Golden Pin Design Award รางวัลอันทรงเกียรติของวงการออกแบบไต้หวัน จัดขึ้นโดยสถาบันวิจัยการออกแบบแห่งไต้หวัน หรือ Taiwan Design Research Institute ตั้งแต่ปี 2524 ถือเป็นรางวัลด้านการออกแบบที่มีชื่อเสียงในกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาจีน ในแต่ละปีมีผลงานออกแบบจากทั่วโลกรวมถึงจากไทย ส่งมาเข้าร่วมการประกวดเป็นจำนวนมาก สำหรับในปีนี้ได้มีการเชิญนักออกแบบชื่อดังที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ เช่น อันซังซู จากเกาหลีใต้, ชิเงโนริ อาซากุระ ประธานบริษัท GK Industrial Design จากญี่ปุ่น และนักออกแบบชื่อดังอย่าง โยชิอากิ ชิคิเบะ มาร่วมเป็นกรรมการตัดสินผลงานที่ไต้หวัน
ผลงานในปีนี้ที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับรางวัล Golden Pin Design Awards มีจำนวน 641 ผลงาน ใน 4 สาขา คือ Product Design, Communication Design, Spatial Design และ Integration Design ในจำนวนนี้มี 138 ผลงานได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Best Design Award โดยมีผลงานของนักออกแบบไทย 22 ผลงานได้รางวัล Golden Pin Award แบ่งเป็น Product Design 3 ผลงาน Communication Design 5 ผลงาน Spatial Design 11 ผลงาน และ Interior Design 3 ผลงาน ในจำนวนนี้ มีผลงานของนักออกแบบไทย ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัล Best Design Award ซึ่งถือเป็นรางวัลใหญ่ที่สุดของการประกวด จำนวน 14 ผลงาน แบ่งเป็น Product Design 1 ผลงาน Communication Design 2 ผลงาน และ Spatial Design 11 ผลงาน
ผลการตัดสินเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2567 ปรากฏว่าไทยได้รับรางวัล Best Design Award จำนวน 5 ผลงาน ในสาขา Product Design 1 ผลงาน โดยมีผู้ได้รับรางวัลในสาขานี้ทั้งสิ้น 10 ผลงาน คือ Ventilation Block – Air Flow ของ mflex factory Co., Ltd. โดยผลงานชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้จากการสร้างสรรค์วัสดุก่อสร้างแบบดั้งเดิม และการออกแบบแบบโมดูลาร์ ช่วยเปิดโอกาสให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในโครงการสถาปัตยกรรม โดยมีทั้งความแข็งแรงทางโครงสร้างและความงดงามที่เรียบง่าย สะท้อนแนวคิดที่ว่า “สิ่งที่ดูธรรมดา อาจกลายเป็นสิ่งที่ไม่ธรรมดาได้” สาขา Communication Design 1 ผลงาน (มีผู้ได้รับรางวัลในสาขานี้ 7 ผลงาน) คือ Crossover ll: The Nature of Relationships ของ Manita Songserm ซึ่งได้รับการชื่นชมว่า แนวทางการออกแบบเปี่ยมไปด้วยความเป็นบทกวี เพื่อถ่ายทอดลักษณะสำคัญของช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะ ศิลปิน และสิ่งแวดล้อม โดยถูกนำเสนอในเชิงนามธรรม ผ่านการดึงสีสันและการจัดวางที่เผยให้เห็นถึงการสะท้อนปรัชญาอย่างลึกซึ้ง การออกแบบมีความเรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยความตึงเครียดทางสายตา ชักชวนและนำทางผู้ชมให้เข้าสู่บริบททางศิลปะอันสมบูรณ์และหลากหลาย
ส่วนสาขา Spatial Design ซึ่งเป็นสาขาที่ไทยมีความแข็งแกร่งมากที่สุด มีผลงานไทยได้รางวัล Best Design Award 3 ผลงาน จากจำนวนผู้ได้รับรางวัลในสาขานี้ ทั้งสิ้น 10 ผลงาน ได้แก่ N.L.N. Villa ของ 1922 Architects โดยคณะกรรมการเห็นว่า การออกแบบสามารถผสมผสานไม้ที่นำกลับมาใช้ใหม่เข้ากับเทคนิคการก่อสร้างสมัยใหม่และงานฝีมือท้องถิ่น เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศและข้อจำกัดของวัสดุได้อย่างมีประสิทธิภาพ การออกแบบสะท้อนถึงแนวคิดที่ใส่ใจต่อการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งให้เกียรติและตีความความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในรูปแบบใหม่
Lanna Rice Research Center, Chiang Mai University ของ Hanabitate Architects ออกแบบโดยผสมผสานแสงธรรมชาติและการระบายอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำ “บล็อกข้าว” มาใช้เป็นผนังอาคารอย่างสร้างสรรค์ ช่วยเน้นความโดดเด่นของพันธุ์ข้าวท้องถิ่น ซึ่งทำหน้าที่ทั้งในเชิงการใช้งานและการศึกษา พร้อมส่งเสริมแนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การออกแบบยังรองรับการขยายตัวในอนาคตและมีต้นทุนในการบำรุงรักษาที่ต่ำ สะท้อนถึงความยืดหยุ่นในการใช้งานจริง ผลงานนี้ยังสามารถผสมผสานระหว่างประเพณีและความทันสมัยได้อย่างลงตัว พร้อมสร้างสมดุลอันกลมกลืนระหว่างการใช้งานกับความยั่งยืน
Harudot Chonburi by Nana Coffee Roasters ของ IDIN Architects ซึ่งใช้การออกแบบที่มีเอกลักษณ์ มาสร้างความกลมกลืนระหว่างธรรมชาติกับสถาปัตยกรรม สะท้อนให้เห็นการสื่อสารอันงดงามระหว่างผู้คนกับสิ่งแวดล้อม พร้อมถ่ายทอดจิตวิญญาณของแบรนด์ออกมาได้อย่างงดงาม ตั้งแต่การจัดวางพื้นที่ที่ชาญฉลาด ไปจนถึงการเชื่อมโยงพื้นที่ภายในและภายนอกอย่างแนบเนียน ทุกองค์ประกอบแสดงถึงความเชี่ยวชาญในการจัดการวัสดุ แสง เงา และบรรยากาศอย่างแม่นยำ
ที่มา: MOEA / Economic Daily News / TDRI (December 13-16, 2023)
ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.
งานออกแบบถือเป็นหนึ่งใน Soft Power ของไทยที่มีศักยภาพและได้รับการยอมรับในวงการออกแบบของไต้หวัน โดยผลงานของสถาปนิกไทยสามารถคว้ารางวัล Best Design Award จาก Golden Pin ในสาขา Spatial Design ต่อเนื่องถึง 5 ปีซ้อน (ปี 2563-2567) ถือเป็นโอกาสทางการค้าที่มีศักยภาพสำหรับบริการด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมของไทยในตลาดไต้หวัน