การดำเนินนโยบายตอบโต้ทางการค้าจีนของสหรัฐฯ ในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สมัยแรก ได้สร้างโอกาสให้เวียดนามกลายเป็นประเทศผู้ผลิตที่ผู้ประกอบการในตลาดต่างให้ความสนใจย้ายฐานการผลิตสินค้าไปตั้งเพื่อรักษาความได้เปรียบทางด้านภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เช่น บริษัท Apple Inc. บริษัท Nike Inc. และ บริษัท Gap Inc. เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ในช่วง 6 ปีที่สหรัฐฯ ดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้าจีน เศรษฐกิจเวียดนามได้รับอานิสงส์ขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี โดยเฉพาะการขยายตัวของมูลค่าการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศ (Foreign Direct Investment หรือ FDI) และมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ปัจจุบันสินค้าส่งออกจากเวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ สูงหลายรายการ เช่น รองเท้ากีฬาราวหนึ่งในสาม เตียงและโต๊ะกินข้าวไม้ราวครึ่งหนึ่ง และเซลล์และแผงผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ราวหนึ่งในสี่ของมูลค่าตลาดทั้งหมดในสหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากแนวนโยบายทางการค้าของ Mr. Jamieson Greer ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับตำแหน่งผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (U.S. Trade Representative) คนใหม่ ที่ต้องการให้สหรัฐฯ เพิ่มมาตรการที่เข้มงวดเพื่อยับยั้งสินค้าจีนที่ส่งออกผ่านประเทศที่ 3 เพื่อไปยังสหรัฐฯ (Third Country Workarounds) ซึ่งสินค้าเหล่านี้มักจะใช้วัตถุดิบการผลิตส่วนใหญ่จากจีน ผลิตโดยบริษัทลูกของจีนที่ไปตั้งฐานการผลิตในประเทศอื่นเพื่อหลบเลี่ยงภาษีนำเข้าในอัตราสูง ถึงแม้ว่าจะไม่มีการระบุชื่อประเทศก็ตามแต่ก็เชื่อได้ว่า นโยบายดังกล่าวพุ่งเป้าไปที่เวียดนามและเม็กซิโก ที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการจีนจำนวนมากขยายฐานการผลิตไปตั้งเพื่ออาศัยเป็นช่องทางในการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ

 

ทั้งนี้ เวียดนามเองก็ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพิจารณาเพ่งเล็งเป็นพิเศษ และอาจจะนำมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้ามาบังคับใช้กับสินค้านำเข้าจากเวียดนามทุกรายการ เพื่อกดดันให้เวียดนามให้ความร่วมมือสหรัฐฯ ในการลดมูลค่าการขาดดุลทางการค้า โดยปัจจุบันเวียดนามมีมูลค่าการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ สูงกว่าการนำเข้าจากสหรัฐฯ ถึง 9 เท่า นับเป็นประเทศคู่ค้าที่สหรัฐฯ มีมูลค่าการขาดดุลทางการค้าสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 4 รองจากจีน เม็กซิโก และกลุ่มสหภาพยุโรป

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการในตลาดสนใจขยายฐานการผลิตไปตั้งที่เวียดนาม ได้แก่
1) ปัจจัยด้านระบบสาธารณูปโภค ที่พัฒนาเอื้ออำนวยต่อการดำเนินกิจการ
2) ปัจจัยด้านต้นทุนและค่าแรงที่ต่ำ โดยเวียดนามมีกำลังแรงงานฝีมือราคาถูกจำนวนมาก
3) ปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้ง ซึ่งติดกับจีนทำให้การขนส่งวัตถุดิบและชิ้นส่วนการผลิตจากจีนไปยังโรงงานผลิตต่างๆ ทำได้ง่ายด้วย และ
4) ปัจจัยด้านนโยบายการทูต แบบ “ไผ่ลู่ลม” (Bamboo Diplomacy) ที่สามารถเข้าได้กับทั้งจีนและสหรัฐฯ ปัจจัยดังกล่าวล้วนมีส่วนทำให้ผู้ประกอบการต่างสนใจขยายฐานการผลิตไปยังเวียดนามมากขึ้น

