การเติบโตอย่างรวดเร็วของอีคอมเมิร์ซมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนาม แต่ก็ยังคงนำมาซึ่งความท้าทาย โดยเฉพาะในด้านการจัดการภาษี ซึ่งทำให้ผู้ร่างกฎหมายจำเป็นต้องพิจารณาแก้ไขกฎหมายการบริหารจัดการภาษีและกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้สอดคล้องกับกฎระเบียบภายในประเทศและข้อตกลงระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการเก็บภาษีและการส่งเสริมการค้า ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 สภาแห่งชาติของเวียดนามได้อนุมัติการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย 9 ฉบับ เพื่อปรับปรุงกรอบกฎหมายภาษีในเศรษฐกิจดิจิทัล โดยกำหนดให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและดิจิทัลที่มีฟังก์ชันการชำระเงินต้องรับผิดชอบในการประกาศและชำระภาษีแทนผู้ขายที่เป็นธุรกิจครัวเรือนและบุคคลธรรมดา โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568
กระทรวงการคลังของเวียดนามกำลังพิจารณาการยกเลิกการยกเว้นภาษีสำหรับสินค้านำเข้ามูลค่าต่ำ เนื่องจากการเติบโตของอีคอมเมิร์ซทำให้เกิดการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนของสินค้ามูลค่าต่ำมากขึ้นซึ่งนำไปสู่การขาดแคลนรายได้ภาษี ในปัจจุบันสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1 ล้านเวียดนามด่ง หรือ 39 เหรียญสหรัฐ ได้รับการยกเว้นภาษีตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการทบทวนนโยบายนี้เพื่อปกป้องธุรกิจภายในประเทศและปรับปรุงการจัดการภาษี
การพิจารณาใหม่เกี่ยวกับเกณฑ์การยกเว้นภาษีสำหรับสินค้านำเข้ามูลค่าต่ำ (de minimis threshold) เกิดขึ้นหลังจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าราคาต่ำจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Temu และ Shein โดยนาย Ngo Vinh Bach Duong ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจาก The Institute of State and Law กล่าวว่าการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นเรื่องที่ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยต้องหาจุดสมดุลระหว่างการเก็บภาษีกับการส่งเสริมการค้า และเน้นบทบาทของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในการบริหารจัดการภาษี ซึ่งช่วยให้ข้อมูล เก็บภาษี และรับรองการปฏิบัติตามกฎหมาย ความร่วมมือระหว่างแพลตฟอร์มและหน่วยงานภาษีสามารถสร้างระบบภาษีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการทุจริต และส่งเสริมความยุติธรรม โดยการมอบความรับผิดชอบในการเก็บและชำระภาษีสำหรับธุรกรรมข้ามพรมแดน
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในการบังคับใช้ โดยหลักการปลายทาง (destination principle) ซึ่งภาษีมูลค่าเพิ่มจะถูกเก็บในประเทศของผู้บริโภค เป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางสำหรับการค้าข้ามพรมแดน และได้รับการแนะนำจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) แต่อย่างไรก็ตาม การจัดการภาษีมูลค่าเพิ่มข้ามพรมแดนยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทาย เนื่องจากมีความยากลำบากในการตรวจสอบธุรกรรมและกำหนดเขตอำนาจภาษีที่ถูกต้อง
ตามข้อมูลจาก YouNet ECI และ YouNet Media อีคอมเมิร์ซในเวียดนามมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ และคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดอีคอมเมิร์ซของเวียดนามมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดในอาเซียนภายในปี 2569 และมีศักยภาพที่จะทำธุรกรรมประจำปีเกือบ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2571 การเติบโตนี้ได้รับการสนับสนุนจากสภาพแวดล้อมทางกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนาและฐานผู้บริโภคที่มีความชำนาญทางเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น
การมอบหมายหน้าที่การเก็บภาษีให้กับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นแนวโน้มที่ได้รับความนิยมในหลายประเทศทั่วโลก แต่ต้องมีแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิและความรับผิดชอบของแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยแพลตฟอร์มในเวียดนามซึ่งมีทรัพยากรไม่เทียบเท่ากับยักษ์ใหญ่ระดับโลก เช่น Amazon หรือ Alibaba ควรได้รับระยะเวลาในการปรับตัว นอกจากนี้ รัฐบาลต้องจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ระบบภาษีอัตโนมัติ และเครื่องมือที่ฟรีหรือมีราคาย่อมเยา เช่น API เพื่อช่วยให้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ปฏิบัติตามภาระหน้าที่โดยไม่ต้องมีต้นทุนการปฏิบัติตามกฎหมายที่สูง
