แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจะต้องประกาศและชำระภาษีแทนผู้ขาย ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568

เมื่อวันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 สภาแห่งชาติของเวียดนามได้อนุมัติการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย 9 ฉบับ เพื่อปรับปรุงกรอบกฎหมายในการจัดการภาษีในเศรษฐกิจดิจิทัล โดยกำหนดให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและดิจิทัลที่มีฟังก์ชันการชำระเงินต้องรับผิดชอบในการประกาศและชำระภาษีแทนผู้ขายที่เป็นธุรกิจครัวเรือนและบุคคลธรรมดา มาตรการนี้จะช่วยลดความยุ่งยากในการจัดการภาษีของผู้ขาย และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ของรัฐ โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในเวียดนามอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ

ผู้แทนกรมสรรพากรของเวียดนามได้กล่าวในการประชุมล่าสุดเกี่ยวกับการจัดการภาษีในธุรกิจอีคอมเมิร์ซว่า จะมีการยกระดับโซลูชันเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่ออำนวยความสะดวก
ในการยื่นและชำระภาษีโดยแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และจะมีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อสนับสนุนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในการดำเนินการยื่นและชำระภาษีแทนผู้ขายให้สะดวกที่สุด รวมถึงเพื่อให้มั่นใจถึงความโปร่งใสและความเป็นธรรม

 ปัจจุบัน ผู้ขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น Shopee, Lazada และ Tiktok Shop มีหน้าที่ในการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีด้วยตนเอง ในขณะที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรับผิดชอบเพียงแค่ให้ข้อมูลแก่หน่วยงานสรรพากรเท่านั้น ซึ่งจากสถิติของกรมสรรพากรแสดงให้เห็นว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม – ตุลาคม) ผู้ขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชำระภาษีรวม 94.6 ล้านล้านเวียดนามด่ง หรือ 3.73 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566

ตั้งแต่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 พอร์ทัลอีคอมเมิร์ซ (The e-commerce portal) ได้รับข้อมูลจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจำนวน 412 แห่ง โดยมีองค์กรและบุคคลกว่า 191,000 รายที่ทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และมีมูลค่าการทำธุรกรรมรวมเกือบ 72 ล้านล้านเวียดนามด่ง หรือ 2.84 พันล้านเหรียญสหรัฐ

เวียดนามยังอยู่ในขั้นตอนการแก้ไขกฎหมายภาษีเงินได้นิติบุคคล (Law on Corporate Income Tax) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้บริษัทต่างชาติที่ให้บริการสินค้าและบริการในเวียดนามผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและดิจิทัล ต้องจ่ายภาษีจากรายได้ที่เกิดขึ้นในเวียดนาม

 (แหล่งที่มา https://vietnamnews.vn/ ฉบับวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567)

วิเคราะห์ผลกระทบ

การปรับปรุงกรอบกฎหมายในการจัดการภาษีในเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม จะส่งผลให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงองค์กรที่ดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลอื่น ๆ จะต้องรับผิดชอบในการหักและชำระภาษีแทนผู้ขายบนแพลตฟอร์ม พร้อมทั้งแจ้งจำนวนภาษีที่หักให้กับผู้ขาย เพื่อให้กระบวนการจัดการภาษีเป็นไปอย่างถูกต้องและโปร่งใส นอกจากนี้ ผู้ให้บริการธุรกิจอีคอมเมิร์ซและแพลตฟอร์มดิจิทัลชั้นนำ เช่น Facebook, Apple, Tiktok, Google เป็นต้น จะต้องทำการจดทะเบียนภาษี และชำระภาษีในเวียดนามโดยตรง หรือได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ในตอนนี้ผู้ขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น Shopee, Lazada และ Tiktok Shop ยังต้องรับผิดชอบในการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเอง ขณะที่แพลตฟอร์มออนไลน์เพียงแค่ให้ข้อมูลแก่หน่วยงานสรรพากร

ปัจจุบันซัพพลายเออร์ต่างประเทศประมาณ 102 ราย เช่น Meta (Facebook), Google, Tiktok, Netflix และ Google ได้ทำการแจ้งและชำระภาษีผ่านพอร์ทัลอิเล็กทรอนิกส์ของอุตสาหกรรม ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 โดยธุรกิจต่างประเทศได้จ่ายภาษีรวมแล้วกว่า 18.6 ล้านล้านเวียดนามด่ง หรือประมาณ 732 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ภาษีที่เวียดนามได้หักและชำระในนามของซัพพลายเออร์ต่างประเทศมีมูลค่าประมาณ 4.05 ล้านล้านเวียดนามด่ง หรือประมาณ 159.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซภายในประเทศนั้น การเก็บภาษีจากธุรกิจเหล่านี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2567 โดยในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2567 ในกรุงฮานอยเพียงแห่งเดียวสามารถเก็บภาษีได้มากกว่า 35.0 ล้านล้านเวียดนามด่ง หรือประมาณ 1.38 พันล้านเหรียญสหรัฐ การเปลี่ยนแปลงนี้ถือเป็นการยกระดับการจัดการภาษีในเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม และจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซทั้งภายในและต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้การที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต้องประกาศและชำระภาษีแทนผู้ขายจะส่งผลดีในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บภาษีและความโปร่งใสในการจัดการภาษี แต่ก็อาจสร้างภาระทางการเงินและการดำเนินงานให้กับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะในเรื่องของการลงทุนในเทคโนโลยีและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ เพื่อรองรับกฎระเบียบดังกล่าว

นำเสนอโอกาส/แนวทาง

ผู้ประกอบการไทยที่ประสงค์ดำเนินธุรกิจโดยใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในเวียดนามควรศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปรับปรุงกรอบกฎหมายในการจัดการภาษีในเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามอย่างละเอียด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเรื่องการเก็บภาษีจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซและแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยเฉพาะในส่วนของการที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต้องรับผิดชอบในการหักและชำระภาษีแทนผู้ขายบนแพลตฟอร์ม

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรใช้งานบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญและเชื่อถือได้ในด้านการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ เพื่อให้สามารถเข้าใจข้อกำหนดทางกฎหมายได้อย่างถูกต้อง และหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายท้องถิ่น การมีที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์จะช่วยให้การดำเนินธุรกิจในเวียดนามเป็นไปอย่างราบรื่นและถูกต้องตามกฎหมายเวียดนาม ทั้งในด้านการจัดการภาษี การจดทะเบียนธุรกิจ และการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

thThai