ความสามารถในการแข่งขันระดับโลกของชิลี ทำได้ดีแค่ไหน ?

ศูนย์วิจัย World Competitiveness Center โดยสถาบัน International Institute for Management Development หรือ IMD ได้เผยแพร่ข้อมูลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Ranking) ประจำปี 2567 โดยเป็นการจัดอันดับความสามารถของประเทศที่สามารถสร้างและรักษาสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจและองค์กรต่าง ๆ จำนวน 67 ประเทศจาก 195 ประเทศทั่วโลก ซึ่งในปี 2567 ที่ผ่านมา แม้ว่าประเทศชิลีต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวและสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย แต่ชิลียังคงสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในอันดับเดิมจากปีก่อนหน้าไว้ได้ และถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 44 ด้วยคะแนน (Overall Performance) 59.71 คะแนน โดยศูนย์วิจัย IMD ใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณา 4 ประการ ได้แก่

1) ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) จัดอยู่ในอันดับที่ 55 ลดลง 3 อันดับจากปีก่อนหน้า

2) ประสิทธิภาพของรัฐบาล (Government Efficiency) จัดอยู่ในอันดับที่ 30 เพิ่มขึ้น 2 อันดับจากปีก่อนหน้า

3) ประสิทธิภาพของธุรกิจ (Business Efficiency) จัดอยู่ในอันดับที่ 41 เพิ่มขึ้น 4 อันดับจากปีก่อนหน้า

4) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastucture) จัดอยู่ในอันดับที่ 45 เพิ่มขึ้น 1 อันดับจากปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ เกณฑ์การประเมินหลักทั้ง 4 ประการดังกล่าว ถูกแบ่งออกเป็นเกณฑ์ย่อยอีก 20 ข้อซึ่งครอบคลุมปัจจัยด้านต่าง ๆ อีกกว่า 336 ปัจจัย[1] ที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน เช่น สเถียรภาพทางเศรษฐกิจ สเถียรภาพทางการเมือง นโยบายการคลัง การลงทุน อัตราภาษี สภาวะตลาดแรงงาน อัตราเงินเฟ้อ เทคโนโลยี นวัตกรรม การศึกษา ค่าสาธารณูปโภค ประสิทธิภาพการผลิต และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยศูนย์วิจัย IMD ได้รวบรวมข้อมูลสถิติต่าง ๆ จากแหล่งข้อมูลระดับนานาชาติ ระดับภูมิภาค และฐานข้อมูลสถิติระดับประเทศของแต่ละประเทศในการวิเคราะห์และจัดอันดับที่จัดทำโดยนักวิชาการและนักวิจัยชั้นนำที่เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาโดยเฉพาะ ซึ่งการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระดับโลกในปี 2567 ถูกสร้างขึ้นในบริบทของปัญหาระดับโลกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายประการ และเป็นความท้าทายต่อความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจ อาทิ ความตึงเครียดอย่างต่อเนื่องระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ความความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์อันเกิดมาจากภาวะสงครามในหลายประเทศ และปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่ส่งผลต่อการผลิตและเศรษฐกิจโลก

 

บทวิเคราะห์ / ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก

ความสำคัญของการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระดับโลก นอกจากจะใช้ประเมินศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศนั้น ๆ แล้วยังสามารถใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการวัดความก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น โดยความสามารถทางการแข่งขันมีบทบาทในด้านการสร้างกลยุทธ์ระดับประเทศ  เพิ่มการมองเห็นและชื่อเสียงในเวทีระดับโลก ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังทำให้เห็นถึงจุดแข็งที่ควรส่งเสริมและพัฒนา และจุดด้อยที่ต้องมีการปรับปรุง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของภาคส่วนต่าง ๆ โดยประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงจะผสมผสานประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจที่มั่นคงเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพและแรงงานที่มีความสามารถ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างผลผลิตและความเจริญรุ่งเรืองควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับสังคม อันจะส่งผลดีต่อประเทศในภาพรวม

จากผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระดับโลกดังกล่าว ชิลีอยู่ในอันดับที่ 44 แต่หากพิจารณาเฉพาะภูมิภาคอเมริกา ชิลีจะอยู่ที่อันดับ 3 รองจากสหรัฐอเมริกาและแคนาดา และอยู่ในอันดับที่ 1 ของภูมิภาคลาตินอเมริกา[2] โดยปัจจัยโดดเด่นที่ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของชิลี เช่น สเถียรภาพและประสิทธิภาพของรัฐบาลในการบริหารประเทศและดุลการคลัง ซึ่งชิลีมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ร้อยละ 42.1 ของ GDP ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานของประเทศทั่วโลกที่ร้อยละ 60-80 (ไทยอยู่ที่ร้อยละ 64.41)[3] รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่ครอบคลุมและเข้มงวด รวมทั้ง ชิลีมีอัตราการทุจริตที่ต่ำที่สุด (เป็นอันดับที่ 29 ของโลก)

