- สมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา พร้อมคณะ ได้เดินทางเยือน 4 ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและยุโรป ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ ตุรกี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 8-14 ธันวาคม 2567 โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างและขยายความร่วมมือระหว่างสภานิติบัญญัติของกัมพูชาและประเทศในภูมิภาคดังกล่าว
- ในการเยือนครั้งนี้ สมเด็จฯ ได้เข้าพบและหารือกับ นาย Abdullah Mohammed Ibrahim Al-Sheikh ประธานรัฐสภาซาอุดีอาระเบีย ณ อาคารรัฐสภาแห่งชาติ กรุงริยาด โดยกัมพูชาได้นำเสนอแนวทางความร่วมมือด้านการลงทุน โดยเชิญชวนนักลงทุนจากซาอุดีอาระเบียให้เข้ามาลงทุนในกัมพูชา โดยเฉพาะในภาคโรงสีข้าว โกดังสินค้า ระบบบรรจุภัณฑ์ และการส่งออกข้าวไปยังซาอุดีอาระเบีย รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เนื่องจากซาอุดีอาระเบียมีความมั่นคงด้านพลังงาน ขณะที่กัมพูชามีศักยภาพด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะการผลิตข้าว และระบบชลประทานที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง
- นาย Abdullah Mohammed Ibrahim Al-Sheikh กล่าวว่า จะนำข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณา พร้อมเปิดเผยถึงแผนการจัดตั้งสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียในกัมพูชาในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งเสริมความร่วมมือและกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสองประเทศ
- ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-พฤศจิกายน) กัมพูชาส่งออกข้าวไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางแล้ว มากกว่า 7,500 ตัน โดย ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้นำเข้าหลัก คิดเป็นประมาณ 7,200 ตัน
ข้อมูลที่น่าสนใจจากสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF)
- ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-พฤศจิกายน) กัมพูชาส่งออกข้าวไปยังตลาดต่างประเทศรวม 575,562 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 413 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะเดียวกัน การส่งออกข้าวเปลือกอยู่ที่ 4,642,511 ตัน สร้างรายได้ประมาณ 1,378.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- จุดหมายปลายทางหลักของการส่งออกข้าว ได้แก่ ประเทศในยุโรป 283,981 ตัน จีน (รวมฮ่องกงและมาเก๊า) 109,448 ตัน ประเทศในกลุ่มอาเซียน (รวมติมอร์ตะวันออก) 113,792 ตัน ส่วนตลาดอื่น ๆ ประกอบด้วย แอฟริกา ตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมกัน 68,341 ตัน
ความเห็นของสำนักงานฯ
- ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่มีความต้องการข้าวสูง เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและความจำเป็นในการนำเข้าอาหารเพื่อรองรับการบริโภค และความมั่นคงทางอาหาร การหารือครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับกัมพูชาในการเปิดตลาดใหม่ และเพิ่มศักยภาพการส่งออกข้าวคุณภาพสูง เช่น ข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นที่นิยมในตลาดสากล
- การนำเข้าข้าวจากกัมพูชา ช่วยกระจายความเสี่ยงของซาอุดีอาระเบียจากการพึ่งพาประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น อินเดียหรือไทย อีกทั้งยังส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารในระยะยาว โดยคาดว่าการส่งออกข้าวของกัมพูชาสู่ตลาดตะวันออกกลางจะเพิ่มขึ้น ผ่านข้อตกลง CAM-UAE CEPA
- ในอนาคต คาดว่าแนวโน้มการส่งออกข้าว จะเพิ่มขึ้นในทุกประเทศผู้ผลิต รวมถึงกัมพูชา เพื่อตอบสนองอุปสงค์ข้าวที่สูงขึ้นทั่วโลก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน ควรให้ความสำคัญกับการผลิตและแปรรูปข้าวโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อยกระดับคุณภาพของสินค้า เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และรักษาความยั่งยืนของการส่งออกข้าวไทยในตลาดโลก
———————————-
ที่มา: Phnom Penh Post
ธันวาคม 2567