ปี 2567 การเติบโตทางเศรษฐกิจออสเตรเลียไตรมาสเดือนกันยายนขยายตัวเพียงร้อยละ 0.3 ต่ำสุดในรอบสิบปี และขยายตัวร้อยละ 0.8 ต่อปี แม้ว่าภาวะเงินเฟ้อโดยรวมจะลดลงที่ร้อยละ 2.8 ซึ่งอยู่ในระดับเป้าหมายของธนาคารกลางออสเตรเลีย (ตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 2-3) แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ทำให้ธนาคารกลางออสเตรเลียคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงที่ร้อยละ 4.35 เนื่องจากหากปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไปอาจเป็นกลไกกระตุ้นให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นอีกในอนาคต
เศรษฐกิจออสเตรเลียที่ซบเซาทำให้ภาคธุรกิจค้าปลีกออสเตรเลียต้องประสบกับภาวะยากลำบาก ทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง โดยเฉพาะการใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือย ส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก และธุรกิจจำนวนมากต้องปิดตัวลง ธุรกิจค้าปลีกที่อยู่รอดมีเพียงธุรกิจที่เน้นสินค้าจำเป็นหรือสินค้าทดแทนราคาถูก เช่น Kmart และ Bunnings Warehouse โดยเฉพาะ Kmart ที่มีผลกำไรสูงสุดร้อยละ 25 จากปีก่อน และผู้ค้าปลีกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และบันเทิงอย่าง JB Hi-Fi ที่ใช้โมเดลธุรกิจต้นทุนต่ำ เนื่องจากรูปแบบการซื้อสินค้าของชาวออสเตรเลียที่เปลี่ยนแปลงไปจากความกดดันด้านค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อที่ยาวนาน
สมาคมผู้ค้าปลีกออสเตรเลียและ Roy Morgan ระบุว่า ในช่วงเทศกาลลดราคาสินค้าเดือนธันวาคม ชาวออสเตรเลียใช้จ่ายในการซื้อสินค้าช่วงเทศกาล Boxing day หมวดสินค้าประเภทอาหาร, สินค้าเครื่องใช้ในบ้าน, เสื้อผ้า, รองเท้าสินค้าเพื่อสุขภาพและเครื่องประดับมีมูลค่า 6.7 พันล้านเหรียญออสเตรเลียเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเป็นการใช้จ่ายในวัน Boxing day เพียงวันเดียวมีมูลค่าสูงถึง 1.3 พันล้านเหรียญออสเตรเลียเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.8 คาดว่า แนวโน้มการใช้จ่ายซื้อสินค้าจะดำเนินต่อไปจนถึง 15 มกราคม 2568 และมูลค่าการใช้จ่ายจะสูงถึง 24.7 พันล้านเหรียญออสเตรเลียเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 จากปีก่อน (ส่วนหนึ่งเป็นผลจากต้นทุน ค่าขนส่งและค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นมีผลให้มูลค่าการใช้จ่ายซื้อสินค้าจึงสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา)
รายงานล่าสุดโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย พบว่า ยอดค้าปลีกในเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 และร้อยละ 3.4 ต่อปีเนื่องจากผู้ค้าปลีกโดยเฉพาะสินค้าที่ไม่จำเป็นเริ่มทำกิจกรรมส่งเสริมการขายในเดือนตุลาคมเพื่อดึงดูดใจผู้ซื้อให้มีการใช้จ่ายล่วงหน้าด้วยการลดราคา และผู้บริโภคใช้ประโยชน์จากการลดราคาของผู้ค้าปลีกที่เริ่มต้นเร็วขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคออสเตรเลียซึ่งได้รับแรงกดดันจากรายได้ของครัวเรือน ทำให้ผู้บริโภคออสเตรเลียระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น วางแผนการใช้จ่ายล่วงหน้าและเลือกซื้อสินค้าในช่วงเทศกาลลดราคาสินค้าเป็นหลัก นอกจากนี้ ผู้บริโภคออสเตรเลียจำนวนมากหันมาใช้บริการซื้อสินค้าแบบผ่อนจ่ายไม่มีดอกเบี้ย (Buy Now, Pay Later) ในการชำระเงินค่าสินค้าและบริการในช่วงเทศกาลเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากธนาคาร ANZ กล่าวว่า การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมจะส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อชั่วคราวและจะไม่ส่งผลต่อการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางออสเตรเลียให้ล่าช้าออกไป เนื่องจากปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อคือ ค่าใช้จ่ายในการสร้างที่อยู่อาศัย เช่น ค่าเช่า ค่าประกัน และค่าพลังงาน และในปี 2568 ผู้ค้าปลีกตั้งความหวังว่าจะได้รับประโยชน์จากการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางออสเตรเลียที่คาดว่าจะปรับลดลง 1 ถึง 2 ครั้ง จะทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นและกระตุ้นการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยในหมวดหมู่สินค้าที่ไม่จำเป็น เช่น เสื้อผ้าแฟชั่น สินค้าพรีเมี่ยม/หรูหรา การรับประทานอาหารนอกบ้านและกิจกรรมสันทนาการ/บันเทิงเพิ่มขึ้น
……………………………………………………………………………………..
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์
ที่มา:
www.abc.net.au