อิรักขยายช่องทางการโอนเงินต่างประเทศ เพิ่มสกุลเงินใหม่

สาธารณรัฐอิรัก (รัฐบาลกลางอิรักและเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน) เป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบ (crude oil) รายใหญ่เป็นอันดับสองในกลุ่มโอเปก รองจากซาอุดีอาระเบีย และเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบเหลว (petroleum liquids) รายใหญ่เป็นอันดับหกของโลก ประเทศนี้มีปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่พิสูจน์แล้ว (Proved Reserves) มากเป็นอันดับห้าของโลก โดยมีปริมาณ 145 พันล้านบาร์เรล คิดเป็นร้อยละ 17 ของปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วในตะวันออกกลาง      และร้อยละ 8 ของปริมาณสำรองทั่วโลก น้ำมันดิบจึงเป็นรายได้หลักของประเทศ หรือคิดเป็นประมาณ 95% ของรายได้รัฐบาล

รายได้จากน้ำมันในรูปสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐค่อนข้างสม่ำเสมอ ทำให้อิรักไม่อยู่ในขั้นขาดแคลนสกุลเงินดอลล่าห์สหรัฐแต่อย่างใด ปัจจุบันอิรักมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100,000   ล้านดอลลาห์สหรัฐ ถือว่าสามารถใช้บริหารจัดการระบบเศรษฐกิจได้อย่างปลอดภัย แต่ความไม่ปกติในกระบวนการค้าเงินในตลาดมืด  มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์กับเงิน Dinar อย่างมาก ส่งผลให้ค่าเงิน Dinar ผันผวน และปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐ ในอิรักก็ลดน้อยลง เป็นอุปสรรคต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จำเป็นของประเทศ ส่งผลให้ชาวอิรักได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ดังกล่าว รวมทั้งมีการแอบลักลอบนำเงินดอลลาร์สหรัฐไปยังประเทศอิหร่านและซีเรีย ซึ่งเป็นประเทศที่รัฐบาลสหรัฐฯคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ รวมถึงการกีดกันไม่ให้อิหร่านและซีเรียเข้าถึงเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้ภาคธุรกิจของสองประเทศไม่สามารถเข้าถึงการทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างราบรื่น  ยุ่งยากลำบากอย่างมาก

ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ธนาคารกลางอิรั(Central Bank of Iraq:CBI)  เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมเงินดอลลาร์สหรัฐภายในประเทศและควบคุมดูแลเส้นทางเงินดอลลาร์ หากต้องการแลกเปลี่ยนเงินจะต้องใช้อัตราของทางการ ในแง่การป้องกันเงินเฟ้อ รัฐบาลก็กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าใช้อัตราแลกเปลี่ยนทางการ โดยเฉพาะหมวดสินค้าจำเป็น อาทิ อาหาร ยารักษาโรค และอุปกรณ์ก่อสร้าง เป็นต้น รวมทั้งรัฐบาลยังได้สนับสนุนให้ธนาคารและผู้นำเข้าสินค้า หันมาใช้สกุลเงินอื่นๆ เช่น เงินยูโร เงิน Dirham-(AED) ยูเออี และ เงินหยวน เป็นต้น

เพิ่มเงินสกุลใหม่

หลังจากที่รัฐบาลอิรักได้พยายามใช้มาตรการดูแลการแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์กับเงินสกุลท้องถิ่น (Dinar) ให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารกลางอิรัก (CBI) ได้ประกาศขยายช่องทางการโอนเงินต่างประเทศสำหรับธนาคารท้องถิ่น โดยเพิ่มสกุลเงินใหม่เข้ามาในระบบ ดังนี้:

  • เพิ่มดินาร์ (Dinar) จอร์แดนและริยาล (Saudi Riyal) ซาอุดีอาระเบียเข้ามาร่วมกับดอลลาร์สหรัฐ
  • อนุญาตให้ธนาคารอิรักสามารถจัดการเงินทุนเพื่อการค้ากับตุรกีในสกุลเงินยูโรได้
  • ขยายตัวเลือกการโอนเงินให้ครอบคลุมสกุลเงินต่างๆ เพิ่มเติม เช่น ดีแรห์ม (AED) ยูเออี เงินหยวนจีน และเงินรูปีอินเดีย

