ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมและนักเศรษฐศาสตร์ได้มีความเห็นว่า แม้อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารจะคิดเป็นร้อยละ 19.1 ของภาคการแปรรูปในเวียดนาม แต่ก็ยังเผชิญกับปัญหาสำคัญ เช่น วัตถุดิบคุณภาพต่ำและการบูรณาการในห่วงโซ่คุณค่าที่ไม่ดีพอ จึงได้เรียกร้องให้มีการลงทุนมากขึ้นในเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ ระบบการจัดการคุณภาพ และทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเป็นรากฐานสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรม โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของธุรกิจขนาดเล็กถึงขนาดกลางในอุตสาหกรรมนี้ เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้มีความสามารถในการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้และการบูรณาการเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานระดับโลกที่จำกัดซึ่งทำให้เสียเปรียบเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
จากสถิติล่าสุดของกรมศุลกากรเวียดนาม ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม – สิงหาคม) อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปอาหารของเวียดนามมีดัชนีการผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 และมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 โดยมีมูลค่ารวม 3.2 พันล้านล้านเวียดนามด่ง หรือประมาณ 126 พันล้านเหรียญสหรัฐ ยอดขายอาหารและผลิตภัณฑ์เกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 เนื่องจากอุตสาหกรรมยังคงมุ่งปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์และเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ด้านเกษตร ป่าไม้ และประมงของเวียดนาม โดยภาคเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมงที่แข็งแกร่งของเวียดนามสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกในปี 2566 กว่า 53 พันล้านเหรียญสหรัฐ และสร้างสถิติเกินดุลการค้า 12 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566
อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 85 ของการส่งออกสินค้าเกษตรของเวียดนามยังคงอยู่ในรูปแบบวัตถุดิบหรือผ่านการแปรรูปเพียงเล็กน้อย เนื่องจากปัจจัยหลายประการ เช่น การผลิตที่กระจัดกระจาย เทคโนโลยีการแปรรูปที่ล้าสมัย ต้นทุนการผลิตที่สูง และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งล้วนเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของเวียดนามในตลาดต่างประเทศ และความท้าทายสำคัญของอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารของเวียดนาม ได้แก่ การพึ่งพาแหล่งวัตถุดิบจากภายนอก คุณภาพและปริมาณแรงงานที่ไม่เพียงพอ และระบบโลจิสติกส์ที่ด้อยประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ข้อจำกัดทางการเงิน และค่าเช่าที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงใช้เทคโนโลยีการเก็บรักษาหลังการเก็บเกี่ยวที่ล้าสมัยเป็นหลัก
นาง Phan Thi Thang รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม กล่าวว่า ความต้องการของผู้บริโภคที่มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้กลายเป็นแรงผลักดันให้ธุรกิจเวียดนามเริ่มนำเทคโนโลยีใหม่และล้ำสมัยมาใช้ รวมถึงแนวทางที่ยั่งยืน เช่น ความปลอดภัยด้านอาหาร การใช้วัตถุดิบออร์แกนิก การรีไซเคิลของเสีย การลดบรรจุภัณฑ์ และการจำกัดการใช้พลาสติก โดยนาง Phan Thi Thang ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการแสวงหาและสร้างความร่วมมือกับธุรกิจต่างชาติ เพื่อรับเทคโนโลยี ดึงดูดการลงทุน และส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของเวียดนาม ซึ่งกุญแจสำคัญสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนได้แก่ การกระจายแหล่งวัตถุดิบ การปรับปรุงเทคโนโลยีการแปรรูปให้ทันสมัย และการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น รวมถึงความสำคัญของการมีความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ หน่วยงานรัฐบาล และสถาบันวิจัย
นาย Dang Tran Tho จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮานอย ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เวียดนามจำเป็นต้องมีความพยายามมากขึ้นในการนำแนวทางเกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตและแปรรูปอาหารของประเทศ รวมทั้ง ต้องนำการพัฒนาในด้าน Internet of Things (IoT) มาใช้ เพื่อสร้างระบบการฝึกอบรมที่ครอบคลุมทั่วทั้งภาคส่วน ในขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องเริ่มดำเนินการปฏิรูปด้านกฎหมายและการบริหาร เพื่อสนับสนุนการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร นอกจากนี้ เวียดนามควรนำมาตรฐานสากลด้านการจัดการคุณภาพมาใช้ และส่งเสริมแนวปฏิบัติด้านเกษตรสีเขียว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารในตลาดโลก
(แหล่งที่มา https://vietnamnews.vn/ ฉบับวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567)
วิเคราะห์ผลกระทบ
ศักยภาพของเวียดนามในอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารมีความโดดเด่น ด้วยขนาดอุตสาหกรรมที่คิดเป็นร้อยละ 19.1 ของภาคการแปรรูปทั้งหมด แต่ปัญหาเรื่องการควบคุมคุณภาพสินค้าและการบูรณาการในห่วงโซ่คุณค่า อาจทำให้เวียดนามเสียโอกาสในตลาดส่งออกที่ต้องการมาตรฐานสูง เช่น สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ รวมทั้งเวียดนามยังมีการพึ่งพาแรงงานมากกว่าการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง จึงอาจทำให้การพัฒนาประสิทธิภาพในระยะยาวมีความล่าช้า อย่างไรก็ตาม ด้วยประชากรกว่า 100 ล้านคนและรายได้ต่อหัวที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าอาหารแปรรูปเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าพร้อมรับประทานและอาหารสุขภาพ ซึ่งการบริโภคที่เพิ่มขึ้นสามารถกระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ในระยะยาว และสามารถดึงดูดการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติสามารถช่วยยกระดับเทคโนโลยีและมาตรฐานการผลิตได้นอกจากนี้ เวียดนามเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบเกษตรสำคัญ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง กาแฟ และผลไม้เขตร้อน ซึ่งสามารถนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้
นำเสนอโอกาส/แนวทาง
การที่อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารของเวียดนามประสบปัญหาในการปรับปรุงคุณภาพและการบูรณาการในห่วงโซ่คุณค่า อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารของไทยในหลายด้าน โดยในด้านโอกาสการที่เวียดนามไม่สามารถพัฒนาคุณภาพสินค้าหรือสร้างความน่าเชื่อถือในตลาดโลกได้ อาจทำให้ประเทศคู่ค้าเลือกนำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้น เนื่องจากไทยมีชื่อเสียงด้านคุณภาพและมาตรฐานการผลิตอาหารที่สูงกว่า และไทยอาจสามารถเจาะตลาดกลุ่มสินค้าเกษตรและแปรรูปอาหารในประเทศเวียดนามได้มากขึ้น หากเวียดนามยังขาดการผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้โอกาสนี้ในการลงทุนในเวียดนาม โดยเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการจัดการในห่วงโซ่คุณค่า เพื่อสร้างฐานการผลิตในตลาดที่กำลังเติบโต ในขณะเดียวกัน ไทยอาจเร่งพัฒนาสินค้าด้วยการเน้นคุณภาพ มาตรฐานสากล และการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง เพื่อดึงดูดผู้บริโภคต่างประเทศที่ต้องการสินค้าพรีเมียม อย่างไรก็ตาม ไทยควรเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายระยะยาว หากเวียดนามสามารถแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพสินค้าได้สำเร็จ การสร้างความได้เปรียบเชิงคุณภาพ เช่น การพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์และสินค้าที่มีนวัตกรรม จึงเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว