กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม (MOIT) เปิดเผยว่า ในปี 2567 สินค้าส่งออกของเวียดนามต้องเผชิญกับการไต่สวนมาตรการปกป้องทางการค้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อันเนื่องมาจากนโยบายปกป้องทางการค้า (Protectionism) ที่ขยายตัวทั่วโลก โดยมีการเริ่มต้นไต่สวน 28 กรณี ครอบคลุมสินค้าส่งออกของเวียดนามใน 12 ตลาด ซึ่งในจำนวนนี้ 13 กรณีเป็นการไต่สวนจากสหรัฐอเมริกา
จนถึงปัจจุบัน มีการไต่สวนมาตรการปกป้องทางการค้า 270 กรณี ที่ดำเนินการโดย 25 ประเทศ ซึ่งแบ่งเป็นมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping) 148 กรณี มาตรการปกป้อง (self-defence) 54 กรณี การตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti Circumvention) 38 กรณี และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Anti-subsidy) 30 กรณี ทั้งนี้ ปี 2567 นับเป็นหนึ่งในปีที่มีจำนวนการไต่สวนมาตรการปกป้องทางการค้าสูงที่สุด รองจากปี 2563 ซึ่งมีการเริ่มต้นไต่สวนถึง 39 กรณี สะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวของนโยบายปกป้องทางการค้าทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะยังคงดำเนินต่อไปในอนาคต
ที่น่าสังเกตคือ การไต่สวนมาตรการปกป้องทางการค้ากำลังมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น สหรัฐอเมริกาได้เริ่มดำเนินการไต่สวนเกี่ยวกับการอุดหนุนข้ามพรมแดน (Cross-border subsidy) สำหรับแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Panels) และแคปซูล (Capsules) ที่ส่งออกจากเวียดนามเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ หลายประเทศยังแสดงแนวโน้มที่จะดำเนินการไต่สวนและบังคับใช้มาตรการหลายประเภทในเวลาเดียวกันกับผลิตภัณฑ์เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด มาตรการตอบโต้การอุดหนุน มาตรการปกป้อง และการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน
กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ระบุว่า จะเดินหน้าสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในการรับมือกับการไต่สวนมาตรการปกป้องทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้าส่งออกของเวียดนาม พร้อมทั้งเสริมสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning) เพื่อให้กระทรวง หน่วยงานท้องถิ่น และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องสามารถเตรียมความพร้อมรับมือกับการไต่สวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนากลยุทธ์การส่งออกที่เหมาะสมเพื่อลดผลกระทบด้านลบให้น้อยที่สุด ในขณะเดียวกัน จากสถิติของกระทรวงฯ ได้เผยให้เห็นว่า เวียดนามได้เริ่มต้นการไต่สวนมาตรการปกป้องทางการค้าจำนวน 30 กรณี และได้นำมาตรการดังกล่าวมาใช้กับสินค้านำเข้า 22 รายการ โดยในจำนวนนี้ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ 16 รายการ โดยในปี 2567 เวียดนามได้ดำเนินการทบทวนกรณีการไต่สวนที่เริ่มต้นในปี 2566 จำนวน 7 กรณี เริ่มต้นการไต่สวนใหม่อีก 3 กรณี ทบทวนมาตรการสิ้นสุดอายุ 3 กรณี และได้รับคำร้องขอให้เริ่มการไต่สวนใหม่อีก 7 กรณี
นาย Le Huy Khoi รองผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์และนโยบายด้านอุตสาหกรรมและการค้าแห่งเวียดนาม กล่าวว่า เวียดนามจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจ ขยายความหลากหลายของตลาดส่งออกและแหล่งวัตถุดิบ ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากมาตรการปกป้องทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งเวียดนามมีดุลการค้าเกินดุลถึง 111,000 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม – พฤศจิกายน) เขาชี้ว่า ความเสี่ยงต่อการถูกไต่สวนมาตรการปกป้องทางการค้ามีแนวโน้มสูง พร้อมทั้งกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเร่งปรับปรุงเทคโนโลยี ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กำหนด และพัฒนากลยุทธ์การส่งออกในระยะยาวที่ยั่งยืน โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการผลิตและระบบการตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้า
(แหล่งที่มา https://vietnamnews.vn/ ฉบับวันที่ 22 ธันวาคม 2567)
วิเคราะห์ผลกระทบ
จากข้อมูลของหน่วยงานกำกับดูแลมาตรการเยียวยาทางการค้าของเวียดนาม (Trade Remedies Authority of Vietnam: TRAV) ระบุว่า ในปี 2567 การไต่สวนการปกป้องทางการค้าต่อสินค้าส่งออกของเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน เวียดนามได้เผชิญกับการไต่สวนจากมาตรการปกป้องทางการค้าจากต่างประเทศทั้งหมด 28 กรณี ซึ่งในจำนวนนี้ สหรัฐอเมริกา อินเดีย แคนาดา และอินโดนีเซีย เป็นตลาดที่มีแนวโน้มการไต่สวนสูงที่สุด โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 50 ของกรณีทั้งหมด สินค้าที่ถูกตรวจสอบมีความหลากหลายครอบคลุมทั้งสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูง เช่น แบตเตอรี่โซลาร์เซลล์ (Solar Battery) ซึ่งมีมูลค่าส่งออกถึง 4,200 ล้านเหรียญสหรัฐ กุ้ง มูลค่า 800 ล้านเหรียญสหรัฐ และเหล็กกล้าทนการกัดกร่อน (Corrosion Resistance Steel) มูลค่า 242 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปจนถึงสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกต่ำกว่า เช่น จานกระดาษ มูลค่า 9 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น