การขยายตัวเลือกสกุลเงินในการค้าระหว่างประเทศนี้สอดคล้องกับแนวโน้มของประเทศอื่นๆ ที่พยายามลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ธนาคารกลางอิรักได้อนุญาตให้การค้ากับจีนสามารถชำระโดยตรงในสกุลเงินหยวน เพื่อปรับปรุงการจัดหาเงินทุนการค้าต่างประเทศและรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน

ธนาคารยังระบุว่าการขยายช่องทางการโอนเงินภายนอก จะเสนอการทำธุรกรรมในอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นทางการ ทำให้การโอนเงินมีความสะดวกขึ้น และมีจำนวนธนาคารเข้าร่วมในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของอิรักกับประเทศอื่น

นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงของธนาคารกลางอิรัก จากแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่ธนาคารตัวแทนที่ได้รับการรับรองได้โดยตรง ส่งผลต่อการทำธุรกรรมระหว่างประเทศของอิรักในหลายด้าน อาทิ

  • การใช้ธนาคารตัวแทนโดยตรงอาจช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ ทำให้การโอนเงินระหว่างประเทศกับอิรัก มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ธนาคารตัวแทนที่ได้รับการยอมรับโดยตรงอาจช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยในการทำธุรกรรม ซึ่งอาจส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นในการค้าระหว่างประเทศกับอิรัก
  • ช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรม อาจช่วยลดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการโอนเงินระหว่างประเทศ
  • การปรับปรุงระบบการเงินระหว่างประเทศของอิรักอาจเปิดโอกาสใหม่ๆ ทางการค้าระหว่างประเทศกับอิรัก โดยเฉพาะในด้านการส่งออกของไทยไปอิรักนั้นจะช่วยขยายประเภทสินค้าหลากหลายเพิ่มขึ้น (นอกจากข้าว)

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ

การประกาศของธนาคารกลางอิรัก เกี่ยวกับการขยายช่องทางการโอนเงินและเพิ่มสกุลเงินสำหรับการทำธุรกรรมระหว่างประเทศนั้น มีนัยสำคัญต่อประเทศไทยในหลายด้าน :

  • โอกาสทางการค้า

การที่อิรักเพิ่มความหลากหลายของสกุลเงินในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ อาจเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยในการขยายการค้ากับอิรัก ทั้งนี้จากสถิติการส่งออกไปตะวันออกกลางล่าสุด (ม.ค.-พ.ย.) 2567 ปรากฎอิรักเป็นตลาดสำคัญอันดับสี่ หรือมีสัดส่วน 10.0% ที่ไทยส่งออกไปภูมิภาคนี้ มูลค่าส่งออกไปอิรักรวม 1,048 ล้านดอลลาห์สหรัฐฯ (ขยายตัว 28.9%)  ได้แก่ สินค้าข้าว (+48%) รถยนต์ (+19%)  ตู้เย็น  (+36%)  ยางรถยนต์และผลิตภัณฑ์ยาง   (+16%) เครื่องปรับอากาศ (+53%) เครื่องซักผ้า (+21%) กระดาษ (+10%) เครื่องสำอาง (+9%) ปลากระป๋อง (+96%) และเครื่องใช้ไฟฟ้า (+19%)

  • การปรับตัวภาคการส่งออกและเพิ่มช่องทางการชำระเงิน

ประเทศไทยอาจพิจารณาการใช้สกุลเงินอื่นๆ นอกเหนือจากดอลลาร์สหรัฐในการทำธุรกรรมกับอิรัก ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและเพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกรรมทางการเงิน

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของอิรักในการปรับปรุงระบบการเงินระหว่างประเทศและเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำธุรกรรมทางการเงิน และอาจเป็นโอกาสสำคัญสำหรับประเทศไทยในการขยายการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับอิรัก ที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจในระยะยาว

thThai