(แหล่งที่มา https://vietnamnews.vn/ ฉบับวันที่ 9 ธันวาคม 2567)
วิเคราะห์ผลกระทบ
ในปี 2567 เวียดนามได้มีการเปลี่ยนแปลงภาษีหลายประเภทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและปรับตัวให้สอดคล้องกับภาษีระหว่างประเทศ โดยภาษีหลัก ๆ ที่บริษัทต่างชาติควรรู้มีดังนี้
- ภาษีเพิ่มเติม (Top-up tax): ตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax) ที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) กำหนด บริษัทที่จ่ายภาษีต่ำกว่าร้อยละ 15 จะต้องจ่ายภาษีเพิ่มเติมเพื่อให้ถึงขั้นต่ำที่กำหนดในปีนี้
- ภาษีสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Tax): ในเดือนเมษายน 2566 เวียดนามได้ลดภาษีสิ่งแวดล้อมต่อน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และได้ขยายการลดภาษีนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2567
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT): ภาษีมูลค่าเพิ่มในเวียดนามปกติอยู่ที่ร้อยละ 10 แต่ได้ลดเหลือร้อยละ 8 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 และขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
- ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนรถยนต์: การลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนรถยนต์สิ้นสุดลงในวันที่ 1 มกราคม 2567 โดยเจ้าของยานยนต์ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเต็มจำนวน
- ภาษีอีคอมเมิร์ซ: แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและดิจิทัลที่มีฟังก์ชันการชำระเงินจะต้องรับผิดชอบในการประกาศและชำระภาษีแทนผู้ขายที่เป็นธุรกิจครัวเรือนและบุคคลธรรมดา โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568
ปัจจุบันธุรกิจอีคอมเมิร์ซในเวียดนามมี 5 แพลตฟอร์มหลักที่ครองตลาด ได้แก่ Shopee, Tiktok Shop, Lazada, Tiki และ Sendo ซึ่งมียอดขายรวมในปี 2566 ประมาณ 9,150 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.4 เมื่อเทียบกับปี 2565 อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของแพลตฟอร์มจีนหลายแห่ง เช่น Temu และ Shein ซึ่งจำหน่ายสินค้าราคาถูกในหมวดหมู่หลักอย่างสินค้าความงาม แฟชั่น และของใช้ในครัวเรือน ทำให้เกิดการแข่งขันสูงและเป็นเหตุให้รัฐบาลเวียดนามต้องทบทวนและปรับปรุงกฎหมายภาษี โดยเฉพาะในด้านภาษีอีคอมเมิร์ซ โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม – พฤศจิกายน) ภาษีอีคอมเมิร์ซของเวียดนามมีมูลค่า 108 ล้านล้านเวียดนามด่ง หรือประมาณ 4,250 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566
นำเสนอโอกาส/แนวทาง
การเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในเวียดนามเปิดโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายธุรกิจไปยังตลาดนี้ โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการที่ใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในการขายสินค้าในเวียดนาม หรือผู้ที่ไม่ได้มีการจดทะเบียนหรือประกอบกิจการในเวียดนาม แต่มีการขายสินค้าหรือบริการให้แก่บุคคลธรรมดาในเวียดนาม ซึ่งในกรณีนี้จำเป็นต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายภาษีในเวียดนามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในเรื่องการเก็บภาษีจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซและแพลตฟอร์มดิจิทัล เนื่องจากรัฐบาลเวียดนามได้มีการปรับปรุงกฎหมายภาษีเพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจออนไลน์และการค้าข้ามพรมแดน โดยในปี 2568 ที่จะถึงนี้ กฎหมายภาษีในเวียดนามจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและดิจิทัลที่มีฟังก์ชันการชำระเงินต้องรับผิดชอบในการเก็บและชำระภาษีแทนผู้ขาย ซึ่งรวมถึงธุรกิจครัวเรือนและบุคคลธรรมดาที่ขายสินค้าออนไลน์ในเวียดนาม นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาปรับเกณฑ์การยกเว้นภาษี (de minimis threshold) สำหรับสินค้าราคาต่ำจากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อรับมือกับการหลีกเลี่ยงภาษีจากธุรกรรมข้ามพรมแดน
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่มีแผนจะขยายธุรกิจอีคอมเมิร์ซไปยังเวียดนามควรศึกษากฎหมายภาษีอย่างละเอียด เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดใหม่และลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ รวมถึงการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายที่อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในตลาดเวียดนาม