เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติตุรกี หรือ Turkstat ได้เปิดเผยรายงานจำนวนนักท่องเที่ยวว่า ตุรกีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 23.2 ล้านคน เดินทางมาตุรกีในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทำให้ยอดรวมนักท่องเที่ยวในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้มีจำนวนอยู่ที่ 48 ล้านคน ใกล้จะแซงหน้าจำนวนนักท่องเที่ยวรวม 57 ล้านคนเมื่อปีก่อน และน่าจะบรรลุเป้าหมายนักท่องเที่ยว 60 ล้านคนของรัฐบาลตุรกีในปี 2567 นี้ อย่างไรก็ตาม นอกจากข่าวดีในเรื่องของจำนวนนักท่องเที่ยว ก็ข้อมูลบางส่วนที่น่ากังวลและอาจส่งผลกระทบถึงแนวโน้มของตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของตุรกีโดยตรงอีกด้วย
จากรายงานดังกล่าว ตัวเลขค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวของนักท่องเที่ยวระหว่างการเข้าพักในช่วงสามไตรมาสแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 1.6 เหลือ 970 เหรียญสหรัฐฯ และระยะเวลาที่พำนักอยู่ในประเทศก็ลดลงด้วยเช่นกัน โดยรายงานระบุว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติพำนักอยู่ในประเทศเฉลี่ยที่ 10.6 วัน ลดลงจาก 11.3 วัน ตามข้อมูลในปี 2023 ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวได้แสดงให้เห็นด้วยว่า ค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มของนักท่องเที่ยวลดลงร้อยละ 2.2 ซึ่งบ่งชี้ว่านักท่องเที่ยวระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้น
ด้วยระยะเวลาการพำนักที่สั้นลงและการใช้จ่ายที่ลดลงดังกล่าวอาจส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของตุรกีไม่สามารถบรรลุเป้าหมายรายได้ 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามที่ประธานาธิบดี Recep Tayyip Erdoğan ได้เคยประกาศไว้เมื่อเดือนกันยายน โดยรายได้ในช่วง 9 เดือนแรกนี้เพิ่งจะอยู่ที่จำนวน 47,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่กำลังเข้าสู่ช่วงนอกฤดูท่องเที่ยวในไตรมาสสุดท้ายของปีที่อากาศเริ่มเย็นลง
สำหรับสาเหตุสำคัญของการลดลงของระยะเวลาการพำนักและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวนั้น น่าจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของตุรกี ซึ่งมีอัตราเงินเฟ้อสูงและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ถูกควบคุมอยู่ ทำให้ราคาสินค้าอุบโภคบริโภคภายในประเทศพุ่งสูงขึ้นมาก จนทำให้ถูกมองว่ากลายเป็นประเทศจุดหมายปลายทางที่มีค่าใช้จ่ายสูง เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นาย Yiğit Girgin ตัวแทนสมาคมผู้จัดการโรงแรมในภูมิภาคริมทะเลอีเจียนของเมืองบอดรุม ให้ความเห็นว่า “จนกว่าตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจของประเทศเราจะดีขึ้น สถานการณ์คงจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก” โดยเขาไม่คิดว่าภาคการท่องเที่ยวของตุรกีในปีนี้จะบรรลุเป้าหมาย โดยผลประกอบการรวมปีนี้น่าจะใกล้เคียงกันกับปีก่อน และก็คงไม่เปลี่ยนแปลงมากนักสำหรับปีหน้า
ไม่ใช่แค่ตุรกีเท่านั้นที่ประสบปัญหานี้ เพื่อนบ้านและคู่แข่งในจุดหมายปลายทางของตุรกีอย่างกรีกก็ประสบกับปัญหาเดียวกัน โดยแม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมากรีซในช่วงเดือนมกราคมถึงสิงหาคมของปีนี้จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 เป็น 24.9 ล้านคน แต่รายได้โดยรวมกลับเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.3 เป็น 15,100 ล้านยูโร หรือประมาณ 16,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเท่ากับมีการใช้จ่ายประมาณ 600 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคนเท่านั้น และที่สำคัญคือรายได้จากภาคธุรกิจการท่องเที่ยวในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงพีคของภูมิภาคทะเลอีเจียนและเมดิเตอร์เรเนียนลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าทั้งสองเดือน โดยมีตัวเลขลดลงถึงประมาณร้อยละ 4 ทั้งนี้ เหตุผลอีก
ประการหนึ่งที่ทำให้การเติบโตของรายได้ชะลอตัวลงทั้งสองฝั่งของทะเลอีเจียนก็คือ นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่มีงบประมาณที่ค่อนข้างจำกัดและระมัดระวังมากขึ้นว่าจะใช้จ่ายที่ไหนและอย่างไร นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้นเลือกที่จะไปพักผ่อนในช่วง “ช่วงนอกฤดูกาล” ที่ราคาถูกกว่า ทั้งก่อนและหลังช่วงพีคของฤดูร้อน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวกระจายออกไปกว้างขึ้นแต่รายได้น้อยลง
