยี AI และระบบอัตโนมัติถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์หลายด้าน ตั้งแต่การวินิจฉัยโรคผู้ป่วย ไปจนถึงการใช้ระบบการจัดการข้อมูลผู้ป่วย Big Data ในโรงพยาบาล
    • อุปกรณ์สวมใส่ เช่น นาฬิกาอัจฉริยะที่สามารถวัดความดันโลหิตได้โดยตรงจากข้อมือ ถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของงาน
    • การใช้งานในระบบ Telemedicine ช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น คนไข้เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้น

2. นวัตกรรมความก้าวหน้าด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติช่วยเหลือทางการแพทย์ (Automation and Robotic)

    • การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดในกระบวนการผ่าตัดที่ซับซ้อนและงานที่ต้องการความแม่นยำสูง เช่น การผ่าตัดสมองและกระดูก รวมถึงระบบใหม่ที่ทำให้เตียงผู้ป่วยสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่ายขึ้น เพื่อลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ถือเป็นนวัตกรรมที่ช่วยตอบโจทย์ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในปัจจุบัน

3. ความก้าวหน้าด้านวัสดุและการผลิตเครื่องมือทางการแพทย์

    • เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย เช่น การพิมพ์ 3 มิติ และไมโครเทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรมด้านวัสดุที่ใช้ในอุปกรณ์การแพทย์ เช่น เซรามิก โลหะ และวัสดุคอมโพสิต ที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพของเครื่องมือ

4. สินค้าเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดผู้สูงอายุ (Healthy ageing)

    • เยอรมนีกำลังเผชิญกับประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น สินค้าเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพในบ้าน เช่น เตียงผู้ป่วยแบบปรับได้ อุปกรณ์ช่วยเดิน หรือเครื่องมือสำหรับกายภาพบำบัด กำลังเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น

5. โอกาสของผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมการแพทย์สำหรับตลาดเยอรมนี

    • ตลาดอุปกรณ์และเครื่องมือการแพทย์ในเยอรมนีมีมูลค่าสูงและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าที่เยอรมนีนิยมนำเข้าจากไทย ได้แก่ Bandage ถุงมือยาง อุปกรณ์การแพทย์แบบใช้แล้วทิ้ง ชุดสวมใส่ในห้องผ่าตัด เครื่องแสตนเลส เป็นต้น เนื่องจากมีคุณภาพดี การผลิตได้มาตรฐาน ในราคาที่สมเหตุสมผล นอกจากนี้ อุปกรณ์การแพทย์ดิจิทัล เช่น เซนเซอร์วัดสุขภาพ หรืออุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับระบบ AI กำลังได้รับความสนใจในตลาดเยอรมนี ผู้ประกอบการไทยที่สามารถรวมเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ากับผลิตภัณฑ์ของตนจะมีโอกาสเจาะตลาดได้ง่ายขึ้น
    • อย่างไรก็ตาม ตลาดเยอรมนียังให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาสินค้าที่ยั่งยืน เช่น บรรจุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ใช้วัสดุรีไซเคิล หรือผลิตภัณฑ์ที่ลดการปล่อยคาร์บอน จะเป็นข้อได้เปรียบสำหรับผู้ส่งออกไทยที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านนี้ นอกจากนี้ ข้อกำหนดด้านมาตรฐานสินค้าที่เข้มงวดของเยอรมนี เช่น เครื่องหมาย CE ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาและเตรียมความพร้อมด้านเอกสารการรับรองตามมาตรฐานของยุโรปเพื่อเพิ่มโอกาสแข่งขันในตลาดมากขึ้น

ที่มา:

www.medica.de

www.spectaris.de

Messe Düsseldorf

thThai