เนื้อหาสาระข่าว: สำนักงานการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Administration) สังกัดกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ได้เผยแพร่ผลการพิจารณาในขั้นต้น (Preliminary Determination) ต่อกรณีข้อร้องเรียนจากคณะกรรมการการค้าการผลิตโซลาร์เซลล์สหรัฐฯ (American Alliance for Solar Manufacturing Trade Committee) ได้กล่าวหาว่าบริษัทผู้ผลิตโซลาร์เซลล์สัญชาติจีน ซึ่งมีโรงงานสถานที่การผลิตตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยระบุเจาะจง 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา และประเทศไทย เป็นต้นเหตุที่ทำให้ราคาสินค้าโซลาร์เซลล์ในตลาดโลกร่วงอย่างน่าตกใจ อันเป็นผลมาจากการทุ่มตลาดการการส่งออกมายังสหรัฐฯ กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯโดยสำนักงานการค้าระหว่างประเทศได้เริ่มดำเนินการไต่สวนข้อกล่าวหาดังกล่าวมาตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยได้เลื่อนกำหนดการพิจารณาในขั้นต้นมาจากวันที่ 17 กันยายน มาเป็นเมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน กระทั่งได้เผยแพร่ข้อมูลผลการพิจารณาในขั้นต้นฉบับเต็มในระบบเผยแพร่กฎระเบียบกลางของสหรัฐฯ (Federal Register) เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมนี้

ใจความสำคัญของผลการพิจารณาครั้งนี้คือการชี้ว่าสินค้าโซลาร์เซลล์จากประเทศไทย (และอีกจาก 3 ประเทศที่ได้กล่าวถึงไปข้างต้น) มีพฤติการณ์หรือเข้าข่ายนำเข้าสินค้ามาและจำหน่ายในสหรัฐฯใน “มูลค่าที่ไม่เป็นธรรม” (Less-Than-Fair-Value: LTFV) เป็นผลให้กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯโดยสำนักงานการค้าระหว่างประเทศได้กำหนดส่วนเหลื่อมราคาทุ่มตลาดเฉลี่ย (Weighted Average Dumping Margin) ซึ่งเป็นตัวกำหนดสัดส่วนอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Antidumping Duties) เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าโซลาร์เซลล์จากประเทศไทย ประกอบด้วยอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดแบบเจาะจงรายบริษัทจำนวนทั้งหมด 3 บริษัท และอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดทั่วไป (All Others) ดังนี้

สหรัฐฯกำหนดภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์รอบใหม่

โดยที่แนบท้ายภาคผนวก (Appendix) ได้กำหนดขอบเขตของสินค้าโซลาร์เซลล์ที่อยู่ในข่ายที่จะมีผลทางอัตราภาษีที่ชัดเจน ประกอบด้วย ผลึกคริสตัลไลน์ซิลิคอน (crystalline silicon photovoltaic cells) โมดูล (modules) ลามิเนต (laminates) และแผง (panels) ซึ่งมีส่วนผสมของคริสตัลไลน์ซิลิคอน ไม่ว่าจะเป็นแบบแยกส่วนหรือประกอบกันขึ้นเป็นชิ้นส่วนประเภทอื่น และได้กำหนดครอบคลุมถึงสถานที่ซึ่งผลิตชิ้นส่วนเหล่านั้น โดยระบุว่า ชิ้นส่วนต่าง ๆ ได้แก่ โมดูล ลามิเนต และแผง ที่ถูกผลิตขึ้นจากประเทศที่สามโดยมีส่วนประกอบของเซลล์จากประเทศไทย (ซึ่งถูกระบุเป็น Subject Country) นั้นถือว่าเป็นสินค้าที่อยู่ในข่ายที่จะมีผลทางอัตราภาษีด้วย ในขณะที่ในทางกลับกันชิ้นส่วนต่าง ๆ ได้แก่ โมดูล ลามิเนต และแผง ที่ถูกผลิตขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมีส่วนประกอบของเซลล์จากประเทศที่สาม ไม่ถือว่าอยู่ในข่ายสินค้าที่จะได้รับผลทางอัตราภาษีครั้งนี้

ทั้งนี้ จากระเบียบที่กำหนดว่าหลังจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯจะต้องพิจารณาในขั้นสุดท้ายให้แล้วเสร็จภายใน 135 วันนับจากการพิจารณาขั้นต้นครั้งนี้ ทำให้คาดการณ์ว่าผลการพิจารณาขั้นสุดท้ายจะเสร็จสิ้นภายในช่วงกลางเดือนเมษายน 2025 โดยจะมีการสรุปผลการตัดสินและเผยแพร่ผลการพิจารณาดังกล่าวภายในช่วงต้นเดือนมิถุนายนของปีหน้า ซึ่งจะต้องติดตามผลการพิจารณากันต่อไปว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร

บทวิเคราะห์และข้อเสนอแนะ: การคาดการณ์ผลกระทบภาพรวมที่มีต่อตลาดสินค้าโซลาร์เซลล์สืบเนื่องจากผลการพิจารณาบังคับใช้อัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯครั้งนี้ เชื่อว่าจะส่งผลให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวกับโซลาร์เซลล์ปรับตัวสูงขึ้นในระยะแรก ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าในปัจจุบันมูลค่าการนำเข้าสินค้าโซลาร์เซลล์ของสหรัฐฯจำนวนกว่าร้อยละ 80 นั้นล้วนนำเข้าจากทั้ง 4 ประเทศที่ปรากฎเป็นคู่กรณีในครั้งนี้ คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้นกว่า 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯเฉพาะในปี 2023 ที่ผ่านมา ทำให้คาดการณ์ว่าผู้บริโภคสินค้าพลังงานสะอาดกลุ่มนี้อาจชะลอความต้องการสินค้าโซลาร์เซลล์ลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

ในแง่ของการผลกระทบต่อการแข่งขันทางการค้า หากพิจารณาเปรียบเทียบกำหนดอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดในครั้งนี้ ซึ่งทั้ง 4 ประเทศถูกกำหนด ดังนี้ 1) เวียดนาม มีอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดอยู่ที่ร้อยละ 271.28, 2) กัมพูชา มีอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดอยู่ที่ร้อยละ 125.37, 3) ประเทศไทย มีอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดอยู่ที่ร้อยละ 77.85 และ 4) มาเลเซีย มีอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดอยู่ที่ร้อยละ 21.31 โดยที่มีบางบริษัทจากแต่ละประเทศที่ถูกระบุอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดแบบเฉพาะเจาะจงเป็นรายเฉพาะต่างหากอีก ทำให้ในภาคธุรกิจผู้นำเข้าของสหรัฐฯคาดการณ์ว่า เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นมหาศาลดังจากทั้ง 4 ประเทศ ตามอัตราภาษีตอบโต้ที่ได้ระบุไว้นั้น การนำเข้าสินค้าโซลาร์เซลล์จากประเทศอินโดนีเซียและประเทศลาวอาจเป็นทางเลือกสำรองในระยะสั้นไปพลางก่อน เนื่องจากสัดส่วนการนำเข้าจากทั้ง 2 ประเทศยังไม่มากนัก แต่ในอนาคตหากมูลค่าการนำเข้าจากทั้ง 2 ประเทศเพิ่มสูงขึ้นก็อาจถูกเพ่งเล็งเช่นเดียวกันกับที่ 4 ประเทศถูกพิจารณาไปในครั้งนี้

ที่มา: Federal Register
โดย: สำนักงานการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ
สคต. ไมอามี /วันที่ 4 ธันวาคม 2567

thThai