เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งที่สอง ส่งผลให้วิสาหกิจจีนกำลังเผชิญกับความท้าทายและความไม่แน่นอนอีกครั้ง นโยบายปกป้องทางการค้าของรัฐบาลทรัมป์และจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อจีนที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการทำธุรกิจระหว่างประเทศและตลาดภายในประเทศ วิสาหกิจจีนจึงจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ในการรับมือหลายด้านเพื่อลดแรงกดดันจากภายนอกและรักษาเสถียรภาพในการเติบโตของธุรกิจ นักวิเคราะห์และสถาบันวิจัยต่างๆ ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะการรับมือจากสงครามการค้าที่จะปะทุขึ้นอีกรอบนี้อย่างไร
- อุตสาหกรรมพลังงานใหม่ เผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้น การวิเคราะห์ของ Global Zero Carbon Research Center (环球零碳研究中心) ให้ความเห็นว่าการกลับมาของทรัมป์จะทำลายนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม Green First ของไบเดน ซึ่งอาจสร้างความเสียหายครั้งใหญ่ต่ออุตสาหกรรมพลังงานสะอาดของสหรัฐฯ และนำความไม่แน่นอนมาสู่อุตสาหกรรมพลังงานใหม่ของจีน ในบรรดาแท่งภาษีที่สหรัฐฯใช้กับพลังงานใหม่ของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “สามสิ่งใหม่ (新三样 ซินซานย่าง)” (สินค้ากลุ่มใหม่ อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเธียม และโซลาร์เซลล์ ที่จีนมุ่งใช้เป็นตัวขับเคลื่อนตัวเลขเศรษฐกิจระหว่างประเทศ) การส่งออกแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของจีนไปยังสหรัฐฯมีสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงและคาดว่าจะได้รับผลกระทบในระดับหนึ่ง ขณะที่สัดส่วนการส่งออกโซลาร์เซลล์และรถยนต์ไฟฟ้านั้นต่ำมาก จึงคาดว่าผลกระทบจากการมาตรการภาษีของสหรัฐฯ จะไม่มากนัก เมื่อเทียบกับมาตรการ 201 และ301 ที่ใช้สอบสวนการทุ่มตลาดและการใช้ฐานการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คาดว่าได้รับผลกระทบมากกว่า อัตราภาษีต่อต้านการอุดหนุนเบื้องต้นอยู่ในระดับต่ำ (คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้) และคาดว่าจะมีการประกาศการต่อต้านการทุ่มตลาดในสิ้นเดือนพฤศจิกายน (อัตราภาษีคาดว่าจะอยู่ที่ 70% – 270%) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังสหรัฐฯ มากขึ้น
ปัจจุบัน ห่วงโซ่อุปทานโซลาร์เซลล์ และการกักเก็บพลังงานของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่พึ่งพาจีนมากกว่า เมื่อเทียบกับการขึ้นภาษีแล้ว ผลกระทบจากเงินอุดหนุนพระราชบัญญัติลดอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act: IRA) ของสหรัฐฯ มากกว่าภาษีศุลกากร หากทรัมป์เข้ารับตำแหน่งและยกเลิกพระราชบัญญัติลดอัตราเงินเฟ้อ เงินอุดหนุน ITC (Investment Tax Credit) สำหรับโรงงานไฟฟ้าโซลาร์เซลล์อาจเสี่ยงที่จะถูกยกเลิก ซึ่งจะกระทบต่ออุปสงค์ปลายทาง ปัจจุบันเงินอุดหนุน ICT อยู่ที่ 30%-70% ของการลงทุนเริ่มต้นและเครดิตภาษีจะได้รับคืนทุกปีในช่วงการดำเนินกิจการ ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นโมดูล ปัจจุบันมีบริษัทหลายแห่งที่ออกไปขยายกิจการในต่างประเทศและได้รับเครดิตภาษี IRA ซึ่งหากเงินอุดหนุนถูกยกเลิกจะส่งผลกระทบต่อกำไรของโรงงานในท้องถิ่น นอกจากนี้ การยกเลิก IRA จะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ปลายทางในสหรัฐฯ กำลังการผลิต อาทิ แบตเตอรี่และชิ้นส่วนในท้องถิ่น จะมีผลกระทบอย่างมาก อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ของ Global Zero Carbon Research Center เห็นว่า แม้ว่าทรัมป์จะขึ้นสู่อำนาจ แต่ก็อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะยกเลิกนโยบายเงินอุดหนุนพลังงานสีเขียวโดยสิ้นเชิง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายใดๆจะต้องได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรสและสมาชิกสภานิติบัญญัติของพรรครีพับลิกัน
