วิกฤตเศรษฐกิจที่มีอยู่ในปัจจุบันของเยอรมนีเริ่มส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน โดยในปีใหม่ที่จะถึงนี้มีบริษัทจำนวน 4 ใน 10 ของประเทศ ที่ต้องการจะเลิกจ้างงานจำนวนมาก ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้มาจากผลสำรวจของสถาบันเศรษฐศาสตร์เยอรมนี (IW – das Institut der deutschen Wirtschaft) ที่ทำการสอบถามกลุ่มนายจ้างและผู้บริหารของบริษัทต่างๆ ซึ่งรวบรวมโดย Handelsblatt ทั้งนี้ ผลสำรวจที่ได้มาจากการสำรวจบริษัทกว่า 2,000 แห่ง พบว่า กว่า 38% ของบริษัทดังกล่าว วางแผนที่จะลดจำนวนพนักงาน เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ในขณะที่ กว่า 40% ของบริษัทดังกล่าว คาดว่าในช่วงเริ่มต้นปีใหม่สถานการณ์ทางธุรกิจมีแนวโน้มจะแย่ลง และมีเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น ที่มองเห็นสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเป็นเชิงบวก สำหรับ ปีหน้ามีเพียง 23% ของบริษัททั้งหมดที่ต้องการจะขยายการลงทุน และ 40% ของบริษัททั้งหมดต้องการลดการลงทุนลง จากข้อมูลของ IW พบว่า การคาดการณ์สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศเชิงลบนี้ ก็มีช่วงวิกฤตทางการเงิน ในปี 2008 เท่านั้น ที่แย่กว่าการคาดการณ์ในปัจจุบัน และจากการวิเคราะห์ของ IW “จากการสำรวจในปัจจุบันยังไม่มีสัญญาณของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในเยอรมนีแสดงให้เห็น” ในทางกลับกันเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจเยอรมันจะเผชิญกับ “ภาวะเศรษฐกิจคงที่ต่อไปอีกหนึ่งปี”

 

สำหรับ ตลาดแรงงานของเยอรมนี ที่เคยแข็งแกร่งในก่อนหน้านี้ อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้น โดยนาย Jens Südekum ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Heinrich-Heine-Universität สรุปว่า “การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นทุกปีในเยอรมนีที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2005 ได้สิ้นสุดลงแล้ว” และนาย Südekum ได้ออกมาเตือนอีกว่า “ความรวดเร็วของการหดตัวในภาคอุตสาหกรรม (Deindustrialization) ในตลาดแรงงานขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด” นาย Stefan Kooths ผู้อำนวยการด้านข้อมูลการพัฒนาเศรษฐกิจของสถาบันเศรษฐกิจโลก (Ifw – Institut für Weltwirtschaft) ที่ตั้งอยู่ในเมือง Kiel มองว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมกำลังประสบวิกฤตในการปรับตัวทางโครงสร้าง ส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจของประเทศ “มีตำแหน่งงานจำนวนมากจะสูญหายไปอย่างถาวร” จากการสำรวจของ IW ที่ประเมินสถานการณ์ทางธุรกิจในปีหน้าแย่ลงในทุกภาคธุรกิจ บริษัทเพียง 16% เท่านั้นที่ให้คะแนนสถานการณ์ของตนดีกว่าปีที่แล้ว ในทางตรงกันข้าม 49% เห็นว่า สถานการณ์ทางธุรกิจของตนแย่ลง โดยวิกฤตเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบกับภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ หนักขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่ในอดีตเคยสามารถทนต่อสถานการณ์ที่ย่ำแย่ได้อย่างดี เห็นได้ชัดว่าเป็นผลตรงกันข้ามกับการสำรวจ IW ครั้งก่อน แม้แต่ธุรกิจบริการก็กลับมาประเมินสถานการณ์ของเป็นเชิงลบอีกครั้ง สถานการณ์ที่ย่ำแย่ในธุรกิจก่อสร้างไม่มีแนวโน้มที่จะสิ้นสุดลง ในภาคธุรกิจทั้งหมดของประเทศภาคอุตสาหกรรมประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจแบบเลวร้ายที่สุด กว่า 57% ของภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับการสำรวจ ให้คะแนนสถานการณ์ทางเศรษฐกิจปัจจุบันของตนแย่กว่าปีที่ผ่านมา

 

ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมได้ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศซบเซา ทำให้เกิดผลกระทบกับตลาดแรงงาน ในขณะที่มีเพียง 19% ของบริษัทที่สำรวจโดย IW รายงานว่า การจ้างงานของพวกเขาจะสูงกว่าปีที่แล้ว แต่บริษัทจำนวนมากถึงสองเท่า (38%) รายงานว่า มีความประสงค์ที่จะลดจำนวนพนักงานลง นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่จะขยายการเลิกจ้างงานออกไปอีก โดยหลายบริษัทในภาคอุตสาหกรรมทยอยประกาศปลดพนักงานจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Ford ต้องการปลดพนักงาน 2,900 ตำแหน่ง บริษัท Thyssen-Krupp ต้องการปลดพนักงานในแผนกเหล็ก 5,000 ตำแหน่ง บริษัท Schaeffler ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ต้องการปลดพนักงาน 7,000 ตำแหน่ง บริษัท Bosch 12,000 ตำแหน่ง และแม้แต่บริษัท ZF ก็ต้องการปลดพนักงานสูงถึง 14,000 ตำแหน่ง บริษัท Audi และ Siemens ก็ต้องการปลดพนักงานเช่นกันแต่ยังไม่แจ้งจำนวนที่แน่ชัด ในขณะที่บริษัท Volkswagen ต้องการปิดโรงงาน 3 แห่ง และลดพนักงานหลายหมื่นคน แม้แต่บริษัทต่าง ๆ นอกภาคอุตสาหกรรมก็มีความประสงค์จะเลิกจ้างพนักงานเช่นกัน ขนาดบริษัทซอฟต์แวร์ SAP ซึ่งเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดของเยอรมนีเองก็ต้องการปลดพนักงานจำนวน 3,500 คนในเยอรมนี แต่เนื่องจากสังคมประเทศโดยเฉลี่ยประชากรเยอรมันมีอายุสูงขึ้นทำให้มีการเกษียณอายุเป็นจำนวนมากส่งผลให้เยอรมนียังห่างไกลจากตัวเลขการว่างงานเมื่อเทียบกับช่วงเปลี่ยนผ่านสหัสวรรษ ซึ่งในเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่เยอรมนีมีคนว่างงานสูงถึง 5 ล้านคน ปัจจุบันบริษัทจำนวนมากยังคงมองหาแรงงานที่มีทักษะ โดยเฉลี่ยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา การจ้างงานหลังจากหักลบค่าแปรปรวนตามฤดูกาลแล้วก็ยังคงเพิ่มขึ้น 7,000 ตำแหน่ง โดยเฉพาะในธุรกิจคลินิก บ้านพักคนชรา โรงเรียน ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก บริษัทโลจิสติกส์ และผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการ ยังคงขยายการจ้างงานออกไป

 

แต่ช่วงเวลาแห่งการขยายตัวของการจ้างงาน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นำรายได้มาสู่ภาครัฐผ่านการเสียภาษีที่สูงติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน และเป็นแรงผลักดันหลักที่ให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตมาเกือบ 15 ปี โดยเฉพาะในทศวรรษที่ผ่านมา ได้สิ้นสุดลงแล้ว จำนวนผู้ว่างงาน ซึ่งลดลงชั่วคราวเหลือเกือบ 2.3 ล้านคน หลังวิกฤตโคโรนา ปัจจุบันจำนวนผู้ว่างงานก็กลับเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2.8 ล้านคน ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ขณะนี้มีคนเกือบล้านคนตกงานมาหนึ่งปีหรือนานกว่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจย่ำแย่การจ้างงานก็หายไปเรื่อย ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในเวลานี้เศรษฐกิจเยอรมันกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคเศรษฐกิจหลักที่ต้องเริ่มเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ นาย Enzo Weber นักเศรษฐศาสตร์ของ IAB (ดัชนีตลาดแรงงาน) กล่าวว่า “เรากำลังประสบกับวิกฤตในอุตสาหกรรม ซึ่งทุกเดือนมีตำแหน่งงานประมาณ 10,000 ตำแหน่ง ที่ทยอยหายไป” ไม่มีภาคเศรษฐกิจอื่นในปัจจุบันที่ตำแหน่งงานหดตัวลงอย่างรวดเร็วขนาดนี้ ในเดือนกันยายน 2024 เราสูญเสียตำแหน่งงานกว่า 81,000 ตำแหน่ง เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งตำแหน่งงานเหล่านี้เป็นผู้ที่ชำระเงินสมทบประกันสังคม และเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ เรียกได้ว่า เป็นตัวเลขการสูญเสียตำแหน่งสูงสุดในประวัติการณ์ นอกจากนี้ ปริมาณการสูญเสียตำแหน่งงานก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อดูจากตัวเลข การสูญเสียตำแหน่งงานในเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นเป็น 71,000 ตำแหน่ง จากเดือนกรกฎาคมที่อยู่ที่ 65,000 ตำแหน่ง ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันไม่น่าจะเรียกได้ว่าเยอรมนีกำลังประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำระยะสั้น ซึ่งตัวเลขกระบวนการเลิกจ้างระยะสั้น (Kurzarbeit หรือการเลิกจ้างระยะสั้น ที่มักจะกลับมาจ้างงานที่หลังโดยรัฐบาลจะสนับสนุนเงินเดือน 75% ไม่เกิน 1 ปี โดยกระบวนการสร้างขึ้นเพื่อไม่ให้ต้องปลดพนักงานเพียงเพราะขาดสภาพคล่องในระยะสั้น) เป็นตัวเลขที่สะท้อนปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันปริมาณ Kurzarbeit ไม่กลับมาเพิ่มขึ้นเท่าเดิม โดยในวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมามีคนเข้ากระบวนการ Kurzarbeit เพียง 52,000 คนเท่านั้น ในเดือนตุลาคมโดยรวมมี 67,000 คน และในเดือนกันยายนจำนวน 56,000 คน นาย Kooths นักวิจัยของ IfW กล่าวว่า ตัวเลขผู้เข้ากระบวนการ Kurzarbeit นี้แสดงให้เห็นว่า “เยอรมนีกำลังประสบกับปัญหาสูญเสียตำแหน่งงานอย่างถาวร” ในขณะเดียวกันผู้ว่างงานก็สามารถกลับหางานทำได้ยากขึ้น เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ เริ่มลังเลที่จะจ้างพนักงานใหม่ ดัชนีการจ้างงานของสถาบันเพื่อการวิจัยทางเศรษฐกิจของมหาวิทยาลัยมิวนิค (Ifo – Institut für Wirtschaftsforschung an der Universität München) ซึ่งคำนวณเป็นรายเดือนสำหรับ Handelsblatt โดยเฉพาะ ได้ลดลงอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 93.4 จุดหลังจากที่ลดลงเหลือ 93.6 จุดในเดือนก่อนหน้า นาย Klaus Wohlrabe ผู้เชี่ยวชาญของ Ifo กล่าวว่า “ภาคเอกชนจำนวนมากทยอยหยุดจ้างพนักงานใหม่ นอกจากนี้พวกเขากำลังหารือกันถึงเรื่องการลดการจ้างงานอีกด้วย”

