การค้ากัมพูชา-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่มขึ้น 7% หลังมีข้อตกลง CAM-UAE CEPA

  • ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-ตุลาคม) การค้าระหว่างกัมพูชาและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) มีมูลค่า 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2566 ความสำเร็จนี้มีส่วนสำคัญจากการลงนามในข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน CAM-UAE CEPA ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยกัมพูชาส่งออกสินค้า มูลค่า 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้าสินค้า มูลค่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ข้อตกลง CAM-UAE CEPA ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ส่งเสริมการค้าสินค้า และบริการ รวมถึงดึงดูดการลงทุน และเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าของกัมพูชาไปยัง UAE และภูมิภาคใกล้เคียง นอกจากนี้ กัมพูชายังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับสินค้าสำคัญ เช่น กระเป๋า รองเท้า เสื้อผ้า สิ่งทอ จักรยาน แผงโซลาร์เซลล์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า ยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ พริกไทย เมล็ดกาแฟ ผัก ผลไม้ อาหารกระป๋อง และสินค้าเกษตรแปรรูปหลากหลายชนิด
  • นอกเหนือจากสินค้า ข้อตกลงดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้กัมพูชาขยายบริการเชิงพาณิชย์ในตลาด UAE เช่น บริการวิชาชีพและธุรกิจ บริการก่อสร้างและวิศวกรรม และบริการด้านสิ่งแวดล้อม
  • สินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาไปยัง UAE ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ยานพาหนะและชิ้นส่วน รวมถึงผลิตภัณฑ์จากยาง ส่วนสินค้านำเข้าหลักจาก UAE ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม ยางบิทูเมน ยาสูบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า อาหารสัตว์สำเร็จรูป และเฟอร์นิเจอร์
  • ข้อตกลง CAM-UAE CEPA จะช่วยเศรษฐกิจของกัมพูชาให้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และเร่งให้ประเทศก้าวไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งและครอบคลุมยิ่งขึ้นในระดับสากล

ความเห็นของสำนักงานฯ

  1. นโยบายของสหรัฐอเมริกา (ทรัมป์ 2.0) ในการกำหนดภาษีนำเข้าทั่วไปในอัตราที่สูง กับทุกประเทศทั่วโลก การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศของสหรัฐฯ อาจลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อกัมพูชาในฐานะประเทศที่พึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดอันดับ 1 มาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพการส่งออกและการเติบโตทางเศรษฐกิจ กัมพูชาจำเป็นต้องเร่งกระชับความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนกับประเทศอื่นๆ แม้จะมีข้อตกลงทางการค้า เช่น CCFTA, CKFTA, RCEP และ CAM-UAE CEPA แล้วก็ตาม
  2. จากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้กัมพูชามุ่งขยายตลาดส่งออกให้กว้างขึ้น โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคอาเซียน และตะวันออกกลาง ทั้งนี้ การส่งออกสินค้ากัมพูชาสู่ตลาด UAE เป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญสำหรับภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นตลาดที่เติบโตและมีศักยภาพสูง เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และยุโรป
  3. การเติบโตของมูลค่าการค้าระหว่างกัมพูชาและ UAE แสดงถึงศักยภาพการส่งออกสินค้าของกัมพูชา โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ทั้งนี้ ความร่วมมือกับ UAE ไม่เพียงช่วยเพิ่มโอกาสการส่งออก แต่ยังเปิดประตูสู่การลงทุนในอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในระยะยาว อีกด้วย

————————

ที่มา: Fresh News

พฤศจิกายน 2567

thThai