แม้ว่าในอนาคต หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะดีขึ้นและตุรกีจะถูกเลิกมองว่าเป็นจุดหมายปลายทางที่ค่าใช้จ่ายสูงก็ตาม แต่ นาย Bahattin Yücel อดีตประธานสมาคมตัวแทนการท่องเที่ยวของตุรกีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว กล่าวว่า ตุรกียังคงต้องเผชิญกับความท้าทายอื่นๆ อีกด้วย “สิ่งที่น่ากังวลคือจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปและประเทศในกลุ่ม OECD ไม่ได้เพิ่มขึ้น ตรงกันข้าม กลับมีจำนวนลดลง ซึ่งน่าเป็นห่วง” เขากล่าว และเหตุผลประการหนึ่งก็คือ ตุรกีนั้นไม่ได้ดำเนินการใดๆ อย่างเพียงพอที่จะส่งเสริมและปรับปรุงทางการท่องเที่ยวของตนในยุคหลังโควิดเช่นเดียวกับจุดหมายปลายทางอื่นๆ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลอีเจียน ซึ่งนาย Girgin จากสมาคมผู้จัดการโรงแรมก็เห็นด้วยกับคำพูดดังกล่าว โดยเขากล่าวว่า นักท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่กำลังมองหาวิธีหลีกหนีจากโรงแรมระดับห้าดาวเพื่อไปกิน ดื่ม เที่ยว ตากแดด พักผ่อนริมทะเล ซึ่งเป็นรูปแบบที่ตุรกีนำมาใช้เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมาโดยตลอด “กลุ่มนักท่องเที่ยวกำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยนิยมซื้อประสบการณ์ใหม่ๆ มากกว่า” เขากล่าว “ตุรกีพยายามตอบสนองต่อความต้องการนี้ด้วยการส่งเสริมวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และอาหาร แต่การสร้างการเปลี่ยนแปลงและการตระหนักรู้ต้องใช้เวลา” และเขายังเสริมว่า “การสร้างความหลากหลายในภาคการท่องเที่ยวและมุ่งเน้นไปที่นักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูงและชาวยุโรปมากขึ้นถือเป็นแนวทางที่ดีกว่าในขณะนี้”
ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ
ตลอดช่วงระยะเวลาอันยาวนานที่ตุรกีถือเป็นหนึ่งในจุดหมายสำคัญด้านการท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อนสำหรับชาวยุโรป ทั้งนครอิสตันบูลที่ดึงดูดนักเที่ยวเที่ยวที่สนใจด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และเมืองใหญ่อื่นๆ รวมทั้งเมืองรองในภูมิภาคแถบทะเลอีเจียนและทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่เหมาะแก่การพักผ่อนในฤดูร้อนของชาวยุโรป และยังภูมิหลังและสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ยิ่งในช่วงหลังมานี้ที่เมืองอิสตันบูลมุ่งพัฒนาตัวเองจน
กลายมาเป็นศูนย์กลางการบินที่สำคัญแห่งใหม่ของภูมิภาคได้ ยิ่งทำให้ภาคการท่องเที่ยวของตุรกีทวีความสำคัญขึ้นมากในระดับโลก และกลายเป็นแหล่งรายได้หลักที่สำคัญยิ่งของประเทศ โดยปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวของตุรกีเติบโตขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญก็คือเรื่องความสมเหตุสมผลของราคาค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของตุรกีที่ย่ำแย่ลงอย่างมากในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาในหลายๆ ทาง ทำให้ค่าครองชีพในตุรกีพุ่งสูงขึ้นอย่างมากจนนักท่องเที่ยวทั่วไปเริ่มรู้สึกว่าตุรกีเป็นจุดหมายปลายทางที่มีค่าใช้จ่ายสูงไม่ต่างกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป
ในมุมมองของสำนักงานฯ ยังคงเห็นว่าภาคการท่องเที่ยวของตุรกีจะยังคงมีความสำคัญและสามารถขยายตัวได้อีกมากในอนาคตหากมีการบริหารจัดการที่ดีพอ ซึ่งรายได้จากส่วนนี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยรวมของตุรกีให้เติบโตได้อย่างเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายตลาดเพิ่มขึ้นได้อีก ทั้งในส่วนของสินค้าและภาคธุรกิจบริการในตุรกี อาทิ ร้านอาหาร สปา เป็นต้น ในอีกทางหนึ่ง ในแง่ที่ว่าที่ผ่านมาตุรกีถือเป็นหนึ่งในจุดหมายที่ชาวตะวันตกโดยเฉพาะชาวยุโรปสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวตากอากาศในช่วงฤดูร้อนหรือหลบหนีจากอากาศในช่วงฤดูที่หนาวจัด เมื่อค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวสูงขึ้นจนกระทั่งไม่ต่างจากการเดินทางไปท่องเที่ยวทางประเทศแถบเอเชียอย่างประเทศไทยซึ่งดูจะมีตัวเลือกด้านการท่องเที่ยวมากกว่า รวมถึงความแตกต่างด้านอาหารและวัฒนธรรมที่ใช้ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี นี่จึงอาจเป็นอีกช่วงเวลาที่ดีที่ไทยจะเร่งพัฒนาด้านการท่องเที่ยว และเน้นดึงดูดนักท่องเที่ยวในส่วนนี้เข้าสู่ประเทศเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน