สินค้าวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างในฟิลิปปินส์
- ศักยภาพของอุตสาหกรรมก่อสร้างของฟิลิปปินส์
มูลค่าอุตสาหกรรมการก่อสร้างของฟิลิปปินส์คาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตร้อยละ 8.4 ในปี 2567 มีมูลค่า อยู่ที่ 1.94 ล้านล้านเปโซ และในปี 2571 คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 2.58 ล้านล้านเปโซ แสดงให้เห็นศักยภาพของการเติบโตของอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก
แม้ว่าอุตสาหกรรมการก่อสร้างของฟิลิปปินส์จะมีความท้าทายหลายประการ เช่น การขาดแคลนแรงงานและต้นทุนวัสดุค่อนข้างสูง แต่ยังมีแนวโน้มเติบโตที่เข้มแข็ง โดยปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ การลงทุนของภาครัฐ ภาวะการเป็นเมือง และการมุ่งเน้นความยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมด้วยปัจจัยบวกดังกล่าว ผู้บริหารในอุตสาหกรรมหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องรวมถึงผู้ประกอบการสินค้าวัสดุก่อสร้าง จึงควรแสวงหาโอกาสในอุตสาหกรรมก่อสร้างทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่พักอาศัย และการก่อสร้างเชิงอุตสาหกรรม รวมถึงปรับผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับแนวโน้มด้านความยั่งยืน ทั้งนี้ ในแต่ละภาคส่วนของอุตสาหกรรมก่อสร้าง มีลักษณะโดยสังเขปดังนี้
1.1 การก่อสร้างภาคที่พักอาศัย
การก่อสร้างที่พักอาศัยถือเป็นภาคส่วนที่มีศักยภาพ ทั้งจากความต้องการของภาครัฐและภาคเอกชนโดยสำหรับภาครัฐนั้น รัฐบาลฟิลิปปินส์มีนโยบายในการก่อสร้างที่พักอาศัยราคาต่ำกว่า 1 ล้านยูนิตต่อปี ผ่านโครงการ Pambansang Pabahay para sa Pilipino Housing Program โดยโครงการดังกล่าวมีการเปิดตัวในเดือนกันยายน 2565 และต้องการบรรลุวัตถุประสงค์ให้มีจำนวนผู้อาศัยในที่อยู่อาศัยที่ไม่เป็นทางการ (Informal settlers) เหลือศูนย์ในปี 2571 ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถแก้ไขปัญหาบ้านขาดแคลนในประเทศจำนวน 6.5 ล้านหลัง และในปี 2566 ได้มีการเริ่มก่อสร้างแล้วประมาณ 1.2 – 1.3 ล้านหลัง นอกจากนี้ สำหรับภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปนั้น ความต้องการที่พักอาศัยแบบรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีการนำวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือ การออกแบบที่ประหยัดพลังงานมาใช้มากขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบและความต้องการของผู้บริโภค นอกจากนี้ อุตสาหกรรม Business Process Outsource (BPO) และรายได้ของแรงงานฟิลิปปินส์ที่ทำงานในต่างประเทศยังทำให้ความต้องการในการซื้อบ้านหลังที่ 2 และการซื้อบ้านเพื่อการลงทุนมีมากขึ้น และทำให้อุตสาหกรรมการก่อสร้าง ในฟิลิปปินส์ขยายตัวมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน โดยมีการคาดการณ์โดย Subdivision and Housing Developers Association Inc. ว่ามีความต้องการบ้านพักอาศัยกว่า 3 ล้านหลังในส่วนของ Mass-housing รวมถึงบ้านสำหรับผู้ที่มีรายได้ปานกลาง-สูง และคาดว่าความต้องการบ้านจะเพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านหลังในปี 2573
1.2 การก่อสร้างในภาคธุรกิจ
การลงทุนด้านการก่อสร้างในภาคธุรกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในส่วนของอาคารสำนักงาน พื้นที่ค้าปลีก และการใช้งานแบบผสมผสาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรม BPO ที่เป็นรายได้หลักของประเทศและมีการจ้างงานกว่า 1.7 ล้านตำแหน่งยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และทำให้มีความต้องการพื้นที่สำนักงานมากขึ้น โดยการเติบโตของอุตสาหกรรม BPO ทำให้ความต้องการพื้นที่สำนักงานมากขึ้นโดยเฉพาะในเมืองหลักของฟิลิปปินส์ เช่น Manila, Cebu, Davao, Iloilo และ Legazpi นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการพนันที่ขยายตัวในฟิลิปปินส์ ยังถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เนื่องจากมีแนวโน้มการก่อสร้างเพื่อรองรับความต้องการในอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย โดยฟิลิปปินส์มีจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 5.45 ล้านคนในปี 2566 ที่ผ่านมาการฟื้นตัวของการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการเติบโตของอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) ยังทำให้มีการสร้างศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้าเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากยังใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างแบบ smart building ซึ่งช่วยพัฒนาประสิทธิภาพของพลังงานและประสบการณ์ของผู้อยู่อาศัยด้วย
1.3 การก่อสร้างของหน่วยงานราชการ
การก่อสร้างของหน่วยงานราชการของฟิลิปปินส์ได้รับประโยชน์อย่างมากจากงบประมาณปี 2567 ซึ่งจัดสรรให้กิจกรรมดังกล่าวกว่า 2.2 ล้านล้านเปโซ (39.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาคการศึกษาและสาธารณสุขของประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์ยังให้ความสำคัญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติโดยกำหนดให้สิ่งก่อสร้างใหม่เหล่านี้ของภาครัฐจะต้องสามารถทนทานต่อภัยพิบัติต่างๆ เพื่อให้สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาดังกล่าว
1.4 การก่อสร้างของภาคอุตสาหกรรม
ภาคอุตสาหกรรมของฟิลิปปินส์ยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการก่อสร้างสำหรับการผลิตและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์เพิ่มมากขึ้นไปด้วย โดยปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมคือความพยายามในการยกระดับสมรรถนะการผลิตของประเทศ และลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ
อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมก่อสร้างอย่างมากคืออุตสาหกรรมพลังงาน โดยรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนพลังงานและเริ่มสร้างโครงการขยายโรงงานผลิตไฟฟ้าเดิม นอกจากนี้ ยังเริ่มมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ ลม พื้นพิภพและชีวมวลด้วย ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน มีแนวโน้มที่จะเติบโตมากในวิสายาส์และมินดาเนา เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานในด้านพลังงานยังไม่มีการพัฒนาเท่าที่ควร
ในปัจจุบัน รัฐบาลยังสนับสนุนให้ภาคเอกชนลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งของพลังงานหมุนเวียนในการใช้พลังงานทั้งหมดให้เป็น ร้อยละ 35 ในปี 2573 และร้อยละ 50 ในปี 2583 จึงเป็นโอกาสสำคัญของอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่จะช่วยส่งเสริมความพยายามเหล่านี้ของภาครัฐและภาคเอกชนในอุตสาหกรรมอื่นๆ
1.5 การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้จัดสรรงบประมาณกว่า 214.3 พันล้านเปโซ (3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) สำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการสำคัญ เช่น รถไฟเชื่อมเส้นทางเหนือ – ใต้ (North-South Commuter Railway) รถไฟฟ้าใต้ดินกรุงมะนิลา เฟส 1 และการสร้างส่วนต่อขยายของโครงการ LRT -1 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Build Better More (BBM) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการเชื่อมโยงและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์ยังมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เช่น สนามบิน Bulacan การพัฒนาถนน ทางรถไฟ และท่าเรืออีกด้วย ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์การพัฒนาประเทศของฟิลิปปินส์และช่วยให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงการบูรณาการในระดับภูมิภาคได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังมีโครงการการดำเนินการโดยร่วมกับภาคเอกชนหรือ Public – Private Partnerships (PPPs) ซึ่งช่วยให้เกิดการผลักดันการก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ฟิลิปปินส์มีโครงการในลักษณะ PPPs กว่า 117 โครงการ มีมูลค่ารวมกว่า 2.4 ล้านล้าน เปโซ (43 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ)
อย่างไรก็ดี การดำเนินธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการค้าหรือการลงทุนในอุตสาหกรรมก่อสร้างของฟิลิปปินส์ ยังมีความเสี่ยงอยู่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่พร้อม กฎระเบียบที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงบ่อย และปัญหาการทุจริตคอรัปชัน ซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎระเบียบ รูปแบบการลงทุน สภาพตลาดและปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ ในฟิลิปปินส์เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ สินค้าและวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างที่มีโอกาสขยายตลาดในประเทศฟิลิปปินส์ ประกอบด้วยกลุ่มสินค้าสำคัญ 7 กลุ่ม ได้แก่ เซรามิก อลูมิเนียม เหล็ก ปูนซีเมนต์ หินอ่อนและแกรนิต แก้วและกระจก หลังคาและอุปกรณ์ และในอนาคตวัสดุก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับการประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม น่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
- อุตสาหกรรมก่อสร้างและโครงการโครงสร้างพื้นฐานของฟิลิปปินส์
อุตสาหกรรมก่อสร้างและโครงการโครงสร้างพื้นฐานของฟิลิปปินส์เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะโครงการของภาครัฐ และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาคเอกชน แต่ก็เป็นภาคส่วนที่มีความท้าทายค่อนข้างมาก ทั้งการดำเนินการที่ล่าช้า การพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ โดยจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและความเสี่ยงของอุตสาหกรรมก่อสร้างและโครงการโครงสร้างพื้นฐานของฟิลิปปินส์ ปรากฏตามตารางที่ 1
ตารางที่ 1 SWOT ของอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้างในฟิลิปปินส์
องค์ประกอบของ SWOT | รายละเอียด |
จุดแข็ง (Strengths) | – รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านโครงการขนาดใหญ่ เช่น “Build, Build, Build” และ “Build Better More” ที่เน้นการสร้างถนน สะพาน รถไฟ และสนามบิน
– เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เกิดความต้องการโครงสร้างพื้นฐานและ – มีแรงงานต้นทุนต่ำจำนวนมาก ที่สามารถตอบสนองความต้องการในภาคการก่อสร้างได้ |
จุดอ่อน (Weaknesses) | – ฟิลิปปินส์ต้องพึ่งพาอุปกรณ์ก่อสร้างจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด โดยแหล่งนำเข้าหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ ทำให้เสี่ยงต่อความผันผวนของราคาและปัญหาห่วงโซ่อุปทาน
– อุตสาหกรรมขาดความโปร่งใสในการดำเนินงาน ส่งผลกระทบทางลบต่อผู้ซื้อและผู้ใช้ บริการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันต่ำลง |
โอกาส (Opportunities) | – การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดความต้องการโครงสร้างพื้นฐานด้าน ที่อยู่อาศัย การคมนาคม และระบบสาธารณูปโภค
– ภาครัฐมีโครงการสนับสนุนการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การพัฒนาพื้นที่สนามบิน รวมถึงสะพาน ถนน ทางรถไฟ ท่าเรือและบริการเรือขนส่ง รวมถึงโครงการชลประทานต่างๆ – ในฟิลิปปินส์ โครงการบ้านต้นทุนต่ำยังค่อนข้างขาดแคลน จึงอาจเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมได้ – การขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เช่น เครือข่าย 5G และศูนย์ข้อมูล ทำให้มีความต้องการสร้างพื้นที่สำนักงานมากขึ้นหรือศูนย์ข้อมูลเพิ่มขึ้นด้วย – อุตสาหกรรม BPO และการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างมีแนวโน้มที่จะสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเกิดโครงการก่อสร้างสำนักงาน รีสอร์ทและโรงแรมภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น – การส่งเงินกลับประเทศของแรงงานฟิลิปปินส์ที่ทำงานในต่างประเทศ มีปริมาณสูงและเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้มีกำลังซื้อภายในประเทศสูงขึ้น และเกิดอุปสงค์ ด้านที่พักอาศัยเพิ่มขึ้นตามมา ซึ่งหมายถึงอุปสงค์ด้านวัสดุ/บริการก่อสร้างเพิ่มมากขึ้นไปด้วย – แนวโน้มการใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก |
ความเสี่ยง (Threats)
|
– ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่เสี่ยงต่อพายุไต้ฝุ่น แผ่นดินไหว และภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐาน
– ราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ต้นทุนโครงการสูงขึ้น – การแข่งขันจากผู้เล่นในอุตสาหกรรมภายในและต่างประเทศที่รุนแรงมากขึ้น อาจทำให้บริษัทท้องถิ่นเสียเปรียบ – ความไม่เสถียรของนโยบาย การเมือง หรือเศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน |
2.1 ห่วงโซ่อุปทานและการกระจายสินค้าของอุตสาหกรรมก่อสร้างและโครงการโครงสร้างพื้นฐาน
ห่วงโซ่อุปทานและการกระจายสินค้าของอุตสาหกรรมก่อสร้างและโครงการโครงสร้างพื้นฐาน
ห่วงโซ่อุปทานและการกระจายสินค้าของอุตสาหกรรมก่อสร้างและโครงการโครงสร้างพื้นฐาน
เมื่อบริษัทมีแผนที่จะดำเนินการก่อสร้างโครงการหรือที่อยู่อาศัย จะมีการประมูล เพื่อให้ได้รับสิทธิในการก่อสร้าง ผู้ที่ทำการประมูล ได้แก่ บริษัทรับเหมาก่อสร้างต่างๆ ต่อจากนั้น สถาปนิกหรือที่ปรึกษาจะเป็นผู้ออกแบบเมื่อออกแบบแผนการก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว จะจัดซื้อวัตถุดิบกับคู่สัญญาหลัก ซึ่งจะจัดซื้อกับซัพพลายเออร์ย่อยอีกทอดหนึ่ง จากนั้น วัตถุดิบจะประกอบเป็นอุปกรณ์ในการดำเนินงาน เพื่อก่อสร้างและส่งมอบให้แก่บริษัท/ผู้บริโภคต่อไป โดยอุตสาหกรรมก่อสร้าง สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่พักอาศัย กลุ่มที่ไม่ใช่เพื่อพักอาศัย และ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
จากห่วงโซ่อุปทาน จะเห็นว่า นักธุรกิจไทย สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำ คือ เป็นผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างและส่งออกมายังฟิลิปปินส์ หรือลงทุนเปิดกิจการร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ให้บริการรับเหมาก่อสร้าง อย่างไรก็ดี การลงทุนในอุตสาหกรรมก่อสร้างของฟิลิปปินส์ ยังคงมีข้อจำกัดบางประการสำหรับชาวต่างชาติในเรื่องของการถือหุ้นหรือถือครองทรัพยากรต่างๆ และจากการที่อุปสงค์ภายในประเทศฟิลิปปินส์กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมากจึงทำให้มีช่องทางและโอกาสสำหรับนักธุรกิจชาวไทย ที่จะขยายการส่งออกหรือการดำเนินธุรกิจมายังประเทศฟิลิปปินส์
2.2 บริษัทขนาดใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญมากในอุตสาหกรรมก่อสร้างภายในประเทศ
สำหรับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ที่มีรายชื่ออยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ Ayala Land, Robinson Land Corporation (RLC), Filinvest Land และ Megaworld Corporation ซึ่งบริษัทเหล่านี้ ดำเนินการทั้งในส่วนของที่พักอาศัย สำนักงานและสิ่งก่อสร้างเพื่อการนันทนาการ ส่วนบริษัท Engineering Equipment Inc. (EEI) และ DMCI Holdings เป็นบริษัทคู่สัญญาทางวิศวกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ
บริษัทที่ดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศขนาดใหญ่ ได้แก่ San Miguel Corporation, Metro Pacific Tollways ขณะที่ผู้ดำเนินการด้านโรงงานพลังงาน ได้แก่ San Miguel, Aboitiz Equity Ventures, Manila Electric, Energy Development and First Gen Corporation
สำหรับห่วงโซ่อุปทานของการค้าในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างเพื่อการส่งออกนั้น ผู้ประกอบการไทย จะส่งออกมายังพันธมิตรทางธุรกิจในฟิลิปปินส์ ซึ่งก็จะส่งสินค้าต่อไปยังตัวแทนจำหน่าย เพื่อกระจายสินค้าให้แก่ลูกค้าอีกทีหนึ่ง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยก็อาจส่งออกตรงมายังพ่อค้าคนกลางหรือตัวแทนจำหน่ายในฟิลิปปินส์ได้ด้วยเช่นกัน
2.3 สถิติด้านการก่อสร้างในฟิลิปปินส์
2.3.1 สถิติของอุตสาหกรรมการก่อสร้างในฟิลิปปินส์
จากการสำรวจธุรกิจและอุตสาหกรรมของฟิลิปปินส์ในส่วนของอุตสาหกรรมก่อสร้างในปี 2565 ฟิลิปปินส์มีสถิติที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ดังแสดงในตารางที่ 2
ตารางที่ 2 สถิติที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการก่อสร้างของฟิลิปปินส์ในปี 2565
ข้อมูล | 2564 | 2565 | การเปลี่ยนแปลง (ร้อยละ) |
จำนวนกิจการ | 2,293 | 2,239 | -2.4 |
จำนวนการจ้างงาน (ตำแหน่ง) | 270,311 | 286,849 | 6.1 |
แรงงานต่อกิจการโดยเฉลี่ย | 118 | 128 | 8.5 |
ค่าแรงรวม (พันเปโซ) | 61,900,110 | 69,786,899 | 12.7 |
ค่าแรงเฉลี่ยต่อคน (เปโซต่อปี) | 229,779 | 243,796 | 6.1 |
รายได้รวม (พันเปโซ) | 559,181,788 | 636,243,292 | 13.8 |
ค่าใช้จ่ายรวม (พันเปโซ) | 488,392,001 | 554,874,946 | 13.6 |
อัตราส่วนรายได้ต่อค่าใช้จ่าย | 1.14 | 1.15 | 0.9 |
จากตาราง จะเห็นว่า จำนวนกิจการของธุรกิจก่อสร้างในปี 2565 ลดลงจากปี 2564 ร้อยละ 2.4 อยู่ที่ 2,293 แห่ง โดยในจำนวนนี้ เป็นธุรกิจก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างหรืออาคารมากที่สุดอยู่ที่ 993 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 44.4) ตามมาด้วยงานไฟฟ้า ประปา และการติดตั้งอื่นๆ ซึ่งมีกิจการ 424 แห่ง (ร้อยละ 18.9) และการก่อสร้างถนนและรางรถไฟ ซึ่งมีกิจการทั้งหมด 348 แห่ง (ร้อยละ 15.5) อย่างไรก็ดี บริษัทรื้อถอนและการเตรียมพื้นที่มีจำนวนเพียง 13 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 0.6 เท่านั้น
จำนวนกิจการของธุรกิจก่อสร้างของฟิลิปปินส์ในปี 2565
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตามพื้นที่ พบว่าเขตนครหลวงมะนิลา (NCR) มีจำนวนกิจการก่อสร้างมากที่สุดอยู่ที่ 856 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 38.2 ตามมาด้วยภูมิภาค Calabarzon ซึ่งมีจำนวนกิจการก่อสร้างอยู่ที่ 297 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 13.3) และ Central Visayas ซึ่งมีกิจการก่อสร้างทั้งหมด 220 แห่ง (ร้อยละ 9.8) สำหรับจำนวนการจ้างงานนั้น พบว่าในปี 2565 อุตสาหกรรมการก่อสร้างในฟิลิปปินส์มีการจ้างงานกว่า 286,849 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 6.1 จากปี 2564 ซึ่งมีการจ้างงานทั้งหมด 270,311 ตำแหน่ง ทั้งนี้ การจ้างงานกว่าร้อยละ 99.8 เป็นการจ้างงานแบบมีค่าตอบแทน โดยที่เหลือเป็นเจ้าของกิจการที่ทำงานด้วย หรือ เป็นแรงงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนโดยกิจการก่อสร้างถนนและรางรถไฟมีการจ้างงานสูงสุดกว่า 98,198 ตำแหน่งหรือ คิดเป็นร้อยละ 34.2 ของตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมทั้งหมด ในขณะที่กิจการรื้อถอนหรือเตรียมพื้นที่มีการจ้างงาน น้อยที่สุดอยู่ที่ 3,063 ตำแหน่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 1.1 ของอุตสาหกรรมเท่านั้น โดยตำแหน่งงานของแต่ละประเภทกิจการแสดง
การจ้างงานของอุตสาหกรรมก่อสร้างในฟิลิปปินส์ในปี 2565
เมื่อพิจารณาตามภูมิภาค พบว่าเขตนครหลวงมะนิลามีการจ้างงานสูงสุดกว่า 160,781 ตำแหน่งหรือมากกว่าร้อยละ 56.1 ตามมาด้วยภูมิภาค CALABARZON ซึ่งมีการจ้างงาน 34,964 ตำแหน่ง (คิดเป็นร้อยละ 12.2) และ Central Visayas ซึ่งมีการจ้างงาน 19,747 ตำแหน่ง (คิดเป็นร้อยละ 6.9) ทั้งนี้ โดยเฉลี่ยกิจการแต่ละรายมีการจ้างงานประมาณ 128 ตำแหน่งต่อกิจการ โดยการสร้างถนนและทางรถไฟมีการจ้างงานสูงสุดเฉลี่ย 282 ตำแหน่งต่อกิจการ ในปี 2565 ค่าตอบแทนรวมที่จ่ายให้กับพนักงานในอุตสาหกรรมการก่อสร้างมีมูลค่ารวม 69.79 พันล้านเปโซ ซึ่งคิดเป็นค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่ 243.80 พันเปโซต่อพนักงานหนึ่งคน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 จากค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อปีในปี 2564 ที่ 229.78 พันเปโซฟิลิปปินส์ต่อพนักงานที่ได้รับค่าจ้างหนึ่งคน
ทั้งนี้ การก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคจ่ายค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อปีสูงสุดอยู่ที่ 262.89 พันเปโซ ต่อพนักงานที่ได้รับค่าจ้างหนึ่งคนในปี 2565 ตามมาด้วยการติดตั้งไฟฟ้า ระบบประปา และการติดตั้งอื่นๆ ซึ่งมีค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 258.70 พันเปโซต่อพนักงานที่ได้รับค่าจ้างหนึ่งคน
ค่าตอบแทนเฉลี่ยของแรงงานในอุตสาหกรรมการก่อสร้างในฟิลิปปินส์ ปี 2565
เมื่อพิจารณาตามภูมิภาค พบว่า กิจการในภูมิภาค Davao มีการจ่ายค่าตอบแทนสูงสุดอยู่ที่ 277.88 พันเปโซต่อคนต่อปี ตามมาด้วยเขตนครหลวงมะนิลาและ Northern Mindanao เมื่อพิจารณามิติของรายได้ พบว่า รายได้ของอุตสาหกรรมก่อสร้างในฟิลิปปินส์อยู่ที่ 636.24 พันล้านเปโซ ในปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 จาก 559.18 พันล้านเปโซในปี 2564 ในขณะที่ค่าใช้จ่ายของอุตสาหกรรมก่อสร้างของฟิลิปปินส์อยู่ที่ 554.87 พันล้านเปโซ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 จากปี 2564 ที่มีค่าใช้จ่ายประมาณ 488.39 พันล้านเปโซ ทั้งนี้ กลุ่มที่มีรายได้สูงสุดคือกิตการก่อสร้างอาคารซึ่งมีรายได้กว่า 227.63 พันล้านเปโซ คิดเป็นร้อยละ 35.8 ของรายได้ในอุตสาหกรรมทั้งหมด โดยรายละเอียดของรายได้และค่าใช้จ่ายของกิจการก่อสร้างในฟิลิปปินส์
รายได้และค่าใช้จ่ายของอุตสาหกรรมก่อสร้างในฟิลิปปินส์
เมื่อพิจารณาตามภูมิภาค พบว่าเขตนครหลวงมะนิลาสร้างรายได้ในอุตสาหกรรมมากที่สุดคิดเป็น 298.28 พันล้านเปโซ หรือร้อยละ 46.9 ของรายได้รวมในอุตสาหกรรม โดยมี CALBARZON และ Central Luzon เป็นภูมิภาคที่สร้างรายได้เป็นอันดับที่ 2 และ 3 ตามลำดับ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความสามารถในการทำกำไร พบว่าอัตราส่วนระหว่างรายได้ต่อค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1.15 ซึ่งหมายความว่าค่าใช้จ่ายทุกๆ 1 เปโซ จะก่อให้เกิดรายได้ 1.15 เปโซ โดยกิจการที่มีอัตราส่วนดังกล่าวสูงสุดคือการรื้อถอนและการเตรียมพื้นที่ซึ่งมีอัตราส่วนอยู่ที่ 1.41 และการก่อสร้างถนนและทางรถไฟซึ่งมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1.17
2.3.2 สถิติโครงการก่อสร้างและพื้นที่การก่อสร้างในฟิลิปปินส์
สถิติโครงการก่อสร้างและพื้นที่การก่อสร้างในฟิลิปปินส์ แสดงในตารางที่
ตารางที่ 3 สถิติโครงการก่อสร้างและพื้นที่การก่อสร้างที่ได้รับการอนุมัติในฟิลิปปินส์ปี 2566
ประเภทการก่อสร้าง | 2565 | 2566 | ||
จำนวน | การเปลี่ยนแปลง (ร้อยละ) | จำนวน | การเปลี่ยนแปลง (ร้อยละ) | |
รวม | ||||
จำนวน | 169,432 | 4.2 | 163,663 | -3.4 |
พื้นที่ (ตารางเมตร) | 37,276,380 | 13.0 | 39,544,042 | 6.1 |
มูลค่า (พันเปโซ) | 431,370,111.19 | 8.1 | 457,359,615.24 | 6.0 |
ที่พักอาศัย | ||||
จำนวน | 121,106 | 4.6 | 110,532 | -8.7 |
พื้นที่ (ตารางเมตร) | 19,288,739 | 2.2 | 17,276,390 | -10.4 |
มูลค่า (พันเปโซ) | 210,755,664.27 | -0.4 | 200,846,236.05 | -4.7 |
การก่อสร้างที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย | ||||
จำนวน | 29,649 | 16.0 | 35,162 | 18.6 |
พื้นที่ (ตารางเมตร) | 17,520,848 | 28.1 | 21,761,629 | 24.2 |
มูลค่า (พันเปโซ) | 186,679,966.5 | 19.9 | 219,559,608.58 | 17.6 |
การต่อเติม | ||||
จำนวน | 5,029 | 11.8 | 5,872 | 16.8 |
พื้นที่ (ตารางเมตร) | 466,793 | 8.3 | 506,623 | 8.4 |
มูลค่า (พันเปโซ) | 4,377,784.86 | 3.0 | 5,439,056.57 | 24.2 |
การเปลี่ยนแปลงหรือซ่อมแซม | ||||
จำนวน | 13,648 | -18.8 | 12,097 | -11.4 |
มูลค่า (พันเปโซ) | 29,556,695.56 | 8.2 | 31,514,714.05 | 6.6 |
เมื่อพิจารณาจากตารางที่ 3 จะพบว่า จำนวนการขอใบอนุญาตก่อสร้างลดลงในปี 2566 เหลือ 163,663 รายการ หรือลดลงร้อยละ 3.4 จากปี 2565 ที่มีการก่อสร้างจำนวน 169,432 รายการ โดยเมื่อพิจารณาตามประเภทการก่อสร้างพบว่า การขออนุญาตก่อสร้างสิ่งก่อสร้างที่เป็นที่พักอาศัยมีจำนวนกว่า 110,532 รายการ หรือคิดเป็นร้อยละ 67.5 ของการก่อสร้างทั้งหมดในปี 2566 โดยส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างบ้านพักอาศัยกว่าร้อยละ 86 ในขณะที่การก่อสร้างที่ไม่ใช่ที่พักอาศัยมีจำนวน 35,162 รายการคิดเป็นร้อยละ 21.5 ของจำนวนการก่อสร้างทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เป็นสิ่งปลูกสร้างเพื่อการพาณิชย์คิดเป็น 24,851 รายการ หรือร้อยละ 70.7 ทั้งนี้ การก่อสร้างที่ไม่ใช่ที่พักอาศัยมีมูลค่าสูงถึง 219.56 พันล้านเปโซ หรือร้อยละ 48 ของมูลค่าการก่อสร้างทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีการต่อเติมและการเปลี่ยนแปลงหรือซ่อมแซมคิดเป็นร้อยละ 3.6 และร้อยละ 7.4 ตามลำดับ
จำนวนการขอใบอนุญาตการก่อสร้างในฟิลิปปินส์
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตามภูมิภาคพบว่า ภูมิภาคที่มีจำนวนการขอก่อสร้างมากที่สุดคือ CALABARZON มีคำขอก่อสร้างจำนวน 40,332 คำขอหรือคิดเป็นร้อยละ 24.6 ในปี 2566 รองลงมาคือภูมิภาค Central Visayas ซึ่งมี 18,631 คำขอก่อสร้าง (คิดเป็นร้อยละ 11.4) และ Central Luzon ซึ่งมีคำขอทั้งหมด 18,583 คำขอก่อสร้าง (คิดเป็นร้อยละ 11.4)
จำนวนการก่อสร้างในฟิลิปปินส์ในปี 2566 จำแนกตามภูมิภาค
สำหรับค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโดยเฉลี่ยต่อตารางเมตรของฟิลิปปินส์พบว่า อยู่ที่ 10,706.83 เปโซต่อตารางเมตรในปี 2566 ซึ่งลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.2 ที่อยู่ที่ 10,732.71 เปโซต่อตารางเมตร ทั้งนี้ สิ่งก่อสร้างประเภทที่พักอาศัยมีต้นทุนต่อตารางเมตรสูงสุดอยู่ที่ 11,625.47 ในปี 2566 ตามมาด้วยการต่อเติมซึ่งมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 10,748.64 เปโซต่อตารางเมตร และการก่อสร้างที่ไม่ใช่ที่พักอาศัยซึ่งอยู่ที่ 9,976.55 เปโซต่อตารางเมตรเท่านั้น ทั้งนี้ คอนโดมิเนียมมีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างต่อตารางเมตรสูงสุดในกลุ่มที่พักอาศัย ที่ 13,735.03 เปโซต่อตารางเมตร ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ใช่ที่พักอาศัยนั้น กลุ่มสถาบัน (ราชการ) มีต้นทุนในการก่อสร้างสูงสุดอยู่ที่ 13,477.1 เปโซต่อตารางเมตร และกลุ่มเกษตรกรรมมีต้นทุนในการก่อสร้างต่ำสุดอยู่ที่ 6,316.81 เปโซต่อตารางเมตรเท่านั้น โดยต้นทุนการก่อสร้างโดยเฉลี่ยต่อตารางเมตร
ต้นทุนโดยเฉลี่ยของการก่อสร้างในฟิลิปปินส์ต่อตารางเมตรในปี 2566
- แนวโน้มอุตสาหกรรมก่อสร้างในฟิลิปปินส์
Metal exponents ซึ่งเป็นบริษัทอุตสาหกรรมก่อสร้างในฟิลิปปินส์ได้คาดการณ์อนาคตของอุตสาหกรรมฟิลิปปินส์ โดยระบุว่าอุตสาหกรรมการก่อสร้างของฟิลิปปินส์อยู่ในช่วงทางแยกที่สำคัญ เนื่องจากมีทั้งโอกาสและความท้าทายในเวลาเดียวกัน โดยมีแนวโน้มหลัก ดังนี้
3.1 การลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น
จำนวนประชากรและความต้องการในการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย ทำให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณจำนวนมากเพื่อโครงการการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นถนน สะพาน การขนส่งสาธารณะ และสาธารณูปโภค การลงทุนเหล่านี้ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต และยังเป็นโอกาสสำหรับบริษัทก่อสร้างในการได้พัฒนาโครงการใหญ่ๆ อีกด้วย อย่างไรก็ดี โครงการเหล่านี้ต้องเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญคือการจัดการโครงการที่มีประสิทธิภาพ และการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัด
3.2 ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีการก่อสร้าง
เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการก่อสร้างทั่วโลก ฟิลิปปินส์มีแนวโน้มที่จะใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างที่มีนวัตกรรมมากขึ้น เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานการประหยัดต้นทุน และช่วยเพิ่มความปลอดภัย โดยเทคโนโลยีที่สำคัญ เช่น การใช้โมเดลสารสนเทศการก่อสร้าง (Building Information Modeling – BIM) การใช้โดรนในการสำรวจ และการทำกระบวนการก่อสร้างให้เป็นอัตโนมัติ อย่างไรก็ดี การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ต้องเผชิญกับความท้าทายบางประการ เช่น การมีจำนวนแรงงานที่ไม่เพียงพอ อินเทอร์เน็ตที่ยังไม่มีความเสถียร และการขาดแคลนเงินทุน
3.3 การมุ่งเน้นความปลอดภัยและการปฏิบัติตามกฎระเบียบ
อุตสาหกรรมการก่อสร้างฟิลิปปินส์จะมุ่งเน้นความปลอดภัยและการปฏิบัติตามกฎและมาตรฐานในอุตสาหกรรมการก่อสร้างมากขึ้น เนื่องจากความต้องการการพัฒนาสวัสดิภาพของแรงงานในประเทศ โดยในปัจจุบัน อุตสาหกรรมให้ความสำคัญเกี่ยวกับนโยบายความปลอดภัยและการอบรมด้านความปลอดภัยเป็นอย่างมาก นอกจากนี้การปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยยังเป็นส่วนหนึ่งในการได้มาซึ่งสัญญาและการรักษาชื่อเสียงของ
อุตสาหกรรมอีกด้วย
3.4 การพัฒนาแรงงานทักษะและแรงงานในอุตสาหกรรม
เนื่องจากความต้องการของโครงการการก่อสร้างมีความซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้น จึงมีความต้องการมืออาชีพและแรงงานทักษะมากขึ้นไปด้วย โดยฟิลิปปินส์มีความต้องการแรงงานทักษะตั้งแต่สถาปนิกจนถึงผู้จำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้างที่มีความเชี่ยวชาญด้านกระบวนการก่อสร้างและเทคโนโลยี จึงเริ่มมีการพัฒนาทักษะแรงงานมากขึ้น
3.5 ความท้าทายด้านกฎระเบียบและผังเมือง
อุตสาหกรรมก่อสร้างในฟิลิปปินส์ยังต้องเผชิญกับความท้าทายในด้านกฎหมายและการขอใบอนุญาตที่ยุ่งยากซับซ้อน นอกจากนี้ การวางผังเมืองในอนาคตก็ยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย เนื่องจากต้องพิจารณาถึงข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์เชิงประวัติศาสตร์ และความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีผลต่อการใช้ที่ดิน การวางเขตต่างๆ และนโยบายของรัฐบาลท้องถิ่น ที่อาจแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องที่ และทำให้บริษัทก่อสร้างต้องมีการปรับตัวตามพื้นที่ค่อนข้างมาก
3.6 การขาดแคลนแรงงาน
ฟิลิปปินส์ขาดแคลนแรงงานทักษะ ทั้งสถาปนิก วิศวกรรม และพนักงานก่อสร้าง รวมไปถึงคนควบคุมอุปกรณ์ เนื่องจากโอกาสในการฝึกอบรมและการศึกษาที่จำกัด รวมไปถึงกลุ่มแรงงานที่มีอายุมากขึ้นและต้องการแสวงหาโอกาสการทำงานในต่างประเทศ นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในงานอุตสาหกรรมก่อสร้างยังเป็นไปได้ค่อนข้างช้า ทำให้อาจเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมในอนาคตได้
3.7 ค่าใช้จ่ายที่สูงเกินคาดการณ์และการล่าช้าในการก่อสร้าง
อุตสาหกรรมก่อสร้างในฟิลิปปินส์ต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนที่สูงเกินที่คาดการณ์ไว้จากปัจจัยหลายประการ เช่น วัสดุก่อสร้างที่มีราคาผันผวน การขาดแคลนเทคโนโลยีที่ทันสมัย ปัญหาที่เกิดขึ้นในส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม เช่น ซัพพลายเออร์ ผู้จัดการโครงการ ผู้รับเหมารายย่อย หรือภัยธรรมชาติ ความยากลำบากในการขนส่ง และการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบอย่างกะทันหันก็เป็นอุปสรรคของอุตสาหกรรมก่อสร้างของฟิลิปปินส์เช่นเดียวกัน
3.8 การทุจริตคอรัปชัน
บริษัทในอุตสาหกรรมหลายแห่งในฟิลิปปินส์ต้องจัดสรรงบประมาณกว่าร้อยละ 35 ให้กับหน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่เพื่อไม่ให้โครงการต้องล่าช้าออกไป ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบกับโครงการก่อสร้าง เช่น คุณภาพของวัสดุ นอกจากนี้ บริษัทก่อสร้างยังต้องรักษากำไรขั้นต่ำให้ได้ร้อยละ 8-15 ซึ่งทำให้คุณภาพของสิ่งก่อสร้างในประเทศลดลง รวมถึงความสามารถของสิ่งก่อสร้างในการป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว และไต้ฝุ่น จึงลดลงตามไปด้วย
3.9 การสร้างบ้านราคาจับต้องได้
รัฐบาลฟิลิปปินส์มีนโยบายในการพัฒนาบ้านราคาจับต้องได้ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบ้านโดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เช่น การสร้างบ้านราคาถูก การสร้างบริษัทสำหรับการปล่อยสินเชื่อบ้าน การดำเนินโครงการบ้านสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้สร้างบ้านเหล่านี้ด้วย
3.10 การสร้างศูนย์กลางเมืองใหม่
รัฐบาลฟิลิปปินส์มีนโยบายผลักดันการสร้างศูนย์กลางเมืองใหม่นอกกรุงมะนิลาเพื่อลดความหนาแน่นของจราจรและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในต่างจังหวัด เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานและพื้นที่เศรษฐกิจเพื่อดึงดูดการลงทุนและสร้างตำแหน่งงาน
3.11 แนวปฏิบัติการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อุตสาหกรรมก่อสร้างยังล้าหลังในการตอบสนองต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมเมื่อเปรียบเทียบกับภาคส่วนอื่นๆ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีความสนใจเพิ่มขึ้นในเรื่องอาคารสีเขียวและแนวปฏิบัติการก่อสร้างที่ยั่งยืน โดยผู้พัฒนาต่างมุ่งสร้างโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงานมากขึ้นในส่วนของภาครัฐ ได้มีการส่งเสริมอาคารสีเขียวและแนวปฏิบัติการก่อสร้างที่ยั่งยืนผ่านโครงการต่างๆ เช่น การพัฒนาระบบการจัดอันดับอาคารสีเขียว และการมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับผู้พัฒนาที่สร้างโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนการใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ในโครงการก่อสร้างอีกด้วย
- การเข้าสู่ตลาดวัสดุก่อสร้างในฟิลิปปินส์
ฟิลิปปินส์นำเข้าวัสดุก่อสร้างเป็นจำนวนมาก เนื่องจากความต้องการของอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยความต้องการมีตั้งแต่วัสดุก่อสร้างพื้นฐานตั้งแต่ซีเมนต์ เหล็ก แผ่นเหล็ก และวัสดุก่อสร้างอื่นๆ เนื่องจากการผลิตในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการและมีราคาค่อนข้างสูง
สำหรับการออกแบบบ้านรุ่นใหม่นั้น ฟิลิปปินส์เริ่มนำสไตล์การออกแบบบ้านแบบใหม่ๆ มาจากทั่วโลก มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมแบบเมดิเตอร์เรเนียน สถาปัตยกรรมแบบอิตาเลียน และสถาปัตยกรรมแบบเอเชีย ทำให้วัสดุก่อสร้างที่ใช้ในการสร้างบ้านในสไตล์แบบดังกล่าว มีโอกาสในการเข้าสู่ตลาดฟิลิปปินส์ได้มากขึ้น นอกจากนี้ ผู้รับเหมาก่อสร้างยังนิยมใช้วัสดุก่อสร้างที่รักษาสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงานมากขึ้นโดยอุตสาหกรรมก่อสร้างเริ่มให้ความสนใจกับ Smart building, future-proof home และนวัตกรรมการประหยัดพลังงานด้วย
นอกจากการสร้างบ้านและที่อยู่อาศัยให้กับผู้ที่มีรายได้ปานกลาง-สูงแล้ว ประชากรชาวฟิลิปปินส์ที่มีฐานะยากจนยังมีอยู่มาก และโครงการสร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้ที่มีรายได้ต่ำ (Mass-housing) ยังเป็นนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ ภาคส่วน Mass-housing จึงเป็นตลาดศักยภาพหนึ่งเช่นเดียวกัน
จากข้อมูลข้างต้น จึงสามารถสรุปได้ว่า สินค้าต่อไปนี้น่าจะเป็นสินค้าใหม่ที่มีศักยภาพในตลาดฟิลิปปินส์
– วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีราคาเหมาะสม
– เทคโนโลยีการก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่สูงในรูปแบบที่เหมือนกันในปริมาณมาก (Mass-housing)
– สินค้าที่เกี่ยวข้องกับบ้านระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูป (prefabricated housing)
– วัสดุป้องกันความร้อน
– ผลิตภัณฑ์จากเหล็กและผลิตภัณฑ์จากอะลูมิเนียม
– อุปกรณ์ในการก่อสร้าง
– บริการก่อสร้างและการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการก่อสร้าง
นอกจากโอกาสในอุตสาหกรรมก่อสร้างในส่วนของที่อยู่อาศัยแล้ว ผู้ประกอบการไทยยังสามารถแสวงหาโอกาสจากโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public – Private Partnerships :PPPs) กับรัฐบาลฟิลิปปินส์เพื่อส่งสินค้าให้กับผู้รับเหมาในโครงการต่างๆ ได้อีกด้วย
ช่องทางการกระจายสินค้า
ตัวแทนจัดจำหน่ายและผู้กระจายสินค้าถือเป็นช่องทางกระจายสินค้าวัสดุก่อสร้างที่สำคัญที่สุดสำหรับสินค้านำเข้า โดยตัวแทนจัดจำหน่ายและผู้กระจายสินค้าเหล่านี้จะส่งของไปให้ผู้จัดการโครงการก่อสร้างต่างๆ หรือผู้ค้าส่ง/ค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม มีบริษัทก่อสร้างบางแห่ง นำเข้าสินค้าวัสดุก่อสร้างไปยังสถานที่ก่อสร้างโดยตรงเลยเช่นเดียวกัน
ผู้ที่มีอิทธิพลอย่างมากในการจัดซื้อวัสดุก่อสร้างคือสถาปนิกและผู้จัดการโครงการ เนื่องจากเป็นผู้กำหนดคุณสมบัติของวัสดุก่อสร้าง ดังนั้นผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลกลุ่มนี้เพื่อเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายสินค้า ทั้งนี้ ปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับผู้จัดการโครงการคือต้นทุนของวัสดุก่อสร้าง เนื่องจากผู้บริโภคฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ยังอ่อนไหวต่อราคา
นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังมีร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้างหลายแห่งที่ผู้ประกอบการไทยสามารถกระจายสินค้าผ่านช่องทางเหล่านี้ได้ โดยร้านวัสดุก่อสร้างรายใหญ่มีประมาณ 3 รายได้แก่ Wilcon, Ace Hardware และ CW Home Depot
งานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้อง
งานแสดงสินค้าถือเป็นช่องทางหนึ่งที่ผู้ประกอบการสามารถหาลูกค้าศักยภาพเพื่อเป็นคู่ค้าในอนาคตได้ช่องทางหนึ่ง โดยงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างในฟิลิปปินส์มีอยู่ตลอดปี ทั้งในเมืองหลักและเมืองรองของภูมิภาคต่างๆ โดยรายละเอียดของงานแสดงสินค้าในปี 2567-2568 แสดงในตารางที่ 4
ตารางที่ 4 งานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับวัสดุก่อสร้างในฟิลิปปินส์ ปี 2567 – 2568
อันดับ | ชื่องาน | วันที่ | เมืองที่จัด | จำนวนผู้เข้าชมงาน |
1 | Philconstruct | 7-10 พฤศจิกายน 2567 | กรุงมะนิลา | 38,000 |
2 | Philconstruct Luzon | 3-5 เมษายน 2568 | คลาร์ก | 10,000+ |
3 | Philconstruct Visayas | 20 – 22 มิถุนายน 2568 | เซบู | 7,000+ |
4 | Philconstruct Mindanao | 5-7 กันยายน 2567 | ดาเวา | 8,500+ |
5 | Worldbex | 13-16 มีนาคม 2568 | กรุงมะนิลา | 177,868 |
6 | Philbex Cebu | 12 – 15 กันยายน 2567 | เซบู | 31,300 |
7 | Philbex Davao | 9-12 พฤษภาคม 2567 | ดาเวา | 10,600 |
- ราคาภายในประเทศ
5.1 ราคาค้าปลีกและการเปลี่ยนแปลงของราคา
ดัชนีราคาค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง (CMRPI) ในเขตนครหลวงมะนิลา ของเดือนพฤศจิกายน 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2566 โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาค้าปลีกของวัสดุก่อสร้างในแต่ละเดือนอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ
อัตราการเพิ่มขึ้นของราคาค้าปลีกของวัสดุก่อสร้างในแต่ละเดือน ตั้งแต่พฤศจิกายน 2566 – 2567
5.2 ราคาค้าส่งและการเปลี่ยนแปลงของราคา
ดัชนีราคาค้าส่งวัสดุก่อสร้าง (CMWPI) ในเขตนครหลวงมะนิลาในเดือนพฤศจิกายน 2567 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับปี 2566 เนื่องจากสินค้าหลายประเภทมีแนวโน้มราคาลดลง เช่น ฮาร์ดแวร์ เหล็กโครงสร้าง กระเบื้อง ประตู
