ปิดฉากการเลือกตั้งสำหรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในปี 2567 โดยอดีตประธานาธิบดี Donald Trump กลับเข้าสู่ทำเนียบขาวอีกครั้ง หลังจากเอาชนะผู้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี Kamala Harris ด้วยการเลือกตั้งที่มีส่วนร่วมของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากรวมถึงการจับตามมองจากทั่วโลก โดยรองประธานาธิบดี Kamala Harris ได้กล่าวสุนทรพจน์ยอมรับผลการเลือกตั้ง ซึ่งเน้นย้ำถึงความแข็งแกร่งของประชาธิปไตย และเรียกร้องให้ชาวอเมริกันรวมใจกันเพื่อข้ามพ้นความแตกแยกทางการเมืองโดยกล่าวว่า งานที่เราเริ่มจะยังคงดำเนินต่อไป และได้กล่าวให้กำลังใจแก่ผู้สนับสนุน โดยระบุว่าแม้วันนี้เราจะก้าวถอยหลัง แต่วิสัยทัศน์ของเราสำหรับอเมริกาที่ยึดความยุติธรรมยังคงอยู่ นอกจากนี้ ชัยชนะของ Donald Trump ถือเป็นการกลับมาในเส้นทางการเมืองอย่างน่าจดจำหลังจากห่างหายจากตำแหน่งกว่า 4 ปี ซึ่งส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้นำสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศรวมถึงการค้าโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและสำหรับฟิลิปปินส์นับว่าเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ทั้งทางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม การกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของ Donald Trump ย่อมนำมาซึ่งทั้งโอกาสและความท้าทายแก่ฟิลิปปินส์
ความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจ
การกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ Donald Trump มีแนวโน้มที่จะฟื้นนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First) ซึ่งอาจส่งผลต่อข้อตกลงทางการค้าทั่วเอเชีย โดยในสมัยแรกของ Donald Trump สหรัฐฯ ได้ถอนตัวจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มประเทศในแถบแปซิฟิก สำหรับฟิลิปปินส์อาจนำไปสู่การทบทวนความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด หาก Donald Trump พยายามที่จะเจรจาข้อตกลงการค้าใหม่ สินค้าที่ฟิลิปปินส์ส่งออก เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ฟิลิปปินส์อาจต้องเผชิญอุปสรรคด้านภาษีหรือข้อกำหนดใหม่ ในขณะที่บางอุตสาหกรรมอาจได้ประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าแบบทวิภาคี แต่ในบางอุตสาหกรรมอาจพบกับเงื่อนไขที่เข้มงวดขึ้น เช่น อุตสาหกรรมที่สหรัฐฯ เน้นการสนับสนุนการผลิตภายในประเทศ จากเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกันทั่วโลกมากขึ้นผู้นำฟิลิปปินส์อาจจะหันไปสำรวจตลาดใหม่ เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น
ความมั่นคงและการป้องกันประเทศในเอเชียแปซิฟิก
ในรัฐบาลของ Donald Trump ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้เสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านการป้องกันกับฟิลิปปินส์ ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทที่เกี่ยวข้องกับฟิลิปปินส์ จีนและประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ โดยจุดยืนที่แข็งกร้าวของ Donald Trump ต่อจีนนั้นได้รับการสนับสนุนจากผู้กำหนดนโยบายฟิลิปปินส์ ซึ่งให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ เพื่อถ่วงดุลอิทธิพลของจีนในภูมิภาค นอกจากนี้ นักวิเคราะห์เชื่อว่าการกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ Donald Trumpอาจช่วยสนับสนุนข้อตกลงด้านการป้องกัน เช่น ข้อตกลง Visiting Forces Agreement (VFA) และ Enhanced Defense Cooperation Agreement (EDCA) ซึ่งอนุญาตให้มีการฝึกซ้อมทางทหารร่วมกันและการหมุนเวียนกองทัพสหรัฐฯ ในฟิลิปปินส์ การรักษาพันธสัญญาเหล่านี้อาจช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพในภูมิภาค และเป็นกันชนทางยุทธศาสตร์ต่อการขยายตัวของจีนในน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาท อย่างไรก็ตาม มีการวิจารณ์ในส่วนความมั่นคงและการป้องกันที่มีค่าใช้จ่ายที่สูงในอดีตของ Donald Trump ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงบางรายคาดว่า Donald Trump อาจขอให้พันธมิตรช่วยเพิ่มการสนับสนุน ซึ่งอาจส่งผลต่องบประมาณด้านการป้องกันของฟิลิปปินส์
นโยบายด้านการย้ายถิ่นฐานและชุมชนชาวฟิลิปปินส์ในสหรัฐฯ
ชุมชนพลัดถิ่นของชาวฟิลิปปินส์ในสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในชุมชนเอเชียที่มีขนาดใหญ่ที่สุดโดยมีชาวฟิลิปปินส์อาศัยอยู่มากกว่า 4 ล้านคนทั่วประเทศ จากนโยบายด้านการย้ายถิ่นฐานของ Donald Trump ที่ผ่านมาได้จำกัดการเข้าเมืองของคนงานต่างชาติและผู้อพยพ ซึ่งทำให้เกิดความกังวลในหมู่ผู้อพยพรวมถึงชาวฟิลิปปินส์ โดยมีชาวฟิลิปปินส์อเมริกันจำนวนมากที่ทำงานในภาคสาธารณสุขซึ่งเป็นสาขาที่ได้รับผลกระทบจากกฎระเบียบเกี่ยวกับวีซ่าในสมัยที่ผ่านมาของ Donald Trump หากกลับมาบังคับใช้กฎระเบียบการเข้าเมืองที่เข้มงวดอีกครั้ง อาจส่งผลกระทบต่อชาวฟิลิปปินส์ที่ต้องการทำงานหรืออาศัยอยู่ในสหรัฐฯ และอาจกระทบกับครอบครัวที่กำลังรอที่จะย้ายถิ่นฐาน นอกจากนี้ นโยบายด้านวีซ่าสำหรับวิชาชีพทางการแพทย์อาจได้รับการปรับเปลี่ยน ซึ่งอาจสร้างความยากลำบากให้กับบุคลากรทางการแพทย์ชาวฟิลิปปินส์ที่มีบทบาทสำคัญในระบบสาธารณสุขของสหรัฐฯ โดยผู้นำฟิลิปปินส์และเจ้าหน้าที่กงสุลควรติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากนโยบายการย้ายถามฐานที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนชาวฟิลิปปินส์ในสหรัฐฯ จะมีผลทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศอย่างกว้างขวาง
เศรษฐกิจฟิลิปปินส์และการลงทุนจากต่างประเทศ
แนวทางของรัฐบาล Donald Trump ในการย้ายการผลิตกลับมายังสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากสหรัฐฯ ในประเทศต่างๆ รวมถึงฟิลิปปินส์ ซึ่งการจ้างงานภายนอกประเทศยังคงเป็นอุตสากรรมหลัก สำหรับบริการ BPO (Business Process Outsourcing) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ อาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงเนื่องจากนโยบาย “นำงานกลับคืนสู่ชาวอเมริกา”(Bring Jobs Back to America) ของ Donald Trump อาจทำให้บริษัทสหรัฐฯ ลดการจ้างงานภายนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม การเน้นย้ำของ Donald Trump ในข้อตกลงทวิภาคีอาจสร้างโอกาสให้ฟิลิปปินส์สามารถเจรจาเงื่อนไขที่สนับสนุนการลงทุนและความร่วมมือด้านการจ้างงานระหว่างประเทศต่อไป การบริหารงานของประธานาธิบดี Ferdinand Marcos Jr. สามารถมีส่วนร่วมกับภาคส่วนทางการค้าของสหรัฐฯ เพื่อรับประกันเงื่อนไขที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมที่พึ่งพาสหรัฐฯ โดยเฉพาะเพื่อปกป้องการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในสมัยแรกของ Donald Trump สหรัฐฯ ได้ถอนตัวจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Paris Climate Agreement) ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีความเปราะบาง เช่น ฟิลิปปินส์ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่ประเทศเผชิญกับพายุไต้ฝุ่นที่รุนแรงขึ้น ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูง และความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศอื่น ๆ ฟิลิปินส์จึงเป็นผู้สนับสนุนที่แข็งแกร่งสำหรับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศและการสนับสนุนทางการเงินสำหรับมาตรการปรับตัว หาก Donald Trump กลับมาใช้นโยบายที่ไม่สนับสนุนความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศ ฟิลิปปินส์อาจต้องลดความคาดหวังในการร่วมมือกับสหรัฐฯ ผู้นำฟิลิปปินส์อาจมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ในระดับภูมิภาคอาเซียน รวมถึงพันธมิตรในยุโรปและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม โดยนโยบายพลังงานของ Donald Trump ที่สนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลมากกว่าพลังงานหมุนเวียน อาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อเป้าหมายของฟิลิปปินส์ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด โดยจะจำกัดการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือการลงทุนในโครงการพลังงานสีเขียวจากสหรัฐฯ
