กฎระเบียบในการนำเข้าสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไต้หวัน
กรมการค้าต่างประเทศของไต้หวัน (International Trade Administration) มีการจัดระเบียบการนำเข้าสินค้า (Import Regulations) โดยเงื่อนไขในการนำเข้าสินค้าแต่ละรายการปรากฏอยู่บนเว็บไซต์กรมศุลกากรไต้หวัน เช่น สินค้าห้ามนำเข้า สินค้าที่ต้องขออนุญาต สินค้าที่กำหนดคุณสมบัติผู้นำเข้า สินค้าที่ต้องผ่านการตรวจสอบเฉพาะก่อนนำเข้า ฯลฯ โดยแยกประเภทหรือจัดหมวดหมู่ด้วยเลขรหัส 3 หลัก เช่น
– 111 คือสินค้าที่จะต้องขออนุญาตนำเข้าจาก International Trade Administration
– 451, 454 คือสินค้าที่ผู้นำเข้าจะต้องจดทะเบียนเป็นผู้ค้าธัญพืช
– 465 คือสินค้าที่จะต้องแนบใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin)
– 502 คือสินค้าที่ผู้นำเข้าจะต้องจดทะเบียนเป็นผู้ค้ายาแผนโบราณ
– F01 คือสินค้านำเข้าในหมวดนี้จะต้องสอดคล้องตามระเบียบการนำเข้าอาหารและต้องผ่านการตรวจสอบโดยสำนักงานอาหารและยาของไต้หวัน (Taiwan Food and Drug Administration)
– B01 คือสินค้านำเข้าในหมวดนี้จะต้องสอดคล้องตามระเบียบสุขอนามัยและการกักกันพืชและสัตว์ และต้องผ่านการตรวจสอบโดยสำนักงานตรวจสอบสุขอนามัยพืชและสัตว์ของไต้หวัน (Animal and Plant Health Inspection Agency – APHIA)
1. ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสินค้าแต่ละประเภท
1.1 พืชและผลิตผล
สินค้าพืชและผลิตภัณฑ์พืชที่เป็นของสดที่นำเข้ามายังไต้หวันจะต้องผ่านการตรวจกักกันศัตรูพืชโดยเจ้าหน้าที่ของสำนักงานตรวจสอบสุขอนามัยพืชและสัตว์ (Animal and Plant Health Inspection Agency – APHIA) โดยการสุ่มตรวจการปนเปื้อนของหนอนแมลงศัตรูพืช หากพบหนอนแมลงทั่วไปจะต้องรมยาเมธิลโบรไมด์ก่อนจึงจะปล่อยสินค้า และหากพบหนอนหรือแมลงที่ต้องกักกัน (Quarantine pest) เช่น ไส้เดือนฝอย (Radopholus similis) สินค้านำเข้าจะต้องถูกทำลายหรือส่งกลับต้นทาง
สินค้าอาหารที่นำเข้ามายังไต้หวันจะต้องผ่านการการตรวจสารตกค้างที่เป็นอันตรายโดย FDA ไต้หวัน โดยต้องไม่เกินกว่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (MRLs) ที่ FDA ไต้หวันกำหนด ตาม Regulations of Inspection of Imported Foods and Related Products
ไต้หวันกำหนดความถี่ในการสุ่มตรวจสินค้านำเข้า 3 ระดับคือ ระดับปกติ (สุ่มตรวจ อัตรา 2-10% ของจำนวนล็อต), ระดับเพิ่มความระวัง (สุ่มตรวจ อัตรา 20-50% ของจำนวนล็อต) และ ระดับเข้มงวด (ตรวจสอบสินค้าในอัตรา 100% – ตรวจทุกล็อตที่นำเข้า) หากตรวจพบสินค้า HS Code เดียวกันจากผู้นำเข้ารายใดไม่สอดคล้องระเบียบ 1 ครั้ง จะเพิ่มความเข้มงวดเป็นระดับ 20-50% ของจำนวนล็อต หากสินค้านำเข้าชนิดเดิมจากผู้นำเข้ารายเดิมไม่สอดคล้องระเบียบอีกจะเพิ่มความเข้มงวดเป็นตรวจทุกล็อต ทั้งนี้ หากสินค้าชนิดเดิมจากผู้นำเข้ารายเดิมที่ถูกตรวจเข้มงวดผ่านการตรวจสอบสอดคล้องระเบียบ 5 ครั้งติดต่อกันในปริมาณ 3 เท่าของล็อตที่ไม่สอดคล้องระเบียบ จะลดระดับความเข้มงวดลงทีละขั้นจนถึงระดับปกติ
สินค้าอาหารภายใต้รหัสศุลกากร (HS Colde) เดียวกันที่ระดับ 10 หลักหากถูกตรวจพบไม่สอดคล้องระเบียบไต้หวัน 3 ครั้งในรอบ 6 เดือน FDA ไต้หวันจะขอให้ประเทศผู้ส่งออกชี้แจงและเสนอมาตรการปรับปรุง หากไม่ชี้แจงหรือเสนอมาตรการปรับปรุงแล้วสินค้านำเข้ายังไม่สอดคล้องระเบียบอีก ไต้หวันอาจดำเนินมาตรการระงับการนำเข้าสินค้าดังกล่าว
ที่ผ่านมาผักและผลไม้ไทยที่ส่งออก แม้จะผ่านการตรวจสอบสารตกค้างจากห้องปฏิบัติการในไทย แต่เมื่อส่งออกไปไต้หวันกลับตรวจพบสารตกค้างเกินมาตรฐานที่ไต้หวันกำหนด ทั้งนี้เนื่องจากไต้หวันมีการตรวจสารตกค้างมากถึง 400 กว่ารายการ เพื่อการแก้ปัญหา ผู้ส่งออกไทยอาจจะส่งสินค้ามาให้บริษัทตรวจสอบสินค้าเอกชนในไต้หวัน เช่น SGS (ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ตรวจสอบสินค้านำเข้าโดยทางการไต้หวัน) ทำการตรวจสอบก่อนว่าสอดคล้องกับระเบียบไต้หวันหรือไม่ก่อนการนำเข้า ข้อมูลการติดต่อ SGS Taiwan Ltd. Health & Nutrition คือ Tel: 07-301-2121 Ext. 3290 Fax: 07-301-2867 E-mail: jenny.tsai@sgs.com
1) ผลไม้สด
ผลไม้สดที่ไต้หวันอนุญาตให้นำเข้าจากไทยมีเพียง 6 ชนิด คือ ทุเรียน มังคุด มะพร้าว สับปะรด มะขาม และหมากสด โดยมีการกำหนดระเบียบนำเข้าเฉพาะสินค้าดังนี้
– มังคุด ในการส่งออกไปไต้หวันจะต้องผ่านการอบไอน้ำเพื่อกำจัดหนอนแมลงศัตรูพืชในขั้นตอนนำเข้า นอกจากนี้ไต้หวันยังมีวิธีการตรวจสอบสารตกค้างที่เข้มงวดมาก โดย FDA ไต้หวันจะนำเปลือกมังคุดและเนื้อมังคุดปั่นรวมกันแล้วจึงทำการตรวจสอบสารตกค้าง มังคุดไทยเคยถูกตรวจพบสารตกค้าง เช่น Cypermethrin, Acephate, Imidacloprid, Cypermethrin และ Prothiofos  โดยที่ไต้หวันกำหนดว่า Prothiofos  เป็นสารห้ามมีการตกค้าง สำหรับอีก 4 ชนิดข้างต้นไต้หวันอนุญาตให้มีการปนเปื้อนสูงสุดไม่เกิน 0.01 ppm เท่านั้น ระเบียบและมาตรฐานสารตกค้างอื่นๆ ปรากฏที่ เว็บไซต์ Taiwan FDA
– มะพร้าว ไต้หวันกำหนดโควตานำเข้าภาษีอัตราต่ำ (15%) ปีละ 10,000 ตัน และกำหนดให้นำเข้าได้เฉพาะในระหว่างมกราคม – กุมภาพันธ์ และ สิงหาคม – ธันวาคม ของแต่ละปีซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตในไต้หวันมีน้อย ทั้งนี้ การนำเข้ามะพร้าวนอกโควตาไต้หวันเก็บภาษีอัตรา 120% ของราคาสินค้านำเข้า
– สับปะรด การส่งออกไปไต้หวันจะต้องตัดจุกออกเพื่อป้องกันหนอนแมลงศัตรูพืชปนเปื้อนมากับสินค้า และมีการกำหนดโควตานำเข้า สับปะรดสด/แห้ง ปีละ 23,870 ตันในอัตราภาษี 15% การนำเข้านอกโควตาอัตราภาษี 173%
– หมาก การส่งออกหมากสดไปไต้หวันต้องผ่านการรมสารเมธิลโบร์ไมด์เพื่อกำจัดแมลงซึ่งเป็นศัตรูพืช นอกจากนี้ไต้หวันกำหนดโควตาภาษีนำเข้าหมากจากไทยอัตราต่ำ (17.5%) ปีละ 8,824 ตัน และอนุญาตให้นำเข้าได้ในช่วงระหว่าง 1 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน เท่านั้น ทั้งนี้ การนำเข้านอกโควตาไต้หวันเก็บภาษี ก.ก. ละ 810 เหรียญไต้หวัน
– สำหรับทุเรียนและมะขามไม่มีข้อกำหนดพิเศษในการนำเข้า
2) ลำไยแห้ง
กำหนดโควตานำเข้าปีละ 330 ตันในอัตราภาษี 15% การนำเข้านอกโควตาอัตราภาษี ก.ก. ละ 88 เหรียญไต้หวัน
3) ข้าว
กำหนดโควตานำเข้าปีละ 144,720 ตัน ในอัตราภาษีแบ่งเป็น ข้าวไม่แปรรูป 0% ข้าวแปรรูปแล้ว 10 – 25 % การนำเข้านอกโควตาอัตราภาษี ข้าวไม่แปรรูป ก.ก. ละ 45 เหรียญไต้หวัน ข้าวแปรรูปแล้ว ก.ก. ละ 49 เหรียญไต้หวัน
4) ถั่วลิสง
กำหนดโควตานำเข้าปีละ 5,235 ตันในอัตราภาษี 25% การนำเข้านอกโควตาอัตราภาษี ถั่วลิสงมีเปลือก ก.ก. ล 42 เหรียญไต้หวัน ถั่วลิสงแกะเปลือกแล้ว ก.ก. 64 เหรียญไต้หวัน น้ำมันถั่วเหลือ 338%
5) ถั่วแดง
กำหนดโควตานำเข้าปีละ 2,500 ตันในอัตราภาษี 22.5% การนำเข้านอกโควตาอัตราภาษี ก.ก. 22 เหรียญไต้หวัน
6) ผักสด
ไต้หวันอนุญาตนำเข้าได้ (ยกเว้นผักที่ไม่มีการบริโภคทั่วไปในไต้หวัน เช่น สะเดา กระชายดำ ดอกอัญชัญ ฯลฯ ซึ่งหากไทยต้องการส่งออกไปยังไต้หวันจะต้องดำเนินการขอขี้นทะเบียนเป็นอาหารใหม่) โดยจะต้องไม่ให้มีส่วนใต้ดินติดอยู่ด้วยและจะต้องไม่ปนเปือนดินและหนอนแมลง และจะต้องระวังไม่ให้มีสารตกค้างผิดระเบียบหรือเกินมาตรฐานที่ยอมรับได้
7) ผักแห้ง
– กระเทียม กำหนดโควตานำเข้าปีละ 3,520 ตันในอัตราภาษี 22.5% การนำเข้านอกโควตาอัตราภาษี ก.ก. ละ 27 เหรียญไต้หวัน
– เห็ดหอมแห้ง กำหนดโควตานำเข้าปีละ 288 ตันในอัตราภาษี ก.ก. ละ 110 เหรียญไต้หวัน / 25% การนำเข้านอกโควตาอัตราภาษี ก.ก. ละ 369 เหรียญไต้หวัน
– ดอกไม้จีน กำหนดโควตานำเข้าปีละ 111 ตันในอัตราภาษี 22.5% การนำเข้านอกโควตาอัตราภาษี ก.ก. ละ 58 เหรียญไต้หวัน
8) ไม้ดอก ไม้ประดับ
ไต้หวันอนุญาตให้นำเข้าไม้ดอกไม้ประดับจากไทยโดยห้ามมีส่วนใต้ดินติดอยู่ และจะต้องไม่มีหนอนแมลง
1.2 สัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์
สัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ (HS 03, 1604, 1605) ผู้ส่งออกไปไต้หวันจะต้องเป็นโรงงานในบัญชี Seafood Establishment ของ Taiwan FDA โดยโรงงานผู้ผลิตของไทยจะต้องขอขึ้นทะเบียนผ่านกรมประมงของไทย ข้อมูลปรากฏที่ เว็บไซต์ Taiwan FDA ระเบียบสัตว์น้ำ ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติสินค้าที่มีส่วนผสมของสัตว์น้ำเกินกว่า 20% ขึ้นไป เช่น กะปิ (HS 2103.90.21) ข้าวเกรียบกุ้ง (HS 19030010) แม้จะไม่ได้อยู่ภายใต้พิกัดศุลกากรที่ไต้หวันกำหนดข้างต้น ไต้หวันยังคงกำหนดให้โรงงานที่จดทะเบียนในบัญชี Seafood Establishment เท่านั้นจึงจะสามารถส่งออกไปไต้หวันได้
การส่งออกสัตว์น้ำจำพวกหอยต่าง ๆ HS 0307 จะต้องแนบใบรับรองสุขอนามัย (HC) และใบรับรองการจับสัตว์น้ำหรือเลี้ยงสัตว์น้ำ
1.3 ปศุสัตว์
– เนื้อปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์ (หมู วัว ไก่ เป็ด ฯลฯ) รวมทั้งนมสด ไข่สด ไขมันสัตว์ ไต้หวันไม่อนุญาตให้นำเข้าสินค้าข้างต้นจากไทย เนื่องจากไทยยังไม่ได้ผ่านการตรวจรับรองระบบการผลิต (Regulation for Systematic Inspection of Imported Food) ตามระเบียบ FDA ไต้หวัน และสำนักงานตรวจสอบสุขอนามัยพืชและสัตว์ของไต้หวัน (Animal and Plant Health Inspection Agency – APHIA) ยังไม่ยอมรับไทยเป็นเขตปลอดโรคโรคปากและเท้าเปื่อย โรคนิวคาสเซิล
   ปัจจุบันไต้หวันอนุญาตให้นำเข้าผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์จากไทยประเภทเนื้อไก่ที่ผ่านความร้อนสูงและบรรจุในกระป๋อง  หรือ retort pouch (HS 1602 32 20 90 9) เท่านั้น และจะต้องแนบใบรับรองสุขอนามัยผลิตภัณฑ์สัตว์
– ไต้หวันอนุญาตให้นำเข้าผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงต่ำจากไทยได้ คือนม UHT, นมผง
1.4 อาหารสัตว์เลี้ยง
การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงประเภทของแห้งซึ่งมีส่วนผสมของสัตว์ปีกและสัตว์เท้ากีบ และชนิดที่บรรจุกระป๋องหรือ retort pouch ที่มีส่วนผสมของเนื้อวัว โรงงานส่งออกของไทยจะต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานตรวจสอบสุขอนามัยพืชและสัตว์ (APHIA) ของไต้หวัน อ้างอิง ข้อ 1 ของ Quarantine Requirements for the Importation of Dog and Cat Food ของไต้หวัน โรงงานไทยที่ประสงค์จะส่งออกไปไต้หวันสามารถยื่นเรื่องผ่านกรมปศุสัตว์ไทย หาก APHIA มีข้อสงสัย ฝ่ายไทยจะต้องเชิญเจ้าหน้าที่ APHIA ไปตรวจสอบโรงงานในไทยด้วย สามารถตรวจูดรายชื่อโรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปไต้หวันได้ที่ เว็บไซต์ APHIA อาหารสัตว์เลี้ยง
สำหรับอาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากสัตว์น้ำ และอาหารบรรจุกระป๋องหรือ retort pouch ที่ไม่มีส่วนผสมของวัว สามารถนำเข้าได้โดยโรงงานส่งออกของไทยไม่ต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานตรวจสอบสุขอนามัยพืชและสัตว์ (APHIA) ของไต้หวัน
1.5 เครื่องดื่ม 
1) การติดฉลากสินค้าเครื่องดื่มผัก/ผลไม้จะต้องสอดคล้องตาม Regulations Governing the Labeling of Packaged Beverages Claimed to Contain Fruit and/or Vegetable Juice สาระสำคัญคือ
– หากผลิตภัณฑ์มีปริมาณน้ำผลไม้หรือผักแท้รวมกันตั้งแต่ 10% ขึ้นไป สามารถใช้ชื่อผลิตภัณฑ์เป็น “น้ำผลไม้/น้ำผัก”ได้ และจะต้องระบุสัดส่วน (%) ของน้ำผลไม้หรือผักแท้อย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์
– หากผลิตภัณฑ์มีปริมาณน้ำผลไม้หรือผักแท้รวมกันน้อยกว่า 10% ห้ามใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่าเป็น “น้ำผลไม้/น้ำผัก” หรือคำที่มีความหมายเทียบเท่า ยกเว้นเป็นการแจ้งชื่อส่วนผสมซึ่งจะต้องแจ้งด้วยว่า “น้ำผลไม้/ผักแท้ มีปริมาณน้อยกว่า 10%” หรือแจ้งสัดส่วน (%) อย่างชัดเจนบนด้านหน้าบรรจุภัณฑ์
– หากผลิตภัณฑ์ไม่มีน้ำผลไม้หรือผักแท้ผสมอยู่ จะต้องระบุว่า “ไม่มีส่วนผสมน้ำผลไม้/น้ำผัก” หรือคำที่มีความหมายเทียบเท่าอย่างชัดเจนบนด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์  หากชื่อผลิตภัณฑ์มีการอ้างถึงชื่อผลไม้หรือผัก ต้องระบุคำว่า “รสชาติ” หรือ “กลิ่น” หรือคำที่มีความหมายเทียบเท่ารวมอยู่ด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติมปรากฏที่ เว็บไซต์ Taiwan FDA ระเบียบเครื่องดื่ม