อัตราการเพิ่มขึ้นของราคาค้าส่งของวัสดุก่อสร้างในแต่ละเดือน ตั้งแต่พฤศจิกายน 2566 – 2567
ทั้งนี้ จากการสำรวจราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างในท้องตลาด สามารถสรุปราคาสินค้าต่าง ๆ ได้ตามตารางที่ 5
ตารางที่ 5 ตัวอย่างราคาค้าปลีกของสินค้าวัสดุก่อสร้างแต่ละประเภทในฟิลิปปินส์
ประเภทสินค้า | ช่วงราคาและรายละเอียด |
ปูนซีเมนต์ ยี่ห้อ republic | 216 – 247 เปโซ |
เหล็กแปตัว C สำเร็จรูป กัลวาไนซ์ ยาว 6 เมตร | 300 – 1,045 เปโซ |
เหล็กฉาก (Angle bar) | 220 – 3,100 เปโซ |
ท่อพรีซิงค์ GI | 380 – 1,700 เปโซ |
แผ่นฉนวนฟีโนลิค | 550 – 1,120 เปโซ |
ท่อพีวีซี | 44 – 350 เปโซ ขึ้นอยู่กับขนาดและรุ่น |
ไม้อัดจากฟิลิปปินส์ | 420 – 1,245 เปโซ |
ไม้อัดจากจีน | 260 – 900 เปโซ |
ฉนวนโพลียูรีเทนโฟม | 1,500 – 2,600 เปโซ |
ประตู PVC ขนาด 60×210 | 1,050 – 1,150 เปโซ |
แผ่นยิปซั่ม | 350 – 620 เปโซ |
กระเบื้อง | 68 – 19,680 เปโซ |
ลูกบิดประตู | 280 – 1,490 เปโซ |
อ่างล้างจาน | 1,150 – 27,798 เปโซ |
- สภาวะการค้าระหว่างประเทศในสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้างของฟิลิปปินส์
สถิติการนำเข้าสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้างในประเทศในปี 2564 – 2566 แสดงในตารางที่ 6 – 10
ตารางที่ 6 มูลค่าและสัดส่วนการนำเข้าของทำด้วยซีเมนต์ คอนกรีต หรือทำด้วยหินเทียม จะเสริมให้แข็งแรงหรือไม่ก็ตาม (HS Code 6810) ของฟิลิปปินส์ตั้งแต่ปี 2564 – 2566 (ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
อันดับ | ประเทศ | มูลค่า (เหรียญสหรัฐฯ) | ส่วนแบ่งตลาด (2566)
(ร้อยละ) |
เปลี่ยนแปลง
(ร้อยละ) 2566/2565 |
||
2564 | 2565 | 2566 | ||||
โลก | 19,126,622 | 31,339,063 | 24,004,193 | 100.00 | -23.40 | |
1 | จีน | 12,014,309 | 13,571,960 | 16,368,413 | 68.19 | 20.60 |
2 | มาเลเซีย | 1,409,666 | 1,595,573 | 3,242,135 | 13.51 | 103.20 |
3 | ญี่ปุ่น | 2,549,936 | 1,744,876 | 1,091,692 | 4.55 | -37.43 |
4 | เวียดนาม | 777,594 | 649,014 | 825,625 | 3.44 | 27.21 |
5 | ไทย | 802,696 | 649,676 | 642,926 | 2.68 | -1.04 |
ที่มา: Global Trade Atlas
จากตารางที่ 6 จะเห็นได้ว่า ฟิลิปปินส์มีการนำเข้าของทำด้วยซีเมนต์น้อยลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และจีนเป็นผู้เล่นหลักในตลาดตามมาด้วยมาเลเซียและญี่ปุ่น ส่วนไทยนับว่ามีส่วนแบ่งตลาดน้อยลงเมื่อเทียบกับปี 2564 และ มีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 2.68 เท่านั้น
ตารางที่ 7 มูลค่าและสัดส่วนการนำเข้าของทำด้วยแอสเบสทอสซีเมนต์ เซลลูโลสไฟเบอร์ ซีเมนต์หรือทำด้วยของที่คล้ายกัน (HS Code 6811) ของฟิลิปปินส์ตั้งแต่ปี 2564 – 2566 (เหรียญสหรัฐฯ)
อันดับ | ประเทศ | มูลค่า (เหรียญสหรัฐฯ) | ส่วนแบ่งตลาด (2566)
(ร้อยละ) |
เปลี่ยนแปลง
(ร้อยละ) 2566/2565 |
||
2564 | 2565 | 2566 | ||||
โลก | 66,058,144 | 99,225,388 | 61,196,847 | 100.00 | -38.33 | |
1 | ไทย | 57,494,532 | 81,651,099 | 52,460,928 | 85.72 | -35.75 |
2 | อินโดนีเซีย | 5,692,017 | 13,996,234 | 7,085,510 | 11.58 | -49.38 |
3 | จีน | 677,598 | 1,854,253 | 968,712 | 1.58 | -47.76 |
4 | มาเลเซีย | 438,299 | 673,114 | 353,792 | 0.58 | -47.44 |
5 | เวียดนาม | 464,717 | 362,095 | 110,927 | 0.18 | -69.37 |
ที่มา: Global Trade Atlas
จากตารางที่ 7 จะเห็นได้ว่า ฟิลิปปินส์มีการนำเข้าลดลงจาก 2 ปีก่อน โดยไทยมีการส่งออกสินค้าที่ทำด้วยแอสเบสทอสซีเมนต์ เซลลูโลสไฟเบอร์ ซีเมนต์ น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปี 2565 อย่างไรก็ดี ไทยยังถือเป็นเจ้าตลาดในสินค้านี้ และมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 85.72 และจีนมีการส่งสินค้ามายังฟิลิปปินส์น้อยมาก
ตารางที่ 8 มูลค่าและสัดส่วนการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก (HS Code 69) ของฟิลิปปินส์ตั้งแต่ปี 2564 – 2566 (เหรียญสหรัฐฯ)
อันดับ | ประเทศ | มูลค่า (เหรียญสหรัฐฯ) | ส่วนแบ่งตลาด (2566)
(ร้อยละ) |
เปลี่ยนแปลง
(ร้อยละ) 2566/2565 |
||
2564 | 2565 | 2566 | ||||
โลก | 937,665,427 | 935,062,259 | 833,954,007 | 100.00 | -10.81 | |
1 | จีน | 717,204,046 | 675,675,508 | 592,601,367 | 71.06 | -12.29 |
2 | ญี่ปุ่น | 90,262,686 | 96,264,131 | 72,678,296 | 8.71 | -24.50 |
3 | เวียดนาม | 46,293,845 | 56,374,994 | 56,185,169 | 6.74 | -0.34 |
4 | อินเดีย | 13,729,886 | 12,014,068 | 27,174,275 | 3.26 | 126.19 |
5 | อินโดนีเซีย | 18,388,082 | 27,643,113 | 20,002,259 | 2.40 | -27.64 |
7 | ไทย | 18,985,623 | 16,972,907 | 15,083,629 | 1.81 | -11.13 |
ที่มา: Global Trade Atlas
จากตารางที่ 8 จะเห็นได้ว่า ฟิลิปปินส์มีแนวโน้มในการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกลดลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และจีนยังคงเป็นเจ้าตลาดในสินค้านี้ มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 71.06 รองลงมาเป็นญี่ปุ่น และเวียดนามตามลำดับ อย่างไรก็ดี ฟิลิปปินส์นำเข้าจากไทยลดลงทุกปีเช่นเดียวกัน และไทยมีส่วนแบ่งตลาดไม่ถึงร้อยละ 2 ในสินค้านี้
ตารางที่ 9 มูลค่าและสัดส่วนการนำเข้าบล็อกปูพื้น แผ่นหนา อิฐ แผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัส กระเบื้อง และ ของอื่น ๆ ทำด้วยแก้วอัดหรือแก้วหล่อ จะเสริมด้วยลวด หรือไม่ก็ตาม ชนิดที่ใช้กับอาคารหรือเพื่อการก่อสร้าง (HS Code 7016) ของฟิลิปปินส์ตั้งแต่ปี 2564 – 2566 (เหรียญสหรัฐฯ)
อันดับ | ประเทศ | มูลค่า (เหรียญสหรัฐฯ) | ส่วนแบ่งตลาด (2566)
(ร้อยละ) |
เปลี่ยนแปลง
(ร้อยละ) 2566/2565 |
||
2564 | 2565 | 2566 | ||||
โลก | 4,965,140 | 3,633,829 | 5,735,405 | 100.00 | 57.83 | |
1 | จีน | 1,691,023 | 934,923 | 2,655,013 | 46.29 | 183.98 |
2 | ไทย | 1,726,178 | 1,046,930 | 1,266,737 | 22.09 | 21.00 |
3 | สหรัฐอเมริกา | 7,253 | 17,289 | 925,704 | 16.14 | 5,254.29 |
4 | ญี่ปุ่น | 806,008 | 1,054,767 | 400,459 | 6.98 | -62.03 |
5 | อินโดนีเซีย | 389,727 | 338,923 | 258,463 | 4.51 | -23.74 |
ที่มา: Global Trade Atlas
จากตารางที่ 9 จะเห็นได้ว่าฟิลิปปินส์มีแนวโน้มในการนำเข้าบล็อกปูพื้น อิฐ กระเบื้องที่ทำด้วยแก้วเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยจีนยังเป็นเจ้าตลาด มีส่วนแบ่งตลาดกว่าร้อยละ 46.29 ในขณะที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 22.09 และมีแนวโน้มน้อยลง นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าสหรัฐอเมริกามีการส่งสินค้าดังกล่าวเข้ามาในฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นมากกว่า 50 เท่าในปี 2566
ตารางที่ 10 มูลค่าและสัดส่วนการนำเข้ากระจกนิรภัยชนิดแตกแล้วไม่มีคม (เทมเพอร์) หรือชนิดแตกแล้วไม่กระจาย (ลามิเนต) (HS Code 7007) ของฟิลิปปินส์ตั้งแต่ปี 2564 – 2566 (เหรียญสหรัฐฯ)
อันดับ | ประเทศ | มูลค่า (เหรียญสหรัฐฯ) | ส่วนแบ่งตลาด (2566)
(ร้อยละ) |
เปลี่ยนแปลง
(ร้อยละ) 2566/2565 |
||
2564 | 2565 | 2566 | ||||
โลก | 23,761,803 | 23,574,212 | 26,491,474 | 100.00 | 12.37 | |
1 | จีน | 14,043,752 | 13,620,030 | 16,784,836 | 63.36 | 23.24 |
2 | ไทย | 4,536,604 | 4,088,005 | 4,708,701 | 17.77 | 15.18 |
3 | อินโดนีเซีย | 1,759,244 | 2,048,269 | 1,685,621 | 6.36 | -17.71 |
4 | มาเลเซีย | 341,299 | 306,562 | 403,341 | 1.52 | 31.57 |
5 | สิงคโปร์ | 255,724 | 408,071 | 400,116 | 1.51 | -1.95 |
ที่มา: Global Trade Atlas
จากตารางที่ 10 จะเห็นได้ว่า ฟิลิปปินส์มีแนวโน้มในการนำเข้ากระจกนิรภัยเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยจีนยังเป็นเจ้าตลาด มีส่วนแบ่งตลาดกว่าร้อยละ 63.36 ในขณะที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 17.77 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน
จากตารางที่ 6-10 จะเห็นได้ว่า ไทยมีส่วนแบ่งตลาดจำนวนมากในหลายรายการสินค้า เช่น กระจกนิรภัย บล็อกปูพื้นที่ทำด้วยแก้วและ แอสเบสทอสซีเมนต์ เซลลูโลสไฟเบอร์ ซีเมนต์ อย่างไรก็ดี คู่แข่งสำคัญภายในตลาดวัสดุก่อสร้างที่สำคัญคือจีน ซึ่งมุ่งเน้นกลยุทธ์ต้นทุนต่ำเป็นหลัก โดยผู้รับเหมาก่อสร้างและผู้บริโภคเลือกใช้สินค้าจีนเมื่อต้องการสินค้าที่มีต้นทุนต่ำ
- นโยบาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและอัตราภาษีนำเข้า
7.1 นโยบาย Build Better More (BBM)
นโยบาย Build Better More (BBM) เป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลประธานาธิบดี Marcos Jr. ซึ่งต้องการต่อยอดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลก่อนในโครงการ Build! Build! Build! (BBB) ที่เป็นความพยายามในการแก้ปัญหาความไม่เพียงพอของโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ โดยโครงการ BBM นั้น ประกอบด้วยโครงการโครงสร้างพื้นฐานกว่า 198 โครงการและมีมูลค่ารวมกันสูงกว่า 8.8 ล้านล้านเปโซ ภายใต้ 198 โครงการนี้ 124 โครงการเป็นโครงการใหม่ และ 74 โครงการเป็นโครงการต่อยอดจากรัฐบาลก่อน โดยเมื่อพิจารณา ตามประเภทของโครงการ พบว่าเป็นโครงการเชื่อมต่อทางคมนาคมมากที่สุดกว่า 123 โครงการ และมีเงินลงทุนสูงกว่า 7 ล้านล้านเปโซ ดังแสดงในตารางที่ 11
ตารางที่ 11 โครงการโครงสร้างพื้นฐานภายใต้นโยบาย Build Better More (BBM)
ประเภทโครงการ | จำนวน | งบประมาณ (พันล้านเปโซ) |
การเชื่อมต่อทางคมนาคม | 123 | 7,052.9 |
ทรัพยากรน้ำ | 44 | 839.1 |
การเกษตร | 15 | 661.7 |
สุขภาพ | 6 | 89.1 |
การเชื่อมต่อทางดิจิทัล | 5 | 87.1 |
พลังงาน | 1 | 10.2 |
โครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ | 4 | 35.9 |
รวม | 198 | 8,776.0 |
ที่มา :NEDA
สำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานนั้น มีทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางราง (24 โครงการ งบประมาณ 3.2 ล้านล้านเปโซ) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางถนนและสะพาน (52 โครงการ งบประมาณ 1.9 ล้านล้านเปโซ) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขนส่งทางอากาศ (16 โครงการ งบประมาณ 1.1 ล้านเปโซ) การลงทุนโครงการการขนส่งในเขตเมือง (25 โครงการ งบประมาณ 582.3 พันล้านเปโซ) และการลงทุนโครงการการขนส่งทางทะเล 5 โครงการ (209.4 พันล้านเปโซ)
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายใต้นโยบาย Build Better More (BBM)
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตามโครงการที่มีงบประมาณสูงสุด พบว่าส่วนใหญ่เป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานเช่นเดียวกัน ยกเว้นโครงการถนนจากฟาร์มสู่ตลาด และโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานข้าวให้ทันสมัย ดังแสดงในตารางที่ 12
ตารางที่ 12 โครงการที่ได้รับงบประมาณสูงสุดภายใต้นโยบาย Build Better More (BBM) (พันล้านเปโซ)
ลำดับ | โครงการ | งบประมาณ
(พันล้านเปโซ) |
1 | North-South Commuter Railway | 873.6 |
2 | New Manila International Airport | 735.6 |
3 | Metro Manila Subway Project | 488.5 |
4 | North Long-Haul Railway | 400.0 |
5 | Daang Maharlika Improvement | 251.2 |
6 | MRT Line 5 | 250.0 |
7 | FMRDP Farm-to-Market Road Projects | 249.4 |
8 | Bataan-Cavite Interlink Bridge | 219.3 |
9 | Rice Infrastructure Modernization Project | 203.4 |
10 | Panay-Guimaras-Negros Inter-Island Bridge | 181.5 |
ที่มา :NEDA
7.2 แผนแม่บทอุตสาหกรรมก่อสร้าง (Philippine Construction Industry Roadmap)
กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม โดยองค์การอุตสาหกรรมการก่อสร้างฟิลิปปินส์ (DTI-CIAP) ร่วมกับสมาคมผู้ก่อสร้างฟิลิปปินส์ (Philippine Constructors Association (PCA)) ได้ประกาศแผนแม่บทอุตสาหกรรมก่อสร้างของประเทศในปี 2020 – 2030 ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการสร้างมูลค่าอุตสาหกรรมก่อสร้าง 130 ล้านล้านเปโซในปี 2020 – 2030 วิสัยทัศน์นี้ขับเคลื่อนโดยรัฐบาลที่มีความกระตือรือร้นและมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นรากฐานที่แข็งแกร่ง อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนที่พร้อมผลักดันการลงทุนทางกายภาพร่วมกันให้เพิ่มขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างเร่งด่วน ยั่งยืน และครอบคลุมทุกมิติ
แผนแม่บทดังกล่าว มี 4 มิติหลัก ได้แก่ ผลิตภาพ ความยั่งยืน โลกาภิวัตน์ และสถาบัน (รัฐและเอกชน) ภายใต้แผนปฏิบัติย่อย 7 แผนสำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม และแผนการยกระดับและสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ Construction Industry Authority of the Philippines (DTI-CIAP) ให้เป็นองค์กรที่ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยแผนดังกล่าวได้แก่
- แผนปฏิบัติการฟื้นฟู CIAP
B.1. แผนปฏิบัติการสื่อสาร
B.2. แผนรณรงค์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแห่งชาติ
B.3. แผนปฏิบัติการยกระดับทักษะ ความเป็นมืออาชีพ และผลิตภาพ
B.4. แผนปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและการปรับปรุงให้ทันสมัย
B.5. แผนรณรงค์ปฏิรูปนโยบาย
B.6. แผนปฏิบัติการความร่วมมือระหว่างรัฐบาล อุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษา
B.7. แผนปฏิบัติการส่งออกและการ Outsource บริการก่อสร้าง
7.3 กฎหมายอาคารสีเขียว (Philippine Green Building Code)
อุตสาหกรรมก่อสร้างโดยเฉพาะการสร้างอาคารสูงและอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย นับเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อมลพิษและทำให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยิ่งเลวร้ายลง ทั้งยังมีผลกระทบในแง่ลบอื่นๆ
ต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ วิธีการก่อสร้างแบบดั้งเดิมยังส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมากต่อสุขภาพของมนุษย์อีกด้วย รัฐบาลฟิลิปปินส์ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยรวม จึงได้มีการจัดทำ “กฎอาคารสีเขียว” ขึ้น โดยกฎนี้อยู่ภายใต้ พระราชกฤษฎีกา (P.D.) 1096 หรือ Green Building Code of the Philippines ซึ่งเป็นกฎหมายลูกของ National Building Code (RA 6541)
กฎอาคารสีเขียว มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้งานของอาคารและลดผลกระทบเชิงลบ โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน การออกแบบอาคารที่ดีขึ้น การเลือกพื้นที่ก่อสร้างที่เหมาะสม และการก่อสร้างอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งช่วยลดต้นทุนในการก่อสร้างด้วย
ประเภทอาคารที่กฎอาคารสีเขียวบังคับใช้
กฎอาคารสีเขียวกำหนดให้ใช้กับอาคารในประเภทต่างๆ ที่มีพื้นที่ใช้สอยรวมทั้งหมด (TGFA) ดังนี้:
- ที่อยู่อาศัย: คอนโดมิเนียมที่มีพื้นที่ 20,000 ตารางเมตรขึ้นไป
- โรงแรมหรือรีสอร์ท: พื้นที่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป
- สถานศึกษา: โรงเรียนที่มีพื้นที่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป
- สถานพยาบาล: โรงพยาบาลที่มีพื้นที่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป
- ธุรกิจ: สำนักงานที่มีพื้นที่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป
- พื้นที่การค้า: ศูนย์การค้าขนาด 15,000 ตารางเมตรขึ้นไป
- อาคารที่มีการใช้งานหลากหลาย: พื้นที่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป
ทั้งนี้ อาคารที่สร้างก่อนการประกาศใช้กฎอาคารสีเขียว ไม่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดนี้ ยกเว้นกรณีที่อาคารดังกล่าวมีการเพิ่มเติม ดัดแปลง ปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้พื้นที่ใช้สอยถึงเกณฑ์ TGFA ที่กำหนด จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎนี้
ข้อกำหนดสำคัญของกฎอาคารสีเขียวในฟิลิปปินส์
- ประสิทธิภาพด้านพลังงาน (Energy Efficiency):
- ต้องนำวิธีการออกแบบ วิธีการ เทคโนโลยี และการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพมาใช้ เพื่อประหยัดพลังงานและลดต้นทุน
- ต้องพิจารณาองค์ประกอบต่างๆ เช่น การกันความชื้นและคุณสมบัติของกระจก การระบายอากาศ การเลือกสีของอาคาร ฉนวนหลังคา ระบบกลไก เช่น เครื่องปรับอากาศ ระบบไฟฟ้า และอื่นๆ
- ประสิทธิภาพด้านน้ำ (Water Efficiency):
- การวางแผนใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การเก็บน้ำฝน การรีไซเคิลน้ำ รวมถึงการใช้วัสดุและอุปกรณ์ที่ช่วยลดการใช้น้ำ
- ความยั่งยืนของวัสดุ (Material Sustainability):
- เลือกใช้วัสดุที่ไม่เป็นอันตรายและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม
- การจัดการขยะ (Solid Waste Management):
- ผู้พัฒนาและผู้จัดการอาคารต้องมีแนวทางการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ เช่น การแยกขยะอย่างถูกต้อง
- ความยั่งยืนของพื้นที่ (Site Sustainability):
- ลดผลกระทบจากการก่อสร้างต่อระบบนิเวศ เช่น การปรับสภาพพื้นดิน การใช้พื้นที่เปิดโล่ง ให้เกิดความยั่งยืน
- คุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในอาคาร (Indoor Environmental Quality):
- ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของผู้ที่ใช้อาคาร เช่น การจัดอัตราการระบายอากาศที่เหมาะสม และการกำหนดพื้นที่สูบบุหรี่
7.4 กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าวัสดุก่อสร้าง
ในส่วนของเอกสารการนำเข้าสินค้าในกลุ่มนี้้เป็นไปตามหลักสากล กล่าวคือมี Commercial Invoice, Packing List, Pro-forma Invoice, Insurance certificate และ Certificate origin
อย่างไรก็ตาม สินค้าวัสดุและอุปกรณ์การก่อสร้างที่จำหน่ายในฟิลิปปินส์จำเป็นต้องมีคุณภาพตามมาตรฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้ใช้ โดยสินค้าบางประเภทต้องได้รับการรับรองเครื่องหมาย PS (สำหรับสินค้าที่ผลิตในประเทศ) หรือ ICC (สินค้านำเข้า) ก่อนจำหน่ายแก่ผู้บริโภค ดังนี้
ตรามาตรฐาน PS และ ICC ของฟิลิปปินส์
ผลิตภัณฑ์เหล็ก
- ท่อเหล็ก BI/GI
- ท่อเหล็กเชื่อมแบบมีรอยเชื่อมสีดำและชุบสังกะสีแบบเบา
- เหล็กเส้นข้ออ้อย
- เหล็กฉากขาเท่ากัน
- เหล็กเส้นรีโรล
- ลวดเหล็กคาร์บอนต่ำ
- ตะปูลวดเหล็ก
ท่อพลาสติกและผลิตภัณฑ์เซรามิก
- ท่อ PB สำหรับระบบน้ำดื่ม
- ท่อ PE สำหรับระบบน้ำดื่ม
- ท่อ uPVC สำหรับระบบน้ำดื่ม
- ท่อร้อยสายไฟฟ้าแบบแข็ง uPVC
- ท่อ PVC-U สำหรับท่อระบายน้ำและท่อระบายอากาศ
- สุขภัณฑ์เซรามิก (เครื่องสุขภัณฑ์)
- กระเบื้องเซรามิก
ปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ
- ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์
- ปูนซีเมนต์ผสมไฮดรอลิก
- ไม้อัด
- บล็อกคอนกรีตรับน้ำหนัก
- บล็อกคอนกรีตไม่รับน้ำหนัก
- บล็อกคอนกรีตมวลเบาอบไอน้ำแบบไม่เสริมเหล็ก
- บล็อกคอนกรีตมวลเบาอบไอน้ำ (AAC)
- คอนกรีตมวลเบาอบไอน้ำ (AAC) แบบเสริมเหล็ก
ในการขอ ICC ผู้นำเข้าจะต้องใช้หลักฐาน ดังนี้
- ใบกำกับการบรรจุ (Packing list)
- ใบรายการนำเข้า (Import entry) (ไม่จำเป็นต้องยื่นในขั้นตอนการสมัคร แต่จะต้องใช้เป็นเอกสารประกอบในการออกใบรับรอง ICC)
- ใบแจ้งหนี้ทางการค้า (Commercial Invoice)
- ใบตราส่งสินค้าทางเรือ/ใบขนส่งสินค้าทางอากาศ (Bill of Lading/Airway Bill)
- สรุปหมายเลขแบทช์รุ่นของผลิตภัณฑ์
- ทะเบียนชื่อธุรกิจจาก DTI (สำหรับเจ้าของคนเดียว)
- หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (สำหรับบริษัท)
- หนังสือมอบอำนาจ (สำหรับเจ้าของคนเดียว)
- มติคณะกรรมการ/หุ้นส่วน หรือหนังสือรับรองการแต่งตั้งตัวแทนจากเลขานุการที่รับรองโดยทนายความ (สำหรับบริษัท)
- หนังสือค้ำประกัน
- หนังสือรับรองการเป็นผู้นำเข้าจากกรมสรรพากร (BIR Importers Clearance Certificate)
- ที่อยู่การเรียกเก็บเงินปัจจุบัน (สำนักงานและคลังสินค้า)
- ใบรับรอง ISO 9001 ของผู้ผลิต
- รายงานการทดสอบที่ยังมีผลบังคับใช้
- สำหรับเหล็กเส้นรีโรล เหล็กเส้นข้ออ้อย และเหล็กฉากขาเท่ากันต้องมี:
– ส่งตราสัญลักษณ์ให้แก่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (BPS) ก่อนการนำเข้า
– ใบรับรองจากโรงงาน รายงานการตรวจสอบคุณภาพ หรือเอกสารที่เทียบเท่าจากผู้ผลิต
โดยเอกสารสำเนาทุกฉบับต้องได้รับการรับรองความถูกต้องและถูกต้องโดยผู้ลงนามที่ได้รับอนุญาต ของบริษัทผู้สมัคร
นอกจากนี้ สำหรับสินค้าต่อไปนี้จะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับฉลากโดยเฉพาะด้วย โดยสินค้าเหล่านี้ได้แก่
- ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์
- ปูนซีเมนต์ผสม
- เหล็กเส้นข้ออ้อย
- เหล็กเส้นรีโรล
- เหล็กฉากขาเท่ากัน
- ท่อเหล็กเชื่อมตามยาวสีดำและท่อเหล็กชุบสังกะสีแบบจุ่มร้อน
- กระเบื้องเซรามิก
- ไม้อัด
- เครื่องสุขภัณฑ์
- ลวดเหล็กคาร์บอนต่ำ
- ตะปูลวดเหล็ก
- ท่อโพลีบิวทิลีน (PB) สำหรับระบบน้ำดื่ม
- ท่อโพลีเอทิลีน (PE) สำหรับระบบน้ำดื่ม
- ท่อโพลีไวนิลคลอไรด์ชนิดไม่เติมพลาสติไซเซอร์ (uPVC) สำหรับระบบน้ำดื่ม
- ท่อร้อยสายไฟฟ้าโพลีไวนิลคลอไรด์ชนิดไม่เติมพลาสติไซเซอร์ (uPVC)
- ระบบท่อพลาสติกสำหรับระบายน้ำเสียภายในอาคาร (อุณหภูมิต่ำและสูง) – โพลีไวนิลคลอไรด์ชนิด ไม่เติมพลาสติไซเซอร์ (PVC-U)
โดยสามารถตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน https://bps.dti.gov.ph/images/SCD_Documents/ List_of_DTI-BPS_Regulated_Building__Construction_Products_with_Marking_Requirements.pdf
7.5 มาตรฐานแห่งชาติฟิลิปปินส์ (Philippines national standard : PNS)
มาตรฐานแห่งชาติฟิลิปปินส์ (PNS) เป็นเอกสารที่เขียนขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคและผ่านการอนุมัติโดยสำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับกฎวิธีการมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้มีการวัดมาตรฐานของสินค้าในประเทศอย่างเหมาะสม โดยผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีมาตรฐานตามที่กำหนด ดังแสดงในตารางที่ 13
ตารางที่ 13 ผลิตภัณฑ์และเลขที่มาตรฐาน PNS ของฟิลิปปินส์
ชื่อวัสดุ | มาตรฐาน |
Cement and Lime (ปูนซีเมนต์) | |
ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ – ข้อกำหนด | PNS 7:2005 |
ปูนซีเมนต์ปอซโซลาน – ข้อกำหนด | PNS 63:2006 |
Ceramic and Ceramic Products (เซรามิกและผลิตภัณฑ์เซรามิก) | |
เครื่องสุขภัณฑ์ – ข้อกำหนด | PNS 156:1992 |
Electric Wires and Cables (สายไฟและสายเคเบิล) | |
ท่อร้อยสายไฟพีวีซีแข็ง (uPVC) – ข้อกำหนด | PNS 14:1983 |
สายไฟฟ้าชนิดเทอร์โมพลาสติก | PNS 35:1990 |
ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า: สายไฟพีวีซีชนิดอ่อน – ข้อกำหนด | PNS 186:1994 |
Lamps and Related Equipment (โคมไฟและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง) | |
บัลลาสต์สำหรับหลอดฟลูออเรสเซนต์ – ข้อกำหนดทั่วไปและความปลอดภัย | PNS 12-1:1997 |
บัลลาสต์สำหรับหลอดฟลูออเรสเซนต์ – ข้อกำหนดประสิทธิภาพ | PNS 12-2:1997 |
บัลลาสต์สำหรับหลอดไฟแรงดันสูงเมทัลฮาไลด์ – ข้อกำหนด | PNS 105:1987 |
บัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์ AC สำหรับหลอดฟลูออเรสเซนต์ (ตอนที่ 1: ความปลอดภัยทั่วไป) | PNS 135-1:1997 |
บัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์ AC สำหรับหลอดฟลูออเรสเซนต์ (ตอนที่ 2: ประสิทธิภาพ) | PNS 135-2:1997 |
สวิตช์ไฟและเบรกเกอร์ไฟฟ้า – ข้อกำหนด | PNS 519:1997 |
สวิตช์ควบคุมแรงดันไฟฟ้าต่ำ และตัวควบคุม ตอนที่ 2: เบรกเกอร์ไฟฟ้า | PNS 1573:1997 |
ท่อร้อยสายไฟพีวีซีแข็ง (uPVC) – ข้อกำหนด | PNS 14:1983 |
หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์สองหัว – ข้อกำหนดประสิทธิภาพ | PNS IEC 6081:1997 |
หลอดไฟทั่วไป ตอนที่ 1: ความปลอดภัย | PNS 603:1993 |
หลอดไฟทั่วไป ตอนที่ 2: ประสิทธิภาพ | PNS 603-2:1993 |
Knife switches | PNS 118:1992 |
สวิตช์แบบ Snap สำหรับการใช้งานทั่วไป | PNS 57:1996 |
สวิตช์สำหรับการติดตั้งไฟฟ้าในครัวเรือน (ตอนที่ 1: ข้อกำหนดทั่วไป) | PNS 1485-1:1996 |
เทปกาวพีวีซีสำหรับไฟฟ้า | PNS 79:1992 |
Lumber and Wood Products (ผลิตภัณฑ์ไม้) | |
ไม้อัด – ข้อกำหนด | PNS 196:2000 |
Pipes and Fittings (ท่อและอุปกรณ์ข้อต่อ) | |
ท่อ PE ความหนาแน่นสูงสำหรับน้ำประปา – ข้อกำหนด | PNS 55:1986 |
ท่อ PB สำหรับน้ำประปา – ข้อกำหนด | PNS 152:1987 |
ท่อ PVC แข็งสำหรับน้ำประปา – ข้อกำหนด | PNS 65:1993 |
ท่อเหล็กหล่อสีเทาสำหรับแรงดันน้ำ – ข้อกำหนด | PNS 1991:2002 |
Steel (เหล็กกล้า) | |
ท่อเหล็กดำและท่อเหล็กกัลวาไนซ์แบบเชื่อมตะเข็บยาว | PNS 26:1992 |
เหล็กเส้นกลมรีดซ้ำสำหรับคอนกรีตเสริมเหล็ก | PNS 49:1991 |
เหล็กเส้นสำหรับคอนกรีตเสริมเหล็ก | PNS 230:1983 |
แผ่นเหล็กชุบสังกะสีและม้วน – ข้อกำหนด | PNS 67:2000 |
แผ่นเหล็กชุบสังกะสีและม้วนแบบพ่นสี | PNS 199:2004 |
แผ่นเหล็กกล้าลดความเย็นสำหรับงานเชิงพาณิชย์และงานขึ้นรูป | PNS 126:1993 |
แผ่นเหล็กชุบสังกะสีแบบจุ่มร้อน | PNS 199:2004 |
แผ่นเหล็กเคลือบอะลูมิเนียมสังกะสีแบบจุ่มร้อน | PNS 103:1993 |
แผ่นเหล็กเคลือบอะลูมิเนียมอัลลอย 55% แบบจุ่มร้อน | PNS 203:2004 |
ตะปูเหล็ก – ข้อกำหนด | PNS 136:2000 |
7.6 อัตราภาษีนำเข้า
สำหรับสินค้าวัสดุก่อสร้างในฟิลิปปินส์ ประเทศในกลุ่มอาเซียนเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0 ภายใต้ความตกลง ATIGA ในขณะที่ประเทศนอกกลุ่มอาเซียนต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 1-20 ดังนั้น อัตราภาษีนำเข้าจึงนับเป็นความได้เปรียบอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการไทย โดยอัตราภาษีของสินค้าวัสดุก่อสร้างของฟิลิปปินส์แสดงในตารางที่ 14
ตารางที่ 14 อัตราภาษีนำเข้าของผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างของฟิลิปปินส์
HS Code | ผลิตภัณฑ์ | อัตราภาษีทั่วไป
(MFN) |
อัตราภาษีสำหรับประเทศในอาเซียนภายใต้กรอบ ATIGA |
40 | ยาง | 1-10 | 0 |
68 | วัสดุจากหิน ซีเมนต์และแอสเบสตอส | 1-10 | 0 |
6806 | ใยขี้แร่ ใยหินและใยแร่ที่คล้ายกัน รวมทั้งเอกซ์ดฟลีเอตเต็ดเวอร์มิคิวไลต์เอกซ์แปนเด็ดเคลย์ โฟมสแลกและวัตถุจำพวกแร่ชนิดเอกซ์แปนเด็ดที่คล้ายกัน | 1-3 | 0 |
6808 | แผง แผ่น กระเบื้อง ก้อนเหลี่ยมและของที่คล้ายกัน ที่ทำด้วยเส้นใยพืช ฟาง หรือทำด้วยขี้กบ ชิ้นไม้ สะเก็ดไม้ ขี้เลื่อยหรือเศษไม้อื่นๆ เกาะหรือติดรวมกัน ด้วยซีเมนต์ ปลาสเตอร์หรือสารยึดจำพวกแร่อื่น ๆ | 10 | 0 |
6809 | ของทำด้วยปลาสเตอร์หรือที่มีส่วนผสมของปลาสเตอร์เป็นหลัก | 5-10 | 0 |
6810 | ของทำด้วยซีเมนต์ คอนกรีต หรือทำด้วยหินเทียม จะเสริมให้แข็งแรงหรือไม่ก็ตาม | 10 | 0 |
6811 | ของทำด้วยแอสเบสทอสซีเมนต์ เซลลูโลสไฟเบอร์ ซีเมนต์หรือทำด้วยของที่คล้ายกัน | 10 | 0 |
69 | อิฐบล็อก เซรามิก กระเบื้องมุงหลังคา อ่างล้างหน้า อ่างล้างชาม เครื่องใช้ต่าง ๆ ที่เป็นเซรามิก | 1-15 | 0 |
70 | กระจก แก้ว และผลิตภัณฑ์ | 0-15 | 0 |
7007 | กระจกนิรภัยชนิดแตกแล้วไม่มีคม (เทมเพอร์) หรือชนิดแตกแล้ว ไม่กระจาย (ลามิเนต) | 5-10 | 0 |
7013 | เครื่องแก้วชนิดที่ใช้บนโต๊ะอาหาร ในครัว ในห้องน้ำ ในสำนักงานใช้ตกแต่งภายในหรือเพื่อวัตถุประสงค์ที่คล้ายกัน | 10-15 | 0 |
7016 | บล็อกปูพื้น แผ่นหนา อิฐ แผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัส กระเบื้องและของอื่น ๆ ทำด้วยแก้วอัดหรือแก้วหล่อ จะเสริมด้วยลวดหรือไม่ก็ตาม | 5-10 | 0 |
73 | เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ | 1-20 | 0 |
76 | อะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ | 1-15 | 0 |
จากตารางดังกล่าว จะเห็นว่า ประเทศในอาเซียน มีความได้เปรียบประเทศนอกกลุ่ม สำหรับสินค้าวัสดุก่อสร้างในฟิลิปปินส์ เนื่องจากเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0 ภายใต้ข้อตกลง ATIGA ในขณะที่ประเทศนอกกลุ่ม หากต้องการนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในฟิลิปปินส์ อาจต้องเสียภาษีมากถึงร้อยละ 1-20 ดังนั้น ภาษีจึงนับเป็นความได้เปรียบอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการไทย
- การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยงของสินค้าวัสดุก่อสร้างไทยในฟิลิปปินส์
จากข้อมูลตลาดและการวิเคราะห์สินค้าวัสดุก่อสร้างของไทย สามารถระบุจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส
และความเสี่ยง (SWOT) ของสินค้าวัสดุก่อสร้างไทยในฟิลิปปินส์ได้ ดังแสดงในตารางที่ 15
ตารางที่ 15 การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยงของสินค้าวัสดุก่อสร้างไทย ในฟิลิปปินส์
มิติ | รายละเอียด |
จุดแข็ง (Strength) | 1. ผู้ประกอบการไทยมีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยและ มีประสิทธิภาพ เช่น การผลิตเหล็กที่มีคุณภาพ มีรูปแบบตรงตามความต้องการของลูกค้า คุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศ
2. บริษัทหรือโรงงานต่างๆ ของไทยได้รับการรับรองมาตรฐานสากล ISO9001 ISO14001 3. อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างไทยมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น การผลิตวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 4. ผู้ประกอบการไทยมีฐานลูกค้าอยู่ในฟิลิปปินส์อยู่แล้ว 5. สินค้าไทยมักมีราคาที่คุ้มค่าและเหมาะสม |
