เมื่อวันพุธที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา รัฐสภาฝรั่งเศสออกเสียงข้างมากลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี Michel Barnier หลังจากที่ประธานาธิบดี Macron ได้ประกาศยุบสภาเมื่อเดือนมิถุนายน และแต่งตั้งนาย Michel Barnier เป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นาย Michel Barnier ต้องลาออกจากตำแหน่ง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองฝรั่งเศสครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งภายในช่วงระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี
ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศต่างวิเคราะห์ถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในครั้งนี้ ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลด้านลบต่อเศรษฐกิจฝรั่งเศส ได้แก่
- นาย Patrick Martin ผู้อำนวยการขององค์กร MEDEF หนึ่งในเครือข่ายบริษัทและองค์กรที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส (จำนวนสมาชิก 750,000 บริษัท) กล่าวว่าความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศแต่ยังคงคาดหวังว่าจะไม่ส่งผลรุนแรงจนเกินไป
- สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐอเมริกา Moody’s ระบุว่าสภาวะทางการเมืองนี้นอกจากจะปรับลดความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจฝรั่งเศสโดยตรงแล้ว ยังส่งผลให้การบริหารการคลังและงบประมาณของประเทศทำได้ยากมากขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่จะมารับตำแหน่งแทนนาย Barnier จะเผชิญปัญหาเดียวกัน
ผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
- นาย Eric Heyer ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ขององค์กรวิเคราะห์เศรษฐกิจฝรั่งเศส-OFCE แสดงความเห็นว่าฝรั่งเศสจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การเมืองครั้งนี้ในทุกด้าน ทั้งด้านการลงทุน,การจ้างงานและการบริโภค โดยนาย Raul Sampognaro นักเศรษฐศาสตร์จากหน่วยงานเดียวกันคำนวณว่าเศรษฐกิจฝรั่งเศสในปีนี้จะขยายตัวลดลง 1 จุด และลดลง 0.3 จุดในปี 2025
- นาย Maxime Darmet นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทประกันและการลงทุน Allianz Trade ปรับลดอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจฝรั่งเศสในทันที 2 จุดซึ่งจะส่งผลให้ GDP ในปีนี้ต่ำกว่าร้อยละ 0.7 และอาจส่งผลให้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคได้ (Technical Recession)
- นาย Charles-Henri Colombier ผู้อำนวยการสถาบันการวิเคราะห์เศรษฐกิจ Rexecode แสดงความเห็นไปในทางเดียวกันว่าอัตรา GDP ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และจะส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสแรกของปี 2025 ซึ่งจะส่งผลให้อัตรา GDP ในปีหน้าขยายตัวขึ้นร้อยละ 5 เท่านั้นจากที่คาดการไว้ที่ร้อยละ 0.7
ผลกระทบต่อการลงทุน
- สถาบันสถิติและเศรษฐศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส (INSEE) เปิดเผยข้อมูลว่า ภาคอุตสาหกรรมฝรั่งเศสเริ่มชะลอตัวและหยุดนิ่ง ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมาโดยคำสั่งซื้อลดลง รวมถึงอัตราการผลิตลดลงเหลือเพียงร้อยละ 75 เท่านั้นซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา
- จากการสำรวจข้อมูลของธนาคารและบริษัทให้คำปรึกษา Bpifrance ที่ทำร่วมกับบริษัท Rexecode ได้ผลสรุปว่าบริษัทฝรั่งเศสระดับ SMEs จำนวน 2 ใน 3 ตัดสินใจระงับหรือเลื่อนการลงทุนในประเทศออกไป นอกเหนือจากนั้นบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจ EY ยังกล่าวว่าบริษัทนักลงทุนจากต่างชาติเกือบครึ่งหนึ่งจะลดการลงทุนในฝรั่งเศส
ผลกระทบต่อการบริโภค
ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศลดลงซึ่งจะส่งให้เกิดการลดการบริโภคและทำให้ระดับเงินออมเพิ่มสูงขึ้น
ผลกระทบต่อการบริหารและจัดการงบประมาณปี 2025
นาย Heyer จากองค์กร OFCE กล่าวว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศจะเปลี่ยนไปในทิศทางใดขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ประธานาธิบดี Macron แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพราะจะส่งผลต่อการตัดสินใจเรื่องงบประมาณการคลังในปีหน้าซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด อย่างไรก็ตามความเป็นไปได้จากที่เคยคาดการณ์ให้การตั้งงบประมาณปี 2025 เพื่อนำมาช่วยลดการขาดดุลงบประมาณในปีหน้าในระดับร้อยละ 5 ของ GDP นั้นลดลง
ความคิดเห็น สคต.
ฝรั่งเศสกำลังเผชิญกับทั้งปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจรุมล้อมทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์เศรษฐกิจของเยอรมนีคู่ค้ารายสำคัญ, การต้องเตรียมรับมือจากนโยบายสงครามการค้าของประธานาบดี Donald Trump, การต่อสู้เพื่อยับยั้งสนธิสัญญาทางการค้า Mercosur ระหว่างสหภาพยุโรปและกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ (บราซิล, อาร์เจนติน่า, อุรุกวัยและปารากวัย) เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อสินค้าฝรั่งเศสโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารหลายรายการ
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนซึ่งอาจฉุดให้ระดับการบริโภคลดลง อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปีนี้เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองและจับจ่ายที่สำคัญของผู้บริโภค จึงคาดหวังได้ว่าบรรยากาศรื่นเริงในปลายปี จะช่วยให้ผู้บริโภคออกมาใช้จ่ายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนตลาดค้าปลีกได้ในระดับหนึ่ง และหลังจากนี้คงต้องติดตามผลการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่ง สคต. ณ ปารีสจะนำมารายงานความคืบหน้าให้ทราบในโอกาสต่อไป
ที่มาของข่าว
Nathalie Silbert
ข่าวจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ Les Echos
https://www.lesechos.fr/economie-france/conjoncture/croissance-le-scenario-noir-de-lincertitude-politique-2136209