เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศห้ามธุรกิจในสหรัฐฯ ทำการค้ากิจการจีนที่มีความเกี่ยวพันธ์กับการใช้แรงงานบังคับในเขตมณฑลซินเจียงเพิ่มเติมอีก 29 บริษัท ซึ่งนับเป็นการเพิ่มจำนวนกิจการที่ถูกห้ามทำการค้ามากที่สุดนับตั้งแต่ที่สหรัฐฯ เริ่มบังคับใช้กฎหมายปกป้องแรงงานบังคับอุยกูร์ (The Uyghur Forced Labor Prevention Act หรือ UFLP Act) ตั้งแต่ปี 2565 โดยภายใต้กฎหมายดังกล่าวสหรัฐฯ จะไม่อนุญาตให้นำเข้าสินค้าจากกิจการจีนที่อยู่ภายใต้บัญชีต้องห้าม (The Entity List)* ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 120 บริษัท

*รายชื่อกิจการที่อยู่ในบัญชีต้องห้ามทั้งหมด UFLP Entity List 

 

กฎหมายดังกล่าวเป็นความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดนในการต่อสู้กับปัญหาการใช้แรงงานที่ไม่เป็นธรรมซึ่งมักจะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศจีน โดยห้ามการนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่ที่ผลิตในมณฑล        ซินเจียงซึ่งเป็นเขตพื้นที่ที่มีการรายงานการละเมิดสิทธิและบังคับใช้แรงงานกลุ่มชาติพันธุ์อุยกูร์อยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ มณฑลซินเจียงเป็นเขตพื้นที่อุตสาหกรรมที่สำคัญของจีนสำหรับการผลิตฝ้าย มะเขือเทศ และชิ้นส่วนและแผงผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์เพื่อการส่งออกไปยังต่างประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนรัฐบาลจีนได้ออกมาปฎิเสธว่า เขตพื้นที่ดังกล่าวไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างที่ถูกกล่าวหา อีกทั้ง ยังกล่าวหารัฐบาลสหรัฐฯ ว่าการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นการละเมิดกิจการภายในของจีน

 

ทั้งนี้ กลุ่มกิจการจีนที่สหรัฐฯ ประกาศเพิ่มเติมในบัญชีต้องห้ามส่วนใหญ่เป็นกลุ่มกิจการในอุตสาหกรรมการเกษตร รวมถึงกลุ่มกิจการในอุตสาหกรรมหนัก โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และอุตสาหกรรมถลุงแร่ เช่น แร่อะลูมิเนียม แร่ลิเธียม และแร่โลหะอื่นๆ

 

Mr. Alejandro Mayorkas ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ (U.S. Department of Homeland Security หรือ DHS) ซึ่งเป็นส่วนราชการหลักที่ดูแลประเด็นด้านแรงงานบังคับกล่าวว่า สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการจัดการกิจการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่

 

การประกาศเพิ่มรายชื่อห้ามทำการค้ากับกิจการจีนดังกล่าวเป็นความพยายามล่าสุดของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันในการต่อสู้กับการละเมิดสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตของจีน นับตั้งแต่ที่กฎหมายฉบับดังกล่าวผ่านการพิจารณาด้วยมติเกือบเป็นเอกฉันท์โดยสภาคองเกรสในปี 2564

 

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการดำเนินนโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการสหรัฐฯ ในด้านการบริหารจัดการระบบห่วงโซ่อุปทานและความเสี่ยงที่จะถูกปฎิเสธการนำเข้าสินค้าได้ จากข้อมูลสถิติหน่วยงานศุลกากรและป้องกันชายแดนสหรัฐฯ (U.S. Customs and Border Protection หรือ CBP) พบว่า นับตั้งแต่ที่สหรัฐฯ เริ่มบังคับใช้กฎหมายจนถึง วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 มีสินค้านำเข้าจากจีนถูกกักกันหรือปฏิเสธนำเข้าภายใต้กฎหมายดังกล่าวเป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 3.66 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

กฎหมายดังกล่าวมีทั้งกลุ่มผู้ที่ได้รับประโยชน์ที่ให้การสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย โดยเห็นว่า หน่วยงานรัฐควรพิจารณาเพิ่มความรวดเร็วและเข้มข้นในการจัดการกับปัญหา รวมถึงเพิ่มการตรวจสอบกิจการจีนที่เกี่ยวข้องกับกับการละเมิดสิทธิมนุษยนชนให้มากขึ้นด้วย ในขณะที่กลุ่มผู้ที่เสียประโยชน์ได้รับผลกระทบด้านระบบห่วงโซ่อุปทานคัดค้านการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวโดยเห็นว่าเป็นมาตรการที่แข็งกร้าวและรุนแรงเกินไป

 

Mr. Mayorkas ยังกล่าวว่า ปัจจุบันสหรัฐฯ ดำเนินมาตรการสอบสวนกิจการที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง ยังได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีทันสมัยเพื่อใช้ในการตรวจสอบและพิสูจน์ผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย

 

ทั้งนี้  นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งมีกำหนดเข้าพิธีสาบานตนเพื่อรับตำแหน่งอย่างสมบูรณ์ในต้นปีหน้าได้ประกาศเลือกนายมาร์โค ลูบิโอให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (U.S. Department of State) โดยนายลูบิโอ มีจุดยืนสำคัญในการสนับสนุนกฎหมายดังกล่าวในสมัยที่ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิก อีกทั้ง ยังเรียกร้องให้สหรัฐฯ เพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวด้วย

