ปีนี้นับเป็นปีทองสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมค้าปลีกออนไลน์สหรัฐฯ ซึ่งยังคงสามารถทำยอดขายเกินกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญในตลาดคาดการณ์ไว้แม้ว่าในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะต้องเผชิญกับปัจจัยที่ค่อนข้างท้าทายในตลาดหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ย การจ้างงาน ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

 

ทั้งนี้ บริษัท Adobe Analytics ผู้รวบรวมข้อมูลสถิติการค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มตลาดและพัฒนาการขยายตลาดได้รายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ผ่านช่องทางออนไลน์ในช่วง Cyber Week (ระหว่างวันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving) ไปจนถึงวัน Cyber Monday) ปี 2567 ขยายตัวเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 4.11 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (year-over-year) เปรียบเทียบกับยอดค้าปลีกผ่านช่องทางออนไลน์ในช่วงเดียวกันปี 2566 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ บริษัท Salesforce, Inc. ผู้ประกอบการด้านซอฟท์แวร์การตลาดรายใหญ่ในสหรัฐฯ ยังได้รายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ รวม (ยอดค้าปลีกผ่านร้านค้าและยอดค้าปลีกผ่านช่องทางออนไลน์) ในช่วง Cyber Week เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 7.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาอีกด้วย

 

คำว่า “Cyber Monday” ถูกจำกัดความขึ้นครั้งแรก โดยสมาพันธ์ผู้ค้าปลีกแห่งชาติ (The National Retail Federation หรือ NRF) ในปี 2548 หลังจากที่สังเกตพบพฤติกรรมผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดส่วนใหญ่มักจะนิยมเลือกซื้อสินค้าลดราคาพิเศษผ่านช่องทางคอมพิวเตอร์ในที่ทำงานในช่วงวันจันทร์หลังจากวันขอบคุณพระเจ้า (เนื่องจากความเร็วของอินเตอร์เน็ตตามออฟฟิตหรือสำนักงานในขณะนั้นมักจะเร็วกว่าตามบ้านพักอาศัยทั่วไป) จนกลายเป็นกระแสความนิยมขยายตัวเป็นวงกว้าง ซึ่งปัจจุบันแนวโน้มผู้บริโภคในตลาดได้พัฒนาจากการเลือกซื้อผ่านคอมพิวเตอร์ไปเป็นผ่านโทรศัพท์มือถือเนื่องจากปัจจัยด้านความสะดวกสบายมากขึ้นด้วย

 

ซึ่งในปีนี้ยอดค้าปลีกผ่านช่องทางออนไลน์ในช่วง Cyber Monday สหรัฐฯ มีมูลค่าทั้งสิ้น 1.33 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากที่บริษัท Adobe ประเมินไว้เพียงมูลค่าทั้งสิ้นราว 1.32 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นในปีนี้ โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมเลือกซื้อในกลุ่มผู้บริโภคในช่วงดังกล่าว ได้แก่ สินค้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มทั่วไป (ร้อยละ 39) สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม (ร้อยละ 34) และสินค้าเครื่องแต่งกายและรองเท้ากีฬา (ร้อยละ 23) ตามลำดับ

 

นอกจากนี้ Ms. Caila Schwartz ตำแหน่ง Director of Consumer Insights บริษัท Salesforce ยังรายงานว่า ยอดขายสินค้ากลุ่มเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มและกระเป๋ากลุ่มหรูหรา (Luxury) ยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงดังกล่าวด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการค้าปลีกในตลาดต่างดำเนินกลยุทธ์แข่งขันกันลดราคาสินค้าเพื่อดึงดูดผู้บริโภคในตลาด

 

ทั้งนี้ สามารถจำแนกยอดค้าปลีกผ่านช่องทางออนไลน์ในช่วง Cyber Weekend ได้ออกเป็น 4 ช่วงสำคัญ ดังนี้

  • วันขอบคุณพระเจ้า มูลค่าทั้งสิ้น 6.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8
  • วัน Black Friday มูลค่าทั้งสิ้น 1.08 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2
  • วันสุดสัปดาห์ มูลค่าทั้งสิ้น 1.09 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8
  • วัน Cyber Monday มูลค่า 1.33 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3

 

จากข้อมูลพบว่า ช่วง Cyber Monday เป็นช่วงเทศกาลที่ผู้บริโภคนิยมเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ทำให้มีอัตราการขยายตัวสูงเมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลอื่นๆ อีกทั้ง ยังพบว่าผู้ประกอบการในตลาดยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวทำการประชาสัมพันธ์เร็วขึ้น โดยพบสัดส่วนผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นยอดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 สัปดาห์ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้บริโภคในตลาดหันไปเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ด้วยโทรศัทพ์เคลื่อนที่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปีนี้ด้วย โดยบริษัท Adobe รายงานว่า ผู้บริโภคในตลาดเลือกใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่สั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 57 ของยอดค้าปลีกผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหมดในช่วง Cyber Monday เทียบกับสัดส่วนเพียงร้อยละ 33 ในช่วงปี 2562

