รัฐบาลรักษาการของบังกลาเทศเร่งให้บริษัทเอกชนนำเข้าข้าวสารจากต่างประเทศ
หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายงานข่าวว่า รัฐบาลรักษาการของบังกลาเทศได้เร่งให้บริษัทเอกชน 277 แห่ง ที่ได้รับการจัดสรรปริมาณนำเข้าข้าวสารจากต่างประเทศรวม 1.481 ล้านตัน เพื่อเพิ่มสต็อกและควบคุมราคาข้าวในประเทศ โดยปริมาณ 1.065 ล้านตันจะเป็นข้าวนึ่ง ส่วนจำนวนที่เหลือจะเป็นข้าวขาว
การอนุญาตนำเข้าข้าวนี้เริ่มขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแหล่งข่าวนาย Lutfor Rohman เลขาธิการกระทรวงการอาหาร กล่าวว่า หากจำเป็นอาจอนุญาตให้นำเข้าข้าวมากขึ้นตามสถานการณ์ตลาด
ทั้งนี้ ราคาข้าวสารขายปลีกในบังกลาเทศเพิ่มสูงขึ้น นับตั้งแต่เกิดอุทกภัยในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อเดือนสิงหาคม 2567 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกข้าวฤดู Aman ดังนั้น เพื่อป้องกันการปรับเพิ่มขึ้นของราคาข้าว จากผลผลิตข้าวลดลง รัฐบาลจึงอนุญาตให้ภาคเอกชนนำเข้าเพื่อปริมาณข้าวในประเทศ
จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร บังกลาเทศ อุทกภัยระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม – 15 ตุลาคม 2567 ทำให้การผลิตข้าวเสียหาย 839,000 ตัน ราคาข้าวสารขายปลีกที่ตลาดในกรุงธากาเมื่อวานนี้ ข้าวสารชั้นดีขายในราคากิโลกรัมละ 68-80 ตากา ข้าวสารเกรดปานกลาง 59-65 ตากา และข้าวหัก 52-55 ตากา ตามแหล่งข้อมูลราคาข้าวสารจากบรรษัทการค้าบังกลาเทศ (TCB)
ราคาข้าวสารค้าปลีกปรับขึ้นร้อยละ 2.78 ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ข้าวสารเกรดปานกลางขึ้น ไปร้อยละ 6.90 และข้าวหักร้อยละ 1.90 เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ข้าวสารชั้นดีเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.03 ข้าวสารเกรดกลางเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.73 และข้าวหักเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.90
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 คณะกรรมาธิการการค้าและภาษีของบังกลาเทศ (BTTC) ขอให้รัฐบาลยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับข้าวชั่วคราวเพื่อเพิ่มอุปทานและลดราคา จากนั้นในวันที่ 1 พฤศจิกายน คณะกรรมการสรรพากรแห่งชาติตัดสินใจยกเว้นอากรขาเข้าทั้งหมด
ประกาศของกระทรวงการอาหาร กำหนดให้ผู้นำเข้านำสินค้าเข้าสู่ตลาดข้าวทั่วประเทศภายในวันที่ 22 ธันวาคม 2567 และกำหนดให้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณข้าวที่นำเข้า การเก็บรักษา และการตลาดต่อเจ้าหน้าที่ระดับอำเภอ ผู้นำเข้าไม่สามารถใช้ใบอนุญาตนำเข้าเกินปริมาณที่ได้รับการที่จัดสรรไว้ และห้ามถ่ายข้าวเพื่อบรรจุใหม่
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติบังกลาเทศ (BBS) อัตราเงินเฟ้ออาหารยังคงสูงกว่าร้อยละ 10 ต่อเนื่องเป็นเวลาหกเดือนตั้งแต่เดือนเมษายน ผู้มีรายได้น้อยและปานกลางได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะเงินเฟ้อตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 ซึ่งอัตราเงินเฟ้อโดยรวมสูงกว่าร้อยละ 9 ในเดือนตุลาคม อัตราเงินเฟ้อพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนที่ร้อยละ 10.87 โดยได้แรงหนุนจากราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นโดยเฉพาะราคาข้าวสารและผัก
บังกลาเทศต้องการข้าวนำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 3.7 ถึง 3.9 ล้านตันต่อปี บังกลาเทศไม่มีการนำเข้าข้าวในปีงบประมาณ 2566-2567
ที่มาข่าว https://www.thedailystar.net/