สำนักงานสถิติแห่งชาติของโคลอมเบีย (The National Administrative Department of Statistics of Colombia: DANE) ได้เปิดเผยข้อมูลการค้าที่แสดงให้เห็นว่าการนำเข้าของโคลอมเบียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในเดือนกันยายน 2567 มีการขยายตัวของการนำเข้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.4 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,162 เหรียญสหรัฐ โดยสินค้าสำคัญที่โคลอมเบียนำเข้า ได้แก่ สินค้าเพื่อการผลิต และสินค้าเกษตรกรรม รวมทั้ง อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งในช่วงเดือนมกราคม – กันยายน 2567 มีการนำเข้ารวมคิดเป็นมูลค่า 46,848 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าเกษตรกรรมเป็นสินค้านำเข้าในลำดับต้นของโคลอมเบีย มีอัตราการขยายตัวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.8 เนื่องจากความต้องการสินค้าอาหารเพื่อการบริโภคและการผลิตในอุตสาหกรรมเกษตรมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ สินค้านำเข้าเพื่อการผลิตมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือคิดมูลค่าที่ 3,909 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าเพื่อการผลิตดังกล่าวสำหรับสินค้าขั้นกลางในกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค ซึ่งการแนวโน้มการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าโคลอมเบียอยู่ระหว่างการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิต
แม้ว่าในเดือนกันยายน การนำเข้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่หากพิจารณาตัวเลขการนำเข้าสะสม (เดือนมกราคม – กันยายน 2567) พบว่ามีการขยายตัวลดลงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.3 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี มูลค่าการนำเข้าที่สูงถึง 46,848 ล้านเหรียญสหรัฐ อาจมาจากหลายปัจจัย เช่น การผันผวนของราคาสินค้าหลัก (เชื้อเพลิง และสินค้าทางการเกษตร) ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการของบางผลิตภัณฑ์
คู่ค้าในภูมิภาคเอเชียที่สำคัญของโคลอมเบีย
จีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญลำดับที่ 1 ของโคลอมเบีย โดยในเดือนกันยายน 2567 โคลอมเบียนำเข้าจากจีนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.5 ของการนำเข้าทั้งหมด โดยสินค้าหลักจากจีนที่โคลอมเบียนำเข้า เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งสินค้าดังกล่าวใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อการผลิตต่าง ๆ ในโคลอมเบีย ในขณะที่เวียดนามเป็นคู่ค้าที่สำคัญในลำดับที่ 2 จากภูมิภาคเอเชีย โดยโคลอมเบียนำเข้าสินค้าจากเวียดนามเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 88.4 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 หรือมีการขยายตัวของการนำเข้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.3 ในเดือนกันยายน โดยสินค้าหลักจากเวียดนามที่โคลอมเบียนำเข้า เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร และสิ่งทอ
การนำเข้าของโคลอมเบียที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มาจากความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นของหลายภาคอุตสาหกรรม ครอบคลุมสินค้าเกษตรกรรม สินค้าวัตถุดิบเพื่อการผลิต รวมถึง สินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์ รถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล อุปกรณ์ก่อสร้าง แม้ว่าโคลอมเบียจะสามารถผลิตสินค้าเกษตรกรรมได้จำนวนมาก แต่ยังคงต้องนำเข้าเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร ทั้งนี้ โคลอมเบียมีการผลิตสินค้าขั้นกลางและสินค้าทุน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักในท้องถิ่น จึงจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิต เช่น อุปกรณ์ก่อสร้าง อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรกล
นโยบายการค้าของโคลอมเบียให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการผลิตสินค้าในประเทศ ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตมีการขยายตัวด้วย ทั้งนี้ โคลอมเบียมีความพยายามในการกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาการนำเข้าจากเพียงไม่กี่ประเทศ โดยเพิ่มการนำเข้าจากเวียดนาม ซึ่งรัฐบาลโคลอมเบียคาดการณ์ว่าความต้องการสินค้าต่าง ๆ และสินค้าทุนสำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อไป[1]
บทวิเคราะห์/ความเห็นของสคต.
ที่ผ่านมาในปี 2566 โคลอมเบียประสบกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวเพียงร้อยละ 0.6 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เศรษฐกิจของโคลอมเบียสามารถฟื้นตัวได้อีกครั้งโดยมีการขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงกันของปี 2566 จากข้อมูลการศึกษาของธนาคาร Banco Bilbao Vizcaya Argentaria (BBVA) ของสเปน คาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโคลอมเบียในปี 2567 จะอยู่ที่อัตราร้อยละ 2 และจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นอัตราร้อยละ 2.8 ในปี 2568 และร้อยละ 3.5 ในปี 2569 ตามลำดับ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริโภคของภาคเอกชนและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของโคลอมเบียจะลดลงอยู่ที่อัตราร้อยละ 5.4 ภายในสิ้นปี 2567 และมีแนวโน้มลดลงในปี 2568 แสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น
ที่ผ่านมา โคลอมเบียนำเข้าสินค้าหลักจากจีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลกระจายความเสี่ยงโดยการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าจากประเทศอื่นเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานการผลิต รวมทั้งโคลอมเบียได้มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้น โดยในปีนี้ โคลอมเบียนำเข้าสินค้าจากประเทศต่าง ๆ ในเอเชียเพิ่มขึ้น ได้แก่ เวียดนาม (88.44%) ฟิลิปปินส์ (65.92%) ศรีลังกา (56.59%) และไทย (55.20%)
ในช่วงเดือนมกราคม – กันยายน 2567 โคลอมเบียนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) particleboard สำหรับภาคการก่อสร้าง นำเข้าเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 238.76 หรือคิดเป็นมูลค่า 20.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (2) วัสดุสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้า เช่น เส้นใยหลัก เส้นด้าย เส้นใย นำเข้าเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 136.92 หรือคิดเป็นมูลค่า 20.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (3) เครื่องใช้ในครัวเรือน และเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น อุปกรณ์เครื่องปรับอากาศ และเครื่องพิมพ์ นำเข้าเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 87.71 หรือคิดเป็นมูลค่า 109.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (4) รถกระบะและรถจักรยานยนต์ นำเข้าเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.04 หรือคิดเป็นมูลค่า 18.8 ล้านเหรียญสหรัฐ และ (5) เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์การฉายแสง นำเข้าเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.05 หรือคิดเป็นมูลค่า 12.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ นอกจากนี้ สินค้าจากไทยอื่น ๆ ที่โคลอมเบียนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น ส่วนผสมสำหรับการผลิตสินค้าเพื่อความงาม (เพิ่มขึ้น 130.7%) ผลไม้แปรรูปและอาหารสัตว์ (เพิ่มขึ้น 79.7%) ของเล่น อุปกรณ์ออกกำลังกายและเล่นเกม (เพิ่มขึ้น 62.5%) ผักและธัญพืช (เพิ่มขึ้น 59.2%) เป็นต้น ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ไทยมีโอกาสในการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นไปยังโคลอมเบีย เนื่องจากความต้องการสินค้าภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับปัจจัยสนับสนุน เช่น อัตราดอกเบี้ยที่ลดลง อัตราเงินเฟ้อที่ลดลง
______________________________
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
ธันวาคม 2567
[1]The first community of retail and mass consumption in Latin America – https://america-retail.com/paises/colombia/analisis-de-las-importaciones-de-colombia-en-septiembre-de-2024/