เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2567 กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ออกข้อจำกัดใหม่[1]ที่มีผลบังคับใช้ทันที โดยมุ่งเป้าไปที่การควบคุมการเข้าถึงส่วนประกอบสำคัญสำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของจีน กฎระเบียบดังกล่าวขยายขอบเขตการควบคุมที่มีอยู่ เพื่อจำกัดความสามารถของจีนในการจัดซื้ออุปกรณ์ผลิตชิปที่ผลิตโดยบริษัทสหรัฐฯ เช่น บริษัท Applied Materials, KLA Corp และ Lam Research ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในสิงคโปร์
กฎใหม่ดังกล่าวยังได้ขึ้นบัญชีดำบริษัทในจีนเพิ่มเติมอีก 140 แห่ง โดยมุ่งเน้นไปที่บริษัทที่ผลิตอุปกรณ์การผลิตชิป ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงของจีน นอกเหนือจากการคว่ำบาตรบริษัทเหล่านี้โดยเฉพาะแล้ว มาตรการดังกล่าวยังกำหนดข้อจำกัดในการขายอุปกรณ์การผลิต 24 ประเภท และเครื่องมือซอฟต์แวร์ 3 รายการให้กับจีน ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์ที่ผลิตในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาตรการนี้ยังครอบคลุมถึงการจำกัดการขายชิปหน่วยความจำแบนด์วิดท์สูง (High-Bandwidth Memory:HBM)[2] ให้กับจีน โดยชิปประเภทนี้ผลิตโดยทั้งบริษัทในสหรัฐฯ และบริษัทจากต่างประเทศ ผู้ผลิตและส่งออกชิป HBM รายใหญ่ของโลก ได้แก่ SK Hynix และ Samsung Electronics จากเกาหลีใต้ รวมถึง Micron Technology[3] จากสหรัฐฯ ซึ่งต่างก็มีสำนักงานและการดำเนินธุรกิจในสิงคโปร์
สิงคโปร์มีสัดส่วนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ประมาณ 10% ของอุปทานทั่วโลก และผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ราว 20% ของการผลิตทั่วโลกในแต่ละปี อุตสาหกรรมชิปมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของสิงคโปร์ โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และมีส่วนในการจ้างงานประมาณ 10% ของภาคการผลิต
ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสิงคโปร์ระบุว่า ข้อจำกัดการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งมีการขยายขอบเขตอย่างต่อเนื่อง ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อสถานะของสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางการผลิตที่ยืดหยุ่น อย่างไรก็ตาม บริษัทต่างๆ ในสิงคโปร์อาจยังได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้าและการแข่งขันด้านเทคโนโลยีที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
นาย Ang Wee Seng กรรมการบริหารของสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์สิงคโปร์เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยังคงประเมินผลกระทบจากข้อจำกัดล่าสุดของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เป็นที่ชัดเจนว่ามาตรการดังกล่าวจะเพิ่มความซับซ้อนให้กับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
นาย Ang ระบุว่า จุดแข็งของสิงคโปร์ ได้แก่ ระบบนิเวศอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง ตำแหน่งที่ตั้งเชิงกลยุทธ์ และความร่วมมือที่แน่นแฟ้นระหว่างภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม ปัจจัยเหล่านี้ทำให้สิงคโปร์เป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
ข้อจำกัดที่ประกาศโดยสหรัฐฯ ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความยืดหยุ่น (Resilience) และความสามารถในการปรับตัวของห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการค้าในอนาคต
โฆษกกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) เปิดเผยว่า กระทรวงได้รับทราบถึงมาตรการควบคุมการส่งออกฉบับใหม่ของสหรัฐฯ และจะติดตามความคืบหน้าต่อไป โดยจะพิจารณาข้อเสนอแนะจากภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้ บริษัททั้งหมดที่ดำเนินธุรกิจในสิงคโปร์ รวมถึงบริษัทในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับของสิงคโปร์ นอกจากนี้ บริษัทต่างๆ ควรติดตามข้อบังคับที่บังคับใช้โดยประเทศอื่น ๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัท
บริษัท Applied Materials ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งอยู่ในสิงคโปร์ ถือเป็นหนึ่งในฐานการผลิตขั้นสูงที่ใหญ่ที่สุดนอกสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ บริษัทยังมีศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) สองแห่งในสิงคโปร์ ทางบริษัทเปิดเผยว่า ข้อบังคับการส่งออกที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัทในทันที และบริษัทจะไม่เปลี่ยนแปลงแนวโน้มธุรกิจสำหรับไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2568 (ข้อมูล ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2568)
บริษัท KLA เปิดเฟสแรกของโรงงานแห่งที่สี่ในสิงคโปร์เมื่อเดือนตุลาคม 2567 โดยมีแผนการลงทุนมูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อขยายการดำเนินงานในภูมิภาคนี้ บริษัทระบุว่า ข้อจำกัดการส่งออกฉบับใหม่จะยิ่งจำกัดความสามารถในการจัดหาผลิตภัณฑ์และบริการอุปกรณ์ทุนเซมิคอนดักเตอร์บางประเภทให้แก่ลูกค้าในจีนมากขึ้น ทั้งนี้ บริษัทชี้ว่า กฎระเบียบดังกล่าวมีความซับซ้อน และขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสินค้าและบริการของบริษัท อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่า ผลกระทบดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบทันทีต่อแนวทางธุรกิจสำหรับไตรมาสที่สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2567
นาย Andy Micallef รองประธานบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการและการผลิตของ NXP Semiconductors[4] บริษัทผู้ผลิตชิปจากเนเธอร์แลนด์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการกำหนดภาษีศุลกากรและข้อกำหนดด้านกฎระเบียบที่เพิ่มขึ้น บริษัทมุ่งมั่นที่จะปกป้องลูกค้าทั้งในมิติของการจัดหาและมิติทางกฎหมาย และบริษัทจะยังคงลงทุนในประเทศต่างๆ เช่น สิงคโปร์ เพื่อให้มั่นใจว่าห่วงโซ่อุปทานมีความยืดหยุ่น
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
บริษัทผลิตชิปทั่วโลกต่างต้องการกระจายห่วงโซ่อุปทานและลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า โรคระบาด และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ความหลากหลายและความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานกลายเป็นปัจจัยสำคัญ สิงคโปร์ซึ่งถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการผลิตและการวิจัยพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก ได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางชั้นนำสำหรับการลงทุนของบริษัทผลิตชิปที่ต้องการเสริมสร้างความยืดหยุ่นในห่วงโซ่อุปทาน
สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มาตรการควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ได้ขยายขอบเขตการบังคับใช้อย่างกว้างขวาง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การเสริมสร้างขีดความสามารถของอุตสาหกรรมชิปในประเทศไทย ทั้งในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะช่วยให้ไทยสามารถพัฒนาและส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และยกระดับการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) ของตลาดโลกได้มากขึ้น
แหล่งที่มาข้อมูล/ภาพ :
[1] ถือเป็นครั้งที่ 3 ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกข้อจำกัดการส่งออกซึ่งมุ่งเป้ามายังภาคส่วนชิปของจีนในวงกว้าง หลังจากที่ได้ประกาศข้อจำกัดที่บังคับใช้ไปเมื่อตุลาคม 2565 และตุลาคม 2566
[2] HBM ให้การเข้าถึงข้อมูลที่รวดเร็วเป็นพิเศษด้วยการใช้พลังงานต่ำ และส่วนใหญ่ใช้ในแอปพลิเคชันคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง เช่น AI ที่ต้องการการประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลอย่างรวดเร็ว
[3] สิงคโปร์เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ด้านการดำเนินงานทั่วโลกของ Micron และศูนย์ความเป็นเลิศด้าน NAND ซึ่งเป็นชิปหน่วยความจำแฟลชที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล เช่น โซลิดสเตตไดรฟ์และไดรฟ์ USB แต่ผลิต HBM ในญี่ปุ่นและไต้หวัน
[4] บริษัทได้เปิดโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่มูลค่า 7.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในสิงคโปร์เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567