เนื้อหาสาระข่าว และ บทวิเคราะห์: กรณีข้อพิพาทระหว่างสมาคม International Longshoremen’s Association (ILA) ที่เป็นเสมือนสหภาพแรงงานของพนักงานลูกจ้างที่ทำงานจำนวนประมาณ 45,000 คนในท่าเรือที่ตั้งอยู่ชายฝั่งตะวันออก (East Coast) และชายฝั่งอ่าวเม็กซิโก (Gulf Coast) ของสหรัฐฯ กับเครือข่าย United States Maritime Alliance (USMX) ซึ่งเป็นกลุ่มของผู้ประกอบการกิจการท่าเรือเหล่านั้น ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับสังคมวงกว้างมาตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่ผ่านมา จนกระทั่งเมื่อพ้นกำหนดวันสุดท้ายก่อนการประท้วงหยุดงานจริง ก็ต้องใช้เวลาถึง 3 วัน (วันที่ 3 ตุลาคม 2567) ก่อนที่จะตกลงร่วมกันที่จะขยายเวลาเจรจาชั่วคราวออกไปถึงวันที่ 15 มกราคมนี้ แต่ก็ยังไม่สามารถเจรจาบรรลุข้อตกลงร่วมกันในประเด็นสำคัญสองเรื่อง ได้แก่ การขึ้นค่าแรง และการต่อต้านการใช้ระบบปฏิบัติการอัตโนมัติในอุปกรณ์ต่าง ๆ ในท่าเรือ โดยสำหรับในรอบนี้ ทันทีที่ข้ามเที่ยงคืนของวันที่ 16 มกราคมนี้ แรงงานทั้งหมดที่ทำงานในท่าเรือจะพร้อมใจกันหยุดทำงานทันทีเพื่อประท้วงต่อรอง

รายละเอียดในภาพรวมข้อเรียกร้องของฝ่ายสหภาพแรงงาน ILA ประกอบด้วย การเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงจากปัจจุบันไม่ต่ำกว่า 60% (ก่อนหน้านี้เรียกร้องอยู่ที่ 77%) เพื่อให้สามารถรองรับและปรับเข้ากับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงเงินชดเชยตั้งแต่ช่วงโรคระบาดโควิด-19 และข้อเรียกร้องในการห้ามมิให้มีการนำระบบปฏิบัติการอัตโนมัติ (Automation) และหุ่นยนต์เข้ามาใช้ทำหน้าที่แทนบุคลากรเพื่อเป็นการรักษาตำแหน่งงานของสมาชิกสหภาพเอาไว้ ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องในเรื่องการขึ้นค่าแรงถือเป็นประเด็นหลักที่ทำให้การเจรจาระหว่างฝ่ายสหภาพแรงงานและเครือข่ายกิจการท่าเรือไม่สามารถตกลงกันได้ และในส่วนของการห้ามมิให้มีระบบปฏิบัติการอัตโนมัตินั้นก็ถือว่าสวนทางกับนโยบายการบริหารและพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของท่าเรือ

ตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 16 มกราคมนี้เป็นต้นไปนั้น เราอาจจะได้เห็นการนัดประท้วงหยุดงานครั้งใหญ่ของพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในท่าเรือกว่า 36 แห่งในชายฝั่งตะวันออกและชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐฯ ตั้งแต่รัฐ Maine ยาวลงมาถึง Texas โดยมีเมืองท่าสำคัญ อาทิ New York (รัฐ New York), New Jersey (รัฐ New Jersey), Philadelphia (รัฐ Pennsylvania), Baltimore (รัฐ Maryland), Charleston (รัฐ South Carolina), Savannah (รัฐ Georgia), Houston (รัฐ Texas), New Orleans (รัฐ Louisiana) และ Miami (รัฐ Florida) เป็นต้น ซึ่งจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่าเรือทั้งหมดนี้ในปัจจุบันเป็นแหล่งรองรับสินค้านำเข้าทางเรือมายังสหรัฐฯ คิดเป็นปริมาณครึ่งหนึ่งของการนำเข้าสินค้าทางเรือทั้งประเทศ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าหากการประท้วงหยุดงานเกิดขึ้นกินเวลายาวนานหลายสัปดาห์ขึ้นไป จะส่งผลให้สินค้าคงค้างที่ท่าเรือมากมาย และที่สำคัญที่สุดคือจะส่งผลต่อต้นทุนค่าขนส่งทางเรือไม่ว่าจะขานำเข้าหรือขาส่งออกจากท่าเรือเหล่านี้ ตลอดจนปัญหาการขาดตลาดและการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าบางประเภทที่จะเกิดขึ้นตามมาเป็นลูกโซ่ โดยมีการคาดการณ์มูลค่าความเสียหายระหว่าง 1 – 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ/วัน หากการประท้วงนั้นลากยาว

ท่าทีของว่าที่ประธานาธิบดีคนต่อไป

สิ่งที่ทำให้การวิเคราะห์แนวโน้มของการประท้วงครั้งนี้และสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาแตกต่างไปจากรอบเดือนกันยายนที่ผ่านมา คือการที่ครั้งนี้เราทราบผลการเลือกตั้งแล้วว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป โดยสิ่งที่ประธานาธิบดีไบเดนยืนยันชัดเจนสำหรับเรื่องนี้คือจะไม่ก้าวก่ายกับการเจรจา ทั้งนี้ ตามกฎหมายแล้วประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีอำนาจที่จะยับยั้งการประท้วงในลักษณะดังกล่าวของกลุ่มแรงงาน และนำไปสู่กำหนดช่วงระยะเวลา 80 วันในการเจรจาหาข้อยุติร่วมกันให้ได้ ซึ่งเป็นไปตาม Labor Management Relations Act of 1947 แต่สำหรับว่าที่ประธานาธิบดีคนต่อไปอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ซึ่งเมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ภายหลังได้รับชัยชนะการเลือกตั้งแล้วได้ออกมาแสดงท่าทีสนับสนุนฝ่ายสหภาพแรงงานในข้อเรียกร้องไม่ให้ใช้ระบบปฏิบัติการอัตโนมัติแทนที่การจ้างงานบุคลากร โดยได้ออกมาระบุว่า “จำนวนเงินที่สามารถช่วยลดต้นทุนไปได้จากการนำระบบปฏิบัติการเหล่านั้นมาใช้ เทียบไม่ได้กับความทุกข์ใจ ความเจ็บปวด และความสุ่มเสี่ยงต่อแรงงานชาวอเมริกัน” ซึ่งถือว่าน่าสนใจอย่างมากทีเดียว เนื่องจากการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมาจนนำไปสู่ชัยชนะสมัยที่สองของทรัมป์ครั้งนี้ มีจุดยืนที่เหนียวแน่นที่จะเคียงข้างชนชั้นแรงงานชาวอเมริกัน แต่ในขณะเดียวกันทรัมป์ก็ได้พูดถึงเรื่องการบริหารกลไกหลาย ๆ อย่างของภาครัฐให้เป็นไปอย่าง “มีประสิทธิภาพ” ซึ่งในข้อนี้เองที่ทำให้การวิเคราะห์ค่อนข้างยากว่าถ้าหากต้องการสนับสนุนให้มีการจ้างแรงงานชาวอเมริกันเป็นหลักต่อไป จะทำให้ประสิทธิภาพที่จะได้จากการนำเข้าเทคโนโลยีมาใช้ในระบบท่าเรือลดลงซึ่งจะสวนทางกัน หากเป็นเช่นนี้แล้วท่านว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะว่าอย่างไร?

ในกรณีดังกล่าวรองประธานของ S&P Global คุณ Peter Tirschwell ได้ให้สัมภาษณ์ว่าเขามองว่าทรัมป์จะยืนอยู่ข้างฝ่ายสหภาพแรงงาน 100% โดยทรัมป์จะกลับเข้ามารับตำแหน่งอย่างอัศวินขี่ม้าขาวและจัดการกับเรื่องนี้ โดยอธิบายว่า “ภายหลังการประท้วงหยุดงานล่วงเลยเข้าสู่วันที่ 5 (ตรงกับวันที่ 20 มกราคม ซึ่งทรัมป์จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งพอดี) ทรัมป์จะเข้ามาบอกกับเหล่าผู้ประกอบกิจการท่าเรือทั้งหลายว่า ผมต้องการให้พวกคุณยอมรับข้อเสนอของฝ่ายแรงงานทั้งหมดเพื่อยุติปัญหา หรือไม่อย่างนั้นเราจะได้เห็นดีกัน”

บริษัทขนส่งรายใหญ่เริ่มไหวตัว

อีกหนึ่งสิ่งที่ปรากฎให้เห็นเพิ่มเติมจากข่าวคราวการประท้วงเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา คือเราจะเห็นบริษัทผู้ให้บริการขนส่งระหว่างประเทศรายใหญ่บางรายเริ่มแสดงท่าที่บางอย่างเพื่อเตรียมรับมือ อาทิ บริษัท Hapag-Lloyd บริษัทขนส่งสินค้าชื่อดังสัญชาติเยอรมัน ได้ออกมาประกาศค่าธรรมเนียมให้บริการเพิ่มเติม ซึ่งจะมีผลสำหรับวันที่ 20 มกราคม เป็นต้นไป คือ “Work Disruption and Work Interruption Surcharge” ซึ่งถูกระบุว่า “เพื่อรอบรับการจัดการกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในกรณีข้อพิพาทของท่าเรือในชายฝั่งตะวันออกและชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐฯ” ค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมดังกล่าวจะครอบคลุมต้นทุนเพิ่มเติมซึ่งเกิดจาก “การขาดแรงงาน การประท้วง ความล่าช้า เหตุการณ์ความไม่สงบ และเหตุการณ์อื่น ๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดความล่าช้าในการให้บริการ หรือต้นทุนการให้บริการส่วนเพิ่ม” โดยค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจะอยู่ที่ 850 เหรียญสหรัฐฯ / TEU และ 1,700 เหรียญสหรัฐฯ / FEU และในส่วนของบริษัท MAERSK ก็ได้ออกคำเตือนไปยังลูกค้าของตนให้ไปรับสินค้าและส่งคืนตู้สินค้าให้แล้วเสร็จจากท่าเรือที่อยู่ในข้อพิพาทก่อนวันที่ 15 มกราคมนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอนที่ท่าเรือทั้งหมด

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: ผู้ประกอบการไทยที่มีแผนหรือกำลังวางแผนจะส่งออกสินค้ามายังสหรัฐฯ ในช่วงเวลาอันใกล้นี้ ควรเกาะติดความคืบหน้าสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากข่าวคราวการประท้วงครั้งนี้ก็อาจนำไปสู่ภาวะชะงักงัน (Disruption) ในอีกจุดหนึ่งของระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) มายังสหรัฐฯ และควรเสาะหาทางเลือกและเส้นทางขนส่งสินค้าสำรองเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนในระบบการขนส่งสินค้ามายังสหรัฐฯ และรวมถึงประเทศปลายทางอื่น ๆ ที่อาจต้องพึ่งพาการส่งออกอีกทอดหนึ่งต่อจากสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ หากมีความคืบหน้าที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ สคต. ไมอามีจะได้นำเรียนเพื่อทราบในโอกาสแรก

ที่มา: Bloomberg
เรื่อง: “Why US Port Workers Are Threatening to Strike, Again”
โดย: Laura Curtis และ Brendan Murray
สคต. ไมอามี /วันที่ 2 มกราคม 2568
thThai