รายงานสถานการณ์ตลาดไอศกรีมในฮ่องกง

1. ภาพรวมตลาด  

 

ตลาดไอศกรีมฮ่องกงในปี 2024 มีมูลค่า 184 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องระหว่างปี 2025 – 2029 จากความนิยมในการบริโภคไอศกรีมคุณภาพสูง (Premium Ice-cream) ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติและโรงงานที่ได้รับมาตรฐานสากล ปัจจุบันตลาดไอศกรีมมีการแข่งขันสูง จากการนำเข้าไอศกรีมต่างประเทศ ส่งผลให้แบรนด์ท้องถิ่นต้องปรับตัว ช่องทางจำหน่ายยังคงเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ โดยร้านสะดวกซื้อมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นยอดขายผ่านโปรโมชั่นและความสะดวกในการซื้อ นอกจากนี้ไอศกรีมเพื่อสุขภาพกำลังได้รับความนิยม เช่น ไอศกรีมไร้น้ำตาล ไขมันต่ำ และนมจากพืช โดยภาพรวม ตลาดไอศกรีมในฮ่องกงยังคงเติบโต ในขณะเดียวกันพฤติกรรมของผู้บริโภคมีความแตกต่างกันตามช่วงวัย โดยผู้เล่นในตลาดไอศกรีมในฮ่องกง ได้แก่บริษัท Nestle, General Mills Inc, Unilever และ Meiji มีการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดอย่างต่อเนื่องดึงดูดผู้บริโภค

 

รายงานสถานการณ์ตลาดไอศกรีมในฮ่องกง

 

2. การนำเข้าไอศกรีมของฮ่องกง

 

การนำเข้าไอศกรีมจากต่างประเทศของฮ่องกงในปี 2024 (มกราคม – ตุลาคม) มีมูลค่ารวมประมาณ 50.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2023 ที่มีมูลค่ารวมทั้งปี 46.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 7.27 เป็นการนำเข้าจากประเทศฝรั่งเศสมากที่สุด 22.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 44.62) ตามมาด้วยญี่ปุ่น 9.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 18.08) สวิตเซอร์แลนด์ 5.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 10.73) จีน 4.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 9.37) ตามลำดับ

 

ในขณะที่ฮ่องกงนำเข้าไอศกรีมจากประเทศไทยมากเป็นลำดับที่ 6 มูลค่า 2.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2023 กว่าร้อยละ 54.30 และมีส่วนแบ่งทางการตลาดร้อยละ 4.40 แสดงให้เห็นถึงโอกาสทางการค้าของผู้ประกอบการไทย จากภาพรวมการเติบโตของตลาดไอศกรีมในภาพรวม และมูลค่าการส่งออกไอศกรีมจากประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ไอศกรีมของไทยที่จำหน่ายในฮ่องกงมีจุดเด่นในเรื่องรสชาติผลไม้ที่นิยม เช่น ทุเรียน มะม่วง มะพร้าว ในขณะที่ไอศกรีมรส “ชาไทย” และ “ขนมไทย” ก็เป็นไอศกรีมรสชาติแปลกใหม่ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถดึงดูดผู้บริโภค

 

 

รายงานสถานการณ์ตลาดไอศกรีมในฮ่องกง

 

รายงานสถานการณ์ตลาดไอศกรีมในฮ่องกง

อ้างอิงข้อมูล Global Trade Atlas

 

ตัวอย่างไอศกรีมไทยที่จำหน่ายในฮ่องกง

 

 

รายงานสถานการณ์ตลาดไอศกรีมในฮ่องกง

 

 

3. ช่องทางการจัดจำหน่ายไอศกรีมในฮ่องกง

 

ฮ่องกงเป็นตลาดที่การค้าปลีกมีการพัฒนาเต็มพื้นที่ โดยผู้บริโภคมีวิธีการเลือกซื้อสินค้าจากช่องทางการค้าที่หลากหลาย โดยไอศกรีมเป็นสินค้าเฉพาะที่ผู้บริโภคนิยมรับประทานทันทีหลังจากซื้อ ทำให้ช่องทางที่ผู้บริโภคในพื้นที่ซื้อไอศกรีมมากที่สุดได้แก่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้อยละ 50 ร้านสะดวกซื้อ ร้อยละ 37.2 และร้านค้าปลีกขนาดเล็กรวมร้อยละ 10.9 ในขณะที่การจำหน่ายไอศกรีมผ่านช่องทางออนไลน์คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.8 เท่านั้น

