“ฮ่องกงดึงดูดแบรนด์ F&B ทั่วโลก ปรับลดค่าเช่า แต่กำลังซื้อยังแกร่ง”

 

ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มต่างชาติเปิดกิจการในฮ่องกง ครองสัดส่วนสูงถึง 71% ของธุรกิจค้าปลีกต่างชาติที่เข้ามาใหม่ทั้งหมด ท่ามกลางภาวะค่าเช่าที่ลดลงและยอดค้าปลีกที่ซบเซาต่อเนื่องยาวนานถึง 8 เดือน

 

Ms. Cathie Chung, Senior Director of Research at Jones Lang LaSalle, Inc. ในฮ่องกง เปิดเผยว่า ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มยังคงครองแชมป์ประเภทธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติสนใจมากที่สุด โดยมีธุรกิจแฟชั่น เครื่องประดับ และกีฬา ตามมาในสัดส่วน 13% และผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนตัวในสัดส่วน 5%

 

จำนวนธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในฮ่องกงปีนี้เพิ่มขึ้น 36% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ธุรกิจประเภทอื่นมีอัตราการเติบโต 60% โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญคือค่าเช่าที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก เช่น ค่าเช่าร้านค้าริมถนนลดลงถึง 40-70% และค่าเช่าในศูนย์การค้าชั้นนำบริเวณ The Peak ลดลง 25%

 

Ms. Chung อธิบายว่า “วัฒนธรรมการรับประทานอาหารนอกบ้านของชาวฮ่องกง เป็นแรงดึงดูดสำคัญ เนื่องจากวิถีชีวิตที่เร่งรีบและพื้นที่ที่พักอาศัยซึ่งมีขนาดจำกัด ทำให้การรับประทานอาหารนอกบ้านหรือซื้ออาหารกลับบ้านกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตปกติ อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมทางสังคมที่สำคัญในทุกช่วงวัย”

 

แม้ว่าชาวฮ่องกงจำนวนไม่น้อยจะนิยมข้ามไปใช้จ่ายในจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้น แต่กำลังซื้อในฮ่องกงยังคงแข็งแกร่ง  อีกทั้งฮ่องกงได้เปรียบด้านโลจิสติกส์ โดยสนามบินนานาชาติของฮ่องกงได้รับการรับรองมาตรฐานใหม่จากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) สำหรับการขนส่งสินค้าประเภทเน่าเสียง่ายด้วยระบบควบคุมอุณหภูมิที่เข้มงวด ช่วยให้วัตถุดิบสดใหม่จากทั่วโลกสามารถนำเข้ามายังฮ่องกงได้อย่างสะดวก

 

แบรนด์ดังบุกฮ่องกง ขยายพื้นที่ในย่านสำคัญ

นอกจากนี้ ฮ่องกงยังดึงดูดการลงทุนด้วยนโยบายเป็นมิตรต่อธุรกิจ ระบบภาษีไม่ซับซ้อน และกรอบกฎหมายที่มั่นคง ขณะที่ฝั่งผู้ประกอบการศูนย์การค้าต่างปรับตัวเพิ่มความยืดหยุ่นในการเจรจาค่าเช่าระยะสั้น เพื่อรักษาอัตราการเช่าให้สูง โดยห้องเช่าริมถนนในย่านสำคัญยังคงเป็นที่สนใจของนักลงทุนที่รอจังหวะตลาดฟื้นตัว ตามรายงานของบริษัทผู้ให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ Knight Frank

 

แบรนด์ต่างชาติส่วนใหญ่เลือกทำเลในย่านช้อปปิ้งชั้นนำ เนื่องจากมีปริมาณผู้คนสัญจรสูงและดึงดูดทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว Ms. Chung ระบุว่า “หลายแบรนด์ต่างกระตือรือร้นที่จะเปิดร้านแรกในย่านสำคัญ โดยเฉพาะใน Central และ Causeway Bay ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือเรื่องภาพลักษณ์ บางแบรนด์เลือกย่าน Central เพราะเป็นแหล่งค้าปลีกระดับไฮเอนด์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ทำให้ได้อยู่ในกลุ่มของแบรนด์ระดับเดียวกัน การตั้งร้านในทำเลเดียวกับแบรนด์อื่น ๆ ช่วยสร้างกระแสลูกค้าและเพิ่มการเป็นที่รู้จัก”

 

ตัวอย่างแบรนด์ที่เข้ามาใหม่ในปีนี้ ได้แก่ Hefu Noodles และ Fufuland จากจีน, Rododo Hot Pot จากไต้หวันbb.q Chicken จากเกาหลีใต้ และ Mr. Cheese จากญี่ปุ่น ขณะเดียวกันยังมีแบรนด์แฟชั่น เช่น Matin Kim จากเกาหลี และแบรนด์เสื้อผ้าจักรยาน MAAP จากออสเตรเลีย

 

นอกจากนี้ กลุ่ม Swatch ได้ขยายตลาดในฮ่องกงด้วยการเช่าพื้นที่ขนาด 1,000 ตารางฟุตในศูนย์การค้า Mira Place ย่านจิมซาจุ่ย ด้วยค่าเช่า 400,000 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อเดือน ขณะที่ Abercrombie & Fitch เตรียมกลับมาเปิดตลาดอีกครั้งด้วยการเปิด 2 สาขาใหม่ที่ Hysan Place ใน Causeway Bay และ New Town Plaza เมือง Shatin พื้นที่รวมกว่า 17,000 ตารางฟุต หลังจากปิด flagship store 4 แห่งในย่าน Central เมื่อปี 2559

 

ส่วนแบรนด์สินค้าแฟชั่น Mango ทุ่มงบเช่าพื้นที่ขนาดใหญ่ 19,000 ตารางฟุตที่ Asia Standard Tower บนถนน Queen’s Road Central ด้วยค่าเช่าสูงถึง 1.2 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงต่อเดือน

 

ฮ่องกง: เวทีระดับโลกสำหรับทดลองธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม Ms. Chung เตือนว่า ผู้ประกอบการร้านอาหารยังต้องเผชิญความท้าทายจากต้นทุนแรงงานที่สูง และความจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับรสนิยมและพฤติกรรมผู้บริโภคในท้องถิ่น

 

“การเข้ามาของแบรนด์ต่างชาติไม่เพียงแต่ช่วยยกระดับความหลากหลายของตลาดค้าปลีกในฮ่องกง แต่ยังเปิดโอกาสให้ฮ่องกงกลายเป็นเวทีระดับโลกสำหรับทดลองแนวคิดใหม่ ๆ และสนามทดสอบสำหรับแบรนด์ที่ต้องการขยายตลาดสู่สากล” Ms. Chung กล่าวทิ้งท้าย

 

ความคิดเห็นของ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง

ค่าเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ในฮ่องกงถูกลงเมื่อเทียบกับตอนก่อนเกิดโรคระบาด จึงเพิ่มโอกาสการเข้าถึงทำเลทองได้ในหลายธุรกิจ เพิ่มโอกาสเข้าถึงฐานลูกค้าที่หลากหลายและสร้างกำไรได้มากขึ้น การขยายกิจการมายังฮ่องกงยังให้ข้อได้เปรียบในการเข้าถึงฐานผู้บริโภคที่หลากหลายและเป็นสากล ประชากรของเมืองประกอบด้วย คนท้องถิ่น ชาวต่างชาติ และนักท่องเที่ยว ซึ่งแต่ละคนมีรสนิยมและความชอบที่แตกต่างกันจึงทำให้ฮ่องกงกลายเป็นจุดศูนย์รวมของอาหารนานาชาติ นอกจากนี้ตำแหน่งของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางทางการเงินระดับโลกหมายความว่ามีประชากรที่มีรายได้สามารถใช้จ่ายได้สูง พร้อมที่จะใช้จ่ายเพื่อประสบการณ์การรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ ความชอบทางวัฒนธรรมในการรับประทานอาหารนอกบ้านและการลองอาหารประเภทใหม่ๆ ช่วยเพิ่มศักยภาพทางการตลาดให้กับร้านอาหารไทย

 

แหล่งข้อมูล: https://hongkongbusiness.hk/food-beverage/exclusive/low-rents-attract-fb-brands-hong-kong

thThai