เยอรมนีกำลังตกที่นั่งลำบาก…โดนปัญหาหนี้ท่วม

ด้วยค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้บริโภคในเยอรมนีกำลังประสบปัญหาทางการเงินมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยนาย Patrik-Ludwig Hantzsch ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยทางเศรษฐกิจของสถาบัน Creditreform เปิดเผยต่อหนังสือพิมพ์ Handelsblatt ว่า “จำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้สูงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น และคาดว่า ทั้งปี 2024 การล้มละลายของภาคเอกชนจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” ในขณะที่อีกด้าน “ความเครียดทางการเงินสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยจะทยอยเพิ่มขึ้น” โดยนาย Hantzsch กล่าวว่า “พวกเขาต้องใช้เงินจำนวนมากไปกับการซื้อสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ค่าเช่า พลังงาน และอาหาร” โดยสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเหล่านี้ “ประสบปัญหาการขึ้นราคาอย่างมาก” และนาย Hantzsch ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ความเสี่ยงของกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นวัยรุ่นในการเป็นหนี้ครั้งแรกจนเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว (Over-indebtedness) จะมีแนวโน้มมากขึ้น” โดยมีการออกสินเชื่อแบบผ่อนชำระในปริมาณน้อยย่อย ๆ และสินเชื่อที่เรียกว่า “ซื้อตอนนี้ จ่ายทีหลัง (Buy Now, Pay Late)” ที่มี “เกณฑ์การให้สินเชื่อง่ายมาก” เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ผู้ที่มีรายได้สูงจำนวนมากยังประสบปัญหาในการต่ออายุเปลี่ยนโครงสร้างสินเชื่อมากขึ้นด้วย โดยกรณีที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว (Over-Indebtedness) จนลูกหนี้ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้ได้ ในฐานะบุคคลธรรมดาก็ต้องยื่นขอล้มละลายส่วนบุคคลได้ในสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา การใช้ชีวิตในเยอรมนีมีราคาแพงขึ้นอีกครั้ง ตามที่สำนักงานสถิติประจำประเทศเยอรมนี (Statistisches Bundesamt) ประกาศเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อรายปีอยู่ที่ 2.2% หรือเกินอัตราเฉลี่ยที่ตั้งไว้ที่ 2% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2024 โดยสินค้าจำพวกอาหาร และบริการยังคงเป็นตัวการหลักขับเคลื่อนราคาทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น

 

ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าสินค้าบริโภคเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 1.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ยกตัวอย่างเช่น เนยมีราคาแพงขึ้นเกือบ 39% ราคาสินค้าบริการเพิ่มขึ้น 4% ในเดือนพฤศจิกายน เช่นเดียวกับในเดือนก่อนหน้า ค่าประกันภัยเพิ่มขึ้น 16.6% เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2023 และมีการเรียกเก็บค่าตั๋วเครื่องบินเพิ่มขึ้น 10.4% การใช้บริการในร้านอาหาร (+6.7%) และค่าเช่าสุทธิ (+2.1%) ก็มีราคาสูงขึ้นเช่นกัน นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์กันว่า ขณะนี้มีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนาย Timo Wollmershäuser ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจของสถาบันเพื่อการวิจัยทางเศรษฐกิจแห่งมหาวิทยาลัยมิวนิค (Ifo – Institut für Wirtschaftsforschung an der Universität München) คาดการณ์ว่า “เฉพาะการเพิ่มขึ้นของราคาผ่านการกำหนดราคาค่า CO2 สำหรับ น้ำมันเบนซิน น้ำมันทำความร้อน และก๊าซ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของราคาตั๋ว Deutschlandticket (ตั๋วโดยสารขนส่งมวลชนในประเทศแบบราคาเดียว) ค่าใช้จ่ายด้านไปรษณีย์ และประกันสุขภาพส่วนบุคคล ก็จะทำให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศเพิ่มขึ้น 0.3% แล้ว” นอกจากนี้ บริษัทค้าปลีกหลายแห่งต่างก็กำลังวางแผนขึ้นราคาสินค้าอีกครั้ง จากภูมิหลังนี้ผู้บริโภคจำนวนมากกลัวว่า ในปีหน้าพวกเขาจะไม่สามารถจ่ายค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้ ข้อมูลนี้เป็นผลการสำรวจผ่านการสำรวจประชากร 1,001 คน ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยสถาบัน Forsa ในนามของสมาพันธ์คุ้มครองผู้บริโภค (VZBV – Verbraucherzentrale Bundesverband) โดยผู้บริโภคถูกถามว่า พวกเขาประเมินสถานการณ์ทางการเงินของตนในปี 2025 อย่างไร หลังจากที่พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพ และค่าพลังงานที่สูงในปีนี้ ราว 1 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสำรวจ (27%) ระบุว่า พวกเขาต้องใช้เงินออม ถอนเงินในบัญชีกระแสรายวันด้วยเงินเบิกเกินบัญชีหรือใช้ทางเลือกทางการเงินอื่น ๆ นาง Jutta Gurkmann ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการเมืองที่เกี่ยวของกับผู้บริโภคของ VZBV บ่นว่า บ่อยครั้งที่ไม่มีชัดเจนว่า ราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นเกิดจากอะไร ด้วยเหตุนี้ นาง Gurkmann จึงเรียกร้องให้มี “การตั้งหน่วยงานที่คอยสังเกตการณ์ราคาและทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมนี้ และทำหน้าที่ปกป้องผู้บริโภคจากการปรับราคาที่สูงมากเกินไปในซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น” นาง Gurkmann กล่าวกับหนังสือพิมพ์ Handelsblatt ว่า การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืนไม่ควรเป็นเรื่องปัญหาทางการเงิน ฉะนั้นเราจะต้องร่วมกัน “ป้องกันการขึ้นราคาอย่างอยุติธรรม” นอกจากนี้ หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคยังกังวลเกี่ยวกับเรื่องต้นทุนด้านพลังงานด้วย นาง Gurkmann กล่าวว่า “หลายคนกลัวเมื่อจะต้องกล่าวถึง บิลค่าไฟฟ้าครั้งต่อไป เพื่อให้ค่าใช้จ่ายลดลงอย่างเห็นได้ชัด รัฐบาลกลางเยอรมันชุดต่อไปควรต้องลดภาษีไฟฟ้าให้เหลือเท่ากับขั้นต่ำของสหภาพยุโรป” ในเวลาเดียวกันนาง Gurkmann เองก็ยังกังวลใจเกี่ยวกับความไม่แน่นอนกับอนาคตของ Deutschlandticket อีกด้วย นอกจากนี้ประชาชนอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านการเงินเพิ่มเติมในปีหน้า ปัจจัย “การว่างงาน” จะมีบทบาทมากขึ้นอีกครั้งในปี 2025 นาย Hantzsch ผู้เชี่ยวชาญของ Creditreform กล่าวว่า “งานที่ได้รับค่าตอบแทนสูง โดยเฉพาะใน ภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจยานยนต์ หรือเคมีภัณฑ์ เป็นตำแหน่งงานที่มีความเสี่ยงสูง”

 

จาก Handelsblatt 30 ธันวาคม 2567

thThai