รายงานแนวโน้มตลาดสินค้าอัญมณี และเครื่องประดับในเดนมาร์ก

1. ข้อมูลตลาด
ข้อมูลจาก Statista ระบุว่า ในปี 2567 ตลาดอัญมณี และเครื่องประดับในเดนมาร์กจะมีมูลค่าประมาณ 319 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในช่วงระหว่างปี 2567 – 2572 จะเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 1.82 ต่อปี ทั้งนี้ ในปี 2567 ตลาดเครื่องประดับของเดนมาร์กกำลังเฟื่องฟู คาดว่ายอดขายกว่าร้อยละ 68 จะมาจากสินค้าอัญมณี และเครื่องประดับที่ราคาไม่แพง โดยเน้นที่การออกแบบที่เรียบง่าย ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์อันยาวนาน และความงามตามธรรมชาติของประเทศ
แบรนด์ระดับบน (High-End Luxury Brands) ที่ได้รับความนิยมในเดนมาร์ก เช่น Ole Lynggaard Copenhagen และ Georg Jensen แบรนด์ระดับกลาง (Mid-Level Brands) เช่น Lié Studio, Maria Black Jewelry และ Trine Tuxen และแบรนด์ระดับราคาย่อมเยา (Economy Brands) ที่ได้รับความนิยมในเดนมาร์ก เช่น Pandora, LULU Copenhagen และ ENAMEL Copenhagen
2. การค้าระหว่างประเทศ
2.1 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม – กันยายน) การค้าระหว่างประเทศกลุ่มสินค้าอัญมณี และเครื่องประดับของเดนมาร์ก (รหัสศุลกากร 71) มีมูลค่า 357 ล้านเหรียญสหรัฐ (-ร้อยละ 3) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ประกอบด้วย การส่งออก มูลค่า 168 ล้านเหรียญสหรัฐ (+ร้อยละ 1.5) และการนำเข้า มูลค่า 189 ล้านเหรียญสหรัฐ (-ร้อยละ 8) โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 1 (มูลค่า 33 ล้านเหรียญสหรัฐ (-ร้อยละ 12) ตามด้วยจีน มูลค่า 26 ล้านเหรียญสหรัฐ (+ร้อยละ 33) และเยอรมนี มูลค่า 19 ล้านเหรียญสหรัฐ (-ร้อยละ 20)
2.2 การนำเข้า
2.2.1 สินค้าที่นำเข้าจากไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณและส่วนประกอบของของดังกล่าว ทำด้วยโลหะมีค่า หรือทำด้วยโลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า (รหัสศุลกากร 7113) มูลค่า 32 ล้านเหรียญสหรัฐ (-ร้อยละ 10) (2) เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณที่เป็นของเทียม (รหัสศุลกากร 7117) มูลค่า 0.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (-ร้อยละ 45) และ (3) รัตนชาติ (นอกจากเพชร) และกึ่งรัตนชาติ จะตกแต่งหรือคัดแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่ไม่ได้ร้อยเข้าด้วยกันหรือประกอบกับตัวเรือน รวมทั้งรัตนชาติ (นอกจากเพชร) และกึ่งรัตนชาติที่ไม่ได้คัด ซึ่งร้อยเข้าด้วยกันชั่วคราวเพื่อสะดวกแก่การขนส่ง (รหัสศุลกากร 7103) มูลค่า 0.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (-ร้อยละ 20)

2.2.2 สินค้าอัญมณี และเครื่องประดับที่เดนมาร์กนำเข้าสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่
(1) เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณและส่วนประกอบของของดังกล่าว ทำด้วยโลหะมีค่า หรือทำด้วยโลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า (รหัสศุลกากร 7113) มีมูลค่า 118 ล้านเหรียญสหรัฐ (-ร้อยละ 5) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมด โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 1 มีมูลค่า 32 ล้านเหรียญสหรัฐ (-ร้อยละ 10)
(2) เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณที่เป็นของเทียม (รหัสศุลกากร 7117) มีมูลค่า 29 ล้านเหรียญสหรัฐ (+ร้อยละ 10) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14 ของการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมด โดยแหล่งนำเข้าอันดับที่ 1 คือ จีน มูลค่า 16 ล้านเหรียญสหรัฐ (+ร้อยละ 31) และไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 9 มูลค่า 0.43 ล้านเหรียญสหรัฐ (-ร้อยละ 45) ทั้งนี้ จีนครองตลาดอันดับที่ 1 ในสินค้าเครื่องประดับเทียมในตลาดเดนมาร์กมามากกว่า 10 ปี เนื่องจากศักยภาพการผลิตเครื่องประดับเทียมที่สามารถผลิตได้จำนวนมหาศาล ต้นทุนที่ต่ำ มีการออกแบบที่หลากหลาย และการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ (จีนมีเครือข่ายโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่ง เช่น ท่าเรือขนาดใหญ่ (Shanghai, Shenzhen และ Ningbo) ซึ่งทำให้จีนสามารถตอบสนองความต้องการตลาดโลกได้ดีกว่าประเทศอื่น
(3) ทองคำ (รวมถึงทองคำชุบด้วยแพลทินัม) ยังไม่ได้ขึ้นรูป หรืออยู่ในลักษณะกึ่งสำเร็จรูป หรือเป็นผง (รหัสศุลกากร 7108) มีมูลค่า 17 ล้านเหรียญสหรัฐ (-ร้อยละ 19) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8 ของการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมด โดยแหล่งนำเข้าอันดับที่ 1 คือ สวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า 8 ล้านเหรียญสหรัฐ (+ร้อยละ 10) ในขณะที่ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 16 มูลค่า 7,352 เหรียญสหรัฐ (-ร้อยละ 46)
2.2.3 สินค้าที่ขยายตัวสูง และหดตัวมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่
(1) สินค้าที่ขยายตัวสูง 3 อันดับแรก ได้แก่
• การนำเข้าเครื่องประดับเงิน (รหัสศุลกากร 7106) ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 19 มีมูลค่า 7 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำเข้าจากเยอรมนี 2 ล้านเหรียญสหรัฐ (-ร้อยละ 2) อิตาลี 1 ล้านเหรียญสหรัฐ (+ร้อยละ 52) และนอร์เวย์ 0.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (+ร้อยละ 40) เป็นสำคัญ และนำเข้าจากไทยมูลค่า 178 เหรียญสหรัฐ (-ร้อยละ 70)
o ทั้งนี้ อิตาลีเป็นผู้นำด้านการออกแบบเครื่องประดับเงิน โดยมีชื่อเสียงระดับโลกในเรื่องของดีไซน์แฟชั่นที่ทันสมัยและมีเอกลักษณ์ ในขณะที่เดนมาร์กมีความต้องการเครื่องประดับเงินที่ผสมผสานงานฝีมือหรูหราเข้ากับแฟชั่นสมัยใหม่ ซึ่งตรงกับจุดเด่นของอิตาลี ผู้บริโภคเดนมาร์กนิยมสินค้าที่มีดีไซน์สวยงาม และเข้ากันได้กับเทรนด์แฟชั่น ซึ่งทำให้อิตาลีได้รับประโยชน์จากจุดนี้
o ในขณะที่นอร์เวย์เป็นประเทศเพื่อนบ้านของเดนมาร์ก มีความได้เปรียบด้าน ต้นทุนโลจิสติกส์ และความสะดวกในการขนส่ง การนำเข้าจากนอร์เวย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 (0.8 ล้านเหรียญสหรัฐ) อาจเป็นเพราะเหตุผลอันเนื่องมาจากการเติบโตของตลาดเครื่องเงินสไตล์มินิมอล ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวเดนมาร์ก โดยเครื่องประดับเงินจากนอร์เวย์เน้นความเรียบง่าย ทนทาน และเข้ากันได้กับสไตล์สแกนดิเนเวียน (Scandinavian Design) ที่ได้รับความนิยมในเดนมาร์ก
• ของอื่น ๆ ทำด้วยโลหะมีค่าหรือทำด้วยโลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า (รหัสศุลกากร 7115) มูลค่า 3 ล้านเหรียญสหรัฐ (+ร้อยละ 18) โดยนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา (ลดลงร้อยละ 23) สวีเดน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9,092) และเยอรมนี (เพิ่มขึ้นร้อยละ 192) เป็นสำคัญ ทั้งนี้ นำเข้าจากไทยมูลค่า 0.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (-ร้อยละ 64)
• ของทำด้วยไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง ทำด้วยรัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ (ธรรมชาติ สังเคราะห์หรือทำขึ้นใหม่) (รหัสศุลกากร 7116) มูลค่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐ (+ร้อยละ 21) โดยนำเข้าจากไทยมูลค่า 19,077 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 60
(2) สินค้าที่หดตัวมาก 3 อันดับแรก ได้แก่
• ทองคำ (รวมถึงทองคำชุบด้วยแพลทินัม) ยังไม่ได้ขึ้นรูป หรืออยู่ในลักษณะกึ่งสาเร็จรูป หรือเป็นผง (รหัสศุลกากร 7108) (-ร้อยละ 19) มูลค่า 18 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำเข้าจากไทยมูลค่า 13,269 เหรียญสหรัฐ (-ร้อยละ 4) (เดนมาร์กนำเข้าจากสวิตเซอร์แลนด์ 8 ล้านเหรียญสหรัฐ (+ร้อยละ 10) เยอรมนี 5 ล้านเหรียญสหรัฐ (-ร้อยละ 45) และ สหราชอาณาจักร 1 ล้านเหรียญสหรัฐ (-ร้อยละ 34) เป็นสำคัญ
• เพชรจะตกแต่งหรือไม่ก็ตาม แต่ไม่ได้ประกอบกับตัวเรือน (รหัสศุลกากร 7102) (-ร้อยละ 13) มูลค่า 8 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำเข้าจากไทยมูลค่า 86,703 เหรียญสหรัฐ (-ร้อยละ 47) (เดนมาร์กนำเข้าจากเบลเยียม 4 ล้านเหรียญสหรัฐ (-ร้อยละ 29) อินเดีย 1 ล้านเหรียญสหรัฐ (-ร้อยละ 10) และเยอรมนี 0.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (+ร้อยละ 62) เป็นสำคัญ) ทั้งนี้ เบลเยียมเป็นศูนย์กลางการซื้อขายเพชรที่สำคัญของยุโรป และโลก โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมือง Antwerp
• เครื่องทองหรือเครื่องเงินและส่วนประกอบของของดังกล่าว ทำด้วยโลหะมีค่าหรือทำด้วยโลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า (รหัสศุลกากร 7114) (-ร้อยละ 47) มูลค่า 4 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำเข้าจากไทยมูลค่า 0.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (-ร้อยละ 45) (เดนมาร์กนำเข้าจากตุรกี 1.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (-ร้อยละ 42) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (-ร้อยละ 76) และนอร์เวย์ 0.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (+ร้อยละ 357) เป็นสำคัญ)
3. พฤติกรรมผู้บริโภค
3.1 พฤติกรรมการบริโภคโดยทั่วไป
3.1.1 ผู้บริโภคเดนมาร์กเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่เอาใจยากที่สุดกลุ่มหนึ่งในยุโรป (the most demanding consumers in Europe)
3.1.2 เดนมาร์กเป็นสังคมผู้บริโภค (consumer society) เป็นตลาดที่มีอำนาจซื้อสูง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
3.1.3 ผู้บริโภคนิยมหาข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์ และผลิตภัณฑ์ก่อนตัดสินใจเดินทางไปซื้อที่ร้านค้า เนื่องจากเทคโนโลยีส่งผลให้สามารถเข้าถึงข้อมูลอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม เพื่อดึงดูดผู้บริโภค การสร้างประสบการณ์การช็อปปิ้งสินค้าในร้าน หรือห้างสรรพสินค้าเป็นสิ่งจำเป็น
3.2 รูปแบบที่ได้รับความนิยม
3.2.1 เครื่องประดับเงิน และทอง (Gold plated) ได้รับความนิยมในเดนมาร์ก อย่างไรก็ดี รูปแบบการออกแบบสินค้ามีลักษณะที่แตกต่างจากที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย โดยเครื่องประดับทองที่ได้รับความนิยมในเดนมาร์กจะมีลักษณะสีทอง และมีความด้าน ไม่มันวาว นอกจากนี้ ลักษณะการออกแบบที่ได้รับความนิยมในตลาดจะมีความเรียบง่าย (Clean & Clear)

3.3 การเน้นที่ดีไซน์และนวัตกรรม
3.3.1 ผู้บริโภคชาวเดนมาร์กชื่นชอบสินค้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์ และสื่อถึงรสนิยมส่วนตัว ดังนั้นผู้ผลิตอัญมณีเทียมมักให้ความสำคัญกับการออกแบบที่สวยงามและแตกต่าง
3.3.2 แบรนด์ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น การพิมพ์ 3 มิติ ในการผลิตสินค้าอัญมณีเทียม ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
3.4 ความยั่งยืนและจริยธรรม
3.4.1 ผู้บริโภคในเดนมาร์กให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และกระบวนการผลิตที่เป็นธรรม ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักพยายามลดปริมาณการใช้ขยะ
3.4.2 อัญมณีเทียมที่ใช้วัสดุรีไซเคิล และ/หรือเป็นมิตรกับธรรมชาติได้รับความนิยม
3.4.3 แบรนด์ที่แสดงความโปร่งใสในแหล่งที่มาของวัสดุ และขั้นตอนการผลิตมักได้รับความไว้วางใจจากตลาด
3.4.4 ตลาดสินค้ามือสองได้รับความนิยม และมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น โดยสินค้าแฟชั่น อัญมณี และเครื่องประดับยังเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยมในตลาด
3.5 ตลาดซื้อขายออนไลน์
3.5.1 ช่องทางออนไลน์เป็นพื้นที่สำคัญในการแข่งขัน โดยร้านค้าส่วนใหญ่มีช่องทางการขายสินค้าออนไลน์บนหน้าเวปไซต์ของบริษัท ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Statista ระบุว่า ในปี 2567 สัดส่วนตลาดซื้อขายออนไลน์สินค้าอัญมณี และเครื่องประดับของเดนมาร์กจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 23.2 ของตลาดทั้งหมด และมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 23.2 ในปี 2568
3.5.2 ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้บริโภคซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเหตุผลหลักคือเพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าคิว การจราจรติดขัด ตลอดจนปัญหาสินค้าหมดสต็อกโดยมิได้คาดการณ์ โดยปัจจุบันมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 5.77 ล้านคน (Data Reportal, 2022)
3.6 ความต้องการสินค้าราคาย่อมเยา
3.6.1 โดยทั่วไปแล้ว ผู้บริโภคเดนมาร์กให้ความสำคัญกับคุณภาพ และนวัตกรรม (quality and innovative products) และถึงแม้ว่าผู้บริโภคเดนมาร์กจะเน้นคุณภาพ แต่ยังต้องการสินค้าราคาปานกลางที่เข้าถึงง่าย
4. ช่องทางการเข้าตลาด
การจำหน่ายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสู่ตลาดเดนมาร์กมักจะดำเนินการผ่านบริษัทผู้นำเข้า ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ค้าส่ง และค้าปลีกในคราวเดียวกัน ซึ่งจะจำหน่ายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคในช่องทางต่างๆ เช่น การจำหน่ายที่หน้าร้านปลีก จำหน่ายผ่านช่องทางเวปไซต์ออนไลน์ หรือจำหน่ายส่งไปยังร้านค้าปลีกอื่นๆ ทั้งนี้ บริษัทผู้นำเข้าเดนมาร์กและกลุ่มประเทศนอร์ดิกมักเดินทางเข้าเยี่ยมชมงานแสดงสินค้า Bangkok Gems & Jewelry Fair เพื่อสั่งสินค้าเป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง โดยมีทีมนักออกแบบเดินทางเข้าร่วมชมงานด้วยเพื่อเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการ การนำสินค้ามาจัดแสดง ในงานนี้จึงถือเป็นช่องทางหนึ่งที่ผู้ซื้อสามารถเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการได้โดยตรง
5. กฎระเบียบ
5.1 กฎระเบียบที่เป็นข้อบังคับทางกฎหมาย
5.1.1 กฎระเบียบด้านความปลอดภัยทั่วไปของสินค้า (General product safety) ข้อกำหนดด้านความปลอดภัยทั่วไปของผลิตภัณฑ์มีผลบังคับใช้กับสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมด โดยที่ไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดแจ้งในกฎหมายอื่นๆ ทั้งนี้ อัญมณีและเครื่องประดับไม่ควรมีขอบคม ผลิตภัณฑ์ไม่ควรแตกหักง่ายหรือก่อให้เกิดความเสี่ยงใดๆ ในการใช้งานตามปกติ
5.1.2 กฎระเบียบ CITES หากเครื่องประดับและอัญมณีมีชิ้นส่วนที่มาจากพืช และสัตว์ป่า (เช่น เปลือกหอย หนัง ปะการัง หรือไม้ที่ใช้ในเครื่องประดับ) จะต้องไม่มาจากสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ และต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของ Convention on International Trade in Endangered Species (CITES)
5.2 กฎระเบียบที่ไม่ได้บังคับทางกฎหมาย การจัดหาตราสัญลักษณ์การผลิตด้านความยั่งยืนอาจเป็นสิ่งยืนยันการผลิตเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้เป็นข้อกำหนดบังคับทางกฎหมาย แต่อาจทำให้สินค้าเป็นที่โดดเด่นกว่าคู่แข่งอื่นๆ ได้ ตราสัญลักษณ์การผลิตเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ใช้ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เช่น ISO 9000 Series, Fairtrade Gold, Fairtrade Silver, Fairmined, Responsible Jewellery Council, Business Social Compliance Initiative (BSCI), Single Mine Origin และ Ethical Trading Initiative (ETI)
6. โอกาส/อุปสรรคของสินค้าไทย
6.1 โอกาสของสินค้าไทย
6.1.1 การพัฒนาสินค้าที่ผสมผสานระหว่างความทันสมัย การรักษาสิ่งแวดล้อม การใช้วัสดุรีไซเคิลและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอาจสามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าตลาดเดนมาร์กได้มากขึ้น
6.1.2 การพัฒนาสินค้าที่มีดีไซน์เข้ากับรสนิยมสแกนดิเนเวียน เช่น รูปทรงมินิมอล และโทนสีตามฤดูกาล/แฟชั่นในปีนั้นๆ
6.2 อุปสรรคของสินค้าไทย
6.2.1 ความนิยมสินค้าแบรนด์ และสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นที่ได้รับความนิยม และสนับสนุนจากตลาด
6.2.2 รสนิยมของผู้บริโภคในเดนมาร์กนิยมดีไซน์มินิมอล และเรียบง่าย สินค้าที่มีการออกแบบโดดเด่นเกินไป รายละเอียด และลูกเล่นเยอะอาจไม่เหมาะกับตลาด
6.2.3 แม้ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับคุณภาพแต่ราคายังคงเป็นปัจจัยสำคัญ
7. คำแนะนำการเข้าสู่ตลาด
• ตลาดเดนมาร์ก และกลุ่มประเทศนอร์ดิกเป็นตลาดที่ผู้บริโภคนิยมสินค้าเครื่องประดับที่มีความเรียบง่าย การออกแบบเพื่อให้ตรงกับความต้องการจึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการเข้าถึงผู้นำเข้าในตลาดนี้
• ถึงแม้ว่าตัวผลิตภัณฑ์เครื่องประดับ และอัญมณีจะไม่มีพื้นที่ให้ประชาสัมพันธ์ฉลากสินค้าที่บ่งบอกถึงการลดผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมดังเช่นผลิตภัณฑ์อื่นๆ (เช่น อาหาร เสื้อผ้า และรองเท้า) แต่ดังเช่นผู้นำเข้าสินค้าอื่นๆ ในตลาด ผู้นำเข้าเครื่องประดับ และอัญมณีตระหนักถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมมากเช่นกัน การปรับตัวเพิ่มกลยุทธ์ลดปัญหาสังคม และสิ่งแวดล้อมจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญเพื่อเข้าตลาดเดนมาร์ก และกลุ่มประเทศนอร์ดิก
• เนื่องจากผู้นำเข้าเดนมาร์กต้องการความโปร่งใสในกระบวนการผลิต และแหล่งที่มาของวัสดุ การระบุแหล่งที่มาของวัสดุจึงมีส่วนสำคัญในการเข้าตลาด หากไม่สามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจนอาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ
8. งานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้อง หรือกิจกรรมที่แนะนำให้เข้าร่วม
• ผู้นำเข้า และคณะผู้แทนการค้าเดนมาร์ก และกลุ่มประเทศนอร์ดิกมักเดินทางเข้าร่วมชมงานแสดงสินค้า Bangkok Gems and Jewelry เป็นประจำในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และกันยายนของทุกปี การเข้าร่วมแสดงสินค้าภายในงานนี้จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะได้พบปะเจรจาการค้ากับคณะผู้แทนการค้าเดนมาร์ก และกลุ่มประเทศนอร์ดิก
• นอกจากนี้ ยังมีงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องในเดนมาร์ก แต่ผู้จัดงานมักพิจารณาอนุญาตให้บริษัทที่มี แบรนด์สินค้าเข้าร่วมแสดงสินค้าเท่านั้น เช่น Copenhagen International Fashion Fair (CIFF), Copenhgen Fashion Week และ 3daysofdesign
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน | ธันวาคม 2567

thThai