ความไม่สงบในโมซัมบิกกระทบเศรษฐกิจแอฟริกาใต้

ปัจจุบันโมซัมบิกยังคงเผชิญเหตุจลาจลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่กรุงมาปูโต เมืองหลวงของประเทศ เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งนายแดเนียล ชาโป (Mr.Daniel Chapo) จากพรรคเฟรลิโม (พรรครัฐบาลที่ครองอำนาจมานานเกือบ 50 ปี ตั้งแต่ได้รับอิสรภาพจากโปรตุเกสเมื่อปี 2518) เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง (ได้มีการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ต่อมาสภารัฐธรรมนูญแห่งโมซัมบิก ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 โดยจะมีพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม 2568)

การปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและตำรวจ ทหาร ทำให้เกิดความเสียหายใน  วงกว้าง ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 250 คนนับตั้งแต่เริ่มประท้วงเมือเดือนตุลาคม 2567 นอกจากนี้ พบว่าผู้ลี้ภัยกว่า 3 พันคนจากโมซัมบิกได้อพยพไปยังประเทศมาลาวีซึ่งมีพรมแดนทางบกติดกับโมซัมบิก

การประท้วงในโมซัมบิกได้ส่งผลกระทบต่อการผ่านเข้า-ออกบริเวณด่านลีบอมโบ (Lebombo Border Post) ซึ่งเป็นพรมแดนทางบกของแอฟริกาใต้-โมซัมบิก เนื่องจากรถบรรทุกสินค้าใช้เวลารอคอยนาน สาเหตุจากแอฟริกาใต้ได้เพิ่มความปลอดภัยและการลาดตระเวน เพื่อป้องกันและต่อสู้กับอาชญากรรม

เมื่อเดือนพฤจิกายน 2567 แอฟริกาใต้ได้ประกาศปิดด่านพรมแดนลีบอมโบเป็นการชั่วคราว เนื่องจาก ผู้ประท้วงในฝั่งโมซัมบิกได้เผารถยนต์ใกล้ด่านลีบอมโบ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันท่าเรือมาปูโต (ท่าเรือหลักในโมซัมบิกซึ่งแอฟริกาใต้ใช้ส่งออกโครเมียม) ได้ประกาศปิดท่าเรือชั่วคราว เพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัย ในเบื้องต้น นายเกวิน แคลลี่ ผู้บริหารสมาคมการขนส่งทางถนน (The Road Freight Association :RFA)  คาดการณ์ว่า การปิดด่านพรมแดนและการปิดท่าเรือมาปูโต ส่งผลเสียต่อภาพรวมของเศรษฐกิจแอฟริกาใต้ประมาณ 10 ล้านแรนด์ต่อวัน (หรือประมาณ 20 ล้านบาท) ซึ่งครอบคลุมถึงด้านต่างๆ เช่น ความเสียหายของรถยนต์ การบาดเจ็บของคนขับรถ การปล้นสินค้า การนำเข้า-ส่งออกหยุดชะงัก ขาดทุนจากการส่งสินค้าไม่สำเร็จตามสัญญา ค่าใช้จ่ายด้านความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น ความเสียหายของภาคส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ การบริการ การผลิต ท่องเที่ยว ค้าปลีก เหมืองแร่ เกษตรกรรม ที่พึ่งพาการขนส่งทางถนน  ทั้งนี้ หากประเมินความเสียหายเฉพาะการขนส่งสินค้าเพียงอย่างเดียว ประมาณ 6 ล้านแรนด์ต่อวัน (ประมาณ 12 ล้านบาท) ขณะนี้ ด่านพรมแดนแอฟริกาใต้-โมซัมบิก และท่าเรือมาปูโต เปิดให้บริการแล้ว

ปัจจุบัน เพื่อความปลอดภัยในการขนส่งสินค้าจากแอฟริกาใต้ไปยังโมซัมบิก รถขนส่งได้เปลี่ยนเส้นทางจากเดิมที่ผ่านด่านลีบอมโบ(แอฟริกาใต้-โมซัมบิก) ไปยังด่านมานานกา(แอฟริกาใต้ – เอสวาตินี) ก่อนไปยังปลายทางโมซัมบิก

หลายฝ่ายคาดว่าการจลาจลในโมซัมบิกจะยังคงมีอยู่ อย่างน้อยจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นวันสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ นอกจากนี้                      มีผู้สังเกตการณ์บางรายกังวลว่ากลุ่มผู้ชุมนุมอาจยับยั้งพิธีสาบานตน

ขณะนี้ กระทรวงความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งแอฟริกาใต้ ได้ออกประกาศแนะนำประชาชนแอฟริกาใต้ให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังโมซัมบิกจนกว่าเหตุการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ

ข้อมูลเพิ่มเติมและความเห็นของสำนักงานฯ: การจลาจลที่ยืดเยื้อในโมซัมบิกตั้งแต่เดือนตุลาคม 2667 เป็นต้นมา ได้ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของโมซัมบิกอย่างมาก และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแอฟริกาใต้อย่างมากด้วย เนื่องจากแอฟริกาใต้เป็นคู่ค้าที่สำคัญของโมซัมบิก (ปี 2566 ข้อมูลจาก UN comtrade ระบุว่า โมซัมบิกนำเข้าจากแอฟริกาใต้มูลค่ามากที่สุด ในขณะที่ส่งออกไปแอฟริกาใต้มูลค่ามากอันดับที่ 3)            อีกทั้งแอฟริกาใต้ยังใช้ท่าเรือมาปูโตของโมซัมบิกเป็นท่าเรือหลักในการส่งออกแร่โครเมียม นอกจากนี้ เศรษฐกิจที่ชะลอของโมซัมบิกอันเป็นผลจากการจลาจล คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังโมซัมบิกในระดับหนึ่ง

ข้อมูลจาก S&P (ประมวลจาก South African Revenue Service) ระบุว่า ปี 2567 (มกราคม – พฤศจิกายน) แอฟริกาใต้ส่งออกไปโมซัมบิกมากเป็นอันดับที่ 5 มูลค่า 6,242.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.72 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน)             ในขณะที่แอฟริกาใต้นำเข้าจากโมซัมบิกมากเป็นอันดับที่ 24 มูลค่า 976.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.71 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน) โดยที่แอฟริกาใต้ได้ดุลการค้ากับโมซัมบิก มูลค่า 5,266.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลจากสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ (ประมวลจากกรมศุลกากร) ระบุว่า ปี 2567 (มกราคม – พฤศจิกายน) ไทยส่งออกไปยังทวีปแอฟริกา มูลค่า 6,403.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 0.52 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน) โดยส่งออกไปแอฟริกาใต้มากที่สุด (คิดเป็นร้อยละ 44.20 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยไปทวีปแอฟริกา) รองลงมาคือ อียิปต์ (ร้อยละ 9.56) เซเนกัล (ร้อยละ 4.36) ลิเบีย (ร้อยละ 3.52) ตามลำดับ โดยไทยส่งออกไปโมซัมบิกมากเป็นอันดับที่ 6 มูลค่า 200.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.63 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน) โดยสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ข้าว (ร้อยละ 79.61 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยไปโมซัมบิก) รถยนต์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ร้อยละ 6.4)   เม็ดพลาสติก (ร้อยละ 3.32) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล(ร้อยละ 2.96) ตามลำดับ

 

ที่มาข่าว : www.witness.co.za  www.businesstech.co.za

เครดิตภาพ : www.voanews.com

ประมวลโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพริทอเรีย

มกราคม 2568

thThai