ตลาดอาหารสัตว์ของจีนเป็นหนึ่งในตลาดที่มีขนาดใหญ่และน่าจับตามอง ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมปศุสัตว์และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ประเทศจีนได้พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารสัตว์อย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านโครงสร้างการผลิต นวัตกรรม และความยั่งยืน ซึ่งสร้างทั้งโอกาสและความท้าทายให้กับผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศที่ต้องการเจาะตลาดจีน

 

 1. ห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์

สถานการณ์อาหารสัตว์ในตลาดจีน

 

1.1 อุตสาหกรรมต้นน้ำ :  ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากจีนได้เร่งส่งเสริมการลดและทดแทนข้าวโพดและกากถั่วเหลืองอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการจัดตั้งคลังวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ของจีนเพิ่มมากขึ้น และห่วงโซ่อุปทานวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารสัต์ของจีนมีความมั่นคงมากขึ้น จึงคาดว่า         ในอนาคต ปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศอาจมีแนวโน้มลดลง หากพิจารณาในด้านพื้นที่ พบว่า ผู้ผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ของจีนส่วนใหญ่จะกระจายอยู่ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน           มณฑลกวางตุ้ง มณฑลฝูเจี้ยน และกรุงปักกิ่ง เป็นหลัก

 

1.2 อุตสาหกรรมกลางน้ำ : ปัจจุบันความสามารถด้านนวัตกรรมในกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ของบริษัทจีนแข็งแกร่งมากขึ้น และบริษัทผลิตอาหารสัตว์ของจีนส่วนใหญ่กระจายอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง และ  มณฑลเสฉวนเป็นหลัก โดยมณฑลกวางตุ้งมีจำนวนบริษัทผลิตอาหารสัตว์ที่ได้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพท์มากที่สุด เช่น บริษัท Haida Group และบริษัท Guangdong Feed เป็นต้น

 

1.3 อุตสาหกรรมปลายน้ำ : คือ เกษตรกรและบริษัทเพาะพันธุ์ ขอบเขตการเพาะพันธุ์ครอบคลุม  การเลี้ยงสัตว์ปีก ปศุสัตว์ สัตว์น้ำ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพท์ที่กระจุกตัวอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง มณฑลเจียงซู และมณฑลเหอหนาน

 

  1. ประเภทอาหารสัตว์

สถานการณ์อาหารสัตว์ในตลาดจีน

 

หากพิจารณาในด้านส่วนประกอบอาหารสัตว์ โดยอาหารสัตว์ในจีนสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สารผสมล่วงหน้า (Premixed feed) อาหารสัตว์เข้มข้น (Concentrated feed) และ                      อาหารผสมสำเร็จรูป (Compound feed) หากพิจารณาตามประเภทสัตว์ สามารถแบ่งออกเป็นอาหารสุกร อาหารสัตว์ปีก อาหารสัตว์น้ำ อาหารสัตว์เคี้ยวเอื้อง เป็นต้น

 

2.1 ในปี 2565 ปริมาณการผลิตอาหารผสมสำเร็จรูปของจีนสูงถึง 280.212 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 93 ของปริมาณการผลิตอาหารสัตว์ทั้งหมด ส่วนปริมาณการผลิต สารผสมล่วงหน้าและอาหารสัตว์เข้มข้นโดยเฉลี่ยคิดเป็นสัดส่วนต่ำกว่าร้อยละ 5

2.2 เนื่องจากการเลี้ยงหมูและสัตว์ปีกในประเทศจีนมีขนาดใหญ่และมีความต้องการอาหารสัตว์      มากขึ้น จึงส่งผลให้ปริมาณการผลิตอาหารสุกรและอาหารสัตว์ปีกคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 80 ในปี 2565  นอกจากนี้ บริษัทผลิตอาหารสัตว์ที่ได้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่จะเน้นผลิตอาหารสุกรเป็นหลัก       รวมถึงบริษัท New Hope Group และบริษัท Haida Group

3.การพัฒนาธุรกิจของบริษัทยักษณ์ใหญ่ในจีน

ในปี 2565 บริษัทอาหารสัตว์ที่ได้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพท์และมีรายได้เฉลี่ยมากว่า 30,000 ล้านหยวน เช่น บริษัท Haida Group บริษัท New Hope Group และบริษัท Tongwei Co., Ltd. เป็นต้น                   หากพิจารณาในด้านการผลิตและการจำหน่าย พบว่า บริษัท Haida Group และบริษัท New Hope Group นับเป็นบริษัทยักษณ์ใหญ่ที่มีปริมาณการผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์มากกว่า 20 ล้านตัน และส่วนใหญ่เน้นจำหน่ายในจีนเป็นหลัก

4.สถานการณ์การนำเข้าส่งออกอาหารสัตว์ของจีนในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2567

 

ข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรจีนเปิดเผยว่า ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2567 ปริมาณ         การนำเข้าอาหารสัตว์ของจีนรวม 1,0615,300 ตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.16 มูลค่าการนำเข้าอาหารสัตว์ของจีนรวม 6,324 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.97 โดยแหล่งนำเข้า 10 อันดับแรกของจีน ได้แก่ เปรู สหรัฐอเมริกา แคนาดา ยูเครน รัสเซีย เวียดนาม ชิลี คาซัคสถาน ไทย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตามลำดับ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 79.83 ของมูลค่าการนำเข้าอาหารสัตว์ของจีนทั้งหมด โดยจีนนำเข้า     อาหารสัตว์จากไทยมีมูลค่า 191 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.02 ของปริมาณการนำเข้าอาหารสัตว์ของจีนทั้งหมด

 

สถานการณ์อาหารสัตว์ในตลาดจีน

 

หากพิจารณาในด้านการส่งออกพบว่า ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2567 ปริมาณการส่งออกอาหารสัตว์ของจีนรวม 4,499,600 ตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.29 มูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์ของจีนรวม 3,330 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.57 โดยแหล่งส่งออก 10 อันดับแรกของจีน     ได้แก่ ญี่ปุ่น เวียดนาม เกาหลี สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน อินโดนีเซีย อังกฤษ ฟิลิปปินส์ และไทย ตามลำดับ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 72.74 ของมูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์ของจีนทั้งหมด โดยจีนส่งออก  อาหารสัตว์ไปยังไทยมีมูลค่า 76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.27 ของปริมาณการส่งออก    อาหารสัตว์ของจีนทั้งหมด

 

สถานการณ์อาหารสัตว์ในตลาดจีน

 

5.แนวโน้มการพัฒนาของตลาดอาหารสัตว์ของจีน

 

5.1 การรวมอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของจีนกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ     ภายใต้นโยบายรัฐบาล กระบวนการรวมอุตสาหกรรมได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยมีเป้าหมายสร้าง          กลุ่มวิสาหกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ การควบรวมกิจการเป็นกลยุทธ์หลัก บริษัทต่าง ๆ จะถูกรวมเข้าด้วยกันเพื่อสร้างองค์กรขนาดใหญ่ที่มีอำนาจการต่อรองสูง กระบวนการนี้ช่วยลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานและเอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทรัพยากร ความร่วมมือแบบ Win-Win จะเป็นกลไกสำคัญ  บริษัทจะสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ แบ่งปันความเชี่ยวชาญ และพัฒนาศักยภาพร่วมกัน เพื่อจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม

 

5.2 การพัฒนาสีเขียวและข้อกําหนดด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริบทของประเทศที่ส่งเสริม   การพัฒนาสีเขียวและนโยบายการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง บริษัทอาหารสัตว์ของจีนจะเพิ่มการลงทุนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมเทคโนโลยีการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและรูปแบบการผลิตสีเขียว           รวมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนกับองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อร่วมกันส่งเสริม การพัฒนาอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ทั่วโลก

 

5.3 ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการบริโภคและการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้น      บริษัทอาหารสัตว์ของจีนจำเป็นต้องปรับใช้กลยุทธ์การกระจายความหลากหลายและความแตกต่าง           อย่างเป็นระบบสำหรับตลาดระดับไฮเอนด์ บริษัทมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เฉพาะทาง อาทิ                อาหารสัตว์อินทรีย์ ผลิตภัณฑ์สีเขียว และอาหารที่ปราศจากสารต้านจุลชีพ เพื่อขยายฐานผู้บริโภคใหม่และตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย ในส่วนของตลาดอาหารสัตว์เฉพาะกลุ่ม บริษัทเพิ่มความพยายาม     ด้านการวิจัยและพัฒนา โดยมุ่งสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นมืออาชีพ ออกแบบเฉพาะตามความต้องการ      ของลูกค้าแต่ละกลุ่ม กลยุทธ์นี้ช่วยสร้างความแตกต่างและความได้เปรียบในการแข่งขัน การกระจาย        ความหลากหลายจึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการปรับตัวและเติบโตท่ามกลางสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

 

 

ข้อเสนอแนะ สคต. ณ นครเฉิงตู

 

หากพิจารณาในด้านวัตถุดิบ พบว่า ไทยเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบอารหารสัตว์ที่มีชื่อเสียงในโลก เช่น    มันสำปะหลัง ข้าวหัก ปลาป่น เป็นต้น และผู้ประกอบการจีนได้นำเข้าสินค้าดังกล่าวจากไทยมาโดยตลอด รวมทั้งอาหารสัตว์ด้วย ทำให้ผู้ประกอบการวัตถุดิบและอาหารสัตว์ของไทยยังคงมีโอกาสในการขยายตลาดอาหารสัตว์ในจีน แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหารสัตว์ โดยเฉพาะการเพิ่มโปรตีน วิตามิน และสารเสริมที่มีคุณภาพสูง เพื่อตอบสนองความต้องการ     ของตลาดที่มุ่งเน้นคุณภาพและความปลอดภัย ในขณะดียวกัน ยังควรพัฒนาอาหารสัตว์ที่ตอบโจทย์         ตลาดระดับพรีเมียมที่มีความต้องการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น อาหารสัตว์อินทรีย์ อาหารสัตว์ปลอดสารต้าน  จุลชีพ และอาหารสัตว์เฉพาะทาง รวมถึงการสร้างเครือข่ายการกระจายสินค้าที่ครอบคลุมและการพัฒนาช่องทางการตลาดสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันกับผู้ผลิตรายใหญ่ในตลาดจีน อีกทั้ง การสร้างพันธมิตรและความร่วมมือระหว่างประเทศจะเป็นกุญแจสำคัญในการขยายโอกาสทางธุรกิจ ผู้ประกอบการไทยจึงควรแสวงหาโอกาสในการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี พัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัย และสร้างเครือข่ายทางธุรกิจที่ครอบคลุมในภูมิภาค เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ระดับสากล

 

 

————————————————–

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู

ธันวาคม 2567

แหล่งข้อมูล :

แหล่งข้อมูล: https://mp.weixin.qq.com/s/i_C5N4H2keTcbbePzoou_Q

https://mp.weixin.qq.com/s/Z9qMjvnQ7Kw42v-YUCEkyA

https://news.sina.com.cn/c/2023-03-10/doc-imykkcxx3003051.shtml

thThai