GDP ของชิลีในปี 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้าโดยมีรายได้ประชาชาติต่อหัวอยู่ที่ 17,930 เหรียญสหรัฐ การบริโภคและอุปสงค์ภายในประเทศรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 และ 0.8[4] ตามลำดับ การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 โดยชิลีเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากว่า 22,300 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ศักยภาพของตลาดแรงงานชิลีที่มีแรงงานกว่า 10.12[5] ล้านคนในระบบ โดยมีประชากรที่อยู่ในวัยทำงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1 ต่อปี สวนทางกับประเทศส่วนใหญ่ที่ประชากรวัยทำงานลดลงอย่างต่อเนื่อง และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานของชิลีมีความเข้มแข็ง (เป็นอันดับที่ 45 ของโลก)[6] เป็นปัจจัยสนับสนุนให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลทุนในชิลีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ทั้งนี้ ชิลีมีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีรายได้นิติบุคคล กฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และกฎหมายคุ้มครองแรงงาน อย่างไรก็ดี รัฐบาลชิลีมีการปรับเพิ่มอัตราข้างจ้างขั้นต่ำที่ส่งผลต่อการเพิ่มแรงกดดันด้านต้นทุน และทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.5[7] ซึ่งธนาคารกลางชิลีได้เตรียมตัวปรับนโยบายการคลังเพื่อรองรับผลกระทบดังกล่าว และคาดว่าจะสามารถควบคุมให้อัตราเงินเฟ้อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ร้อยละ 3.0 ภายในปลายปี 2568 สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ได้วิเคราะห์ว่าอัตราเงินเฟ้อของชิลีมีแนวโน้มลดลง และสภาพเศรษฐกิจโดยรวมมีแนวโน้มเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากชิลีได้ปัจจัยสนับสนุนมาจากการเติบโตของการบริโภคภายในประเทศและความต้องการแร่ธาตุสำคัญที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก โดยคาดว่า GDP ของชิลีจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 2.3[8] ในปี 2568

จากสถิติดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าชิลีเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูง เป็นตลาดที่มีศักยภาพและดึงดูดการลงทุน แม้ว่าชิลีจะเป็นประเทศขนาดเล็กที่มีจำนวนประชากรเพียง 20 ล้านคน แต่ชาวชิลีมีกำลังซื้อสูง การบริโภคภายในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ตลาดยังขาดความหลากหลายของสินค้าและบริการ จากการสืบค้นของสคต.ฯ พบว่าจำนวนธุรกิจที่ผู้ประกอบการไทยเข้ามาลงทุนยังมีจำนวนน้อยมาก จึงเป็นโอกาสของสินค้าและบริการของไทย (อาทิ ร้านอาหารไทย ร้านนวดไทย บริษัททัวร์ โรงเรียนสอนมวยไทยหรือสินค้าเกี่ยวกับมวยไทย สินค้าอาหารแปรรูป) ในการเข้ามายังตลาดชิลี ทั้งนี้ หากนักลงทุนหรือผู้ส่งออกสินค้าไทยท่านใดที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อมายัง สคต. ณ กรุงซันติอาโก ได้ผ่านช่องทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ thaitrade@ttcsantiago.cl

______________________________

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก

มกราคม 2568

[1] https://www.investchile.gob.cl/wp-content/uploads/2024/08/Booklet_WCY_2024.pdf

[2] https://www.investchile.gob.cl/wp-content/uploads/2024/08/Booklet_WCY_2024.pdf

[3] สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง

[4] https://www.imf.org/en/News/Articles/2024/11/26/mcs-112624-chile-staff-concluding-statement-of-the-2024-article-iv-mission#:~:text=The%20government’s%20medium%2Dterm%20goal,context%20of%20the%20budget%20discussions.

[5]https://si3.bcentral.cl/Siete/EN/Siete/Cuadro/CAP_EMP_REM_DEM/MN_EMP_REM_DEM13/ED_FTM2/a6?cbFechaInicio=2023&cbFechaTermino=2024&cbFrecuencia=MONTHLY&cbCalculo=NONE&cbFechaBase=

[6] https://www.imd.org/entity-profile/chile-wcr/#_factor_Infrastructure

[7] https://www.ine.gob.cl/docs/default-source/%C3%ADndice-de-precios-al-consumidor/boletines/espa%C3%B1ol/2024/bolet%C3%ADn-%C3%ADndice-de-precios-al-consumidor-(ipc)-diciembre-2024.pdf?sfvrsn=627fc64f_5

[8] https://www.oecd.org/en/publications/oecd-economic-outlook-volume-2024-issue-2_d8814e8b-en/full-report/chile_bea61f13.html#indicator-d1e5293-b07c47d29f

thThai