สาเหตุหลักที่หลายประเทศเพิ่มการไต่สวนการปกป้องการค้าต่อสินค้าจากเวียดนาม มาจากการที่เวียดนามสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การส่งออกของเวียดนามขยายตัวทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่าอย่างรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สินค้าของเวียดนามมีการแผ่ขยายเข้าสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ สภาพเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างล่าช้าและสถานการณ์โลกที่ซับซ้อน ทำให้สินค้าจากเวียดนามซึ่งมีราคาที่แข่งขันได้ กลับไปสร้างแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศของผู้ผลิตในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการผลิตในระดับสูงหรือต้องใช้เทคโนโลยีเฉพาะทาง ส่งผลให้ประเทศเหล่านี้ต้องใช้มาตรการปกป้องทางการค้าเพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศของตนเองจากการแข่งขันที่รุนแรง และเพื่อรักษาความมั่นคงในภาคอุตสาหกรรมของตนเองในระยะยาว
ในขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2567 กรมปกป้องทางการค้า กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ได้ส่งร่างสรุปผลการไต่สวนการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ลวดเหล็กเกลียวสำหรับคอนกรีตอัดแรง (AD17) ที่มาจากประเทศมาเลเซีย ไทย และจีน ซึ่งขณะนี้คาดว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามจะออกคำสั่งใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งมีพิกัดศุลกากร 7312.10.91, 7312.10.99 และ 7312.90.00 ที่มีต้นกำเนิดจากสามประเทศนี้ โดยจะเก็บอัตราอากรจากผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยในช่วงร้อยละ 10 – 15 มาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการไต่สวนและการตรวจสอบจากเวียดนามพบว่ามีการทุ่มตลาดในผลิตภัณฑ์ลวดเหล็กเกลียวสำหรับคอนกรีตอัดแรงที่นำเข้าจากทั้งสามประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศเวียดนาม จึงมีการดำเนินการตามมาตรการป้องกันการทุ่มตลาดเพื่อรักษาความเป็นธรรมในการแข่งขันและคุ้มครองผู้ผลิตในประเทศของตน
นำเสนอโอกาส/แนวทาง
คาดว่าในปี 2568 สถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองโลกจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อมาตรการปกป้องทางการค้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยุคที่การเมืองโลกเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และเศรษฐกิจโลกยังคงเติบโตในอัตราที่ช้าหรือไม่มั่นคง นักเศรษฐศาสตร์หลายท่านคาดการณ์ว่า ประเทศต่าง ๆ จะยังคงใช้มาตรการปกป้องการค้าภายในประเทศของตนเพื่อรับมือกับการแข่งขันในตลาดโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น การใช้มาตรการเหล่านี้จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศจากการถูกแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด
นอกจากนี้ ความซับซ้อนของการไต่สวนการปกป้องทางการค้าในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากหลายประเทศอาจใช้มาตรการที่หลากหลายและซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในการตรวจสอบการทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน ส่งผลให้กระบวนการไต่สวนเหล่านี้มีความซับซ้อนและยากต่อการจัดการมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ขนาดของคดีที่เกี่ยวข้องก็จะขยายตัว ทั้งในแง่ของจำนวนคดีและมูลค่าของสินค้าที่ถูกตรวจสอบ เนื่องจากการส่งออกของหลายประเทศ รวมถึงเวียดนาม ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีการขยายตลาดไปยังประเทศต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเผชิญกับมาตรการปกป้องทางการค้าที่เข้มข้นขึ้น
ด้วยปัจจัยเหล่านี้ การค้าระหว่างประเทศในอนาคตมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของความซับซ้อนและความไม่แน่นอน เนื่องจากมาตรการปกป้องทางการค้าของแต่ละประเทศอาจกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมการแข่งขันและปกป้องเศรษฐกิจภายในประเทศจากผลกระทบที่มาจากการค้าเสรีและการเปิดตลาด ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการในหลายประเทศต้องเผชิญกับข้อกำหนดที่เคร่งครัดมากขึ้นในการส่งออกสินค้า
ในสถานการณ์ที่ทั่วโลกมีแนวโน้มใช้มาตรการปกป้องทางการค้าที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการไทยที่มีการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดเวียดนาม ควรให้ความสำคัญกับการศึกษากฎระเบียบและมาตรการการป้องกันการค้าของประเทศเหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้สามารถวางแผนรับมือได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ การติดตามสถานการณ์และคำเตือนเกี่ยวกับสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อการถูกไต่สวนหรือดำเนินมาตรการปกป้องการค้าอย่างใกล้ชิดก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเตรียมตัวล่วงหน้าและพัฒนากลยุทธ์การส่งออกที่ยืดหยุ่นและตอบสนองต่อข้อกำหนดใหม่ ๆ ได้อย่างทันท่วงที