การกลับมาดำรงตำแหน่ง ปธน. สหรัฐฯ ของโดนัลด์ ทรัมป์ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อไต้หวัน

นโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ของทรัมป์ ที่จะเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรต่อจีนและประเทศอื่น ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของหลายๆ ประเทศไปยังสหรัฐฯ ของประเทศต่าง ๆ รวมถึงไต้หวันด้วย นอกจากนี้ การควบคุมเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ต่อจีนอาจเข้มงวดขึ้นอีก ซึ่งส่งผลให้ไต้หวันซึ่งมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์ ICT ทั่วโลก ต้องเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัวต่อการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ จีนถือเป็นจุดหมายด้านการลงทุนในต่างประเทศที่สำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจไต้หวันเสมอมา ตั้งแต่ไต้หวันเริ่มอนุญาตให้บริษัทไปลงทุนในจีนในปี 2534 จนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2567 มีการอนุมัติการลงทุนในจีนจำนวน 45,797 โครงการ รวมมูลค่า 209,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามข้อมูลของกระทรวงเศรษฐกิจ โครงการลงทุนของนักธุรกิจไต้หวันเหล่านี้ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิต ซึ่งมีการลงทุน 35,245 โครงการ รวมมูลค่า 157,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ในช่วงหลายปีหลังมานี้ มูลค่าการลงทุนของไต้หวันในจีนมีการหดตัวลงเรื่อยๆ โดยมูลค่าการลงทุนของไต้หวันในจีนในปี 2566 ลดลงจากปี 2560 ถึงร้อยละ 32.8

ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ทรัมป์เคยกล่าวว่าไต้หวันควรจ่าย “ค่าคุ้มครอง” ให้สหรัฐฯ ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายการขายอาวุธของสหรัฐฯ ต่อไต้หวัน โดยทรัมป์อาจเรียกร้องให้ไต้หวันเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมและซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ มากขึ้น ซึ่งจะสร้างแรงกดดันทางการเงินแก่รัฐบาลของไต้หวันเป็นอย่างมาก ในการเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เช่น เครื่องบิน สินค้าเกษตร และก๊าซธรรมชาติ เพื่อลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ทางการผลิตระหว่างไต้หวันและจีนอาจได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกและการจัดสรรทุนของไต้หวัน โดยคาดว่าทรัมป์จะยังคงควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูงไปยังจีนต่อไป โดยเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะเร่งให้เกิดการ “ลดการพึ่งพาจีน” ในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ทำให้บริษัทไต้หวันต้องประเมินแผนการผลิตในจีนใหม่ นอกจากนี้ สหรัฐฯ อาจทำการเรียกร้องให้บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันย้ายกำลังการผลิตและการวิจัยไปยังสหรัฐฯ เพื่อลดการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานในเอเชีย ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการบริหารจัดการสูงขึ้นและมีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลของความลับทางการค้ามากขึ้น

สำหรับด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินเหรียญสหรัฐฯ หากนโยบายการค้าและการทูตของทรัมป์ดึงดูดเงินทุนทั่วโลกเข้าสู่สหรัฐฯ ค่าเงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินเหรียญไต้หวัน ส่งผลให้ค่าเงินเหรียญไต้หวันอ่อนค่าลง แม้ในระยะสั้นอาจเป็นผลดีต่อการส่งออก แต่ในระยะยาวจะเพิ่มต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรจากทั้งสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกของไต้หวัน

ในระหว่างปี 2562 ถึง 2564 ที่ผ่านมา ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างปักกิ่งและวอชิงตันทวีความรุนแรง ไต้หวันได้ริเริ่มจูงใจให้บริษัทไต้หวันในต่างประเทศกลับมาลงทุนในบ้านเกิด โดยให้การช่วยเหลือในด้านภาษี การเงิน การจัดหาที่ดิน สาธารณูปโภค และแรงงาน รัฐบาลได้ขยายแผนดังกล่าวออกไปอีกสามปีในปี 2565 เพื่อตอบสนองความต้องการอย่างต่อเนื่องจากบริษัทไต้หวันในต่างประเทศ และการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในเศรษฐกิจโลกและห่วงโซ่อุปทาน แผนดังกล่าวได้ดึงดูดบริษัท 254 แห่งกลับมาลงทุนในไต้หวัน และกระตุ้นการลงทุนเพิ่มเติมจากธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน

ข้อมูลจาก: Taipei Times / Economic Daily News (November 8-19, 2024)

ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.

ในระหว่างการดำรงตำแหน่งครั้งแรกของทรัมป์ระหว่างปี 2560 ถึง 2564 ซึ่งเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน ประกอบกับไต้หวันอยู่ในช่วงของรัฐบาลไช่อิงเหวินที่มาจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าซึ่งมีนโยบายไม่เป็นมิตรกับจีน โดยไช่อิงเหวินได้พยายามลดการพึ่งพาจีนโดยใช้นโยบายมุ่งใต้ใหม่ ที่เน้นการทำการค้าการลงทุนกับกลุ่มประเทศอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเอเชียใต้ให้มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดจีนที่เคยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 28.13 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไต้หวันในปี 2560 จนทำให้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 22.14 ในปี 2566 ในขณะที่การส่งออกของไต้หวันไปยังสหรัฐฯ ก็มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเพิ่มจากร้อยละ 11.66 ของการส่งออกทั้งหมดในปี 2560 เป็นร้อยละ 17.64 ในปี 2566 เห็นได้ชัดว่า ไต้หวันหันมาเพิ่มการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ มากขึ้นเพื่อแทนที่จีน

ความตึงเครียดระหว่างจีน-สหรัฐฯ ทำให้ไทยได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน จนส่งผลให้ไทยกลายเป็นแหล่งผลิตสำคัญในอุตสาหกรรม PCB ของไต้หวัน โดยคาดว่าแนวโน้มความตึงเครียดที่จะเพิ่มขึ้นจากการกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ จะทำให้บริษัทไต้หวันเร่งการย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน และเป็นโอกาสของไทยที่จะดึงดูดการลงทุนจากผู้ประกอบการในกลุ่มต้นน้ำและปลายน้ำของอุตสาหกรรม PCB ให้ใช้ไทยเป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทานแบบครบวงจรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งครอบคลุมถึงห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ เครื่องจักรกลความแม่นยำสูง เพื่อยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยต่อไป

thThai