 

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

 

สหรัฐฯ มีนโยบายให้ความสำคัญกับการดำเนินมาตรการปกป้องสิทธิมนุษยชนและแรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ มาโดยตลอดซึ่งที่ผ่านมาสถานการณ์ด้านการใช้แรงงานทาสและแรงงานบังคับชาวอุยกูร์ในเขตมลฑลซินเจียงซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของจีนได้ก่อให้เกิดความกังวลและกระแสการเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ กดดันรัฐบาลจีนเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง จนเป็นที่มาของการบังคับใช้กฎหมายปกป้องแรงงานบังคับอุยกูร์ (UFPL Act) ซึ่งเริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2565

 

ภายใต้กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ผู้นำเข้าในสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากผู้ส่งออกที่เชื่อถือได้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานบังคับอุยกูร์ โดยผู้ส่งออกสินค้าจากเขตมณฑลซินเจียงจะต้องแสดงเอกสารหลักฐานระบุแหล่งที่มาของสินค้า (Proof of Origin Compliance) รับรองว่าสินค้าส่งออกไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแรงงานทาสและแรงงานบังคับ ทั้งนี้ หากผู้ส่งออกไม่สามารถแสดงเอกสารตามที่หน่วยงานศุลกากรและป้องกันชายแดนสหรัฐฯ (CBP) กำหนดได้ครบถ้วน หน่วยงานมีสิทธิ์ที่จะกักกันสินค้าไว้จนกว่าจะได้รับเอกสารครบถ้วนหรือปฏิเสธการนำเข้าสินค้า

 

การประกาศเพิ่มจำนวนกิจการจีนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานทาสและแรงงานบังคับอุยกูร์ในขณะนี้ ซึ่งเป็นช่วงกำลังเปลี่ยนถ่ายไปสู่รัฐบาลใหม่แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ ให้ความสำคัญและเอาจริงเอาจังกับประเด็นดังกล่าวอีกทั้ง การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นยังน่าจะถูกส่งต่อไปยังรัฐบาลชุดใหม่ด้วย โดยปัจจุบันมีกลุ่มกิจการจีนที่อยู่ในบัญชีต้องห้ามทั้งสิ้น 120 ราย แบ่งเป็น

– กิจการที่ใช้แรงงานบังคับในอุตสาหกรรมการผลิตตรง ทั้งสิ้น 9 บริษัท

– กิจการที่ทำงานร่วมกับทางการท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการใช้แรงงานบังคับทั้งสิ้น 39 บริษัท

– กิจการที่ใช้วัตถุดิบผลิตจากแรงงานบังคับเขตซินเจียงทั้งสิ้น 72 บริษัท

 

การดำเนินมาตรการด้านการค้ากดดันจีนทั้งการห้ามนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานทาสและแรงงานบังคับอุยกูร์ การดำเนินมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตราสูงภายใต้ Section 301 ซึ่งมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นถึงอัตราร้อยละ 60 ในอนาคตตามนโยบายที่ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศไว้ ล้วนกดดันให้ผู้ประกอบการในสหรัฐฯ ที่อาศัยแหล่งนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบจากจีนจำเป็นต้องแสวงหาแหล่งผลิตใหม่ในภูมิภาค     จึงน่าจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่มีแหล่งผลิตสำคัญในเขตมณฑลซินเจียงที่ได้รับผลกระทบสูง** เช่น ของเล่น ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนและแผงผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ แบตเตอรีลิเธียม มะเขือเทศ ฝ้าย เส้นใยผ้า ผ้าดิบ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม อาหารทะเล และปลาทูน่า เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดหลายรายการ อีกทั้ง สินค้าหลายรายการในกลุ่มของเล่น ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารทะเล และปลาทูน่า ส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ ยังได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าด้วย

**รายละเอียดสินค้าจีนที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานผิดกฎหมาย List of Goods Produced by Child Labor or Forced Labor

 

ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบการผลิตจากจีน ยังควรระมัดระวังเลือกนำเข้าจากแหล่งที่เชื่อถือได้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสินค้าจากแรงงานทาสและแรงงานบังคับมณฑลซินเจียง รวมถึงจัดเตรียมเอกสารประกอบการส่งออกสินค้าที่ระบุแหล่งที่มาของวัตถุดิบในการผลิตเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะกักกันหรือ ปฎิเสธ การนำเข้าสินค้าจากไทยในอนาคตด้วย

 

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ (U.S. Department of Labor) และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (U.S. Department of State) มีหน้าที่ติดตามและเผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Person Report หรือ TIP) ในแต่ละประเทศทั่วโลกเป็นประจำทุกปีเพื่อรายงานความเคลื่อนไหวและกำหนดท่าทีด้านความสัมพันธ์กับประเทศคู่ค้าในตลาดโลก ซึ่งรายงานฉบับล่าสุดปี 2567 ไทยถูกจัดอันดับอยู่ในระดับ Tier II (เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน) โดยสหรัฐฯ ยังคงมีนโยบายติดตามการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมประมงและการแปรรูปสินค้าอาหารทะเลของไทยเป็นพิเศษ ดังนั้น การพิจารณาดำเนินมาตรการแก้ไขอย่างจริงจัง เช่น การใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability System) อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและลดอุปสรรคทางการค้าที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

 

ที่มา: U.S. Adds Nearly 30 Chinese Companies to Forced-Labor Blacklist

 

******************************

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

 

thThai