อัตราการว่างงานแคนาดาล่าสุดเพิ่มขึ้นเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 ปีเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มความกดดันให้ธนาคารกลางแคนาดาอาจต้องรีบลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ตัวเลขล่าสุดจากหน่วยงานสถิติแคนาดาพบว่า อัตราการว่างงานในเดือนพฤศจิกายน 2567 อยู่ที่ระดับร้อยละ 6.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.5 ในเดือนตุลาคม 2567 โดยเป็นอัตราการว่างงานสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 (ไม่รวมช่วงโควิด) โดยตัวเลขในเดือนพฤศจิกายน 2567 มีการจ้างตำแหน่งงานเพิ่มขึ้น 50,500 ตำแหน่ง ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ แต่ตำแหน่งงานที่เพิ่มนั้นส่วนใหญ่มาจากการจ้างงานโดยภาครัฐ (45,000 ตำแหน่ง) ขณะที่ สถานการณ์เศรษฐกิจ การจ้างงานของภาคเอกชนมีสภาพที่อ่อนแอ โดยเกือบทุกอุตสาหกรรมเริ่มปลดคนงาน ปัจจุบัน มีผู้ตกงาน (หรือกำลังหางานอยู่) จำนวน 1.5 ล้านคน ในเดือนพฤศจิกายน 2567 เพิ่มขึ้น 276,000 คน เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขเดียวกันในพฤศจิกายน 2566
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดกว่าตัวเลขอัตราการว่างงานล่าสุดดังกล่าวจะส่งผลให้ธนาคารกลางแคนาดาต้องประกาศลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.5 ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2567 นี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ธนาคารกลางแคนาดาได้ทยอยปรับลดดอกเบี้ยครั้งล่าสุด ร้อยละ 0.5 ในเดือนตุลาคม 2567 โดยอัตราดอกเบี้ยล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 3.75 ซึ่งได้ปรับลดอย่างต่อเนื่องจากจุดสูงสุดที่ระดับร้อยละ 5 ในช่วงกลางปี 2567
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนตุลาคม 2567 (ประกาศเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2567) ขยายตัวร้อยละ 2 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ไว้ หลังจากที่เงินเฟ้อมีการปรับลดติดต่อกันก่อนหน้านี้ 2 เดือน โดยการปรับเพิ่มขึ้นในเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา เป็นผลมาจากราคาพลังงานมีการปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ ค่าเช่าที่พักมีการปรับลดลง ในขณะที่ราคาสินค้าอาหารยังคงมีการปรับเพิ่มขึ้นแต่ในอัตราที่ชะลอตัวลง
ค่าเงินเหรียญแคนาดาในปัจจุบัน ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2567 ร่วงต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปี โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับ 1.411 เหรียญแคนาดา ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ ซึ่งในปี 2567 ค่าเงินแคนาดาได้ปรับอ่อนค่าลงไปแล้วกว่าร้อยละ 6 และยังเป็นประเทศที่มีค่าเงินอ่อนที่สุดในกลุ่มประเทศ G10 ในปี 2567 สาเหตุที่ค่าเงินแคนาดาอ่อนตัวมีปัจจัยมาจากตัวเลขเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัว การจ้างงานที่อ่อนแอในประเทศ นอกจากนี้ นักวิเคราะห์และนักเก็งกำไรค่าเงินยังมองว่าแคนาดามีโอกาสจะประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนธันวาคม 2567 และในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2568 ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินอาจปรับลดลงต่อไปอีก นอกจากนี้ สินค้าส่งออกหลักของแคนาดา ได้แก่ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งราคาพลังงานในตลาดโลกในปัจจุบันยังมีทิศทางที่อ่อนตัวไปตามเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2567 รวมถึงปัจจัยภายนอกอื่นๆ ตั้งแต่ ผลกระทบของสงครามในตะวันออกกลาง ที่มีผลต่อราคาพลังงาน ค่าขนส่ง
โลจิสติกส์ รวมถึงนโยบายการกีดกันการค้าของทรัมป์ ที่เป็นปัจจัยส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจแคนาดา
ความเห็น สคต.
ตัวเลขอัตราการว่างงานในแคนาดาล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ระดับร้อยละ 6.8 นับว่าสูงสุดในรอบ 7 ปี หากไม่นับรวมช่วงโควิด เป็นการส่งสัญญาณแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ และนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตัวเลขอัตราการว่างงานจะยังมีทิศทางขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 1 ไตรมาส ซึ่งเป็นไปทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจแคนาดาที่เริ่มอ่อนตัวตั้งแต่ไตรมาส 3 นอกจากนี้ ค่าเงินแคนาดาปัจจุบันได้อ่อนค่าลงสูงสุดในรอบ 5 ปี ปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลโดยตรงต่อกำลังซื้อ การนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกรวมถึงไทย ทั้งนี้ รัฐบาลแคนาดาได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในระดับรัฐบาลกลาง (GST) ชั่วคราว 2 เดือน (ระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม 2567 – 15 กุมภาพันธ์ 2568) กับสินค้าอาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสื้อผ้าเด็ก รถเข็นเด็ก ผ้าอ้อม ของเล่น หนังสือ เกมส์ และสินค้าของประดับตกแต่งในช่วงคริสต์มาส รวมถึงการจับจ่ายในร้านอาหาร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายผู้บริโภคและบรรเทาภาระค่าครองชีพที่สูงจากเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมา
โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)
——————————————————————-