2) การนำเข้าเครื่องดื่มนอกจากต้องจ่ายภาษีศุลกากรแล้วยังต้องจ่ายภาษี Commodity Tax Act กำหนดไว้คือ เครื่องดื่มน้ำผลไม้ 8% เครื่องดื่มอื่นๆ 15% ฯลฯ
1.6 น้ำมันสำหรับบริโภค
กระทรวงสาธารณสุขไต้หวันกำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนโลหะหนักและสารพิษในน้ำมันบริโภค อ้างอิง Sanitation Standard for Contaminants and Toxins in Food ดังนี้
1)  การปนเปื้อนโลหะหนัก กำหนดไว้ใน Appendix1. Maximum levels (ML) of metals in foods สำหรับสินค้าไขมันและน้ำมันบริโภค (Edible fats and oils) ปริมาณปนเปื้อนสูงสุด (Maximum levels) คือ
– สารหนู (Arsenic) 0.01 mg/kg
– ตะกั่ว (Lead) 0.01 mg/kg
– ปรอท (Mercury) 0.05 mg/kg
สำหรับสินค้าน้ำมันบริโภคบรรจุกระป๋อง (Canned edible fats and oils) ปริมาณปนเปื้อนสูงสุดคือ
– ดีบุก (Tin) 250 mg/kg
2) การปนเปื้อนสารพิษจากรา กำหนดไว้ใน Appendix2. Maximum levels (ML) of mycotoxins in foods สำหรับสินค้า Edible fats and oils ปริมาณปนเปื้อนสูงสุดคือ อัลฟาท็อกซิน (Aflatoxins) 10 µg/kg
3) การปนเปื้อนสารพิษอื่นๆ กำหนดไว้ใน Appendix3. Maximum levels (ML) of other contaminants and toxins สำหรับสินค้า ไขมันและน้ำมันบริโภค ปริมาณปนเปื้อนสูงสุดคือ
– เบนโซเอไพรีน (Benzo(a)pyrene, BaP)  2.0 µg/kg
– กรดอีรูซิก (Erucic acid)  50 g/kg
รายละเอียดมาตรฐานสารปนเปื้อนอื่นๆ ปรากฎที่ Lows ROC กฎระเบียบน้ำมัน
1.7 สินค้าเกษตรอินทรีย์
ไต้หวันได้ประกาศกฎหมายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ (Organic Agriculture Promotion Act) ซึ่งมีผลตั้งแต่ 30 พฤษภาคม 2020 กำหนดให้ประเทศที่ต้องการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์มายังไต้หวัน จะต้องผ่านการลงนามเกษตรอินทรีย์ทัดเทียมกับไต้หวันกัน โดยไทยยังไม่มีการลงนามเกษตรอินทรีย์ทัดเทียมกับไต้หวัน ผู้ส่งออกไทยที่จะประสงค์จะส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปไต้หวันโดยติดฉลากออร์แกนิคหรือโฆษณาว่าเป็นสินค้าออร์แกนิค จะต้องผ่านการรับรองจากหน่วยงานรับรอง (Certified Body) ที่ได้รับแต่งตั้งของไต้หวันเท่านั้น เช่น Tse-Xin Organic Certification Corporation, Eco-Garden Certification Co.,Ltd, Universal Certification Service Co., LTD., Harmony Organic Agriculture Foundation ข้อมูลเพิ่มเติมปรากฏที่ AFA Taiwan ระเบียบเกษตรอินทรีย์
1.8 อาหารเสริมสุขภาพ
ไต้หวันมีการประกาศใช้ Health Food Governing Act ตั้งแต่ปี 1999 โดยกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ที่จะเรียกว่า “อาหารเสริมสุขภาพ” จะต้องยื่นขอจดทะเบียนการผลิตและจำหน่ายต่อสำนักงานอาหารและยาของไต้หวัน (Taiwan FDA) การยื่นขอจดทะเบียนอาหารเสริมสุขภาพแบ่งออกเป็น 2 ช่องทาง
ช่องทางที่ 1 การตรวจอนุมัติปกติ
ผลิตภัณฑ์ที่ยื่นขอจดทะเบียนจะต้องผ่านการทดสอบความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และความเสถียรของคุณภาพ ปัจจุบัน Taiwan FDA เปิดให้อ้างสรรพคุณเพื่อขอจดทะเบียนได้ทั้งหมด 13 รายการ ได้แก่ การปรับสภาพธาตุเหล็กในเลือด การเสริมสุขภาพฟัน การช่วยปรับความดันโลหิต การต้านความเหนื่อยล้า การบำรุงตับ การชะลอความชรา การป้องกันการสะสมของไขมันในร่างกาย การเสริมสุขภาพกระดูก การปรับระดับไขมันในเลือด การปรับระดับน้ำตาลในเลือด การช่วยปรับสภาพภูมิแพ้ การปรับปรุงระบบทางเดินอาหาร การปรับภูมิคุ้มกัน
การตรวจอนุมัติปกติเพื่อจดทะเบียนอาหารเสริมสุขภาพมี 2 ขั้นตอนคือ การตรวจสอบขั้นต้นใช้เวลาไม่เกิน 60 วัน และการตรวจสอบขั้นที่สองใช้เวลาไม่เกิน 180 วัน
ช่องทางที่ 2. การตรวจอนุมัติตามมาตรฐาน
ผลิตภัณฑ์ที่ยื่นขอจดทะเบียนจะต้องมีส่วนผสมสอดคล้องตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขไต้หวันของไต้หวันกำหนด ซึ่งส่วนผสมเหล่านี้ได้รับการยืนยันทางทฤษฎีว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพโดยไม่ต้องทำการทดลองเพื่อยืนยันประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีส่วนผสมอาหารที่กำหนดมาตรฐานไว้แล้ว 2 รายการ ได้แก่ น้ำมันปลาและข้าวยีสต์แดง ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ผ่านการตรวจอนุมัติแล้วสามารถระบุสรรพคุณตามที่กำหนดไว้ เช่น ผลิตภัณฑ์น้ำมันปลาสามารถระบุว่า “ผลิตภัณฑ์นี้อาจช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด; สรรพคุณนี้อ้างจากทฤษฎีโดยไม่ได้ทำการทดลองยืนยัน” และผลิตภัณฑ์ข้าวยีสต์แดงสามารถระบุว่า “ผลิตภัณฑ์นี้อาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด สรรพคุณนี้อ้างจากทฤษฎีโดยไม่ได้ทำการทดลองยืนยัน”
การตรวจอนุมัติตามมาตรฐานเพื่อจดทะเบียนอาหารเสริมสุขภาพมีเพียงการตรวจสอบขั้นต้นใช้เวลาไม่เกิน 60 วัน
ข้อมูลเพิ่มเติมปรากฏที่ Taiwan FDA ระเบียบอาหารเสริมสุขภาพ
1.9 อาหารมังสวิรัติ
เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิ์ผู้บริโภค สำนักงานอาหารและยาของไต้หวันได้กำหนดระเบียบการแสดงฉลากอาหารมังสวิรัติ (Regulations Governing the Labeling of Packaged Vegetarian Foods) จะต้องระบุประเภทตาม แบ่งเป็น 5 ประเภท คือ
– Vegan Su คือมังสวิรัติที่สอดคล้องตามหลักพุทธมหายานปลอดส่วนผสมหอม กระเทียม และกุ้ยฉ่าย
– Ovo Vegetarian คือมังสวิรัติมีส่วนผสมของไข่
– Lacto Vegetarian คือมังสวิรัติมีส่วนผสมนม
– Ovo-Lacto Vegetarian มังสวิรัติมีส่วนผสมนมและไข่
– Vegan คือมังสวิรัติที่มีส่วนผสมของหอม กระเทียม และกุ้ยฉ่าย
1.10 ผลิตภัณฑ์ GMO
– ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมวัตถุดิบ GMO เกินกว่า 3% ขึ้นไปจะต้องแสดงฉลากเป็นสินค้า GMO อ้างอิง Labelling requirements for food additives containing ingredients of genetically modified organisms (GMOs)
– การนำเข้าสินค้าดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) อนุญาตให้นำเข้าได้ 4 ชนิดในรูปของสด แช่เย็น แช่แข็ง ได้แก่ ผักกาดก้านขาว (Colza), ข้าวโพด (เม็ด ฟัก ฟักอ่อน แป้ง), ถั่วเหลือง (เม็ด แป้ง), และ Sugar beet โดยจะต้องแนบคำแถลง หรือระบุใน Invoice หรือ Packing List ว่าเป็นสินค้า GMO สำหรับการนำเข้าสินค้า 4 ชนิดข้างต้นที่ไม่ใช่สินค้าดัดแปลงพันธุกรรมจะต้องแนบใบรับรอง Non-GMO ออกโดยหน่วยงานราชการ หรือ หนังสือรับรอง IP (Identify Preservation)
ข้อมูลเพิ่มเติมปรากฏที่ Taiwan FDA ระเบียบ GMO
1.11 อาหารใหม่ (Novel Food) 
การนำเข้าอาหารใหม่ที่ไม่ใช่อาหารที่ชาวไต้หวันรับประทานปกติทั่วไป จะต้องยื่นขอจดทะเบียนเป็นอาหารที่บริโภคได้ต่อ Taiwan FDA ซึ่งจะต้องแจ้งข้อมูลพื้นฐานของวัตถุดิบอาหาร (เช่น ชื่อวัตถุดิบ กระบวนการผลิต ส่วนผสมที่ใช้) ข้อมูลการบริโภค การทดสอบทางพิษวิทยา อ้างอิง Guidance on Application for Non-traditional Food Ingredients
อาหารใหม่หมายถึง วัตถุดิบอาหารที่ไม่มีประวัติการบริโภคในไต้หวันหรือมีประวัติการบริโภคแต่ยังไม่ถึงระดับที่เพียงพอ เช่น มีเพียงผู้บริโภคในบางพื้นที่หรือบางกลุ่มเท่านั้น และยังหมายถึงวัตถุดิบอาหารแบบดั้งเดิมที่ผ่านการเพาะปลูก การขยายพันธุ์ หรือการแปรรูปด้วยวิธีใหม่ๆ ทำให้ส่วนประกอบหรือโครงสร้างของอาหารเปลี่ยนแปลงไป (ไม่รวมถึงอาหารที่มีกฎระเบียบกำหนดไว้แล้ว เช่น อาหารดัดแปลงพันธุกรรมหรืออาหารที่ผ่านการฉายรังสี)
ข้อมูลเพิ่มเติมปรากฏที่ Taiwan FDA ระเบียบอาหารใหม่
1.12 เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์
1) ผู้ผลิต / ผู้นำเข้าสุราและบุหรี่จะต้องเป็นนิติบุคคลและต้องจดทะเบียนขออนุญาตผลิตหรือนำเข้าต่อกระทรวงการคลังของไต้หวัน
2) ภาษีศุลกากรเบียร์ และสุราต่ำกว่า 80% (จำพวกเหล้ารัม จิน วอดก้า บรั่นดีผลไม้) ภาษี 0% ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์อื่นๆภาษี 10-40% แล้วแต่ชนิด นอกจากการชำระภาษีศุลกากรแล้วจะต้องชำระภาษีสุรา ดังนี้