จุดอ่อน (Weakness) | 1. ต้นทุนของสินค้ามีราคาสูงกว่าคู่แข่งบางราย (เช่น จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย) เนื่องจากไทยมีค่าแรงงานและค่าขนส่งที่สูงกว่า
2. ขาดการวิจัยและพัฒนาสินค้าต่างๆ ให้ทันสมัย เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ 3. ผู้ประกอบการไทยบางส่วนอาจขาดความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับกฎระเบียบและพฤติกรรมผู้บริโภคในฟิลิปปินส์ |
โอกาส (Opportunity) | 1. ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) ส่งผลให้อัตราภาษีนำเข้าสำหรับวัสดุก่อสร้างของในอาเซียนเหลือร้อยละ 0
2. ตลาดภายในฟิลิปปินส์เริ่มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากรายได้ประชากรและการขยายตัวของชนชั้นกลาง 3. ฟิลิปปินส์ให้ความสำคัญกับการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้วัสดุก่อสร้าง ที่เน้นประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีโอกาสเติบโตได้ดี 4. โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในฟิลิปปินส์ เช่น “Build Better More” ทำให้มีความต้องการวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับสินค้าจากไทย 5. ฟิลิปปินส์ให้ความสำคัญกับการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้วัสดุก่อสร้าง ที่เน้นประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีโอกาสเติบโตได้ดี
|
ความเสี่ยง (Threat) | 1. การนำเข้าสินค้าในฟิลิปปินส์อาจต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อนและข้อกำหนดที่เข้มงวด ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคสำหรับธุรกิจที่ไม่คุ้นเคยกับกฎระเบียบท้องถิ่น
2. การกระจายรายได้ให้แก่ประชากรที่ยากจนยังไม่ดี 3. ฟิลิปปินส์นำเข้าวัสดุก่อสร้างจากหลายประเทศ เช่น จีน และเวียดนาม ซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่าและอาจเป็นคู่แข่งที่สำคัญสำหรับสินค้าไทย 4. ฟิลิปปินส์มีต้นทุนการขนส่งและการกระจายสินค้าภายในประเทศสูง ทำให้สินค้าจากไทยอาจเผชิญกับความท้าทายด้านค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการจัดส่ง |
- การวิเคราะห์ส่วนประสมทางการตลาดของสินค้าวัสดุก่อสร้างไทยในฟิลิปปินส์
จากข้อมูลสถานการณ์ทางการตลาดของสินค้าวัสดุก่อสร้างในฟิลิปปินส์ สามารถวิเคราะห์กลยุทธ์ทางการตลาดที่ผู้ประกอบการควรใช้ในตลาดฟิลิปปินส์ ดังแสดงในตารางที่ 16
ตารางที่ 16 กลยุทธ์ของส่วนประสมทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ควรใช้ในตลาดฟิลิปปินส์
ส่วนประสมทางการตลาด | กลยุทธ์ |
ผลิตภัณฑ์ (Product) | ผู้ประกอบการไทยควรเน้นคุณภาพของวัสดุก่อสร้างที่ได้มาตรฐานสากล เช่น ISO เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าในฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ เช่น บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และผู้รับเหมา นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์มีแนวโน้ม ให้ความสำคัญกับการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการไทยสามารถเน้นสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ปูนซีเมนต์ที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ หรือกระเบื้องประหยัดพลังงาน |
ราคา (Price) | นำเสนอราคาระดับกลางคือ ต่ำกว่าราคาของผู้นำตลาด แต่ต้องสูงกว่าสินค้าประเภทเดียวกันจากประเทศจีน แต่หากสามารถจำหน่ายสินค้าได้ในระดับราคาต่ำจะทำให้สามารถจำหน่ายได้มากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอาจพิจารณาเสนอตัวเลือกการผ่อนชำระหรือเครดิตระยะสั้นให้แก่ลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งจะช่วยดึงดูดผู้ประกอบการที่ต้องการบริหารกระแสเงินสดให้คล่องตัว |
การจัดจำหน่าย (Place) | ฟิลิปปินส์มีช่องทางการกระจายสินค้าที่หลากหลาย โดยกลุ่มของผู้บริโภคระดับกลาง-บน มักซื้อสินค้าวัสดุก่อสร้างใน Depot ขนาดใหญ่ นอกจากนี้ อาจนำเสนอต่อบริษัทในอุตสาหกรรมก่อสร้างขนาดใหญ่ต่างๆ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรใช้ช่องทางติดต่อกับผู้นำเข้าและผู้แทนจำหน่ายที่มีเครือข่ายกระจายสินค้าหลายแห่งโดยตรง โดยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในฟิลิปปินส์ ซึ่งนับเป็น อีกทางเลือกหนึ่งที่จะนำสินค้าเข้าสู่ตลาด เพราะผู้ประกอบการฟิลิปปินส์จะเข้าชมงานแสดงสินค้านานาชาติ เช่น งาน Worldbex หรือ Philconstruct ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าวัสดุก่อสร้างที่สำคัญของประเทศ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจขยาย ช่องทางการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์หรือแอปพลิเคชันในฟิลิปปินส์ที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อได้สะดวกและเข้าถึงข้อมูลสินค้าได้ง่าย |
การส่งเสริมการขาย (Promotion)
|
ควรดำเนินกลยุทธ์ต่อผู้ขายสินค้าเป็นหลัก เนื่องจากสินค้าประเภทนี้ผู้ขายจะต้องมีความรู้และทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำสินค้าแก่ลูกค้าด้วย ดังนั้นกลยุทธ์การส่งเสริมการขายจึงควรให้เกิดผลต่อผู้ขายสินค้า เป็นสำคัญ ซึ่งอาจเป็นกลยุทธ์เรื่องราคาหรือการให้ความรู้แก่ผู้ขาย ว่าสินค้าดีอย่างไร เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสามารถใช้โซเชียลมีเดียและการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ลูกค้าในฟิลิปปินส์สามารถเห็นข้อมูลสินค้าและข้อดีของวัสดุก่อสร้างไทย รวมถึงการใช้โฆษณาผ่าน Facebook หรือ YouTube เพื่อเพิ่มการรับรู้ในวงกว้าง |
- สรุปและข้อเสนอแนะ
10.1 ฟิลิปปินส์นับเป็นตลาดวัสดุก่อสร้างที่มีศักยภาพสำหรับผู้ประกอบการไทย เนื่องจากมีปัจจัยบวกหลายประการ เช่น โครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล การขยายตัวของอสังหาริมทรัพย์และภาคธุรกิจที่ทำให้มีความต้องการวัสดุก่อสร้างเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีความต้องการบ้านราคาต่ำสำหรับผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีอีกด้วย
10.2 แนวโน้มหนึ่งที่สำคัญของตลาดวัสดุก่อสร้างในฟิลิปปินส์คือวัสดุก่อสร้างที่รักษาสิ่งแวดล้อม เนื่องจากฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่อ่อนไหวต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ และประสบภัยพิบัติบ่อยครั้ง นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการออกกฎหมายอาคารสีเขียวซึ่งเป็นกฎหมายภาคบังคับที่อุตสาหกรรมต้องปฏิบัติตาม ทำให้จำเป็นที่จะต้องใช้วัสดุก่อสร้างที่รักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยควรมุ่งเน้นจุดขายด้านคุณภาพเป็นหลัก เนื่องจากสินค้าจากจีนมีต้นทุนและราคาที่ต่ำกว่า
10.3 โครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบาย Build Better More ของรัฐบาลมาร์กอสทำให้เป็นโอกาสของผู้ประกอบการธุรกิจวัสดุก่อสร้างของไทยในการเจาะตลาดฟิลิปปินส์มากขึ้น โดยเฉพาะโครงการสร้างถนน ทางรถไฟต่างๆ ซึ่งมีงบประมาณสนับสนุนจำนวนมาก
10.4 ตัวแทนจัดจำหน่ายและผู้กระจายสินค้าถือเป็นช่องทางกระจายสินค้าวัสดุก่อสร้างที่สำคัญที่สุดสำหรับสินค้านำเข้า โดยตัวแทนจัดจำหน่ายและผู้กระจายสินค้าเหล่านี้จะส่งของไปให้ผู้จัดการโครงการก่อสร้างต่างๆ หรือผู้ค้าส่ง/ค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม มีบริษัทก่อสร้างบางแห่ง นำเข้าสินค้าวัสดุก่อสร้างไปยังสถานที่ก่อสร้างโดยตรงเลยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังมีร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้างหลายแห่ง โดยรายใหญ่มีประมาณ 3 ราย ได้แก่ Wilcon, Ace Hardware และ CW Home Depot
10.5 การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในฟิลิปปินส์ เช่น Thailand Week และงานสำคัญในประเทศได้แก่ Philconstruct และ Worldbex นับเป็นช่องทางสำคัญที่เปิดโอกาสทางการค้าสำหรับผู้ประกอบการไทยมากขึ้น โดยงานแสดงสินค้าเหล่านี้เริ่มขยายไปยังภูมิภาคอื่นๆ นอกกรุงมะนิลาเช่นเดียวกัน จึงเป็นโอกาสในการขยายตลาด ไปตามเมืองรองของฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น
10.6 ในส่วนของเอกสารการนำเข้าสินค้าในกลุ่มนี้เป็นไปตามหลักสากล กล่าวคือมี Commercial Invoice, Packing List, Pro-forma Invoice, Insurance certificate และ Certificate origin อย่างไรก็ตาม สินค้าวัสดุและอุปกรณ์การก่อสร้างที่จำหน่ายในฟิลิปปินส์จำเป็นต้องมีคุณภาพตามมาตรฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้ใช้ โดยต้องได้รับการรับรองเครื่องหมาย PS (สำหรับสินค้าที่ผลิตในประเทศ) หรือ ICC (สินค้านำเข้า) ก่อนจำหน่ายแก่ผู้บริโภค10.7 ประเทศในอาเซียน มีความได้เปรียบประเทศนอกกลุ่ม สำหรับสินค้าวัสดุก่อสร้างในฟิลิปปินส์ เนื่องจากเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0 ภายใต้ข้อตกลง ATIGA ในขณะที่ประเทศนอกกลุ่ม หากต้องการนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในฟิลิปปินส์ อาจต้องเสียภาษีมากถึงร้อยละ 1-20 ดังนั้น ภาษีจึงนับเป็นความได้เปรียบอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการไทยที่ทำให้เสียภาษีต่ำลง
แหล่งที่มา
https://metalexponents.com/blog/future-of-construction-industry-philippines/
https://psa.gov.ph/statistics/construction/aspbi
http://construction.gov.ph/wp-content/uploads/2022/07/18-PCIR-Action-Plans.pdf
https://stonenews.eu/the-outlook-of-the-philippine-construction-industry/
https://psa.gov.ph/statistics/construction/aspbi
https://psa.gov.ph/statistics/construction/pcs
https://psa.gov.ph/content/construction-statistics-approved-building-permits-philippines-2023
https://psa.gov.ph/price-indices/cmrpi
https://web.facebook.com/ming.hardware.sucat