การทูตที่ต้องรักษาสมดุลเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ของฟิลิปปินส์
ขณะที่ฟิลิปปินส์ปรับตัวเข้าสู่การบริหารงานของ Donald Trump อีกครั้ง การรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตกับทั้งสหรัฐฯ และจีนจะมีความสำคัญที่สูงสุด ในสมัยแรกของ Donald Trump มีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนกับประธานาธิบดี Xi Jinping โดยมีช่วงเวลาทั้งการร่วมมือกันและความขัดแย้ง เนื่องจากฟิลิปปินส์มีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ใกล้กับจีนและมีบทบาทที่สำคัญในยุทธศาสตร์ความมั่นคงของสหรัฐฯ ประธานาธิบดี Ferdinand Marcos Jr. อาจต้องเผชิญกับการทูตที่ซับซ้อนระหว่างสองมหาอำนาจ หากการบริหารงานของ Donald Trump ทำให้การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนทวีความรุนแรงขึ้น ฟิลิปปินส์อาจได้รับแรงกดดันให้ดำเนินการสอดคล้องกับผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ โดยอาจนำไปสู่การตอบโต้ทางเศรษฐกิจจากจีน ซึ่งเจ้าหน้าที่ทางการทูตฟิลิปปินส์มีแนวโน้มจะเลือกใช้แนวทางที่สมเหตุสมผล โดยมุ่งเน้นที่จะรักษาอิสระและเสถียรภาพในภูมิภาค โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหากับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับทั้งสองมหาอำนาจ
การก้าวไปข้างหน้าและการสร้างความร่วมมือที่ซับซ้อน
แม้การกลับมาของ Donald Trump อาจสร้างความไม่แน่นอนให้กับฟิลิปปินส์ แต่ก็เปิดโอกาสให้ทั้งสองประเทศได้ปรับเปลี่ยนและกำหนดทิศทางในการร่วมมือกันใหม่ โดยผู้กำหนดนโยบายฟิลิปปินส์อาจใช้โอกาสจากแนวทางของ Donald Trump ที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์แบบทวิภาคี เพื่อผลักดันข้อตกลงทางการค้าหรือพันธสัญญาทางการทหารที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ชุมชนชาวฟิลิปปินส์อเมริกันที่มีขนาดใหญ่และความเข้มแข็ง ที่พร้อมสร้างสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับฟิลิปปินส์ จะมีบทบาทสำคัญในการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม ที่สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ ขณะที่ผู้นำฟิลิปปินส์อาจต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในนโยบายการต่างประเทศและภายในประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งฟิลิปปินส์กำลังยืนอยู่ระหว่างจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ซึ่งท่าทีของฟิลิปปินส์ต่อสถานการณ์ดังกล่าวจะกำหนดเส้นทางในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งความสำเร็จของประเทศจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้างสมดุลความสัมพันธ์ใหม่กับสหรัฐฯ ท่ามกลางพลวัตของภูมิภาคและโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ที่มา: หนังสือพิมพ์ Daily Tribune
บทวิเคราะห์/ข้อคิดเห็น
- การกลับมาของ Donald Trump ในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะรื้อฟื้นนโยบาย“อเมริกาต้องมาก่อน” (America First) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนระหว่างฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ อุตสาหกรรมบริการ BPO (Business Process Outsourcing) และแรงงานฟิลิปปินส์ในสหรัฐฯอาจเผชิญความท้าทาย ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานฟิลิปปินส์ โดยปัจจุบัน การส่งเงินกลับของแรงงานฟิลิปปินส์จากต่างประเทศคิดเป็นเกือบร้อยละ 10 ของ GDP ประเทศ นอกจากนี้ ภาคการส่งออกของฟิลิปปินส์ที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม และสินค้าเกษตร อาจเผชิญแรงกดดัน ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในภาพรวม และอาจกระทบต่อความต้องการสินค้าจากไทย โดยผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์อย่างใกล้ชิดพร้อมปรับกลยุทธ์และแผนการตลาดให้สอดคล้องกับสถานการณ์
—————————————
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา
พฤศจิกายน 2567