 

นับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา เวียดนามมีมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศทั้งสิ้นประมาณ 2.90 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นเงินลงทุนจากสิงค์โปร์ 5.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จีนและฮ่องกง 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เกาหลีใต้ 5.21 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ญี่ปุ่น 4.48 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนสหรัฐฯ มีมูลค่าเพียง 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

 

เวียดนามเสี่ยงตกเป็นเป้าทำสงครามการค้าของสหรัฐฯ รายต่อไป

 

โดยล่าสุดในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาภายหลังจากที่ทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีผู้ประกอบการสหรัฐฯ ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปเวียดนามเพิ่มขึ้น เช่น บริษัท Steve Madden Ltd. ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าแฟชั่น และบริษัท Acushnet Co.  ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าลูกกอล์ฟและรองเท้ากอล์ฟ โดยตั้งเป้าจะเริ่มผลิตรองเท้าที่โรงงานในเวียดนามภายในสิ้นปี 2568

 

ทั้งนี้ Mr. Frank Vossen ผู้ก่อตั้ง บริษัท Seditex ที่ปรึกษาบริษัทต่างชาติที่สนใจลงทุน แสวงหาสินค้า หรือจัดตั้งกิจการในเวียดนาม เห็นว่า แม้ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะมีนโยบายปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าในอัตราสูง แต่การลงทุนตั้งกิจการแต่ละครั้งผู้ประกอบการจะต้องวางแผนและดำเนินการเป็นระยะเวลานานหลายปี ดังนั้น ผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตในเวียดนามจึงน่าจะปรับกลยุทธ์ย้ายฐานการส่งออกสินค้าไปยังตลาดใหม่ทดแทนตลาดสหรัฐฯ ได้ในอนาคต อีกทั้ง ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า ในปีนี้บริษัทได้รับการติดต่อจากลูกค้าผู้ประกอบการบริษัทอเมริกันมากถึงสองเท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าชิ้นส่วนโลหะและพลาสติกที่ผู้ประกอบการอเมริกันสนใจนำเข้าจากเวียดนามมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม เริ่มพบสัญญาณผู้ประกอบการในตลาดระมัดระวังการตัดสินใจขยายฐานการผลิตไปยังเวียดนามมากขึ้น โดยนับตั้งแต่ที่สหรัฐฯ ทราบผลการเลือกตั้ง ผู้ประกอบการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากไต้หวันบางรายเริ่มทบทวนแผนการลงทุนในเวียดนาม เนื่องจากกังวลว่าอาจจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าหรือข้อกล่าวหาทางการค้าอื่นๆ จากสหรัฐฯ

 

โดยการดำเนินกิจการในเวียดนามเองยังคงต้องเผชิญกับปัญหาในหลายด้าน เช่น ปัญหาการคอรัปชั่น ปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือ รวมถึงปัญหาที่ต้องพึ่งพาอาศัยส่วนประกอบและผลิตภัณฑ์ชั้นกลาง (Intermediate Goods) จากจีนสูง ส่งผลต่อความไม่สมดุลในระบบ จึงทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนเริ่มสนใจประเทศผู้ผลิตในภูมิภาค เช่น ประเทศไทยที่มีอุตสาหกรรมการผลิตวัตถุดิบและชิ้นส่วนเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเพียงพอภายในประเทศ ในขณะที่บางรายอาจจะพิจารณาย้ายฐานการผลิตกลับประเทศจีน

 

ทั้งนี้ Mr. Jake Phipps ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Phipps International LLC. ผู้จำหน่ายสินค้าเฟอร์นิเจอร์ สุขภัณฑ์ และโคมไฟ กล่าวว่า บริษัทจำเป็นต้องปิดโรงงานผลิตสินค้าตู้ยา และตู้กระจกติดห้องน้ำในเวียดนาม เนื่องจากไม่สามารถหาผู้ผลิตชิ้นส่วนการผลิตที่ได้มาตรฐานในเวียดนาม ทำให้จำเป็นต้องอาศัยการนำเข้าทั้งหมดจากจีน

