สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะผลิตเครื่องประดับทองคำเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายใน 5 ปี

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออีมีรัฐดูไบเป็นเป็นศูนย์กลางการซื้อขายทองคำมาอย่างยาวนาน ขณะนี้ต้องการเสริมความแข็งแกร่งในฐานะศูนย์กลางการผลิตเครื่องประดับระดับโลก โดยวางแผนเพิ่มกำลังการผลิตเครื่องประดับทองคำเพิ่มเป็นสองเท่าภายในห้าปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยให้ประเทศมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นบนแผนที่โลกในด้านการค้าและการผลิตเครื่องประดับโลหะมีค่า

นาย Tawhid Abdullah ประธานกลุ่ม Dubai Jewellery Group และเจ้าของบริษัท Jawhara Jewellery ได้เปิดเผยในบทสัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Khaleej Times ถึงความสำเร็จของการผลิตเครื่องประดับทองคำในประเทศ โดยเน้นย้ำว่าอุตสาหกรรมนี้ในดูไบและยูเออีมีการเติบโตอย่างมากในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าทองคำและเครื่องประดับระดับโลก

  • การผลิตในประเทศเป็นหัวใจสำคัญ : ดูไบและยูเออีสามารถพัฒนาศักยภาพการผลิตภายในประเทศจนสามารถผลิตเครื่องประดับที่มีคุณภาพสูง มีความมั่นใจในผลิตภัณฑ์ในประเทศมากพอที่จะลดการนำเข้า
    • มุ่งเน้นการเติบโตในอนาคต : การขายเครื่องประดับทองคำที่ผลิตในยูเออีจะเป็นจุดสนใจสำคัญในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า รักษาภาพลักษณ์ของประเทศให้เป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ ของการค้า
    • การส่งเสริมบทบาทของอุตสาหกรรมภายในประเทศ : Dubai Jewellery Group มุ่งเน้นส่งเสริมผลิตภัณฑ์ในประเทศให้ก้าวหน้า เปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้ค้า” เป็น “ผู้ผลิตที่จริงจัง” ตั้งเป้าหมายให้ยูเออีเป็นประเทศผู้ผลิตเครื่องประดับอันดับต้น ๆ ของโลก
    • การขยายตัวของอุตสาหกรรม : กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีแผนเพิ่มกำลังการผลิตอีกสองเท่าภายใน 5 ปี รัฐบาลดูไบได้เชิญชวนผู้ผลิตจากประเทศเพื่อนบ้านและทั่วโลกมาตั้งโรงงานในดูไบนาย Tawhid Abdullah แสดงวิสัยทัศน์ชัดเจนว่าการผลิตเครื่องประดับทองคำและการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ยูเออีเป็นผู้นำด้านเครื่องประดับระดับโลก ทั้งยังเสริมสร้างความมั่นคงในเศรษฐกิจของประเทศดูไบ เมืองแห่งทองคำ 

      ดูไบเป็นที่รู้จักกันในนาม “City of Gold”หรือ “เมืองแห่งทองคำ” เป็นที่ตั้งของแบรนด์เครื่องประดับชื่อดังระดับโลก เมืองนี้เคยเป็นจุดศูนย์กลางการซื้อขายทองคำและเครื่องประดับ แต่ปัจจุบันต้องการเสริมสถานะให้เป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลก นำโดยกลุ่ม Dubai Jewellery Group (DJG) เป็นองค์กรการค้าขนาดใหญ่ที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องประดับของดูไบ มีสมาชิกประมาณ 600 ราย ซึ่งครอบคลุมทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรม รวมถึง   การผลิตทองคำและเครื่องประดับเพชร การค้าส่งและค้าปลีกเครื่องประดับ โลหะมีค่า เพชร และไข่มุก

      ปี 2567 ถือเป็นปีที่มีทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องประดับทองคำและอัญมณี โดยเฉพาะในตลาดดูไบและอินเดีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางสำคัญในภูมิภาคและทั่วโลก ราคาทองคำ 22K ในปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 309 เดอร์แฮมต่อกรัม (84.31 ดอลลาร์สหรัฐฯ) จากเดิมประมาณ 200-220 เดอร์แฮมต่อกรัม (54.50-60.00 ดอลลาร์สหรัฐฯ) เมื่อปีที่แล้ว ราคาทองคำแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงกลางปี ก่อนจะปรับลดลงและทรงตัวในช่วงปลายปี ทั้งนี้ สถานการณ์การค้าและปัจจัยที่ส่งผลในปี 2567 ได้แก่ ปัจจัยฤดูหนาวในช่วงท้ายปี เป็นช่วงเวลาสำคัญของการค้าเครื่องประดับ เนื่องจากมีงานแต่งงานในยูเออีและอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดหลักสำหรับสินค้าเหล่านี้ ปัจจัยจากความผันผวนของราคาทองคำ ที่ฤดูร้อนที่ผ่านมามีความผันผวนหนักของราคาทองคำ ส่งผลกระทบต่อการซื้อขาย สถานการณ์เริ่มฟื้นตัวในเดือนกันยายน เมื่อราคาทองคำเริ่มทรงตัว

      นาย Shamlal Ahamed จากกลุ่ม Malabar Gold and Diamonds ที่มีเครือข่ายร้านค้าปลีกจำนวน 326 สาขา ใน 11 ประเทศ พร้อมด้วยศูนย์ออกแบบและโรงงานในหลายภูมิภาค ให้ความเห็นเพิ่มว่าแม้ปีนี้จะมี       ความท้าทาย แต่บริษัทมีการเติบโตของรายได้โดยรวม 15%-20% เทียบกับปีก่อน ภาพรวมตลาดเครื่องประดับทองคำและอัญมณีในดูไบและภูมิภาคตะวันออกกลางปิดท้ายปีด้วยผลลัพธ์ที่แข็งแกร่ง ความต้องการสินค้าฟื้นตัวอย่างชัดเจนในช่วงปลายปี และแนวโน้มยังคงสดใสต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า ดังนั้น การจัดการรับมือกับความผันผวนของราคาทองคำ      และการตอบสนองต่อปัจจัยฤดูกาลยังคงเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้อุตสาหกรรมนี้สามารถเติบโตต่อเนื่องได้

      สถานการณ์เครื่องประดับทองคำในยูเออี

      ยูเออียังคงรักษาบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมทองคำและเครื่องประดับระดับโลก แม้จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในตลาดโลกและพฤติกรรมผู้บริโภคที่หลากหลาย ดังรายละเอียดต่อไปนี้

      • ผลกระทบจากการลดภาษีนำเข้าทองคำของอินเดีย : รัฐบาลอินเดียลดภาษีนำเข้า ทองคำและเงิน จาก 15% เหลือ 6% รวมถึงลดภาษีสำหรับแพลตตินัมและแพลเลเดียมเหลือ 4% จาก 15.4% การลดภาษีดังกล่าวกระตุ้นการบริโภคทองคำในอินเดีย ซึ่งคาดการณ์ว่าปี 2567 การบริโภคจะเพิ่มขึ้นถึง 850 ตัน ดูไบซึ่งเป็นพันธมิตรการค้าสำคัญของอินเดีย ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับการซื้อเครื่องประดับทองคำของนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย แม้ภาษีลดลงในอินเดีย แต่ดูไบยังคงได้เปรียบด้านราคาและความหลากหลายของสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดค้าส่งและการท่องเที่ยว
      • ความนิยมของเครื่องประดับทอง 18 กะรัต : เมื่อราคาทองคำพุ่งสูง ความต้องการเครื่องประดับทอง 18 กะรัต เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีราคาย่อมเยากว่า 22 กะรัต และ 24 กะรัต แม้ว่าค่ากำเหน็จของทอง 18 กะรัตจะสูงกว่า แต่บางคอลเลกชันมีน้ำหนักเบา ทำให้เป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าสำหรับลูกค้าบางกลุ่ม และข้อได้เปรียบของทอง 18 กะรัต ที่มีน้ำหนักเบาและมีดีไซน์ทันสมัย คุณภาพและความทนทานเหมาะสมกับราคาที่จับต้องได้ กลายเป็นตัวเลือกยอดนิยมในช่วงราคาทองคำปรับตัวสูง
      • การเพิ่มขึ้นของความนิยมเครื่องประดับเพชรและอัญมณีสี : เพชรได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในฐานะตัวเลือกแทนเครื่องประดับทองที่มีราคาสูง มีความต้องการเพิ่มขึ้นในคอลเลกชันที่มีดีไซน์หรูหรา เช่น ชุดจี้หรือเครื่องประดับขนาดเล็ก ในขณะที่เครื่องประดับอัญมณีสี อย่างมรกต ทับทิม และอัญมณีสีอื่นๆ ได้รับความนิยม เนื่องจากตอบโจทย์ทั้งดีไซน์และความหลากหลาย นอกจากนี้เทศกาลต่างๆ เช่น Diwali และโอกาสพิเศษ กระตุ้นยอดขายเครื่องประดับเพชรและอัญมณี

      สรุปแนวโน้มในยูเออี

      ตลาดทองคำยูเออียังคงเป็นศูนย์กลางสำคัญของโลก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคชาวอินเดีย ความต้องการเครื่องประดับทอง 18 กะรัต และเพชร มีแนวโน้มเติบโต เนื่องจากราคาทองคำที่เพิ่มสูง การเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนถึงความยืดหยุ่นของอุตสาหกรรมเครื่องประดับในยูเออี ในการตอบสนองต่อราคาทองคำและความต้องการ    ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

      จากสถิติ ของ UN COMTRADE แสดงการนำเข้าสินค้ากลุ่มทองคำ เพชร อัญมณีมีค่าและอัญมณีสังเคราะห์ของยูเออีล่าสุดปี 2566 มูลค่า 114,876 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัว 25.4 % เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า           สินค้าที่นำเข้ามาก 5 กลุ่มแรก ได้แก่ ทองคำ (สัดส่วน 66.9%) เพชร (สัดส่วน 16.4%) เครื่องประดับอัญมณี       (สัดส่วน14.6%) อัญมณีสังเคราะห์ (สัดส่วน0.8%) และเงิน (สัดส่วน 0.7%)

      การส่งออกเครื่องประดับและอัญมณีจากไทยไปยูเออีล่าสุด ปี 2567 (ม.ค.-พ.ย.) รวมมูลค่า 235.1 ล้านเหรียญสหรัฐ  (หดตัว -6.8%)  ได้แก่ เครื่องประดับอัญมณีมีค่า (-2.4%) เพชร (-35.3%) พลอย (+11.0%) และอัญมณีสังเคราะห์ (+437.9%)

      ———————————————————————————-

thThai