*หมายเหตุ: ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่อง
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 หน่วยงาน European Chemicals Agency (ECHA) ได้ออกประกาศว่า มีการตรวจพบสารอันตรายที่ห้ามใช้ตามข้อบังคับ POPs (Persistent Organic Pollutants) และ REACH ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ตรวจสอบกว่า 6%
ทั้งนี้ ECHA เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฎระเบียบ REACH และ POPs ที่ใช้กับส่วนผสมในเครื่องสำอาง โดยโครงการนำร่องการตรวจสอบนี้มุ่งเน้นไปที่การหาสารต้องห้าม ได้แก่ PFCAs และสารที่เกี่ยวข้อง (Perfluorocarboxylic) PFOA (Perfluorooctanoic acid) และ D4/D5 ในเครื่องสำอาง
การตรวจสอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางดำเนินการในกลุ่มประเทศเขตเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Area: EEA) จำนวน 13 ประเทศ ได้แก่ เดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ ออสเตรีย เยอรมนี อิตาลี ลิคเทนสไตน์ ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก มอลตา และโรมาเนีย ครอบคลุมเกือบ 4,500 รายการ ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2023 – เมษายน 2024 โดยส่วนใหญ่เป็นการตรวจสอบจากรายการส่วนผสม เพื่อหากรด Perfluorooctanoic acid (PFOA) กรด Perfluorocarboxylic (PFCA) และสารที่เกี่ยวข้อง และ Cyclic siloxanes D4 และ D5 โดยพบว่า เครื่องสำอางที่ตรวจสอบนี้มีจำนวนกว่า 285 รายการที่มีส่วนผสมของสารเคมีอันตรายที่ห้ามใช้ โดยสารเคมีที่พบ ได้แก่
• Perfluorononyl dimethicone
• Perfluorooctylethyl triethoxysilane
• Perfluorononylethyl carboxydecyl PEG-10 dimethicone;
• Cyclopentasiloxane (D5), cyclomethicone (ส่วนผสมของ D4, D5 และ D6), cyclotetrasiloxane (D4)
ทั้งนี้ สารดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในเครื่องสำอางเนื่องจากเป็นสารมลพิษอินทรีย์ที่คงอยู่ยาวนาน (persistent organic pollutants: POPs) หรือเป็นสารที่คงอยู่ยาวนานมาก (very persistent) สะสมในสิ่งมีชีวิตได้มาก (very bioaccumulative) และเป็นพิษ (PBT/vPvB) ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม โดยการห้ามใช้สารเหล่านี้อยู่ภายใต้อนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสาร POPs หรือถูกจำกัดภายใต้ระเบียบ REACH (Stockholm Convention on POPs or restricted under the REACH Regulation)
จากการตรวจสอบพบว่า สาร perfluorononyl dimethicone มักพบในผลิตภัณฑ์ที่เขียนขอบตา (eyeliner) และที่เขียนขอบปาก (lipliner) ในรูปแบบดินสอ หรือสีเทียนเป็นหลัก (pencil or crayon form) ส่วนสาร D4 และ D5 มักพบได้ในผลิตภัณฑ์ครีมนวดผม และมาส์กผม
ทั้งนี้ perfluorononyl dimethicone จะสลายตัวเป็น PFOA และกรด perfluorocarboxylic ในขณะที่ PFOA และ siloxanes D4 และ D5 สลายตัวได้ช้าในสิ่งแวดล้อม และมีการสะสมในมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น โดย PFOA ไม่เพียงแต่คงอยู่ในสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ และคาดว่าจะก่อให้เกิดมะเร็งได้อีกด้วย นอกจากนี้ D4 ยังคาดว่าจะส่งผลเสียต่อการเจริญพันธุ์
ทั้งนี้ เมื่อตรวจพบสารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินมาตรการเพื่อนำผลิตภัณฑ์ออกจากตลาด และออกหนังสือแนะนำเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้คำแนะนำกับซัพพลายเออร์เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตามกฎหมาย
บทวิเคราะห์ผลกระทบต่อไทย ข้อเสนอแนะ โอกาสแนวทางและความคิดเห็น
• ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม – ตุลาคม) การส่งออกกลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้าเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิวของไทยไปยังตลาดกลุ่มประเทศนอร์ดิกมีมูลค่า 51.04 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 291) เป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับที่ 5 ของไทย (รองจากผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า และอัญมณีและเครื่องประดับ)
• แม้ในประกาศดังกล่าวจะไม่ได้ระบุแหล่งที่มา หรือประเทศผู้ผลิตสินค้า แต่การตรวจพบสารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในกลุ่มประเทศนอร์ดิกนี้เป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญสำหรับผู้ส่งออกที่ควรระวังกับมาตรฐานสากลที่เข้มงวดขึ้น ผู้ประกอบการอาจพิจารณาการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะช่วยให้สามารถขยายตลาดเครื่องสำอางไปยังกลุ่มนอร์ดิกได้มากขึ้นในอนาคต เช่น การพิจารณาการมุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่ปลอดสารเคมีอันตราย ใช้วัตถุดิบธรรมชาติ (eco-friendly และ bio-based ingredients) และออร์แกนิก ซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดกลุ่มประเทศนอร์ดิก รวมทั้งการจัดทำฉลากผลิตภัณฑ์ที่โปร่งใส (Transparency Label) ระบุส่วนผสมที่ปลอดภัย และแหล่งที่มาอย่างชัดเจน