 

ภาคการเมืองกำลังพยายามหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว นาย Olaf Scholz นายกรัฐมนตรีสังกัดพรรคสังคมนิยมเพื่อประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD – Sozialdemokratische Partei Deutschlands) ที่พึ่งเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมสุดยอดปัญหาอุตสาหกรรมเหล็กระดับประเทศที่ผ่านมา ในการประชุมดังกล่าวเขาสัญญาว่า จะหาทางสนับสนุนอุตสาหกรรม ด้วยการลดต้นทุนพลังงานที่สูงลงให้ได้ นาย Scholz กล่าวว่า “เหล็กที่ผลิตที่ในเยอรมนีมีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ สำหรับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมในเยอรมนี และสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของเรา” นายกรัฐมนตรียังระบุด้วยว่า เขามุ่งมั่นที่จะจัดการประชุมสุดยอดเหล็กของยุโรปในเวลาอันไกล้นี้ สัปดาห์ที่ผ่านมานาย Scholz เยี่ยมชมโรงงาน Ford ในเมืองโคโลญจน์ และออกมาเรียกร้องให้มีการส่งเสริมการขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั่วยุโรป นาย Scholz กล่าวว่า ทั่วทั้งยุโรปต้องต้องพยายามร่วมกันการผลักดันการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจึงจะสัมฤทธิ์ผล ในบทวิเคราะห์ใหม่โดย “สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Council of Foreign Relations)” แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ของจีนสร้างผลกระทบให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ของเยอรมนีมากน้อยเพียงใด ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ในจีนสามารถตอบสนองความต้องการรถยนต์ทั่วโลกได้มากกว่าครึ่งหนึ่งด้วยขีดความสามารถของตน และด้วยค่าแรงที่ต่ำ อีกทั้งความช่วยเหลือจากรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม ผู้ผลิตรถยนต์จีนจึงสามารถนำเสนอรถยนต์เหล่านี้ในราคาที่ไม่มีผู้ผลิตจากชาติใดสามารถเทียบได้ ผู้ผลิตยุโรปสามารถตอบสนองด้วยการติดตั้งส่วนประกอบของจีนมากขึ้น แต่นั่นหมายความว่า มูลค่าเพิ่ม (Value Added) ในยุโรปจะลดลง ในขณะเดียวกันพวกเขาก็จะยังคงสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดต่อไปเรื่อย ๆ ผลการศึกษาของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า การเข้ามาของผู้ผลิตรถยนต์ในจีนอาจส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในยุโรปลดลง 0.3% ในปีนี้ นาย Robert Habeck รัฐมนตรีเศรษฐกิจฯ สังกัดพรรคยุค 90 พันธมิตรสีเขียว (Bündnis 90/Die Grünen) ยังได้เตือนถึงการลดการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมด้วย โดยเขากล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ระหว่างการประชุมอุตสาหกรรมของกระทรวงฯ “ภายใต้แรงกดดันแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ เยอรมนีในฐานะศูนย์กลางการผลิตของยุโรป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่เป็นแกนหลักของประเทศถูกกดดันอย่างหนัก” จากการวิเคราะห์ของนาย Habeck ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ในฐานะศูนย์กลางภาคอุตสาหกรรมเยอรมนีได้มีการดำเนินการน้อยเกินไปในการปรับปรุงความแข็งแกร่งด้านนวัตกรรม และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเขาก็รวมเวลาของเขาเองในช่วงที่เป็นรัฐบาลเข้าไปแล้วด้วย “เวลานี้เราพยายามอย่างหนัก แต่ก็ยังน้อยเกินไป และสายเกินไป” รัฐบาลกลางชุดต่อไปไม่ว่าใครจะเป็นผู้นำประเทศก็ตาม เขาคนนั้นต้องเผชิญกับภารกิจสำคัญ

 

จาก Handelsblatt 27 ธันวาคม 2567

thThai