 

แนวโน้มดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกับรายงานข้อมูลของบริษัท Bluecore ผู้จัดการแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ซึ่งรายงานยอดผู้บริโภคที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ในช่วงเทศกาลปลายปี อีกทั้ง ยังพบว่า รองเท้าเป็นกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคเลือกซื้อผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่มากที่สุด ในขณะที่สินค้าอุปกรณ์กีฬาเป็นกลุ่มที่ผู้บริโภคเลือกซื้อผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่น้อยที่สุด

 

อีกทั้ง บริษัท Salesforce ยังพบว่า ผู้ประกอบการค้าปลีกเลือกนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative Artificial Intelligence หรือ GenAI) มาปรับใช้เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มยอดจำหน่ายในช่วง Cyber Monday เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า (week-over-week) ด้วย

 

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

 

ภาคอุตสาหกรรมค้าปลีกเป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคประชาชนซึ่งจะส่งผลไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาปัจจัยด้านความผันผวนในตลาดหลายปัจจัยส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แต่โดยรวมการใช้จ่ายภาคประชาชนและการค้าปลีกที่ยังคงแข็งแกร่งมีส่วนช่วยพยุงให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวต่อเนื่องในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาของปีนี้ ซึ่งน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้บริโภคในตลาดมักจะมีพฤติกรรมใช้จ่ายเพื่อเฉลิมฉลองและซื้อสินค้าเป็นของขวัญของชำร่วยมอบให้กับสมาชิกครอบครัวและคนใกล้ชิด

 

โดยช่วงเทศกาล Cyber Weekend ถือเป็นช่วงที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันนิยมใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้ามากที่สุดเนื่องจากเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการค้ามักจะดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าหลายรายการเพื่อดึงดูดผู้บริโภค

 

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีทันสมัยเข้ามามีบทบาทอำนวยความสะดวกในชีวิตมากขึ้นทำให้ผู้บริโภคหันไปเลือกซื้อสินค้าในช่วงดังกล่าวผ่านช่องทางออนไลน์โดยเฉพาะผ่านโทรศัทพ์เคลื่อนที่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของยอดขายทั้งหมด อีกทั้ง ยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย จึงน่าจะเป็นโอกาสในการขยายตลาดสำหรับผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ของเล่น เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์กีฬา เครื่องสำอาง และเครื่องประดับที่มียอดจำหน่ายขยายตัวสูงในช่วงดังกล่าวในอนาคต

 

นอกจากนี้ ปัจจัยด้านผลการเลือกตั้งที่ชัดเจน ประกอบกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและการจ้างงานภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่น่าจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องในปีหน้าน่าจะมีส่วนช่วยผลักดันให้การขยายตัวของภาคการค้าปลีกในตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีหน้าด้วย ในขณะที่นโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีแผนจะดำเนินมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด 3 รายแรกของสหรัฐฯ ได้แก่ เม็กซิโก จีน และแคนาดา ในอนาคตอันใกล้เพื่อกดดันให้ประเทศเหล่านี้ให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ดังนั้น ในระยะสั้นหากสหรัฐฯ เริ่มดำเนินมโนบายดังกล่าวอย่างจริงจังก็น่าจะเป็นโอกาสส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายสัดส่วนตลาดส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มากขึ้นได้ในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าชิ้นส่วนกึ่งตัวนำไฟฟ้า กระเป๋าหนัง เฟอร์นิเจอร์ โคมไฟ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์สมาร์ทโฟน เบาะที่นั่ง จอคอมพิวเตอร์ ของเล่น เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งสินค้าไทยมีศักยภาพในการทำตลาดสหรัฐฯ อยู่แล้ว

 

ทั้งนี้ สภาพแวดล้อมด้านการค้าในตลาดปัจจุบันมีการขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว (Fast Moving) ปัจจัยด้านเวลามีความสำคัญต่อการดำเนินกิจการสูง ผู้ประกอบการในตลาดต่างเร่งพัฒนานำเทคโนโลยีต่างๆ มาพัฒนาปรับใช้เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในตลาด รวมถึงการเร่งการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำตลาดเหนือคู่แข่ง ดังนั้น นอกจากการควบคุมคุณภาพสินค้าให้ตรงตามความต้องการของผู้นำเข้าแล้ว ผู้ประกอบการไทยยังควรพิจารณาปรับตัวสร้างจุดแข็งเพิ่มประสิทธิภาพในการสนับสนุนผู้ประกอบการค้าปลีกในตลาด เช่น นำระบบปัญญาประดิษฐ์มาร่วมปรับใช้กับการบริหารจัดการระบบรับคำสั่งซื้อ การผลิต และการจัดส่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและร่นระยะเวลาการรอคอยสินค้า ก็น่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยประสบความสำเร็จในตลาดสหรัฐฯ ได้

 

*****************************

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

 

thThai