- อุตสาหกรรมแร่สีดำ (แร่ ถ่านหิน โค้ก ถ่านหินความร้อน เหล็กเส้น ฯลฯ) นักวิเคราะห์ จาก First Futures (一德期货) แสดงความเห็นว่า ความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดต่ออุตสาหกรรมแร่สีดำของทรัมป์ในรอบนี้มาจากการขึ้นภาษี
- ห่วงโซ่อุตสาหกรรมโพลีเอสเตอร์ สถาบันวิจัย DALI FUTURES (大地期货研究院) แสดงความเห็นว่า นโยบายรัฐบาลทรัมป์สนับสนุนพลังงานแบบดั้งเดิม โดยมองว่าสหรัฐฯ จะเข้มงวดในการคว่ำบาตรอิหร่านและเวเนซุเอลาซึ่งจะส่งให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น ซึ่งกระทบต่อต้นทุนน้ำมันซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำของโพลีเอสเตอร์ นอกจากนี้ ในส่วนผลกระทบตลาดนำเข้าและส่งออกของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของห่วงโซ่โพลีเอสเตอร์ ซึ่งตลาดPX,PTA และเส้นใยของจีนล้วนแทบไม่มีการค้ากับสหรัฐฯ ดังนั้น ผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ต่อห่วงโซ่โพลีเอสเตอร์ส่วนใหญ่จะเป็นเอทิลีนไกลคอล และเสื้อผ้าสิ่งทอ ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่า บริษัท/ผู้ประกอบการจีนและอเมริกันจะรีบส่งออกหรือนำเข้าก่อนที่รัฐบาลใหม่จะประกาศนโยบาย โดยเติมสินค้าคงคลังล่วงหน้า ส่งให้การส่งออกห่วงโซ่โพลีเอสเตอร์ของจีนในระยะสั้นจะเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนในระยะกลางด้วยการเปิดตัวรัฐบาลใหม่และการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ การนำเข้าเอทิลีนไกลคอลของจีนจะลดลงอย่างต่อเนื่องและการส่งออกสิ่งทอและเสื้อผ้าถูกระงับ และในระยะยาวการกลับมาเริ่มกำลังการผลิตเอธิลีนไกลคอลใหม่ของจีนรวมถึงการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานสิ่งทอและเสื้อผ้า ผลกระทบจากนโยบายการค้าของรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ ที่มีต่อห่วงโซ่อุตสาหกรรมโพลีเอสเตอร์จะค่อยๆ ลดลง
- ห่วงโซ่อุตสาหกรรมโทรทัศน์ การโยกย้ายกำลังการผลิตทีวีในต่างประเทศจะยังคงดำเนินต่อ สถาบันวิจัยตลาด AVC Revo (奥维睿沃) แสดงความเห็นว่า ยุคทรัมป์ 2.0 ไม่ว่าจะเป็นการเรียกเก็บภาษี 60 % หรือการยกเลิก MFN ของจีน อาจเร่งการถ่ายโอนกำลังการผลิตทีวีในต่างประเทศ นับตั้งแต่ข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ รอบที่แล้ว ภาษีส่งออกทีวีจากจีนแผ่นดินใหญ่ไปยังสหรัฐฯ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และคงที่ 11.4 % ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังถือว่าสูงกว่าภาษีนำเข้า 3.9% ของประเทศอื่นอยู่มาก ตั้งแต่ปี 2561 – 2566 สัดส่วนการนำเข้าทีวีของสหรัฐฯ จากจีนหดตัวลงอย่างมากจากสูงสุดร้อยละ 61 เหลือต่ำกว่าร้อยละ 20 โดยหลังจากความขัดแข้งทางการค้าของจีน – สหรัฐ โรงงานแบรนด์ทีวี ได้ปรับปรุงการผลิตในต่างประเทศทั้งรูปแบบการสร้างใหม่หรือร่วมมือทำให้กำลังการผลิตในต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา กำลังการผลิตสะสมทีวีในต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยอาเซียนและเม็กซิโกกลายเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากการโอนกำลังการผลิตของแบรนด์ทีวีจีนในต่างประเทศ คาดว่าในปี 2567 Samsung Electronics, TCL, Hisense และ LGE จะมีสัดส่วนเกือบ 60% ในตลาดอเมริกาเหนือ แต่กำลังการผลิตในปัจจุบันของโรงงานในต่างประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าในตลาดอเมริกาเหนือ ยังจำเป็นต้องพึ่งพาโรงงานในประเทศในการจัดส่ง ภายใต้ความเสี่ยงของ ยุคทรัมป์ 2.0 จึงคาดว่าโรงงานจะเผชิญกับการถ่ายโอนคำสั่งซื้อหรือเลือกขยายกำลังการผลิตในต่างประเทศ
