รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของตุรกี นาย Hakan Fidan ได้กล่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศซีเรียระหว่างการประชุม Doha Forum ที่กรุงโดฮา ประเทศการ์ต้า หลังจากที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลซีเรียอย่าง Hayat Tahrir al-Sham – HTS ที่ร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรต่างๆ ในการยึดครองเมืองสำคัญของซีเรียและสามารถยึดเมืองดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรียจากรัฐบาลของนายบาซาร์ อัลอัสซาด ถือเป็นการสิ้นสุดการปกครองในระบอบของตระกูลอัสซาดที่ยาวนานกว่า 53 ปี โดยรัฐมนตรี Fidan ได้กล่าวว่า ตุรกีนั้นให้ความสำคัญอย่างมากกับความสามัคคี ความมั่นคง อธิปไตย และบูรณภาพของแผ่นดินซีเรีย รวมทั้งสวัสดิภาพของประชาชนชาวซีเรียด้วย และในขณะเดียวกัน ประชาชนชาวซีเรียที่ประสงค์เดินทางกลับประเทศของตน ก็สามารถเดินทางกลับได้แล้ว รัฐมนตรี Fidan กล่าวว่าประวัติศาสตร์ของซีเรียได้เข้าสู่หน้าใหม่แล้วเมื่อเช้านี้ และกล่าวต่อว่า “ชาวซีเรียจะกำหนดอนาคตของประเทศของตนใหม่อีกครั้งพร้อมกับความหวังใหม่ๆ และชาวซีเรียไม่อาจบรรลุเป้าหมายนี้ได้ตามลำพัง ประชาคมโลกเองก็จำเป็นจะต้องสนับสนุนซีเรียและชาวซีเรีย”
นาย Fidan เน้นย้ำว่าฝ่ายบริหารชุดใหม่ที่จะเข้ามาควรมีโครงสร้างที่เป็นระเบียบ หลักการของการแบ่งแยกจะต้องบังคับใช้อย่างจริงจัง และตอนนี้คือเวลาที่จะต้องรวมตัวกันเพื่อสร้างประเทศขึ้นมาใหม่ นาย Fidan กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราขอเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคและนอกภูมิภาคนี้ กระทำการอะไรต่างๆ ด้วยความระมัดระวัง และไม่ทำให้ภูมิภาคนี้เข้าสู่ความไม่มั่นคงอีก” บูรณภาพและดินแดนของซีเรียจะต้องได้รับการคุ้มครอง เราต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากในช่วงของการเปลี่ยนผ่านนี้ และเราขอพูดผ่านไปยังกลุ่มต่างๆ ว่าเราจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ฉวยโอกาสจากช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม DAES และ PKK และตุรกีจะทำทุกวิถีทางเพื่อต่อสู้กับการก่อการร้าย สถาบันของรัฐจะต้องได้รับการคุ้มครองและบริหารงานอย่างเหมาะสม เราจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อสร้างสันติภาพและความมั่นคงในซีเรีย และเมื่อกล่าวถึงการฟื้นฟูประเทศซีเรีย นาย Fidan ได้แสดงความเห็นว่า ตุรกีและประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ จะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำงานกับรัฐบาลชุดใหม่ของซีเรียเพื่อสร้างซีเรียขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดยใช้ความสามารถและโอกาสใดๆ ก็ตามที่เข้ามา เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาอื่นๆ ต่อไป
รัฐมนตรี Fidan ได้แสดงท่าทีกังวลต่อกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ที่อาจฉวยโอกาสในช่วงนี้ด้วย โดยเขากล่าวว่า “เราไม่ต้องการให้พวกเขาใช้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ในทางที่ผิด เราจะทำทุกอย่างอย่างรอบคอบเพื่อให้แน่ใจว่า DAES และ PKK จะไม่ฉวยโอกาสใดๆ ในช่วงเวลานี้ พันธมิตรของเราอย่างอเมริกานั้น รู้ดีว่าเรามีความอ่อนไหวต่อปัญหานี้เพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของเรื่องกลุ่ม YPG และ PKK และแน่นอนว่าเราจะตอบโต้การคุกคามใดๆ ที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ในส่วนของสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในตุรกีจำนวนมากเริ่มทยอยเดินทางกลับไปยังประเทศซีเรีย ทำให้ด่านตรวจคนเข้าเมือง Cilvegozu ที่เมือง Hatay หนาแน่นไปด้วยประชาชนชาวซีเรียจำนวนมากที่มารอข้ามด่านกลับไปยังประเทศซีเรีย อนึ่ง เริ่มมีเสียงจากผู้ประกอบการชาวตุรกีในหลายพื้นที่แสดงความกังวลเรื่องแรงงานที่จะขาดตลาดลง และอาจกระทบต่อภาคการผลิตในบางภาคธุรกิจ เช่น ธุรกิจสิ่งทอ งานก่อสร้าง หรือแม้แต่ผู้ประกอบการรายย่อยอื่นๆ
ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ
ตุรกีที่มีพรมแดนทางด้านใต้ของประเทศติดต่อกับซีเรียเป็นระยะทางยาว และเป็นประเทศหนึ่งที่รับผู้อพยพลี้ภัยสงครามจากซีเรียเข้าไว้ในประเทศมากที่สุดกว่า 4 ล้านคนในขณะนี้ รวมทั้งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของซีเรียซึ่งมีการค้าระหว่างกันมากกว่าปีละ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศโดยตรงรวมของซีเรีย โดยเป็นผู้ขายหลักที่ซีเรียต้องซื้อสินค้าแทบจะทุกอย่างตั้งแต่เชื้อเพลิง อาหารต่างๆ ข้าวของเครื่องใช้สำหรับอุปโภคและบริโภค รวมไปถึงสินค้าอุตสาหกรรมอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นับเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างมากกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของซีเรียในครั้งนี้
ในส่วนของประเทศไทยนั้นมีมูลค่าการค้าโดยตรงกับประเทศซีเรียน้อยมากจนแทบจะไม่ปรากฏตัวเลข โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่เป็นของไทยและถูกนำไปจำหน่ายในประเทศซีเรียอย่างข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง และอาหารอื่นๆ ถูกส่งผ่านเข้าไปโดยผู้นำเข้าจากตุรกีเป็นหลัก และส่วนใหญ่น่าจะเป็นการค้าในบริเวณชายแดน
สถานการณ์ในซีเรียในขณะนี้ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ละเอียดอ่อนอย่างมาก และมีความไม่แน่นอนสูงจากท่าทีของประเทศรอบข้างและกลุ่มอิทธิพลต่างๆ ทั้งจากนอกประเทศและภายในเองในช่วงที่ประเทศไม่มีรัฐบาลปกครองประเทศ รวมทั้งอิสราเอลเองที่เริ่มมีการโจมตีหลายๆ เมืองในซีเรียในตอนนี้ และเข้าอ้างสิทธิโดยการส่งกำลังทหารเข้าไปในเขตที่ราบสูงโกลันที่มีกองกำลังของสหประชาชาติประจำการอยู่ จนทำให้เกิดความไม่พอใจแก่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค เนื่องจากที่ราบสูงโกลันเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างซีเรียและอิสราเอลมายาวนาน และมีการเซ็นสัญญาหยุดยิงกันระหว่างกันเมื่อปี 1974 โดยให้มีกองกำลังของสหประชาชาติเข้าไปประจำอยู่ที่เขตนั้นเป็นต้นมา จึงเป็นอีกประเด็นที่ยังคงต้องจับตาดูสถานการณ์ในภูมิภาคนี้ต่อไปอย่างใกล้ชิด