 

ในขณะที่สถานการณ์ด้านการผลิตในจีนปัจจุบันมีกำลังการผลิตเหลือเฟือ ราคาวัตถุดิบปรับตัวลดลงมา บริษัทจึงตัดสินใจย้ายฐานการผลิตบางส่วนกลับไปยังจีนที่โดยรวมแล้วยังสามารถควบคุมคุณภาพสินค้าได้เป็นที่น่าพอใจ

 

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

 

สหรัฐฯ มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศขาดดุลมาอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายทศวรรษเนื่องจากเป็นประเทศที่มีความต้องการบริโภคสูง ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศไม่สามารถแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกโดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียที่มีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตและค่าแรงงานต่ำ ทำให้สหรัฐฯ จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าและบริการเป็นมูลค่าสูง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯ ต่างพยายามดำเนินมาตรการทางการค้าต่างๆ เพื่อลดมูลค่าการขาดดุลทางการค้ามาโดยตลอด ซึ่งมาตรการเรียกเก็บภาษีตอบโต้ทางการค้า (Tariffs) ที่เริ่มดำเนินมาตั้งแต่ปี 2561 ในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถือเป็นหนึ่งในมาตรการที่ใช้ได้ผลสูงและน่าจะถูกนำมาใช้กดดันประเทศคู่ค้าในอนาคตอันใกล้นี้ตามที่ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศเอาไว้อย่างแน่นอน โดยกลุ่มประเทศที่เป็นเป้าหมายหลักในการดำเนินมาตรการดังกล่าวในขณะนี้ ได้แก่ จีน เม็กซิโก แคนาดา และประเทศในกลุ่ม BRICS

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ในปี 2566 พบว่า จีนมีมูลค่าเกินดุลการค้าสหรัฐฯ สูงที่สุดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2.52 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมา ได้แก่ เม็กซิโก มูลค่าทั้งสิ้น 1.62 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ กลุ่มสหภาพยุโรป  มูลค่าทั้งสิ้น 1.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เวียดนาม มูลค่าทั้งสิ้น 1.03 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และญี่ปุ่น มูลค่าทั้งสิ้น 6.62 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่สหรัฐฯ อาจจะดำเนินมาตรการที่คล้ายคลึงกันเพื่อกดดันเวียดนามได้ในอนาคต โดยหากสหรัฐฯ พิจารณาดำเนินมาตรการดังกล่าวกับเวียดนามน่าจะส่งผลดีและสร้างโอกาสสำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตไทยในการดึงดูดผู้ประกอบการให้ย้ายฐานการผลิตไปตั้งในประเทศไทยที่มีความได้เปรียบทั้งในด้านสภาพแวดล้อมทางการค้า รวมถึงความพร้อมด้านวัตถุดิบการผลิตและแรงงานฝีมือในอนาคตเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ

 

เวียดนามเสี่ยงตกเป็นเป้าทำสงครามการค้าของสหรัฐฯ รายต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้ไทยจะยังไม่เป็นเป้าหมายหลักในการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯ แต่หากพิจารณามูลค่าการค้าไทยที่เกินดุลสหรัฐฯ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน โดยล่าสุดในปี 2566 ไทยมีมูลค่าการค้าเกินดุลสหรัฐฯ เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 4.07 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 12) ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ อาจจะขยายเป้าหมายในการดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้ามายังไทยได้

 

ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของไทยจึงควรพิจารณาใช้ความระมัดระวัง ดำเนินนโยบายทางการค้ากับสหรัฐฯ อย่างรัดกุมเพื่อรักษาระดับมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยไม่ให้เกินดุลสหรัฐฯ มากจนอาจจะทำให้ไทยตกเป็นเป้าหมายในการดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯ ในอนาคต ที่อาจจะกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยได้

 

ที่มา:  Vietnam Won Big in Donald Trump’s First Trade War. Now, It’s a Target

 

*****************************

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

 

 

thThai