– เบียร์ ลิตรละ 26 เหรียญไต้หวัน เครื่องดื่มหมักดองอื่นๆ ลิตรละ 7 เหรียญไต้หวัน/ความเข้มข้นแอลกอฮอลล์ทุก 1% (ยกตัวอย่าง ความเข้มข้นแอลกอฮอลล์ 10% จะต้องชำระภาษีลิตรละ 70 เหรียญไต้หวัน)
– สุรากลั่น ลิตรละ 2.5 เหรียญไต้หวัน / แอลกอฮอลล์ทุก 1%
– สุราแปรรูป ความเข้มข้นเกินกว่า 20% ลิตรละ 185 เหรียญไต้หวัน, ความเข้มข้นต่ำกว่า 20% ลิตรละ 7 เหรียญไต้หวัน/แอลกอฮอลล์ทุก 1%
– สุราสำหรับปรุงอาหาร ลิตรละ 9 เหรียญไต้หวัน
– สุราอื่นๆ ลิตรละ 7 เหรียญไต้หวัน/แอลกอฮอลล์ทุก 1%
– แอกกอฮอลล์ ลิตรละ 15 เหรียญไต้หวัน
3) ฉลากสุราจะต้องแสดง ชื่อแบรนด์ ชื่อผลิตภัณฑ์ ส่วนผสมหลัก ปริมาตร ความเข้มข้นของแอลกอฮอลล์ แหล่งผลิต ผู้ผลิต ผู้นำเข้า คำเตือนด้านสุขภาพและความปลอดภัย และข้อความอื่นๆ อ้างอิงตามมาตรา 33 กฎหมายควบคุมสุรา
4) การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ในร้านอาหารหรือภัตตาคารต้องแสดงข้อความเตือนต่อไปนี้อย่างชัดเจนที่ทางเข้าออกหรือจุดที่เหมาะสม
– ดื่มสุราแล้ว ห้ามขับรถ
– ห้ามผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีดื่มสุรา
– สถานที่นี้ไม่ขายสุราให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
5) การโฆษณาหรือส่งเสริมการขายสุรา ต้องแสดงข้อความ “ดื่มสุราแล้ว ห้ามขับรถ” อย่างชัดเจน และต้องแสดงข้อความ “การดื่มสุรามากเกินไปเป็นอันตรายต่อสุขภาพ” หรือคำเตือนอื่นๆ และต้องไม่มีลักษณะดังต่อไปนี้:
– ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี
– ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ดื่มสุรา
– มุ่งเป้าไปที่เด็ก เยาวชน หรือก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพกายและใจของเด็ก เยาวชน หรือหญิงตั้งครรภ์
– ข้อความเท็จ เกินจริง บิดเบือน หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด
– บ่งบอกหรือแสดงว่าเป็นผลดีต่อสุขภาพ
– กรณีอื่นๆ ที่ประกาศห้ามโดยหน่วยงานที่มีอำนาจส่วนกลาง
6) กระทรวงการคลังของไต้หวัน ได้กำหนดมาตรฐานสุขอนามัยเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ (The Hygiene Standards for Alcohol Products) ซึ่งมีการกำหนดมาตรฐานส่วนผสมหรือสารตกค้างต่างๆ เช่น ปริมาณเมทานอลในบรั่นดี สุรากลั่นจากองุ่น สุรากลั่นจากมันเทศ ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อลิตร, ปริมาณตะกั่วไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อลิตร, สารกันบูดกรดเบนโซอิกในสุราผลิตจากผลไม้ไม่เกิน 0.2 กรัมต่อลิตร ฯลฯ รายละเอียดอื่นๆ ปรากฏที่ Laws ROC เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์
1.13 ยาสูบและผลิตภัณฑ์
1) ผู้ประกอบการต้องยื่นขออนุญาตนำเข้าต่อกระทรวงสาธารณสุขของไต้หวันก่อนการนำเข้าซึ่งจะต้องผ่านขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพผลิตภัณฑ์ยาสูบ
2) ห้ามใช้หรือเพิ่มคำว่า “ยาสูบเบา( light)” “ทาร์ต่ำ(low tar)” หรือคำอื่นที่มีความหมายทัดเทียมกันร่วมกับชื่อผลิตภัณฑ์ยาสูบ ชื่อแบรนด์ หรือพิมพ์ไว้บนบรรจุภัณฑ์
3) บนบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ยาสูบต้องแสดงคำเตือนด้วยภาพและตัวอักษรเกี่ยวกับอันตรายต่อสุขภาพจากการสูบบุหรี่และข้อมูลเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่ในตำแหน่งที่ชัดเจนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง โดยคำเตือนต้องครอบคลุมพื้นที่ไม่น้อยกว่า 50% ของพื้นที่บรรจุภัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุขของไต้หวันกำหนดรูปแบบภาพและคำเตือนไว้ 8 ชนิด ได้แก่ การสูบบุหรี่ทำให้เกิดมะเร็งในช่องปาก, ก่อให้เกิดโรคตาและตาบอด, ก่อให้เกิดเนื้อตายที่ปลายแขนขาจนต้องตัดแขนขา, ก่อให้เกิดโรคเหงือกและมีกลิ่นปาก, ก่อให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองและมะเร็งปอด, ก่อให้เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ, ก่อให้เกิดมะเร็งกล่องเสียง, ควันบุหรี่มือสองเป็นอันตรายต่อทุกคนในครอบครัว.
4) กระทรวงสาธารณสุขมีการกำหนดมาตรฐานปริมาณนิโคติน น้ำมันดิน ส่วนประกอบ สารเติมแต่ง ในผลิตภัณฑ์ยาสูบต้องไม่เกินปริมาณสูงสุดที่กำหนด เช่น ปริมาณนิโคตินสูงสุดในบุหรี่แต่ละมวนต้องไม่เกิน 1 มิลลิกรัม และปริมาณน้ำมันดินสูงสุดในบุหรี่แต่ละมวนต้องไม่เกิน 10 มิลลิกรัม
5) สถานที่ขายผลิตภัณฑ์ยาสูบต้องแสดงคำเตือน การสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ, ห้ามผู้อายุต่ำกว่า 20 ปีสูบบุหรี่,  การจัดวางผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือบรรจุภัณฑ์ยาสูบในร้านจำกัดพื้นที่เพื่อให้ผู้บริโภคทราบถึงแบรนด์และราคาเท่านั้น และห้ามโฆษณาส่งเสริมการขายทั้งทางตรงและทางอ้อม
6) ในการนำเข้ายาสูบและผลิตภัณฑ์เข้ามายังไต้หวันนอกจากชำระภาษีศุลกากร (HS 2401, 2402, 2403, 2404) ยาสูบและผลิตภัณฑ์ 13 – 27 % แล้ว จะต้องชำระภาษีบุหรี่และค่าธรรมเนียมสุขภาพ ดังนี้
6.1) ภาษีบุหรี่ อ้างอิง มาตรา 7 Tobacco and Alcohol Tax Act แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้:
    – บุหรี่: เก็บภาษี 1,590 เหรียญไต้หวันต่อ 1,000 มวน
    – ยาสูบ: เก็บภาษี 1,590 เหรียญไต้หวันต่อกิโลกรัม
    – ซิการ์: เก็บภาษี 1,590 เหรียญไต้หวันต่อกิโลกรัม
    – ผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆ: เก็บภาษี 1,590 เหรียญไต้หวันต่อกิโลกรัม หรือ 1,590 เหรียญไต้หวันต่อ 1,000 มวน แล้วแต่อย่างไหนจะสูงกว่า.
6.2) ค่าธรรมเนียมสุขภาพ อ้างอิงกฎหมาย Tobacco Hazards Prevention Act ของไต้หวัน มีรายละเอียดดังนี้:
– บุหรี่: เก็บภาษี 1,000 เหรียญไต้หวันต่อ 1,000 มวน
– ยาสูบ: เก็บภาษี 1,000 เหรียญไต้หวันต่อกิโลกรัม
– ซิการ์: เก็บภาษี 1,000 เหรียญไต้หวันต่อกิโลกรัม
– ผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆ: เก็บภาษี 1,000 เหรียญไต้หวันต่อกิโลกรัม หรือ 1,000 เหรียญไต้หวันต่อ 1,000 มวน แล้วแต่อย่างไหนจะสูงกว่า
1.14 กัญชง กัญชา กระท่อม
ตามกฎหมายป้องกันยาเสพติด (Narcotic Prevention Act) ของไต้หวัน กำหนดเป็นยาเสพติดให้โทษและเป็นอันตราย จึงห้ามผลิตและจำหน่ายในไต้หวัน ยกเว้นการจำหน่ายในรูปของยาซึ่งจะต้องผ่านการขออนุญาตต่อ Taiwan FDA และอยู่ภายใต้การควบคุมตาม Controlled Drug Act
2. อัตราภาษี ค่าธรรมเนียมและโควตานำเข้า
2.1 อัตราภาษีศุลกากรนำเข้าไต้หวันเฉลี่ย ปี 2023 คือ สินค้าเกษตร 15.06% อุตสาหกรรม 4.13% สำหรับอัตราภาษีสินค้าบางส่วนที่นำเข้าจากไทย ปรากฏดัง เอกสารแนบ
2.2 ไต้หวันมีการผูกพันธ์ต่อองค์การการค้าโลก (WTO) กำหนดกำหนดโควตาภาษี (Tariff Quota) สำหรับสินค้า 16 รายการ โดยธนาคารแห่งไต้หวัน (Bank of Taiwan) ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรเป็นผู้ดำเนินการจัดสรรโควตา แบ่งออกเป็น 2 ระบบ
1) การจัดสรรตามลำดับการยื่นคำขอ มี 3 รายการ ได้แก่สินค้า เขากวาง, ลูกแพร์ และ กล้วย
2) การประมูลสิทธิ์การนำเข้า 13 รายการ ได้แก่สินค้า ถั่วแดง, น้ำนม, ถั่วลิสง, กระเทียม, เห็ดหอมแห้ง, ดอกไม้จีน, มะพร้าว, หมาก, สับปะรด, มะม่วง, ส้มโอ, ลำไยแห้ง, ข้าว การจัดสรรโควตาจะดำเนินการตามลำดับการประมูลสิทธิ์การนำเข้าตามจำนวนเงินที่เสนอสูงสุด โดยมีการกำหนดราคาสิทธิ์ขั้นต่ำการประมูลเพื่อนำเข้าสินค้าแต่ละล็อตในอัตราตันละ 500 เหรียญไต้หวัน
ข้อมูลเพิ่มเติมปรากฏที่ https://www.bot.com.tw/en/policy-business
2.3 ในขั้นตอนการนำเข้าจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศสำหรับสินค้ามูลค่าเกิน 100 เหรียญไต้หวัน ในอัตรา 0.04% ของราคา CIF และเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 5% ของ ราคา CIF รวมค่าภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นๆ
2.4) สินค้านำเข้าราคา CIF ต่ำกว่า 2,000 เหรียญไต้หวันได้รับยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากร แต่ยังคงต้องจ่ายค่าภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นๆ
3. แหล่งค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม
1) ระเบียบการนำเข้ากรมการค้าต่างประเทศไต้หวัน https://fbfh.trade.gov.tw/fh/ap/listIERegf.do?q_type=1&language=C
2) ระเบียบการตรวจกักกันพืช  https://www.aphia.gov.tw/en/ws.php?id=14342
3) รายการพืชที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า https://approve.aphia.gov.tw/Index
4) ระเบียบสุขอนามัยอาหาร https://www.fda.gov.tw/ENG/law.aspx?cid=16&cr=725123540
5) ระเบียบการนำเข้าสัตว์น้ำ https://www.fda.gov.tw/TC/siteContent.aspx?sid=2405
6) ระเบียบนำเข้าผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ https://www.fda.gov.tw/TC/newsContent.aspx?cid=3&id=28115
7) ระเบียบการนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยง https://www.aphia.gov.tw/ws.php?id=9624 )
8) มาตรฐานสารผสมหรือสารปรุงแต่งอาหาร https://consumer.fda.gov.tw/Law/FoodAdditivesList.aspx?nodeID=52
10) การจัดสรรโควต้านำเข้าสินค้าเกษตร Bank of Taiwan https://www.bot.com.tw/en/policy-business
11) กรมศุลกากรไต้หวัน https://portal.sw.nat.gov.tw/PPL//eng
————————————————————-
เอกสารแนบ
ประมาณการอัตราภาษีศุลกากรขาเข้าของไต้หวัน
สำหรับรายการสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปไต้หวัน
HS 0306 ครัสตาเชี่ยน 15 – 25%
HS 0304 เนื้อปลาอื่นๆ แช่แข็ง 10 – 24%
HS 0709 ผักสด 5 – 25%
HS 0810.60 ทุเรียน 17%
HS 0804.50.30 มังคุด 17%
HS 0811 ผลไม้แช่แข็ง 8 – 26%
HS 0813 ผลไม้แห้ง 6 – 27%
HS 1105.20 ขนมทำจากมันฝรั่ง 10 %
HS 1507 – 1520 น้ำมันจากพืช 0 – 15%
HS 1602 32 อาหารกระป๋องทำจากเนื้อสัตว์ปีก 20%
HS 1605 21 อาหารปรุงแต่งทำจากสัตว์น้ำ 20%
HS 1704 ขนมทำจากน้ำตาล 20 – 27.5%
HS 1905 ขนมปังกรอบ บิสกิต คุกกี้ ขนมเบเกอรี่อื่น ๆ 10 – 25%
HS 2005 99 อาหารปรุงแต่งทำจากผัก 25 – 30%
HS 2008 99 อาหารปรุงแต่งทำจากผลไม้ 10 – 20%
HS 2009 – น้ำผัก/ผลไม้ ไม่ได้ผ่านการหมัก ไม่มีส่วนผสมแอลกอฮอลล์ 20 – 35%
HS 2202.99 เครื่องดื่มน้ำผัก/ผลไม้ ไม่มีส่วนผสมแอลกอฮอลล์ 10 – 20%
HS 2203 – 2208 เครื่องดื่มมีส่วนผสมแอลกอฮอลล์ 10 – 40%
HS 2103 ซอสและเครื่องปรุงรส 0 – 15%
HS 210410 ซุปสำเร็จรูป 10 – 15%
HS 2105 ไอศครีม 10%
HS 2309.10 อาหารสัตว์เลี้ยง 2%
HS 2401-2404 ยาสูบและผลิตภัณฑ์ 13 – 27%
ที่มา Directorate General of Customs, Taiwan https://portal.sw.nat.gov.tw/PPL//eng
—————————————–
รายงานโดย : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2)
Tel: 886-2-2723 1800 Fax: 886-2-2723 1821 E-mail: thaicom.taipei@msa.hinet.net
  18 ธันวาคม 2567

 

thThai