1.ข้อมูลทั่วไป
แหล่งเพาะปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญของประเทศจีน ได้แก่ เขตปกครองตนเองกวางสี มณฑลยูนนาน มณฑลกวางตุ้ง มณฑลไหหลำ มณฑลฝูเจี้ยน และมณฑลเจียงซี โดยแหล่งเพาะปลูกมันสำปะหลังของ เขตปกครองตนเองกวางสีเป็นแหล่งปลูกมันสำปะหลังที่มีพื้นที่เพาะปลูกและมีปริมาณการผลิตมันสำปะหลังมากที่สุดในจีน คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดของจีน และสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรรองจากผลไม้ ผัก และอ้อย โดยมีแหล่งปลูกสำคัญอยู่ที่เมืองอู่หมิง เฉินซี เหอผู่ หยงหนิง และปาหม่า ทั้งนี้ ผลผลิตทั้งหมดของเขตปกครองตนเองกวางสีส่วนใหญ่จะถูกจำหน่ายให้กับบริษัทแปรรูป แป้งมันสำปะหลัง โรงงานแอลกอฮอล์ และโรงงานอาหารสัตว์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูก มันสำปะหลังของจีนอยู่ที่ประมาณ 14.6 ล้านหมู่ หรือเท่ากับ 6.08 ล้านไร่ (1 ไร่เท่ากับ 2.4 หมู่) เท่านั้น จึงทำให้ปริมาณการเพาะปลูกมันสำปะหลังของจีนยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ ขณะที่ยังขาดแคลน มันสำปะหลังพันธุ์ดี และติดปัญหาเรื่องคุณภาพของดินที่ใช้ในการเพาะปลูกอีกด้วย
2.อัตราภาษีสำหรับการนำเข้าของผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
Hs code (จีน) | ผลิตภัณฑ์ | หน่วยวัด | MFN% | FTA% | VAT% |
0714102000 | มันสำปะหลังเส้น | กิโลกรัม | 5 % | 0 | 9 |
1108140000 | มันสำปะหลังอัดเม็ด | กิโลกรัม | 5 % | 0 | 9 |
2303100000 | กากมันสำปะหลัง (ภาษี RECPของไทย คือ 4.5%) | กิโลกรัม | 5 % | 0 | 9 |
1108140000 | แป้งมันสำปะหลัง | กิโลกรัม | 10 % | 0 | 13 |
แหล่งที่มา : https://www.hsbianma.com/Code/0714102000.html
https://www.hsbianma.com/Code/1108140000.html
3.ประเภทมันสำปะหลังในจีน
3.1มันเส้น (Tapioca Chips)/มันสำปะหลังอัดเม็ด (Tapioca Pellet) HS CODE ไทย คือ 07141011000/07141019001 ตามลำดับ : มันเส้น (Tapioca Chips) และมันสำปะหลังอัดเม็ด (Tapioca Pellet) อยู่ภายใต้ HS CODE จีนรหัสเดียวกัน คือ 0714102000 โดยส่วนใหญ่จะใช้ในโรงงานผลิตแอลกอฮอล์ และ Citric acid เป็นหลัก
3.2 กากมันสำปะหลัง (Tapioca Residu) HS CODE ไทย คือ 23031010000 : HS CODE จีน คือ 2303100000 เนื่องจากกากมันสำปะหลังนั้นอุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรตที่สามารถย่อยได้ง่าย รวมไปถึงแร่ธาตุและกรดอะมิโนจำนวนมาก และเป็นอาหารสัตว์ที่มีราคาถูกและใช้กันอย่างแพร่หลาย จึงมีความต้องการเป็นจำนวนมากในตลาดจีน
3.3 แป้งมันสำปะหลัง (Native Starch) HS CODE ไทย คือ1106201000/ 11062021000/11081400000/11062029000 : HS CODE จีน คือ 1108140000 ส่วนใหญ่จะใช้ในด้านอุตสาหกรรมการผลิตอาหารเป็นหลัก หลังจากธุรกิจชานมในจีนที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ปริมาณความต้องการแป้งมันสำปะหลังในจีนจะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
3.4 แป้งแปรรูป (Modified Starch) HS CODE ไทย คือ 35051010000/35051090003/ 3505109004/35051090910 : ปัจจุบันจีนมีความต้องการแป้งแปรรูปเพื่อบริโภคในปริมาณ 400,000 ต่อปี โดยอุตสาหกรรมการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีความต้องการสูงสุด ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 100,000 ตันต่อปี ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ราคาแป้งแปรรูปในจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ จีนนำเข้าแป้งแปรรูปเพื่อบริโภคจากต่างประเทศประมาณ 50,000 ตันต่อปี
3.5 สาคู (Tapioca Pearl) HS CODE ไทย คือ 19030000001/19030000090 : HS CODE จีน คือ 1903000000 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากร้านชานม และร้านอาหารไทยในจีนเพิ่มสูงขึ้น จึงต้องการสาคูมากขึ้น
- สถานการณ์การนำเข้าสินค้ามันสำปะหลังในตลาดจีน
ปัจจุบันจีนนับเป็นประเทศผู้นำเข้ามันสำปะหลังอันดับ 1 ของโลก โดยปริมาณการนำเข้ามันสำปะหลังของจีนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของปริมาณความต้องการการมันสำปะหลังของจีนทั้งหมด โดยแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่งของจีน คือ ไทย รองลงมาคือ เวียดนาม
ตารางแสดงการนำเข้ามันเส้นของจีนระหว่างเดือนม.ค.-พ.ย. 2567
ลำดับ | ประเทศ | ปริมาณการนำเข้า (ตัน) | ขยายตัว (%) | มูลค่าการนำเข้า (เหรียญสหรัฐ) | ขยายตัว (%) |
1 | ไทย | 1,949,007 | -59.31% | 489,875,237 | -63.08% |
2 | เวียดนาม | 376,745 | -46.19% | 96,759,960 | -49.69% |
3 | ลาว | 10,692 | -5.02% | 2,663,550 | -4.98% |
4 | กัมพูชา | 3,345 | -37.5% | 885,813 | -39.96% |
5 | แทนซาเนีย | 25 | – | 7,375 | – |
6 | ไนจีเรีย | 24 | -91.66% | 4,089 | -95.05% |
แหล่งที่มา: Global Trade Atlas
ตารางแสดงการนำเข้าแป้งมันสำปะหลังของจีนระหว่างเดือนม.ค.-พ.ย. 2567
ลำดับ | ประเทศ | ปริมาณการนำเข้า
(ตัน) |
ขยายตัว (%)
|
มูลค่าการนำเข้า
(เหรียญสหรัฐ) |
ขยายตัว (%) |
1 | ไทย | 1,616,451 | -6.76% | 854,522,922 | -6.59% |
2 | เวียดนาม | 1,347,521 | 46.96% | 669,396,464 | 48.18% |
3 | ลาว | 358,847 | 100.32% | 178,844,501 | 124.9% |
4 | กัมพูชา | 44,372 | 38.58% | 22,943,976 | 48.77% |
5 | อินโดนีเซีย | 44,372 | -92.21% | 3,819,455 | -92.02% |
6 | กานา | 6 | 140% | 5,055 | 129.04% |
แหล่งที่มา: Global Trade Atlas
5.ราคามันสำปะหลังในตลาดจีน
ตารางแสดงราคามันเส้นนำเข้าในตลาดจีน |
||
เวลา | ไทย
ราคา FOB (Free On Board) (เหรียญสหรัฐ/ตัน) |
เวียดนาม
ราคา CFR (Cost and Freight) (เหรียญสหรัฐ/ตัน) |
วันที่ 26 ธ.ค.2567 | 180-183 เหรียญสหรัฐ/ตัน | 190-195 เหรียญสหรัฐ/ตัน |
ตารางแสดงราคามันเส้นนำเข้าในตลาดจีน |
||
เวลา | ไทย
ราคา FOB (Free On Board) (เหรียญสหรัฐ/ตัน) |
เวียดนาม
ราคา CFR (Cost and Freight) (เหรียญสหรัฐ/ตัน) |
วันที่ 26 ธ.ค.2567 | 180-183 เหรียญสหรัฐ/ตัน | 190-195 เหรียญสหรัฐ/ตัน |
แหล่งที่มา :https://starch.sci99.com/
6.การแข่งขันในตลาดจีน
1) จีนมีการเพาะปลูกมันสำปะหลัง แม้ว่าปริมาณการผลิตไม่มาก อย่างไรก็ตามหลังจากตลาดจีนมีความต้องการมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มากขึ้น ทำให้ชาวจีนหันมาให้ความสำคัญในการเพาะปลูกมันสำปะหลังมากขึ้นตามไปด้วย หากเทคโนโลยีที่ใช้ในการเพาะปลูก/การผลิตได้ยกระดับขึ้นไปอีกขั้นในอนาคต ในขณะที่จีนมีความได้เปรียบในด้านต้นทุนการขนส่งซึ่งเพียงขนส่งสินค้าเพื่อจำหน่ายในตลาดของตนเอง ดังนั้นจะช่วยเพิ่มขีดความสารถในการแข่งขันในอนาคต
2) คู่แข่งมันเส้นจากเวียดนาม ซึ่งเวียดนามมีการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ต้นทุนการผลิตต่ำ และเร่งการส่งออก จนมีส่วนแบ่งการตลาดในจีนมากขึ้น เห็นได้จาก สัดส่วนปริมาณนำเข้าแป้งมันปะหลังของจีนจากเวียดนามเพิ่มขึ้นในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567
3) จากการสำรวจพบว่า สาคูไทยครองส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างสูงซึ่งมีความได้เปรียบในด้านการแข่งขันในตลาดจีน
7.แนวโน้มการใช้มันสำปะหลังในประเทศจีน
1) มันสำปะหลังนำมาแปรรูปเป็นเส้นและแป้ง โดยนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อาหาร ยา กระดาษ สิ่งก่อสร้าง อาหารสัตว์ สิ่งทอ เคมีภัณฑ์ เชื้อเพลิง ฯลฯ ผู้เชี่ยวชาญในวงการ มีความเห็นว่า แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมมันสำปะหลังยังคงเน้นยกระดับคุณภาพ ประสิทธิภาพ และเพิ่มความหลากหลายของการใช้ประโยชน์จากมันสำปะหลังให้มากขึ้น
2) มันสำปะหลังแบ่งเป็นมันสำปะหลังขมและมันสำปะหลังหวาน มันสำปะหลังหวานเป็นธัญญาหารที่ดีมีคุณสมบัติของโภชนาการที่ดีในการรับประทาน ขณะนี้ มีการศึกษาวิจัยการเพาะปลูกมันสำปะหลังหวานที่มีคุณภาพสูงรวมทั้งศึกษาวิธีการเก็บสต็อกมันหวานสดตลอดทั้งปี เพื่อแก้ปัญหามันสำปะหลังหวานที่เก็บรักษาได้ไม่นานมาโดยตลอด และเพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมของหวานที่ทำจากมันสำปะหลังหวานในอนาคต
3) จีนจะขยายผลผลิตเอทานอลเชื้อเพลิงชีวภาพและส่งเสริมการใช้น้ำมันเบนซินเอทานอลสำหรับรถยนต์ ในปี 2563 ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ปริมาณการใช้เอทานอลเชื้อเพลิงชีวภาพจะมากถึง 10 ล้านตัน/ปี ขณะนี้ มันสำปะหลังจึงกลายเป็นพืชสำคัญชนิดหนึ่งในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ และถูกกำหนดให้เป็นทางเลือกอันดับต้น ๆ ในบรรดาวัตถุดิบผลิตเอทานอลนอกเหนือจากมันเทศและข้าวฟ่าง
4) ผลกระทบจากนโยบายการรักษาสิ่งแวดล้อมจีนในเดือนมีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ภาครัฐของจีนได้มีการประชุมระหว่าง National People’s Congress (NPC) และ Chinese People’s Political Consultative Conference (CPPCC) โดยเน้นนโยบายการรักษาสิ่งแวดล้อมในประเทศ ส่งผลให้จีนเข้มงวดในการขจัดปัญหามลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเคมีอุตสาหกรรม (Chemical Industry) ทุกชนิดจะต้องผ่านมาตรฐานต่างๆ ที่รัฐบาลกำหนด อาทิ ระบบการผลิต ระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น จึงทำให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้ามาตรวจสอบกับบริษัทหลายแห่ง และบางโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานต้องยกเลิกการผลิต และปิดโรงงาน ทั้งนี้ อาจไม่ส่งผลทางตรงกับอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ แต่ส่งผลทางอ้อมที่ทำให้รัฐบาลมีความเข้มงวดในการขนส่งมันเส้นที่มีฝุ่นผง รวมทั้ง เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสีย
5) มันสำปะหลังของไทยมีคุณภาพแอลกอฮอล์ที่ดีกว่ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้านแต่มีปัญหาสิ่งสกปรกและสิ่งปลอมปนอยู่ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเริ่มมีมาตรการกำจัดสิ่งสกปรก และทำความสะอาดที่ดีขึ้น รวมทั้งผู้นำเข้าเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน จึงทำให้ควบคุมคุณภาพได้ดีกว่ามันสำปะหลังจากไทย ทั้งนี้ รัฐบาลจีนมีการบังคับใช้มาตรการลดปริมาณฝุ่นจากการนำเข้ามันสำปะหลังอย่างเท่าเทียมกันทุกประเทศ แต่การกวดขันที่เข้มงวดมากน้อยเพียงใด อาจขึ้นกับปริมาณความต้องการในประเทศ ที่ผ่านมา ตลาดจีนไม่เข้มงวดในเรื่องการนำเข้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เนื่องจากมีความต้องการบริโภคภายในประเทศมาก
6) ประเทศจีนเป็นผู้ซื้อมันสำปะหลังรายใหญ่ของไทย รัฐบาลจีนมีนโยบายเพิ่มการใช้เอทานอลในน้ำมันเชื้อเพลิง (E10) เพื่อส่งเสริมมาตรการลดมลพิษ ส่งผลต่อความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 10 ล้านตันจากปัจจุบันที่มีความต้องการใช้เพียง 2.6 ล้านตัน ดังนั้น ราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และรายได้เกษตรกร คาดว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นในระยะต่อไป
- สถานการณ์ตลาดมันสำปะหลังในตลาดเฉิงตู มณฑลเสฉวน
1) เนื่องจากภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวนไม่เหมาะกับการเพาะปลูกมันสำปะหลัง โดยมันสำปะหลังที่จำหน่ายในตลาดส่วนใหญ่จะรับซื้อจากพื้นที่เพาะปลูก มันสำปะหลังในจีน เช่น เขตปกครองตนเองกวางสี มณฑลยูนนาน มณฑลฝูเจี้ยน เป็นต้น หรือนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น เวียดนาม ลาว เป็นต้น
2) ปัจจุบันผู้นำเข้าและผู้กระจายมันสำปะหลังในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวนค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับเมืองติดกับชายฝั่งทะเล เช่น มณฑลซานตง มณฑลกวางตุ้ง มณฑลฝูเจี้ยน เป็นต้น เนื่องจากโรงงานที่ใช้มันสำปะหลังเป็นส่วนประกอบในการผลิตในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน ค่อนข้างน้อยและต้นทุนการขนส่งค่อนข้างสูง เช่น โรงงานผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม (เช่น วุ้น หมากฝรั่ง เบียร์ ฯลฯ) อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมผลิตกระดาษ อุตสาหกรรมผลิตสิ่งทอ อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ เป็นต้น
3) ผู้นำเข้าในครเฉิงตูจะเน้นนำเข้า/กระจายแป้งมันสำปะหลังเป็นหลัก เพื่อนำไปผลิตสินค้าอาหาร รวมถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สาคู เป็นต้น โดยจะพิจารณาราคารับซื้อเป็นอันดับแรก รองมาคือ คุณภาพสินค้า สิ่งที่น่าสนใจคือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะใช้แป้งมันสำปะหลังเกรดกลาง-สูงเป็นส่วนประกอบ นอกจากนี้ แม้ว่า ผู้นำเข้าส่วนใหญ่ยังไม่ได้นำเข้าสินค้ามันสำปะหลังจากประเทศไทย แต่ยังคงสนใจมันสำปะหลังไทย เนื่องจากตลาดจีนตะวันตกนับเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการบริโภคมันสำปะหลังเป็นอย่างมาก หลังจากธุรกิจสินค้าอาหารและเครื่องดื่มได้พัฒนาอย่างรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง จะมีความต้องการแป้งมันสำปะหลังจากต่างประเทศมากขึ้น ประกอบกับแป้งมันสำปะหลังไทยมีคุณภาพสูงซึ่งสามารถรับรองรสชาติอาหารและเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าได้อีกด้วย
ข้อเสนอแนะ สคต. ณ นครเฉิงตู
ประเทศไทยมีโอกาสขยายการส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ไปยังจีนได้อีกมาก เนื่องจากจีนมีความต้องการนำเข้าสูงถึงร้อยละ 80 ของความต้องการในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากจีนประกาศนโยบายส่งเสริมการใช้เอทานอลในน้ำมันเชื้อเพลิง (E10) ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้มันสำปะหลังเพิ่มขึ้นจาก 2.6 ล้านตันเป็นมากกว่า 10 ล้านตันต่อปี ส่งผลให้แนวโน้มราคาและรายได้ของเกษตรกรไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ ตลาดจีนตะวันตกยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง โดยเฉพาะในด้านแป้งมันสำปะหลัง เนื่องจากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในพื้นที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ประกอบกับแป้งมันสำปะหลังไทยมีคุณภาพสูง สามารถรับรองรสชาติอาหารและเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าได้ อย่างไรก็ตาม ไทยควรปรับปรุงคุณภาพสินค้าโดยเฉพาะในด้านความสะอาด การกำจัดสิ่งปลอมปน และการลดปริมาณฝุ่น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของจีนที่มีความเข้มงวดมากขึ้น
ในด้านผลิตภัณฑ์แปรรูป ไทยมีโอกาสในการขยายตลาดสาคูซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดสูงในจีน โดยเฉพาะจากกระแสความนิยมร้านชานมและร้านอาหารไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แป้งแปรรูปเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในจีนที่มีความต้องการสูงถึง 100,000 ตันต่อปี รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มอื่น ๆ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ยา กระดาษ สิ่งก่อสร้าง อาหารสัตว์ สิ่งทอ และเคมีภัณฑ์ ซึ่งล้วนมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในตลาดจีน
————————————————–
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู
มกราคม 2568
แหล่งข้อมูล :
https://starch.sci99.com/news/39744548.html
https://www.chinairn.com/hyzx/20231109/181911852.shtml
https://www.chinabgao.com/info/1246399.html
https://max.book118.com/html/2021/0201/8000056112003044.shtm