 

 

รายงานสถานการณ์ตลาดไอศกรีมในฮ่องกง

 

 

ภาพไอศกรีมที่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตฮ่องกง

 

 

รายงานสถานการณ์ตลาดไอศกรีมในฮ่องกง

 

 

3.1 ซูเปอร์มาร์เก็ต

 

ซูเปอร์มาร์เก็ตในฮ่องกงมีไอศกรีมหลากหลายยี่ห้อและรสชาติให้เลือกสรร โดยตัวเลือกยอดนิยมบางส่วนที่สามารถพบได้ Haagen-Dazs, Ben & Jerry’s Nestle และ Mövenpick จัดจำหน่ายในรูปแบบแพ็ค

 

ตารางแสดงตัวอย่างราคาไอศกรีมในซุปเปอร์มาร์เก็ต

 

อัตราแลกเปลี่ยน : 1 ดอลลาร์ฮ่องกง เท่ากับ 4.35 บาท

 

รายงานสถานการณ์ตลาดไอศกรีมในฮ่องกง

 

ภาพจากซูเปอร์มาร์เก็ต Wellcome ในฮ่องกง

 

 

3.2 ร้านค้าสะดวกซื้อ

 

ร้านสะดวกซื้อในฮ่องกง เช่น 7-Eleven และ Circle K จัดจำหน่ายไอศกรีมหลากหลายชนิดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยปริมาณที่จัดจำหน่ายจะเป็นขนาดที่สามารถรับประทานได้ทันที และมีตัวเลือกเป็นรสชาติยอดนิยม เช่น รสช็อคโกแลต และรสชาติที่มีความแปลกใหม่ เช่น ข้าวเหนียวมะม่วง

 

 

ตารางแสดงราคาไอศกรีมในร้านค้าสะดวกซื้อ

 

อัตราแลกเปลี่ยน : 1 ดอลลาร์ฮ่องกง เท่ากับ 4.35 บาท

 

รายงานสถานการณ์ตลาดไอศกรีมในฮ่องกง

 

ภาพจากร้านสะดวกซื้อ 7-11 ในฮ่องกง

 

4. สภาวะการแข่งขันของตลาดไอศกรีมในฮ่องกง

 

บริษัทที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดในฮ่องกง ได้แก่ บริษัท Nestle Hong Kong Ltd. มียอดขายคิดเป็นร้อยละ 42.9 ตามมาด้วย General Mills Hong Kong Ltd. ร้อยละ 27.5 และ Kowloon Dairy Ltd ร้อยละ 4.4 ตามลำดับ

 

ในขณะที่แบรนด์ไอศกรีมที่ได้รับความนิยมสูงสุดได้แก่ Haagen Dazs (ร้อยละ 27.5) Dreyer’s (ร้อยละ 20.4) Movenpick (ร้อยละ 9.2) โดยทั้ง 3 แบรนด์มียอดขายเติบโตขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา  ตามมาด้วย Drumstick (ร้อยละ 6.2) และ Mega (ร้อยละ 4.3) ตามลำดับ

 

 

รายงานสถานการณ์ตลาดไอศกรีมในฮ่องกง

 

 

 

รายงานสถานการณ์ตลาดไอศกรีมในฮ่องกง

 

 

แนวโน้มของแบรนด์และผู้ค้าปลีกในฮ่องกงได้ปรับตัวตามรสนิยมและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและนวัตกรรมเชิงกลยุทธ์ รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายที่มุ่งเน้นไปที่รสชาติไอศกรีมยอดนิยมอย่างเช่น Oreo นอกจากนี้ยังมีผู้เล่นใหม่ในตลาด เช่น Oreo และ Achino ซึ่งได้ปรับผลิตภัณฑ์ให้เป็นแบบมัลติแพ็ค เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับแบรนด์ Dreyer’s ก็มีการนำเสนอไอศกรีมในรูปแบบมัลติแพ็คที่มีตัวอย่างรสชาติที่หลากหลาย รวมทั้งยังได้เปิดตัวไอศกรีมแท่งรูปหัวใจสีแดงในวันวาเลนไทน์ซึ่งสามารถกระตุ้นการซื้อได้อย่างน่าประทับใจ

 

 

