iiMedia Research วิเคราะห์สถานการณ์การนอนหลับของประชาชนจีน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดัชนีการนอนหลับและตัวชี้วัดคุณภาพการนอนหลับของประชาชนจีนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าในปี 2023 ดัชนีการนอนหลับของประชาชนจีนอยู่ที่ 62.61 ลดลงจากปี 2022 ถึง 5.16 คะแนน ขณะที่ตัวชี้วัดคุณภาพการนอนหลับลดลงจาก 74.22 ในปี 2022 มาอยู่ที่ 66.71 ในปี 2023 ซึ่งทั้งสองตัวชี้วัดนี้ต่ำที่สุดในรอบสามปีที่ผ่านมา

 

ปัญหาหลับยาก ดันโอกาสสินค้าในจีน

ปัญหาการนอนหลับของประชาชนจีนที่เด่นชัดส่งผลให้ความต้องการในผลิตภัณฑ์ช่วยการนอนหลับเพิ่มสูงขึ้น และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ให้กับตลาดการบริโภคด้านการนอนหลับ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเศรษฐกิจการนอนหลับสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ (1) ผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยการนอนในหมวดเครื่องใช้ในบ้าน (2) ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมการนอนหลับ (3) ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพที่ช่วยการนอนหลับ และ(4) ผลิตภัณฑ์ช่วยการนอนหลับที่ใช้เทคโนโลยีAI

ปัญหาหลับยาก ดันโอกาสสินค้าในจีนที่มา : iimedia research

 

 

ขนาดตลาดเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการนอนหลับของจีน

แม้ว่าเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพคุณภาพการนอนหลับในจีนจะเริ่มต้นช้ากว่าตลาดอื่น แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมนี้ได้เข้าสู่ช่วงการเติบโตอย่างรวดเร็ว ข้อมูลจาก iiMedia Research ระบุว่าขนาดตลาดเศรษฐกิจการนอนหลับของจีนเพิ่มขึ้นจาก 261,630 ล้านหยวนในปี 2016 เป็น 495,580 ล้านหยวนในปี 2023

 

ด้วยอัตราผลิตภัณฑ์เพื่อการนอนหลับที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมากขึ้น คาดว่าขนาดตลาดเศรษฐกิจการนอนหลับของจีนจะยังคงเติบโตต่อไป โดยประมาณการณ์ว่าภายในปี 2027 ตลาดจะมีมูลค่าสูงถึง 658,680 ล้านหยวน

 

ปัญหาหลับยาก ดันโอกาสสินค้าในจีนที่มา : iimedia research

 

 

โดยจากข้อมูลพบว่า ประชากรกว่า 60% เข้านอนหลังเวลา 23.00 น. สถานการณ์การนอนหลับของคนจีนยังน่าเป็นห่วง อีกทั้งด้วยความกดดันทางสังคมที่เพิ่มขึ้น เวลาการเข้านอนของชาวจีนมีแนวโน้มช้าลง และระยะเวลาการนอนหลับลดลง ข้อมูลจาก iiMedia Research แสดงให้เห็นว่า 40.0% ของชาวจีนมีระยะเวลานอนหลับในวันทำงานอยู่ที่ 7-8 ชั่วโมง และ 35.3% มีระยะเวลานอนหลับในวันหยุดที่ 8-9 ชั่วโมง

 

นอกจากนี้ ชาวจีนมักเข้านอนในวันหยุดช้ากว่าวันทำงาน โดยช่วงเวลาการเข้านอนที่พบบ่อยที่สุดคือระหว่างเวลา 23.00น.- 00.00น. สะท้อนถึงปัญหาคุณภาพการนอนหลับและวิถีชีวิตที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว

ปัญหาหลับยาก ดันโอกาสสินค้าในจีนที่มา : iimedia research

 

 

หมอนกอด เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตลาดเพื่อส่งเสริมการนอนหลับของจีน

ข้อมูลจาก iiMedia Research ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2024 ผู้บริโภค 56.8% เลือกซื้อสินค้าในหมวดเครื่องใช้ในบ้านและสิ่งทอเพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับ โดยหมอนกอด หมอนหนุน และที่นอนเป็นตัวเลือกยอดนิยมของผู้บริโภค จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคราวครึ่งหนึ่งเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ในหมวดเครื่องใช้ในบ้านและสิ่งทอเพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับ

 

ในบรรดาสินค้าประเภทนี้ การซื้อที่นอน (54.8%) และหมอนกอดสำหรับการนอนหลับ (50.0%) เป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมสูงสุด นอกจากนี้ยังมีผู้บริโภคจำนวนมากที่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทั่วไป เช่น หมอนหนุน (46.4%) ชุดเครื่องนอน 4 ชิ้น (45.2%) และผ้านวม (38.0%)

 

ในบริบทของอุตสาหกรรมที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง หมอนกอดสำหรับการนอนหลับได้พัฒนาออกจากหมอนกอดแบบดั้งเดิมจนกลายเป็นหมอนที่มีคุณสมบัติโดดเด่น และล่าสุดคือหมอนกอดที่ออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ ซึ่งช่วยเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์พื่อส่งเสริมการนอนหลับในตลาด

ปัญหาหลับยาก ดันโอกาสสินค้าในจีนที่มา : iimedia research

 

 

ตัวอย่างขององค์กรต้นแบบ : LeGua กับเส้นทางหมอนกอดเพื่อการนอนหลับ

            LeGua ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2017 โดยบริษัท Guangzhou Tiangu Sleep Technology Development Co., Ltd. ได้มุ่งเน้นในตลาดเฉพาะด้านหมอนกอดเพื่อการนอนหลับ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง LeGua ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมทุกช่วงอายุ รวมถึงกลุ่มเป้าหมายพิเศษ และหลายครั้งได้รับการจัดอันดับเป็นสินค้าขายดีใน Tmall รวมถึงเป็นสินค้ายอดนิยมในหมวดเครื่องนอนของ Sam’s Club โดยมีผู้ใช้งานใน 663 เมืองทั่วประเทศที่ได้รับประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพท่านอน

 

LeGua ครองสิทธิบัตรที่เป็นเอกลักษณ์ในอุตสาหกรรมสำหรับ “หมอนกอดเพื่อการนอนหลับ” โดยมีสิทธิบัตรทั้งในและต่างประเทศรวมกว่า 29 รายการ หมอนกอดของ LeGua ยังได้รับการรับรองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ตามหลักสรีรศาสตร์ โดยเฉพาะหมอนกอดสำหรับการนอนหงายที่ได้รับรางวัล “Contemporary Good Design Award” จากสถาบัน Red Dot ของเยอรมนี

ปัญหาหลับยาก ดันโอกาสสินค้าในจีนที่มา : iimedia research

 

 

ประสิทธิภาพโดยรวมของผลิตภัณฑ์ช่วยการนอนหลับอยู่ในระดับดี

ข้อมูลจาก iiMedia Research ระบุว่า 35.1% ของประชาชนจีนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ช่วยการนอนหลับตามความจำเป็น ในขณะที่ 34.2% เคยพิจารณาและได้ทดลองซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้แล้ว

 

ในแง่ของประสิทธิภาพ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเสริมสุขภาพการนอนหลับและยาช่วยการนอนหลับได้รับคำชมเชิงบวกมากที่สุด ขณะที่ผลิตภัณฑ์ในหมวดเครื่องใช้ในบ้านและสิ่งทอได้รับการประเมินว่า “พอใช้” และ “ค่อนข้างธรรมดา” ในสัดส่วน 37.3% และ 38.6% ตามลำดับ โดยภาพรวมแล้วการประเมินอยู่ในระดับปานกลางค่อนไปทางดี

 

 

โอกาสของไทยในตลาดที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการนอนหลับ

หมอนยางพาราเพื่อสุขภาพของไทยได้รับความนิยมทั้งในและต่างประเทศ ด้วยคุณสมบัติที่รองรับสรีระได้ดี ช่วยลดอาการปวดคอและบ่า พร้อมป้องกันไรฝุ่นและแบคทีเรีย จึงเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นภูมิแพ้ อีกทั้งยังทนทาน ระบายอากาศได้ดี และผลิตจากยางพาราธรรมชาติที่ยั่งยืนและมีคุณภาพสูง ตลาดหลักอย่างจีนและยุโรปให้การตอบรับดี เนื่องจากเน้นความใส่ใจในสุขภาพและสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมจากภาครัฐช่วยเพิ่มโอกาสขยายตลาด ส่งผลให้หมอนยางพารากลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราไทย

 

โดยยางพาราเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตหมอนเพื่อสุขภาพ โดยจีนมีการนำเข้า สินค้าประเภทยางและผลิตภัณฑ์ทำด้วยยางพิกัดศุลกากร (HS Code) 40 จากประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่งจากการนำเข้าทั้งหมด โดยมีมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 3,670.17 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 26.46% มีอัตราการเติบโตลดลง 4.07% YoY โดยยังมีคู่ค้าหลักอื่นๆ อาทิ เวียดนาม มาเลเซีย ญี่ปุ่น และรัสเซีย มีมูลค่าอยู่ที่ 1,702.99  1,144.54  1,003.68 และ 741.48 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

 

ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกของไทย กลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์ ฐานรองเบาะรวมทั้งของที่เป็นเครื่องเตียงและของตกแต่งเตียงที่คล้ายกัน ที่ทำด้วยยางเซลลูลาร์ (HS Code : 94042110 เช่น ฟูก ผ้านวม ผ้านวมขนนก เบาะพู้ฟฟ์และหมอน เป็นต้น) ปี 2567 (มค.-ต.ค.) มีมูลค่าส่งออกรวมทั้งสิ้น 541,013.22 ล้านบาท โดยประเทศจีนเป็นตลาดส่งออกหลักอันดับหนึ่ง มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 360,826.80 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่ 66.69% จากการส่งออกทั่วโลก และยังมีตลาดส่หลักอื่นๆ ได้แก่ อินเดีย เกาหลีใต้ เมียนมาร์ และ มาเลเซีย โดยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 113,946.67  19,281.43  12,238.43  11,101.56 ล้านบาทตามลำดับ และมีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ  21.06   3.56   2.26   2.05  ตามลำดับ

 

 

 

ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน: ตลาดเศรษฐกิจการนอนหลับในจีนเป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนปัญหาให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ ทำให้เกิดสาขาธุรกิจเพิ่มขึ้น ขยายความหลากหลายของสินค้า ไม่ว่าจะเป็น การนำเทคโนโลยี AI  เพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ อาหาร functional food  เพิ่มเมลาโทนิน การ์บา เพื่อช่วยในการนอนหลับ ปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าให้เป็นในรูปกัมมี่ ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เข้าถึงได้มากขึ้นในกลุ่มวัยอายุน้อยที่เริ่มเกิดปัญหา ตลอดจน โอกาสของสินค้าไทยอย่างน้ำมันหอมระเหย อะโรม่ากลิ่นหอมที่ช่วยในการนอนหลับ  การสร้างความเข้าใจในตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการออกแบบผลิตภัณฑ์ จะช่วยให้ธุรกิจสามารถแข่งขันและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไทยเองเป็นแหล่งนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์เครื่องนอนทำด้วยยางเซลลูลาร์ อันดับหนึ่งของจีน และหมอนยางพารา เครื่องนอนยางพารา ได้รับความนิยมเป็นที่ยอมรับในตลาดจีนมาอย่างยาวนาน ซึ่งจำเป็นต้องรักษามาตรฐานคุณภาพของสินค้าไทย ดังนั้น การใช้ความได้เปรียบดังกล่าวเพื่อต่อยอดมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องจะช่วยผลักดันให้สินค้าไทยคุณภาพสูงออกสู่ประเทศไทยอีกทั้งการสร้างความแตกต่างและการจดสิทธิบัตรเพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในตลาดประเทศจีนที่มีการแข่งขันสูงและผู้เล่นใหม่จำนวนมาก

 

 

 

https://tradereport.moc.go.th/

https://www.iimedia.cn/c400/100556.html

Global Trade Atlas

      เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

6 ธันวาคม 2567

 

 

thThai