การประท้วงนัดหยุดงานที่ท่าเรือในแคนาดาเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแคนาดา

เศรษฐกิจแคนาดาประสบกับปัญหาโลจิสติกส์ภายในประเทศครั้งใหม่ เนื่องจากการประท้วงนัดหยุดงานที่ท่าเรือมอนทรีออล (Montreal Port) ซึ่งเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าใหญ่อันดับ 3 ของแคนาดา โดยมีการประเมินว่าการประท้วงหยุดงานจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแคนาดาสูงถึงประมาณ 76 ล้านเหรียญแคนาดาต่อวัน (หรือประมาณ 1,976 ล้านบาท) ตามการวิเคราะห์ของบริษัทข้อมูลและการวิเคราะห์ Russell Group

การประท้วงเริ่มครั้งแรกระหว่างวันที่ 30 กันยายน – 3 ตุลาคม 2567 โดยสหภาพแรงงานท่าเรือ MEA (Maritime Employee Association) ประกาศหยุดงาน 3 วันที่ท่าเรือ Viau และ Maisonneuve (ท่าเรือย่อยของ Port of Montreal) และต่อมามีการเจรจาต่อรองค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมา โดยสถานการณ์ล่าสุดการเจรจาไม่สามารถหาข้อสรุปได้ สหภาพแรงงานปฎิเสธข้อเสนอค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีการเริ่มการประท้วงหยุดงานครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2567 แบบไม่มีกำหนด ซึ่งท่าทีล่าสุดของสหภาพแรงงานคือต้องการเรียกร้องขึ้นค่าจ้างร้อยละ 20 ภายใน 4 ปี ให้เทียบเท่ากับระดับค่าแรงที่ท่าเรือแวนคูเวอร์และฮาลิแฟกซ์ ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่อันดับ 1 และ 2 ของแคนาดา ตามลำดับ

ผลกระทบของการประท้วงครั้งนี้ ส่งผลกระทบถึงร้อยละ 40 ของปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือมอนทรีออล สินค้าที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ อาหาร ผลิตภัณฑ์ยาที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ และทำให้เกิดการล่าช้าของการขนถ่ายทั้งสินค้าส่งออกและนำเข้า ทำให้บริษัทขนส่งต้องพิจารณาเปลี่ยนเส้นทางการขนส่งไปยังท่าเรืออื่น อาทิ ท่าเรือฮาลิแฟกซ์หรือเซนต์จอห์น

นอกจากท่าเรือที่มอนทรีออลแล้ว สหภาพแรงงานที่ท่าเรือ
บริติชโคลัมเบีย ได้เริ่มการประท้วงหยุดงาน ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 เพื่อเรียกร้องสิทธิและค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น  โดยสถานการณ์ล่าสุดในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 Mr. Steve Mackinnon รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้ Industrial Relations Board หรือ IRB เข้าแทรกแซงเพื่อยุติการประท้วง และอาจใช้กฎหมายบังคับสั่งให้แรงงานจากท่าเรือที่มีการประท้วง กลับมาดำเนินการและปฏิบัติหน้าที่ที่ท่าเรือตามปกติ รวมถึงการพิจารณาการใช้อนุญาโตตุลาการที่มีผลผูกพัน (Binding Arbitration) เพื่อยุติข้อพิพาท โดยมีการประเมินความเสียหายต่อเศรษฐกิจจากการประท้วงที่ท่าเรือบริติชโคลัมเบีย มูลค่า 1.3 พันล้านเหรียญแคนาดา (หรือประมาณ 33,800 ล้านบาท) และท่าทีของสหภาพแรงงานจะปฏิเสธกลับมาทำงานและจะต่อสู้กับคำสั่งในชั้นศาลต่อไป นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าการหยุดประท้วงในครั้งนี้มีทิศทางที่อาจไม่สามารถข้อยุติได้ในเร็ววัน ที่ภาครัฐอาจต้องพิจารณาเข้ามาแทรกแซงหรือเป็นตัวกลางในการเจรจาในขั้นต่อไป

           

ความเห็น สคต.

การประท้วงหยุดงานของสหภาพแรงงานที่ท่าเรือบริติชโคลัมเบีย และมอนทรีออลซึ่งเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของแคนาดา จะเริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมหากการประท้วงไม่สามารถยุติได้ภายใน ๑-๒ สัปดาห์ เพราะสินค้าในตลาดจะเริ่มขาดแคลน กระทบทั้งการนำเข้า การส่งออก และอุตสาหกรรมภายในของแคนาดา โดยโครงสร้างเศรษฐกิจของแคนาดา
ภาคการส่งออกมีสัดส่วนของ GDP สูงถึงประมาณ ๑ ใน ๓ หรือคิดเป็นร้อยละ ๓๓ จากข้อมูล World Bank ในปี ๒๕๖๖ ซึ่งหากสถานการณ์ประท้วงหยุดงานที่ท่าเรือกินเวลานาน มูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจอาจส่งผลต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจ GDP ในช่วงที่เหลือของปี ๒๕๖๗ ซึ่งรัฐบาลแคนาดาเริ่มกังวลถึงผลกระทบเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังมีความผันผวนและความไม่แน่นอนสูง โดยค่าครองชีพที่สูงจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมาเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการประท้วงในครั้งนี้

ปัจจุบัน การส่งออกส่วนใหญ่ของไทยมาแคนาดา จะผ่านท่าเรือแวนคูเวอร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของท่าเรือบริติชโคลัมเบีย ที่ตั้งอยู่ในฝั่งตะวันตกแคนาดาติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีสัดส่วนประมาณของมูลค่าสินค้าร้อยละ ๗๐ ในขณะที่สินค้าจากไทยจะผ่านท่าเรือในฝั่งตะวันออกแคนาดา ร้อยละ ๓๐ ผ่านน่านน้ำมหาสมุทรแอตแลนติก (ท่าเรือฮาลิแฟกซ์และท่าเรือมอนทรีออล) ทั้งนี้ ตัวเลขการส่งออกไทยมาแคนาดาล่าสุด มกราคม-กันยายน ๒๕๖๗ มูลค่า ๑,๕๔๘.๔๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ ๑๐.๕๑ ซึ่ง สคต. มีความเห็นว่าภาครัฐแคนาดาจะพิจารณามาตรการเร่งด่วนเพื่อยุติการประท้วงครั้งนี้ เนื่องจากนอกจากผลกระทบทางเศรษฐกิจแล้ว ยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของแคนาดาในฐานะประเทศที่ให้ความสำคัญกับการค้าระหว่างประเทศและความมีเสถียรภาพของภาคโลจิสติกส์ ซึ่งก่อนหน้านี้ ไม่กี่เดือนที่ผ่านมาแคนาดาเคยประสบปัญหาการหยุดงานของภาคขนส่งทางรถไฟเมื่อสิงหาคม ๒๕๖๗ ที่สุดท้ายภาครัฐต้องประกาศใช้กฎหมายบังคับให้สหภาพแรงงานรถไฟต้องกลับไปทำงาน การประท้วงปิดท่าเรือครั้งนี้ นับว่าเป็นความท้าทายครั้งใหม่กับภาครัฐแคนาดา ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ที่อาจส่งผลต่อการส่งออกสินค้าไทยมาแคนาดาได้ในระยะสั้น-กลาง

 

โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)

——————————————————————-

thThai