- อุตสาหกรรมยา สัดส่วนธุรกิจไม่สูงและผลกระทบมีจำกัด เมื่อเร็วๆ นี้ นักลงทุนจำนวนมากให้ความสนใจกับการขึ้นสู่อำนาจของทรัมป์ต่อผลกระทบของการแพทย์แผนจีน นักวิเคราะห์จากบริษัท UBS (瑞银证券) แสดงความเห็นว่า ในข้อพิพาททางการค้ารอบสุดท้าย สหรัฐฯ มุ่งเป้าไปที่อุปกรณ์ทางการแพทย์ของจีน โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัทอุปกรณ์ของจีนในสหรัฐยังมีเล็กน้อย หลายบริษัทมีสัดส่วนต่ำกว่าร้อยละ 10 และบริษัทบางแห่งอาจตัดสินใจสร้างโรงงานในสหรัฐฯ เพื่อชดเชยผลกระทบจากภาษีศุลกากรด้วย ซึ่งโดยรวมแล้วผลกระทบของภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ต่อบริษัทอุปกรณ์ทางการแพทย์นั้นไม่มีนัยสำคัญ นักวิเคราะห์ยังชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลจีนอาจแนะนำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติ่มเพื่อป้องกันนโยบายภาษีของรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งจะนำมาซึ่งการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งให้กับภาคส่วนย่อยที่มุ่งเน้นอุปสงค์ภายในประเทศและเน้นการบริโภค เช่น โรงพยาบาลทันตกรรม โรงพยาบาลจักษุ และโรงพยาบาลเฉพาะทางอื่นๆ อาจได้ประโยชน์
นอกจากนี้ หน่วยงาน Shandong Provincial Chamber of Commerce for Overseas Investment & Economic Cooperation ยังได้รวบรวมคำแนะนำกลยุทธ์ในการเอาตัวรอดของผู้ประกอบการจีนในยุคทรัมป์ 2.0 ไว้ดังนี้
- เสริมสร้างนวัตกรรมอิสระ นโยบายรัฐบาลของทรัมป์เอนเอียงไปทางการปกป้องทางการค้า ทำให้บริษัทจีนต้องเร่งเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในการสรรค์สร้างนวัตกรรมของตนเองเพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งชิปและปัญญาประดิษฐ์
- เพิ่มห่วงโซ่อุปทานที่หลากหลาย เพื่อลดความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และสร้างห่วงโซ่ทางธุรกิจที่ต่อเนื่อง บริษัทจีนจึงต้องเสริมสร้างความร่วมมือภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยุโรป เพื่อลดการพึ่งพาตลาดเดียว และกระจายความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทาน
- ติดตามการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างใกล้ชิด ทรัมป์มีแนวโน้มที่จะคงจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อจีนต่อไป บริษัทจีนจึงจำเป็นต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อปรับกลยุทธ์การตลาดและการส่งออกอย่างทันท่วงที หากทรัมป์เรียกเก็บภาษีสูงสำหรับสินค้าของจีน โดยเวียดนามเป็นที่น่าจับตามองในการตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงอุปสรรคด้านภาษี ในขณะเดียวกันก็มองหาการขยายตลาดส่งออกใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยง
- การจัดการอุปสรรคทางการค้า ส่วนแบ่งตลาดและผลกำไรของบริษัทไฮเทคของสหรัฐฯ ในจีนอาจลดลงจากอุปสรรคทางการค้า ซึ่งเอื้อโอกาสทางการตลาดต่อบริษัทจีน ผู้ประกอบการจีนสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดภายในประเทศ
- ตอบสนองนโยบายการคลัง วิสาหกิจจีนต้องให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดกับนโยบายของรัฐบาลจีนและใช้เงินปันผลของนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาตนเอง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภายนอกและขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนเส้นทางการพัฒนาที่มีคุณภาพ
- การจัดการอัตราแลกเปลี่ยน หากทรัมป์ยืนกรานที่จะเพิ่มภาษีสินค้าส่งออกของจีนเป็นร้อยละ 60 ผู้ประกอบการจำเป็นต้องตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนและจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสมเหตุสมผล
- พิจารณาด้านความสัมพันธ์ทางการทูต นโยบายต่างประเทศของทรัมป์อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน บริษัทจีนจำเป็นต้องคำนึงถึงความมั่นคงของชาติและความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจและการเงินมากขึ้น ผู้ประกอบการควรส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ และลดการพึ่งพาประเทศเดียว
ความเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว
แม้การกลับมาของทรัมป์ทำให้ภาครัฐและเอกชนจีนกำลังเผชิญกับความท้าทายอีกครั้ง อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาจีนได้มีการตั้งรับ ปรับตัว และมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการเติบโตเพื่อรับมือกับสถานการณ์ทางการค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจสำหรับโอกาสทางการค้าและความต้องการสินค้าไทย ดังนี้
- จีนจำเป็นต้องเพิ่มห่วงโซ่อุปทานที่หลากหลายเพื่อลดความเสี่ยงต่อการพึ่งพาตลาดเดียว หันมาหาตลาดใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเป็นโอกาสสำหรับกลุ่มสินค้าของไทย อาทิ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า และส่วนประกอบ เชื้อเพลิง เครื่องจักรเครื่องกล อุปกรณ์ทางทัศนศาสตร์ การตรวจสอบ การแพทย์ ทองแดง เมล็ดพืชน้ำมัน ยานพาหนะและชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริม พลาสติก เป็นต้น
- บริษัทจีนอาจพิจารณาตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศ ยกตัวอย่าง รถยนต์พลังงานใหม่ ซึ่งไทยยังเป็นฐานห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่สำคัญของการผลิตรถยนต์ แหล่งผลิตยางพาราธรรมชาติที่สำคัญของโลก รวมทั้งอุตสาหกรรมซอฟแวร์ของไทยที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ จึงเป็นโอกาสที่ดีในการดึงดูดการลงทุนจากจีนในการตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศ
- อุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องพัฒนาทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ นวัตกรรมสมัยใหม่เชิงลึก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทยบนเวทีโลก
- แน่นอนว่าหากเลือกที่จะขยายโอกาสกับฝั่งจีนแล้ว ก็อาจจะมีความเสี่ยงจากการถูกเพ่งเล็งจากสหรัฐฯ มากขึ้นด้วย ไทยจึงอาจต้องประเมินความเสี่ยงและใช้มาตรการทางกฎหมายต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเสี่ยงและรับมือได้อย่างทันท่วงที
แหล่งที่มา :
https://finance.sina.com.cn/roll/2024-11-27/doc-incxnrzq3550623.shtml
http://www.sdsica.org/%e7%89%b9%e6%9c%97%e6%99%ae%e5%86%8d%e6%ac%a1%e5%bd%93%e9%80%89%ef%bc%8c%e4%b8%ad%e4%bc%81%e4%b8%83%e5%a4%a7%e5%ba%94%e5%af%b9%e7%ad%96%e7%95%a5%e6%9d%a5%e4%ba%86/
******************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว