บริษัทเยอรมันอาจได้ผลประโยชน์จากการเก็บภาษีใหม่ของสหรัฐฯ

หลังจากที่นาย Donald Trump ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ทำให้พรรครี-พับลิกันได้รับเสียงข้างมากทั้งในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่มีอะไรที่จะขวางการใช้มาตรการด้านเศรษฐกิจและการค้าที่ Trump เคยประกาศไว้ตอนหาเสียงได้อีกต่อไป ซึ่งทำให้บริษัทต่างชาติและบริษัทของเยอรมันกังวลต่อนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก โดย Trump ได้เน้นย้ำว่า เขาต้องการกำหนดเรียกเก็บอัตราภาษีทั่วไป 10-20% สำหรับสินค้านำเข้าทั้งหมด แต่สำหรับสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดจากจีน เขาจะเรียกเก็บอัตราภาษีทั่วไปสูงถึง 60% แต่ก็ยังมีคำถามที่สำคัญว่า ท้ายที่สุดแล้วใครจะกลายเป็นผู้รับผิดชอบในด้านกฎหมายภาษีนี้ โดยกลุ่มผู้ค้าระหว่างประเทศได้ถกเถียงกันมานานแล้ว  เพราะจริง ๆ แล้วคนเสียภาษีนำเข้าคือ ผู้นำเข้านั่นเอง สำหรับวัตถุประสงค์หลักของการใช้มาตรการภาษีนี้ ก็เพื่อรักษาแรงงานในภาคการผลิตไว้ในประเทศ และสร้างงานในภาคดังกล่าว แต่จริง ๆ แล้วปัจจุบันสหรัฐฯ มีการจ้างงานเต็มอัตรา (Full employment) แล้ว และบริษัทจำนวนมากต่างก็ออกมาร้องเรียนถึงปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายวิชาชีพด้านเทคนิค พนักงานจำนวนมากสู่ภาคบริการดึงดูดไปงานในภาคอุตสาหกรรมไอที และการเงิน หรือในสำนักงานกฎหมายให้เงินเดือนที่สูงกว่าสายวิชาชีพด้านเทคนิค และมีภาพลักษณ์ที่ดีกว่า นอกจากนี้ยังสามารถทำงานแบบ work from home ได้ด้วย

 

จริง ๆ แล้วภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ถือว่า มีขนาดค่อนข้างเล็ก โดยมีการจ้างงานเพียง 8% ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศ ส่งผลให้ประเทศต้องนำเข้าสิ่งต่าง ๆ มากมายที่ไม่สามารถผลิตเองได้ มีช่องว่างขนาดใหญ่ในหลายสาขา อาทิ วิศวกรรมเครื่องกล แม้แต่นโยบายเชิงคุ้มครอง (Protectionism) ที่กีดกันทางการค้าที่สูงก็สามารถแก้ปัญหาได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ตามข้อมูลของ U.S. International Trade Commission แสดงให้เห็นว่า ในปี 2023 ยอดการส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องจักร และระบบของเยอรมนีไปยังสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 19% ที่ 37 พันล้านเหรียญสหรัฐO ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และตั้งแต่นโยบาย “ผลิตในอเมริกาซื้อโดยอเมริกา (Build America, Buy America)” ของนาย Joe Biden ก็มีข้อจำกัดมากมายอยู่แล้ว โดยในเอกสารดังกล่าวมีการระบุถึงอัตราการสร้างมูลค่าในท้องถิ่นขั้นต่ำ (Value Added Quotas) ที่สูงมาก แต่นโยบายดังกล่าวก็ได้พิสูจน์แล้วว่า เป็นนโยบายที่ไร้ซึ่งประสิทธิภาพ โดยความกลัวเบื้องต้นที่เกิดขึ้นในเยอรมนีเกี่ยวกับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาอย่าง เช่น พระราชบัญญัติลดอัตราเงินเฟ้อ (IRA – Inflation Reduction Act) จะส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตก็แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวก็อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยสมาคมผู้สร้างเครื่องจักรและโรงงานเยอรมนี (VDMA -Verband Deutscher Maschinen- und Anlagenbau) ออกมาแสดงความเห็นหนึ่งวันหลังการเลือกตั้งว่า สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในสหรัฐฯ นั้นมีความเสี่ยงต่อระบบการค้าระหว่างประเทศ ในเวลาเดียวกันนาย Thilo Brodtmann ผู้บริหารหลักของ VDMA กล่าวอย่างชัดเจนว่า “มุมมองโดยรวมของ VDMA เกี่ยวกับตลาดอเมริกานั้นยังคงเป็นไปในเชิงบวกอยู่”

 

โดยบริษัทเยอรมันอาจได้รับประโยชน์จากแผนการของนาย Trump ที่จะกำหนดอัตราภาษีจากสินค้าจีน 60% เนื่องจากคู่แข่งหลักของเยอรมนีในตลาดสหรัฐฯ มักเป็นบริษัทจากจีน โอกาสของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากจีนอย่างบริษัท BYD & Co. ที่จะเข้ามาครองตลาดอเมริกาด้วย EV ใกล้เป็นศูนย์หลังจากที่นาย Trump ที่ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง แผนการของพวกเขาที่จะเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศเม็กซิโกเพื่อส่งไปขยายยังสหรัฐอเมริกานั้น ไม่น่าจะประสบผลสำเร็จ โดยนาย Trump ตั้งใจที่จะเจรจาข้อตกลงการค้าแถบอเมริกาเหนือฉบับใหม่ที่ชื่อว่า USMCA (United States-Mexico-Canada Agreement) อีกครั้ง ซึ่งผลบังคับใช้ USMCA จึงถูกขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2026 ก่อน ในหลาย ๆ กรณีเมื่อมองในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้ว ผู้นำเข้าสหรัฐฯ ต้องส่งต่อภาษีที่เพิ่มขึ้นนี้ (ค่าใช้จ่าย) ให้กับลูกค้าของตนเอง เช่น ภาคเอกชนในประเทศ หรือผู้บริโภคในอเมริกา สิ่งนี้ทำให้ในท้ายที่สุดพวกเขากลายเป็นผู้ที่ต้องชำระภาษีที่เพิ่มขึ้นไปโดยปริยาย แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่พวกเขามองไม่เห็นก็ตาม อย่างน้อยสิ่งนี้ก็น่าจะส่งผลดีต่อรายได้ของรัฐบาลนั้นเอง อย่างไรก็ตามการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตามที่ Trump ตั้งใจนั้นก็มีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์เช่นกัน จะส่งผลทำให้เกิดมาตรการตอบโต้จากคู่ค้าเกิดขึ้น เหนือสิ่งอื่นใด ก็คือ ทำให้ความขัดแย้งทางการค้ากับสหภาพยุโรป (EU) และจีนเลวร้ายลงไปอีก อีกทั้งการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นนั้นก็ยังทำให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศสูงขึ้น ผลกระทบในสหรัฐอเมริกานี้มีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นอีก ด้วยนโยบายการย้ายถิ่นฐาน (Migration and Asylum Paolicy) ที่เข้มงวดมากขึ้น นโยบายนี้จะทำให้ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะหนักขึ้นอีก และในเวลาเดียวกันก็ทำให้ค่าจ้างจะสูงขึ้นไปอีกเช่นกัน สถาบัน Peterson Institute for International Economics คำนวณว่า การเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ 10% สำหรับสินค้าทั้งหมด และ 60% สำหรับสินค้าที่มีต้นกำเนิดจากจีน รวมถึงการขับไล่ผู้อพยพผิดกฎหมาย 1.3 ล้านคนต่อปีจะทำให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 6% ในปี 2026 ซึ่งสถานการณ์พื้นฐานนี้ยังไม่รวมมาตรการรับมือจากประเทศคู่ค้าด้วยซ้ำ ในกรณีที่ร้ายแรงเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 9% เลยทีเดียว การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าที่สูงเช่นนี้จะส่งผลให้เกิดผลกระทบเชิงลบมากมายมหาศาล จนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นนี้จะขัดขวางการเจริญเติบโตของภาคเศรษฐกิจ และธุรกิจการก่อสร้างที่อยู่อาศัยของประชาชน นั้นหมายความว่า การสูญเสียทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาอาจจะมากกว่าในเยอรมนีอย่างมาก

 

จาก Handelsblatt 9 ธันวาคม 2567

thThai