รายงานสถานการณ์ตลาดไอศกรีมในฮ่องกง

 

 

ขณะที่แบรนด์ช็อกโกแลตชั้นนำ Godiva ได้นำเสนอคอลเลกชันช็อกโกแลต “Signature” ช็อกโกแลตแท่ง และ “Chocolate Domes” ช็อกโกแลตกล่อง เพื่อมอบประสบการณ์การบริโภคที่หรูหราในราคาที่เข้าถึงได้

 

 

นอกจากนี้ ร้านสะดวกซื้อยังได้ตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับการเลือกซื้อไอศกรีมนอกบ้านหลังการระบาดใหญ่ ด้วยการนำเสนอรูปแบบและรสชาติที่หลากหลาย รวมถึงการนำเข้าไอศกรีมจากเกาหลี ไทย และไต้หวัน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคท้องถิ่น รวมถึงตัวเลือกการซื้อไอศกรีมแบบมัลติแพ็ค ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ไอศกรีม ทำให้ร้านสะดวกซื้อกลายเป็นจุดซื้อไอศกรีมที่สำคัญสำหรับผู้บริโภค โดย Don Quixote’s Den Don Donki ได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับไอศกรีมนำเข้า
จากญี่ปุ่น โดยมีการวางผลิตภัณฑ์ตามจุดขายเพื่อเพิ่มโอกาสในการซื้อแบบทันทีทันใดเพื่อลิ้มลองรสชาติ และเนื้อสัมผัสที่แปลกใหม่ นอกจากนี้การมีหมวดหมู่ไอศกรีมที่มากขึ้นยังถือเป็นกลยุทธ์การส่งเสริมการขายเพื่อดึงดูดผู้บริโภค

 

แม้ว่าหลายร้านอาหารจะประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก แต่ผู้บริโภคก็เริ่มกลับมาเพลิดเพลินกับการสังสรรค์และการรับประทานอาหารนอกบ้านอีกครั้ง แบรนด์ชั้นนำ เช่น Häagen-Dazs, Mövenpick และ Godiva รวมถึงร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-Eleven ได้เปิดตัวโปรโมชั่นตามฤดูกาลและตลอดทั้งปี เช่น โปรโมชั่นซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง และการลดราคาสำหรับไอศกรีมที่ไม่มีบรรจุภัณฑ์ เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

 

 

5. การขนส่ง

 

5.1 ช่องทางการขนส่ง

 

การขนส่งไอศกรีมจากไทยไปฮ่องกงนั้นมีความสำคัญมาก เพราะไอศกรีมเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงที่จะเสียหายได้ง่าย การขนส่งที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้ไอศกรีมละลาย เสียรสชาติ หรือเสียหาย

1) การขนส่งทางอากาศ เป็นวิธีที่รวดเร็วที่สุด แต่มีค่าใช้จ่ายสูง ไอศกรีมจะถูกบรรจุในกล่องโฟม และใส่ถุงน้ำแข็งแห้ง เพื่อรักษาอุณหภูมิให้คงที่ ใช้เวลาประมาณ 2 – 3 วัน

2) การขนส่งทางเรือ เป็นวิธีที่ประหยัดที่สุด แต่ใช้เวลานานที่สุด ไอศกรีมจะถูกบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมอุณหภูมิ ใช้เวลาประมาณ 7 – 10 วัน

 

5.2 ขั้นตอนเบื้องต้นในการขนส่งไอศกรีม

 

ขั้นตอนแรกคือการเตรียมไอศกรีมให้พร้อม ไอศกรีมจะต้องถูกแช่แข็งไว้ที่อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส เพื่อรักษาความสดใหม่และป้องกันการละลาย ตรวจสอบให้แน่ใจว่าบรรจุในภาชนะที่ปิดสนิท  ป้องกันการปนเปื้อน จากนั้นเลือกบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมเพื่อรักษาระดับอุณหภูมิที่เย็นจัด หากต้องการขนส่งไอศกรีมจำนวนมาก ตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมอุณหภูมิจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม

 

6. กฏระเบียบที่ควรทราบ

 

6.1 กฎหมายอาหารและสุขอนามัย

 

1) ไอศกรีมจะต้องได้รับการผลิตและบรรจุตามมาตรฐานสุขอนามัยที่กำหนดโดยกรมวิทยาศาสตร์การเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

2) ไอศกรีมจะต้องมีฉลากที่ระบุข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อผู้ผลิต วันผลิต วันหมดอายุ ส่วนผสม ข้อมูลโภชนาการ และข้อมูลติดต่อ

3) ไอศกรีมจะต้องผ่านการตรวจสอบและรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย

 

6.2 กฎหมายศุลกากรและการค้า

 

1) ไอศกรีมจะต้องมีใบขนสินค้า (Bill of Lading)

2) ไอศกรีมจะต้องมีใบรับรองการสุขอนามัย (Health Certificate)

3) ไอศกรีมจะต้องมีใบอนุญาตนำเข้า (Import Permit)

4) ไอศกรีมจะต้องเสียภาษีขาเข้า ตามอัตราที่กำหนดโดยกรมศุลกากรฮ่องกง

 

แหล่งที่มา : กรมศุลกากรฮ่องกง https://www.customs.gov.hk/

เอกสารประกอบการส่งออกสินค้าอาหาร – กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

 

 

7. แนวโน้มสินค้าและโอกาสในอนาคต

 

การนำไอศกรีมไทยเข้าตลาดฮ่องกงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจ เนื่องจากตลาดไอศกรีมในฮ่องกงมีขนาดใหญ่และเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไอศกรีมไทยมีเอกลักษณ์และรสชาติที่สามารถดัดแปลงจากขนมไทยยอดนิยม อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการต้องเผชิญกับอุปสรรคและความท้าทายต่างๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในการขนส่ง กฎระเบียบ และข้อกำหนด การแข่งขัน การรักษาคุณภาพไอศกรีม การตลาดและการประชาสัมพันธ์ รวมถึงการสร้างแบรนด์ ความสำเร็จในตลาดนี้จะขึ้นอยู่กับการวางแผนและการดำเนินการที่รอบคอบและมีประสิทธิภาพ โดยแนวโน้มสินค้าไอศกรีมในฮ่องกงประกอบด้วย

 

 

7.1 รสชาติที่โดดเด่นจะเป็นตัวกำหนดความต้องการของผู้บริโภค

 

ตลาดไอศกรีมในฮ่องกงกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยผู้บริโภคมีความต้องการเพิ่มขึ้นสำหรับไอศกรีมพรีเมียม ไอศกรีมแฮนด์เมด และของหวานแช่แข็งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แบรนด์ชั้นนำอย่าง Häagen-Dazs ได้ตอบสนองกระแสนี้ด้วยการนำเข้าไอศกรีมเจลาโต (gelato) หลากหลายรสชาติจากญี่ปุ่น ซึ่งเน้นตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ชื่นชอบรสชาติที่หลากหลายและต้องการบริโภคในสัดส่วนที่เล็กลงพร้อมประสบการณ์การบริโภคที่หรูหรา

 

ในขณะเดียวกัน การเติบโตของผู้เล่นเจลาโตหน้าใหม่ เช่น Ganto Gelato ซึ่งเป็นบริษัทท้องถิ่นฮ่องกงได้นำเสนอรสชาติพิเศษประจำเดือนที่หมุนเวียนไปตามแรงบันดาลใจจากขนมท้องถิ่นและรสชาติยอดนิยม เช่น นมข้นหวานและเนยถั่ว ทาร์ตไข่ รวมถึงรสชาติชาพิเศษต่างๆ ร่วมกับแบรนด์อย่าง Venchi, Teemtonefai และ Messina มอบประสบการณ์รสชาติที่หรูหราและนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับผู้บริโภค แนวโน้มนี้สะท้อนถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคต่อไอศกรีม ที่เน้นความสะดวกและมีความพิเศษเฉพาะตัว ซึ่งจะมอบประสบการณ์การรับประทานที่หรูหราและรสชาติที่ยกระดับในอนาคต ตลาดไอศกรีมในฮ่องกงคาดว่าจะมีความหลากหลายมากขึ้น โดยทั้งแบรนด์นานาชาติและแบรนด์ท้องถิ่นจะนำนวัตกรรมมาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ของตนเพื่อตอบสนองรสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ปัจจัยต่างๆ เช่น การผสมผสานรสชาติท้องถิ่น การขยายตัวของเจลาโตและไอศกรีมแฮนด์เมด การเน้นรสชาติที่โดดเด่นและความสะดวกสบายในการบริโภค จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของตลาดตามช่วงเวลา

 

7.2 ร้านสะดวกซื้อมีความสำคัญในการขับเคลื่อนยอดขาย

 

ร้านสะดวกซื้อที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งพักอาศัยมักจะมีโอกาสเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในฐานะเป็นช่องทางจัดจำหน่ายไอศกรีมในอนาคต แนวโน้มนี้ได้รับแรงหนุนจากความสะดวกสบายของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากร้านสะดวกซื้อเหล่านี้มักมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความนิยมของดีลพิเศษ (bundle deals) เช่น ดีลที่มีรวมไอศกรีมประเภทนม (dairy) และประเภท ซอร์เบท (water – sorbet) ไว้ด้วยกัน ร้านสะดวกซื้อยังรองรับความต้องการของผู้บริโภคด้วยการนำเสนอไอศกรีมแบรนด์ชั้นนำหลากหลาย รวมถึงไอศกรีมในรูปแบบแท่งและถ้วยขนาดเล็กที่มีให้เลือกมากมาย ผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ

 

7.3 การแข่งขันจากสินค้านำเข้า

 

การแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นจากการนำเข้าแบบคู่ขนาน (Parallel Import) อาจเพิ่มระดับการแข่งขันอีกชั้นหนึ่งให้กับแบรนด์ไอศกรีมในฮ่องกง โดยเฉพาะแบรนด์จากเกาหลีและญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของตลาดไอศกรีมในอนาคต ด้วยรสชาติใหม่ เนื้อสัมผัสที่น่าสนใจ และสูตรผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นมาอย่างสร้างสรรค์ คู่แข่งจากต่างประเทศเหล่านี้พร้อมที่จะเข้ามาท้าทายแบรนด์ท้องถิ่นในระยะสั้น การกลับมาของไอศกรีมนำเข้าจากญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจจากผู้บริโภคในฮ่องกงที่มีความชื่นชอบในรสชาติและแบรนด์ญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน

 

นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่าง Lotte และซูเปอร์มาร์เก็ต AS Watson ได้ผลักดันให้สินค้านำเข้าจากเกาหลีได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ไอศกรีมโยเกิร์ตแช่แข็งของ Lotte ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ซึ่งมาพร้อมกับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Zero สูตรปราศจากน้ำตาล และไอศกรีทซอร์เบทแบบแท่งที่คัดสรรจากผลไม้สด การพัฒนาของแบรนด์นี้ไม่เพียงตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่แสวงหาความแปลกใหม่ทางรสชาติเท่านั้น แต่ยังสอดรับกับแนวโน้มการดูแลสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน

 

 

8. ข้อเสนอแนะ

 

8.1 การสร้างแบรนด์ที่เข้มแข็ง

 

สร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์ เน้นความเป็นไทยโดยใช้ชื่อที่จดจำง่าย    โลโก้ที่โดดเด่น และภาพลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นไทย และสร้างเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับแหล่งที่มาของวัตถุดิบ กระบวนการผลิตที่พิถีพิถัน หรือความเป็นมาเฉพาะของแบรนด์ จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และสร้างเอกลักษณ์ให้แก่สินค้าจากไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคในฮ่องกงอยู่แล้ว

 

8.2 ผู้ประกอบการควรสร้างการรับรู้ในวงกว้าง

 

ผ่านสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียเช่น Facebook และ Instagram ในการเผยแพร่ภาพและวิดีโอเกี่ยวกับไอศกรีมไทย รวมถึงโปรโมชั่นของสถานที่จัดจำหน่าย จากนั้นทำการตลาดโดยการใช้ผู้มีอิทธิพลทางความคิด (KOLs) เพื่อโปรโมตไอศกรีมไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเช่น การจัดชิมไอศกรีมไทยในงานเทศกาลอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว หรือตลาดกลางแจ้งในฮ่องกง

 

8.3 การขยายช่องทางการจัดจำหน่าย

 

โดยร่วมมือกับร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในฮ่องกงนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมากเพื่อให้สินค้าสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น หรือจัดจำหน่ายในร้านอาหารไทย

 

__________________________________________________

 

สคต. ณ เมืองฮ่องกง

ธันวาคม 2567

 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. รายงาน Ice-Cream in Hong Kong, China – Analysis จัดทำโดย Euromonitor International 2024
  2. ข้อมูลสถิติ Global Trade Atlas

 

 

thThai